www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

รสสุคนธ์ กองเกตุ จากศาสตร์การแสดงสู่การพัฒนาศักยภาพมนุษย์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-04-22 09:43:00

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง



ศาสตร์ของการแสดงเป็นเรื่องของมนุษย์ ไม่สามารถบอกได้ว่าเลิกเรียนได้ตอนไหน เพราะข้างในตัวของเราเป็นเหมือนจักรวาลที่หาจุดจบไม่ได้ การเรียนรู้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งดีกับตัวเรามากเท่านั้น

รสสุคนธ์ กองเกตุ
จากศาสตร์การแสดงสู่การพัฒนาศักยภาพมนุษย์

ทันทีที่รู้จักตัวเองอย่างแท้จริงว่าสองสิ่งที่ทำให้ รสสุคนธ์ กองเกตุ หรือ ครูเงาะ มีความสุข คือการแสดงและการสอน เธอก็พากเพียรพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวไปสู่การเป็น “แอคติ้งโค้ช” หรือครูสอนการแสดง ผู้ทำหน้าที่ลับฝีมือให้นักแสดงเข้าถึงบทบาทของตัวละครมากที่สุด จากตำแหน่งที่ใครมองว่าเป็นตัวเสริม แอคติ้งโค้ชกลายเป็นกองหลังสำคัญที่ช่วยให้ภาพยนตร์หรือละครเรื่องหนึ่งประสบความสำเร็จทั้งด้านรางวัลและความนิยม ครูเงาะในวันนี้ผลิตลูกศิษย์คนดังในวงการบันเทิงมากมาย และยังเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ไม่หยุดพัฒนาตนเอง เห็นได้จากทักษะการสอนที่ขยายขอบเขตจากศาสตร์ของการแสดงไปสู่การพัฒนาศักยภาพมนุษย์


เส้นทางก่อนจะเป็นแอคติ้งโค้ช
ครูเงาะเป็นคนที่รักการแสดงมาตั้งแต่เด็กค่ะ จำความได้ก็อยู่บนเวทีเต้นโหน่งเนงโหน่งแกละ แต่ว่าก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าเราเรียนการแสดงเราจะจบไปเป็นอะไร เราจะไปเป็นนักแสดงหรือ ปกติตอนที่อยู่มหาวิทยาลัย (คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็จะเล่นละครเวทีมาตลอด จนกระทั่งปีสุดท้าย ครูเงาะไปเป็นนักแสดงละครของเพื่อนรุ่นเดียวกันก็คือโต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับ “พี่มากพระโขนง” โต้งเป็นผู้กำกับละครในปีนั้น ปรากฏว่าโต้งไปเลือกนักแสดงรุ่นน้องมาคนหนึ่งที่อาจจะยังเล่นไม่ค่อยได้ โต้งเลยบอกเห็นเล่นมาสี่ปีแล้วเงาะช่วยสอนหน่อย เราก็ช่วยไปสอนไปแนะนำและรู้สึกว่าสนุกมากเลย เราแก้ปัญหาให้น้องได้ ความรู้สึกเหมือนเป็นธรรมชาติมากเลยในขณะที่ทำ เราไม่ต้องพูดคำว่าผ่อนคลายสิ ผ่อนคลาย แต่เราจะเป็นคนบอกเขาว่าทำอย่างไรถึงจะผ่อนคลายได้ แล้วมันเห็นผลลัพธ์ว่าเขาแก้ได้จริงๆ เราก็เลยรู้สึกตื่นเต้นกับอาชีพนี้ขึ้นมา


