www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

ยุทธนา อัจฉริยวิญญู ภาพ/จิต/วิญญาณ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-05-02 14:25:20

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: Chaiwut Janejit และ กัลยาณี แนวเล็ก




“พี่ไม่เห็นด้วยกับการเป็นช่างภาพที่เก่งแล้วกั๊ก เราเกิดมาครั้งเดียวอยู่บนโลกใบนี้ การแบ่งปันมันน่าชื่นชมนะ ช่างภาพต้องแชร์กัน ช่วยเหลือกัน”

แรกเริ่มเราตั้งใจไปพบ ยุทธนา อัจฉริยวิญญู หรือ “พี่โจ้” อดีตบรรณาธิการภาพ NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย นิตยสารที่มีเอกลักษณ์ของภาพถ่ายเสมือนเนื้อหาอันเข้มข้น เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะช่างภาพสารคดีมืออาชีพ หากหลังเลนส์วันนั้นเราค้นพบว่า สิ่งที่เป็นตัวตนของผู้ชายคนนี้มิใช่เพียงภาพถ่ายอันทรงพลังชิ้นแล้วชิ้นเล่ากว่าสองทศวรรษในการทำงาน แต่เป็นจิตวิญญาณของการเป็นสื่อมวลชนที่ดีและการเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าที่น่ายกย่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ “พี่โจ้” พยายามส่งต่อต้นฉบับไปยังช่างภาพรุ่นต่อไป

ยังจำตอนจับกล้องครั้งแรกได้ไหมว่าใช้กล้องอะไร ภาพนั้นเป็นภาพอะไร
เท่าที่จำได้ ม.1 ไปทัศนศึกษา ตอนนั้นพ่อมีกล้องฟิล์ม Canon F1 ถือเป็นกล้องโปร เป็นของแพงและเป็นของรักของหวง แต่พ่อก็ให้ยืม ซื้อฟิล์มไปหนึ่งม้วน กล้องติดเลนส์ normal เริ่มแรกถ่ายภาพเพื่อนๆ แล้วธรรมชาติของคนก็ชอบถูกถ่ายรูปอีก คือเด็กๆ มันจะมีความสนใจสิ่งที่แปลกใหม่ทุกๆ เรื่อง เราสนใจแข่งขี่รถจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ สนใจกีฬาเอ็กซ์ตรีม กล้องก็เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาโดยเราไม่เคยไปดูสื่อที่ไหนมาก่อน

อะไรทำให้รู้สึกว่าเราถ่ายรูปได้ดี
ตอนเด็กๆ เรายังไม่รู้เรื่องหรอก การถ่ายรูปยังเป็นของเล่น เราสนใจไปแข่งบีเอ็มเอ็กซ์ เตะฟุตบอลมากกว่า แม่ให้ไปเรียนพาณิชย์ก็โดดเรียนเพราะไม่ชอบพิมพ์ดีด ไม่ชอบเลข คะแนนแย่ก็เลยไม่ไปโรงเรียน จนค้นพบว่าเทคนิคกรุงเทพมีเรียนการถ่ายภาพ เลย เฮ้ย อันนี้มันทิศทางเรา ก็เลยไปเรียนที่นั่น แต่แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือไม่ชอบแข่งถ่ายภาพกับคนอื่น ไม่นิยมการส่งประกวดภาพถ่าย เคยประกวดอยู่ครั้งสองครั้งโดยไม่ตั้งใจ เราเริ่มรู้ว่าเราถ่ายภาพดีคือตอนที่เป็นช่างภาพอาชีพแล้วได้เงินจากการถ่ายภาพมากกว่า