ตอนนั้นยังไม่รู้จักอาชีพแอคติ้งโค้ช ในเมืองไทยมีแต่คำว่าครูสอนการแสดง ก็เลยพุ่งเป้าดับเครื่องชนพอรู้แล้วว่าเราชอบอะไร เรารักการแสดง เรารักการสอน ฉันจะต้องเป็นครูสอนการแสดงให้ได้ สิ่งที่ทำต่อมาคือตามหาปรมาจารย์ด้านการแสดงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับบางท่านที่กำกับหนังดี ตอนนั้นคือ “นางนาค” พี่อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร ไปหาครูแอ๋ว (รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์) พี่หนึ่ง (วิทิตนันท์ โรจนพานิช) พี่หนูเล็ก (บุรณี รัชไชยบุญ) ขอฝากเนื้อฝากตัว หนูขอมาฝึกเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ดูเรื่องแอคติ้งได้ไหมคะ เขาบอกว่าผู้ช่วยไม่ได้ดูแค่แอคติ้งนะ ต้องดูเรื่องการจัดคิว เรารู้สึกว่าไม่ได้อยากทำอย่างนี้ เลยไปเป็นแคสติ้งก่อน ก็เอาวะ แคสติ้งก็ได้ดูเรื่องการแสดงเหมือนกัน พอทำไปทำมาก็รู้สึกไม่ใช่อีก เราอยากเป็นคนสอนการแสดงไม่ใช่หาคนมาแสดง ครูเงาะเลยไปเรียนเพิ่ม จนกระทั่งหนังเรื่อง “แฟนฉัน” ปรากฏตัวขึ้น รุ่นพี่ทั้งหลายที่เป็นผู้กำกับในตอนนั้นรู้ว่าเรารักการแสดงมาก รักการสอน และเคยทำงานกับเด็กมาก่อนสมัยเป็นแคสติ้ง เลยชวนมาเป็นแอคติ้งโค้ชในเรื่องนี้ นั่นเป็นการเปิดตัวในฐานะแอคติ้งโค้ชอย่างเป็นทางการเรื่องแรกค่ะ เรื่องล่าสุดก็ “คิดถึงวิทยา” สอนบี้ สุกฤษฎิ์ กับพลอย เฌอมาลย์

ความหมายของแอคติ้งโค้ชและครูสอนการแสดงแตกต่างกันอย่างไร
แอคติ้งโค้ชในนิยามของครูเงาะคือผู้ฝึกสอนการแสดง สำหรับเรื่องที่นักแสดงกำลังจะเข้าไปเล่น เราต้องแยกให้ขาดก่อนนะคะ แอคติ้งโค้ชกับครูสอนการแสดงต่างกัน ครูสอนการแสดงก็คือคนที่สอนเหมือนครูสอนคณิตศาสตร์ สอนหนึ่งถึงสิบไปตามขั้นตอน แต่โค้ชคือคนที่โฟกัสเฉพาะเรื่อง หรือยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ง่ายๆ แบบโค้ชนักกีฬา เหมือนคุณพ่อของภราดร ศรีชาพันธุ์ ที่คอยเป็นโค้ชอยู่ข้างสนาม คอยดูว่าเขาขาดอะไร เขาควรจะต้องเพิ่มอะไร โค้ชของการแสดงก็เหมือนกัน นักแสดงคนนี้กำลังจะต้องเล่นหนังเรื่องนี้ เอาบทมาดูว่านักแสดงจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เข้าไปอยู่ในคาแร็คเตอร์ได้ เวลาออกกองเราก็ต้องคอยไปยืนดูอยู่หน้ามอนิเตอร์ว่าเขาควรจะเพิ่มอะไร ลดอะไร อันนี้คือหน้านี่ของแอคติ้งโค้ช


สำหรับครูเงาะ นิยามของการแสดงที่ดีคืออะไร
พูดถึงคำว่าการแสดง วูบแรกเราจะคิดว่าเป็นอะไรที่ปลอม คำว่า “แอคติ้ง” ที่บ้านเราแปลว่าการแสดง “โชว์” ก็แปลว่าการแสดง ฉะนั้นการรับรู้ของคนไทยเลยเข้าใจว่าก็ต้องเว่อร์ ต้องผิดปกติ แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย แอคติ้งมาจากรากศัพท์คำว่า “แอคชั่น” ที่แปลว่าการกระทำ ครูเงาะอยากจะบัญญัติใหม่ว่าต่อไปนี้มาเรียนวิชา “การกระทำ” กันเถอะ การแสดงของครูคือแค่การกระทำ แต่ทำบนสถานการณ์ที่บทสมมติหรือกำหนดมาให้