สังกัดที่เคยอยู่อย่างนิตยสาร GM หรือ NATIONAL GEOGRAPHIC มีรูปแบบต่างกันมาก พี่โจ้ถ่ายภาพตามหนังสือหรือมีรูปแบบเป็นของตัวเอง
เป็นเส้นทางที่เราศึกษาผ่านมาทั้งนั้นแหละ ได้ทำหนังสือผู้หญิงสองปี ทำหนังสือผู้ชาย GM 12 ปีด้วยตำแหน่งบรรณาธิการภาพ เพื่อนสมัยนั้นทุกวันนี้เจริญเติบโตในหน้าที่การงานหมดเลย เช่น พี่หนุ่ย เอกราช เก่งทุกทาง โตมร ศุขปรีชา วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นิติพัฒน์ สุขสวย วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เหมือนรวมจอมยุทธอยู่ในห้องเดียวกัน จบด้วยโรงเรียนสุดท้าย NATIONAL GEOGRAPHIC ห้าปี เราว่ามันพอดี ทุกอย่างเพื่อหล่อหลอมเป็นอย่างเดียว




เราค่อนข้างใช้ความเป็นตัวเรามากที่สุดเลยนะ โอเคว่าต้องปรับให้เข้ากับนิตยสารบ้าง แต่สิ่งที่เราทำเข้มข้นอยู่แล้ว NATIONAL GEOGRAPHIC เป็นหนังสือที่เก่าแก่เป็นร้อยปี มีกรอบชัดเจนว่าทางของเขา ภาพของเขาเน้นอะไร แล้วตัวเราเป็นแบบไหน แล้วเราก็ค้นพบว่าเราชอบ NATIONAL GEOGRAPHIC มากที่สุด ชอบรูปแบบการทำงาน ชอบการคิดค้นคว้าหาข้อมูล คล้ายกับว่าหนังสือกรอบเหลืองมีมนต์สะกดสำหรับช่างภาพทั่วโลกนะ ทำให้เราต้องทำงานแบบเข้มข้น หน้าต่างสีเหลืองมีหน้าที่เปิดรับความเข้มข้นของตัวงาน

มุมมองภาพของไทยกับฝรั่งเหมือนหรือแตกต่างกันไหม
วิธีการก่อนจะตีพิมพ์หนังสือ พี่ก็เปิดภาพขึ้นมาเพื่อวัดพลังงานกันเลย พี่โจ้จะไม่ดูแมกกาซีนอะไรเยอะแยะ ไม่ต้องไปดูรูปของคนอื่นตอนถ่าย แต่ไปหารูปที่ตัวเองชอบมา แล้วเปิดภาพของเราเทียบเลยว่าพลังงานมันสู้ฝรั่งได้ไหม แผ่สู้รูปเลย สู้ไหม ถ้าไม่สู้เราก็จะเห็นว่ามันไปไม่ถึง


แต่เราจะวัดพลังงานของภาพได้อย่างไร
ทุกวันนี้เกิดปัญหาจริงๆ ว่าดูกันไม่ออกว่าพลังงานที่ออกมามันเท่ากันหรือเปล่า กล้องดิจิทัลมันถูก ฟิล์มก็ไม่ต้องซื้อ ใครก็เป็นช่างภาพ ถ่ายภาพกันได้แต่ไม่รู้ว่ามันแค่ไหน ถามว่าจะแนะนำอย่างไร มันต้องจริงจัง ศึกษาศิลปะทุกสาขาทุกแขนง ดนตรีด้วย ภาพวาดด้วย ลายผ้าด้วย การมอง composition

สำหรับ ยุทธนา อัจฉริยวิญญู การถ่ายภาพมีเสน่ห์อย่างไร
การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะที่อยู่กับตัวเอง เราหลงใหลความงามข้างใน อารมณ์ของภาพ องค์ประกอบของภาพ ความยากง่ายของภาพ ความคิดของภาพ การค้นคว้าในตัวภาพ การหาข้อมูล มันจะเปล่งประกายขึ้นมาตามวัย
การหาข้อมูลสำคัญมากที่สุด อย่างตอนนี้มาทำหนังสือภาพ DEMOCRACY ประชาธิปไตย บ้านเมืองเกิดกลียุคเดินไปข้างหน้าไม่ได้ เราสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ก็ต้องหาข้อมูลว่าต้องการเอาอะไรมานำเสนอ ทุกอย่างเวลาเริ่มต้นจะรายล้อมแค่เปลือกก่อน ผลส้มมีเปลือก มีเนื้อ มีน้ำ สุดท้ายก็คือเมล็ด เราต้องเข้าไปชำแหละหาเม็ดมันออกมา แต่มันผ่านขั้นตอนเข้าไปยากเหมือนกัน