ครูเงาะเคยกล่าวว่าไม่จำเป็นต้องเป็นนักแสดงก็สามารถเรียนการแสดงได้
การเรียนการแสดงไม่ใช่การเรียนเพื่อเป็นนักแสดงอย่างเดียว เพราะว่าศาสตร์ของการแสดงคือศาสตร์ของการรู้จักตัวเอง หลายคนอาจจะบอกว่าการแสดงคือการสวมหน้ากาก สำหรับเงาะเชื่อว่าการแสดงคือการถอดหน้ากากที่เราสวมใส่อยู่ทุกวันออก หน้ากากที่ฝืนยิ้มทั้งๆ ที่เราไม่อยากยิ้ม ทำเป็นโกรธทั้งๆ ที่ความจริงเราไม่โกรธเลย หลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์หลอกตัวเอง ซ่อนตัวเอง คลุมไว้หลังหน้ากากอันนั้น ศาสตร์ของการแสดงจะทำให้คุณรู้จักตัวเองอย่างแท้จริง ยอมรับความรู้สึกตัวเองอย่างแท้จริง สามารถเป็นทุกสิ่งทุกอย่างได้


สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณมาเรียนการแสดง คุณจะมาทำความรู้จักกับร่างกายของคุณทั้งหมด คุณจะได้ปลดปล่อยความรู้สึกทั้งหลายออกไป อยู่ที่บ้านคุณอาจจะถูกห้ามว่าเป็นลูกผู้หญิงห้ามหัวเราะเสียงดังสิ เป็นลูกผู้ชายห้ามร้องไห้สิ แต่ต้องไม่ลืมว่านั่นคือมนุษย์ มนุษย์มีหัวเราะร้องไห้ ห้องการแสดงคือพื้นที่ที่ทำให้คุณสามารถปลดปล่อยความรู้สึกอย่างแท้จริงได้ พื้นที่ของการแสดงจึงเป็นพื้นที่เหมาะสำหรับทุกคน


เราจะนำศาสตร์การแสดงมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร
เมื่อคุณรู้จักตัวเอง รู้จักความรู้สึกตัวเองอย่างแท้จริง คุณก็สามารถดูแลและควบคุมมันได้ง่ายกว่าคนที่ไม่รู้จักตัวเองเลย คุณจะรู้จักสิ่งที่อยู่ในร่างกาย แยกเป็นสามหลักออกมาคือร่างกาย เสียง และจิตใจ ตั้งแต่เสียงของคุณ เสียงต่ำเสียงสูง การแสดงทำให้คุณรู้จักคาแร็คเตอร์ของเสียงของเรา เสียงต่ำเป็นคาแร็คเตอร์แบบไหน เวลาพูดเสียงต่ำน่าเชื่อถือมากกว่า พูดเสียงสูงสดใสมากกว่า เราจะเอามาปรับใช้ในการเสนองานอย่างไร เรื่องกายภาพ เรียนรู้ร่างกายตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้า เรียนการแยกร่างกาย สุดท้ายใจคือส่วนที่ยากที่สุด ทำความรู้จักกว่าอะไรที่เรากลัวที่สุด อะไรที่เรารักมากที่สุด อะไรที่เราหวั่นไหวมากที่สุด น้อยนะที่จะมีศาสตร์สาขาไหนหันมาถามนักเรียนแบบนี้ แต่ศาสตร์การแสดงเป็นศาสตร์ที่ถามเราโดยเฉพาะเลย