ด้วยสาเหตุนี้หรือเปล่า งานของพี่โจ้จึงเน้นภาคสนาม
คือเรารู้สึกสันโดษ ไม่ชอบอยู่กับคนเยอะๆ คนแปลกหน้า ไม่ใช่ตรงนั้นไม่สวยงามนะ ได้เงินเยอะด้วยนะ แต่จิตข้างในเราท้าทายทางนี้

หลังจาก NATIONAL GEOGRAPHIC ที่บอกว่าเป็นโรงเรียนสุดท้าย ช่างภาพอิสระทำอะไรต่อ
ไปทำสารคดีเรื่องกระทิง “74 KM The Road of Gaur: ความจริงกระทิงวังน้ำเขียว” เป็นภาพเคลื่อนไหวที่บุกทางทีวีด้วย เราเป็นคนที่ชอบพักฟื้นตัวเองเวลาเสร็จงานด้วยการไปอยู่ในป่า เมื่อป่าถูกรังแก กระทิงถูกรังแก ก็อยากสะท้อนออกมา มันเป็นหน้าที่ของเรา จริงๆ มันต้องออกแล้วล่ะ แต่บ้านเมืองเป็นแบบนี้เลยต้องรอจังหวะ


ไม่เคยทราบว่าพี่โจ้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้
หนังเรื่องนี้จะเป็น portfolio ของเราว่าทำงานได้แค่ไหน พี่โจ้ใช้ทักษะทั้งหมดลงไปทำ ตัดต่อ เขียนบท โปรดิวซ์ ทุกอย่างทำเองกับมือสองปี เป็นหนังความยาว 50 นาที เราไม่ทำในเชิงท่องเที่ยว เราชอบงานที่มีความขัดแย้ง งานที่ต้องใช้ความจริงเข้าไปตัดสิน เป้าหมายจริงๆ เพื่องานอนุรักษ์ เพื่อเด็กๆ อยากเอาหนังกลางแปลงไปฉายในหมู่บ้านที่มีกระทิง ในเมืองไทยกระทิงอาศัยอยู่ที่วังน้ำเขียว ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จำนวนมาก

ทำไมต้องเป็นกระทิง
ก็เป็นคิวของกระทิง เพราะกระทิงมีปัญหาก่อน กระทิงกุยบุรีก็ตาย 27-28 ตัว เลียงผาก็มีปัญหาอยู่แถวๆ สระบุรี เราก็ค่อยๆ รอเราแป๊บหนึ่งนะ

การบันทึกภาพสารคดีใช้เวลายาวนานแค่ไหน ต้องใช้อุปกรณ์หรือแรงมากน้อยแค่ไหน
พี่เป็นคนทำงานคนน้อยมาก บางทีไม่จำเป็นต้องคนเยอะเพราะอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ขอให้เราเอาสิ่งที่ว่าดีที่สุดแล้วหรือยัง เช่น วิดีโอยากตตรง 3-4 วินาทีต้องเปลี่ยนเฟรม เราจะใช้อะไรสะกดคนให้นั่งดูวัวกระทิง 50 นาที รูปแบบเก่าๆ ก็ต้องไม่ทำ ก็ตกผลึกจากตัวเอง ใช้พลังงานสูง บางทีตัดต่อจนร่างกายคอมพิวเตอร์ซินโดรมก็ต้องพัก




ถามว่าต้องอดทนขนาดไหน เอาใจเรารอคอยให้ได้ก่อนแล้วค่อยเอากายไปนั่งรอ ถ้าใจเรายังรอคอยไม่ได้อย่างเอากายไปรอนะ มดกัดก็วิ่งหนีแล้ว ยุงกัดก็คัน แต่มันเป็นธรรมชาติของพี่โจ้ เมื่อใดที่เป็นธรรมชาติก็ไม่ใช่การฝืนเลย สัตว์ป่าไม่เคยให้เวลากับเราเลย เจอก็วิ่งหนี นี่เพื่อนก็เพิ่งถูกกระทิงชนขวิดไส้ สัตว์ป่าต้องมีอุปกรณ์ คุณต้องมีเลนส์ telephoto รถก็ต้องโฟร์วีล ไม่ประมาท ไปม็อบต้องใส่เสื้อเกราะหนักมาก 15 กิโลไว้กันกระสุน


บางทีจะเข้าไปถ่ายภาพโสเภณีในพม่า ใช้เวลาประมาณห้าวันเพื่อให้ได้ภาพช็อตเดียว แอบเอากล้องตัวเล็กเข้าไป เลนส์ normal แล้วก็ภาพ 2 เฟรม เริ่มจากวันนี้นั่งโต๊ะนี้ก่อน วันต่อไปไปดื่มแล้วเขยิบเข้ามาทีละนิด เพื่อให้ได้ภาพที่เราคิดในใจไว้แล้ว

สนามไหนอันตรายที่สุด
อันตรายเกิดรอบตัวเท่ากันไหม ตื่นเช้ามาอาบน้ำเสร็จ ผ้าเช็ดตัวเช็ดหัว ปลายผ้าเช็ดตัวไปโดนรังแตน แตนสี่ตัวต่อยตัวขึ้นผื่นเป็นคางคก ขับรถด้วยตัวเองไปหาหมอที่วังน้ำเขียว ถามว่าแตนต่อยตายไหม ตายสิ นอนหมอบเลย

ตอนถ่ายภาพม็อบครั้งแรกในปี 2549 คิดไหมว่าปลายทางจะออกมาเป็น DEMOCRACY
ไม่คิดเลย เมื่อแบ่งเป็นสองสีได้สมบูรณ์แบบนี้พี่คิดว่าเสร็จพี่โจ้ เอาภาระอันหนักหนามาใส่ตัวอีกแล้ว เราต้องการให้ DEMOCRACY เป็นหนังสือภาพถ่าย ต้องการให้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ต้องการไม่ให้เป็นหนังสือสร้างความขัดแย้ง ต้องการให้คนทุกคนที่ไม่ว่าจะอยู่สีใดสีหนึ่งสามารถหยิบขึ้นมาได้ ถ้าคุณไม่ชอบคุณกรีดหน้าหนึ่งทิ้ง คุณจะเสียรูปอีกฝั่งหนึ่งของคุณทันทีนะ เราดักไว้หมดแล้ว เราไม่ได้ทำให้คุณทะเลาะกัน เราทำให้คุณรักกันด้วยซ้ำ คุณต้องเห็นประเทศไทยมันเป็นอะไร มีแต่ความเกลียดชัง เรารู้สึกปวดร้าวนะ

แล้วเล่มนี้จะทำอย่างไรให้มีความพอดีมันยากมากเลย นั่งมองภาพเอาภาพมากองอยู่สองสามวัน หยิบเข้าหยิบออก ถ้ามันเริ่มเอียงไปอีกทางหนึ่ง อย่างนั้นเอาอันนี้ออก พอเอาอันนี้คุณภาพไม่ถึงอีก ก็เป็นการต่อสู้กับตัวเอง ต้องใช้ประสบการณ์ ใช้จิตเยอะ




การเป็นช่างภาพสารคดีจะต้องมีจรรยาบรรณอย่างไร
บอกกับน้องๆ ไว้คืออย่างแรกต้องเป็นคนดีก่อน เป็นคนใจดี พี่ให้น้องได้ น้องก็ต้องให้คนอื่นนะ พี่ไม่เห็นด้วยกับการเป็นช่างภาพที่เก่งแล้วกั๊ก เราเกิดมาครั้งเดียวอยู่บนโลกใบนี้ การแบ่งปันมันน่าชื่นชมนะ ช่างภาพต้องแชร์กัน ช่วยเหลือกัน ร่วมแก้ปัญหาสิ่งที่เป็นอุปสรรคด้วยกันมันน่ารัก เสือต้องอยู่ในถ้ำเดียวกันได้สิ เข้าใจว่าการแข่งขันสูง แต่ไม่นิยมการถ่ายภาพเพื่อบอกว่าตัวเองแน่ ตัวเองเก่ง ทำเสร็จแล้วก็จากไป

หมากต่อไปจะจัดการเรื่องอะไรดีนะ จะไปช่วยเลียงผาได้ข่าวว่าถูกล่าเยอะ เราไม่ได้อยู่ใต้อาณัติใคร เราอยู่ใต้ตัวเราเอง มีวินัย ทำตัวเหลวแหลกคงไม่ดี แล้วก็ต้องทำออกมาให้ดี ขอให้มุ่งมั่นมีสมาธิ มีจิตจะทำ เราเชื่อว่าถ้าอะไรดีจริง รอฟ้าเปิดนิดหนึ่งจะดีเอง


กว่า 20 ปีในการทำงาน มีอะไรที่ฉีกตำราเรียนบ้าง
ที่มุ่งเน้นคือร่างกายต้องดีนะ ปีนี้พี่โจ้อายุ 43 ปีทำอย่างไรให้แก่ช้าที่สุดวะ มันหนีสังขารไม่ได้ เริ่มปวดเมื่อย พี่โจ้ถ่ายภาพด้วยตาสองตาได้นะ ใช้ตาซ้ายเสร็จมาใช้ตาขวา เมื่อก่อนสะพายขวา ตอนนี้ต้องสะพายซ้าย เมื่อก่อนหลับตาถ่ายภาพ เดี๋ยวนี้เปิดตาถ่ายภาพทั้งสองตา เพื่ออีกตาหนึ่งเห็นสิ่งแวดล้อมข้างๆ ฝึกจนตามองฝั่งนี้ได้แล้วอีกฝั่งลืมตาแยกประสาทว่าเกิดอะไรขึ้น ควรจะหัดให้ตาอีกตามองสิ่งรอบข้างให้ได้ แล้วไปเพิ่มตาหลังช่วยกันความปลอดภัยให้เรา พี่จะคิดของพี่เองว่าทุกคนทำได้ด้วยพลังแฝง นักคาราเต้สับหินด้วยมือได้ มันจะไปยากอะไรถ้าเราจะลืมตาถ่ายภาพ

ยังมีโจทย์ใหม่ๆ หรือประเด็นใดที่พี่โจ้อยากทำต่อจากนี้
เราต้องวางแผนดีๆ เพราะการจะผลิตงานแต่ละชี้นต้องแน่ชัดว่าสามารถคงมาตรฐาน อย่าตกมาตรฐาน ถ้าทำหนังออกมาห่วยๆ เขาบอกว่า ยุทธนาอย่าไปทำเลย มาถ่ายภาพนิ่งเถอะ เราก็อายเขานะ ทำให้มันเต็มที่ งานภาพเคลื่อนไหวเราใช้ชื่อว่า “นกรู้” การต่อสู้ทางทีวีเหนื่อย เขาก็ถามพี่โจ้มีบทไหม จะตัดต่ออย่างไร ไม่มีบทหรอกครับเพราะมันเป็นแผนใหม่ แต่การจะเป็นแผนใหม่ใช้ต้นทุนสูง เราลงทุนไปตั้งหนึ่งล้านบาท เราก็ต้องเข้มข้นและรอจังหวะ ตอนนี้ไม่ต้องกลัวผู้ใหญ่คนไหนเพราะเราเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว อีกแป๊บเดียวเลขห้า ต้องคิดว่าสิ่งที่ทำเป้าหมายอยู่ที่ไหน แต่ถ้าทำดีที่สุดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ อย่าไปเฟลนะ เราจะเฟลมากที่สุดคือไม่ตั้งใจทำ


ที่มา: นิตยสาร plook ฉบับเดือน พฤษภาคม 2014