ทราบว่าหนึ่งในเทคนิคการสอนของครูเงาะคือการผสมผสานหลักพุทธศาสนากับการแสดง
ศาสนาพุทธสามารถเป็นศาสตร์ที่อยู่กับศาสตร์ใดในโลกก็ได้ เพราะศาสนาพุทธสอนให้เราหันกลับมารู้จักตัวเอง ศาสตร์ของการแสดงก็ว่าด้วยการรู้จักตนเอง พุทธศาสนาเป็นพื้นฐานที่สวยงามที่สุด เพราะวันที่คุณเงียบ วันที่คุณนั่งหลับตาแล้วคุณตามลมหายใจ คุณจะได้ยินเลยว่าเสียงในหัวเคลื่อนไหวอะไรบ้าง คนนั้นคิดอย่างนี้ ฉันอยากไปกินนั่น ฉันอยากไปกินนี่ แต่ในระหว่างที่คุณขยับปากพูด คุณไม่ค่อยรู้ตัว ไม่รู้ว่าในหัวใจกำลังคิดอะไรอยู่ กำลังอิจฉาใคร กำลังแอบชอบใคร กำลังเกลียดใครโกรธใคร เราให้นักเรียนค่อยๆ จับความรู้สึกตัวเองให้ได้ สามารถโฟกัสและมีสมาธิได้ เช่นในขณะที่คุณกำลังเล่นอยู่ คุณพูดบทผิด หลายคนพอผิดแล้วผิดเลยแล้วล้มเป็นโดมิโน ผิดปุ๊บไม่ให้อภัยตัวเอง พูดประโยคถัดไปยังย้อนกลับมาคิด เมื่อกี้ฉันไม่น่าพูดผิดเลย กลายเป็นว่าข้างหน้าก็ผิดด้วย เพราะคุณไม่โฟกัสกับปัจจุบัน ศาสนาพุทธจะสอนให้คุณอยู่กับปัจจุบันนะ วิปัสสนาช่วยให้คุณมีสติ มีสมาธิอยู่กับปัจจุบัน สิ่งใดเกิดขึ้น พลาดแล้วจบไปแล้ว โฟกัสอยู่กับปัจจุบัน จึงทำให้อนาคตของคุณก็ยังคงมั่นคงอยู่ ฉะนั้นสิ่งนี้เป็นหัวใจหลักในการดำเนินชีวิต และช่วยให้นักแสดงมีสมาธิและก็มีสติมากขึ้น


พัฒนาคนอื่นมาเยอะแล้ว มีหลักการพัฒนาตัวเองอย่างไร
ครูเงาะมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาเพื่อจะดีกว่าเมื่อวาน ไม่ใช่ว่าจะต้องรวยขึ้น หรือว่าจะต้องอู้ฟู่ขึ้น เปล่า ดีกว่าในแง่ของจิตใจ เงาะเชื่อว่าเราได้มาเกิดแล้ว ปลายทางของเราอาจจะเป็นนิพพานหรืออะไรก็ตาม ทุกๆ ก้าว ทุกๆ วันที่เราก้าวเดินไปข้างหน้านั่นคือการเดินเพื่อพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่ค่ะ ไม่ใช่ถอยหลังด้วย แล้วสิ่งที่ติดตัวเรามาคือทักษะในด้านการพูด การสอน และการแสดง เราเอาสิ่งนี้ไปช่วยให้โลกน่าอยู่ได้อย่างไร ฉะนั้นตลอดเวลาที่ใช้ชีวิต เราก็จะคอยหาสิ่งที่มาสนับสนุนความเชื่อของเรา ครูเงาะรักการแสดงมากๆ ครูเงาะก็จะชอบหาโรงเรียนใหม่เรียนเพิ่มเรื่อยๆ เพื่อทำให้รู้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ได้แข่งกับใครเลยค่ะ แข่งกับตัวเราเอง เช็คตัวเองตลอดว่าอะไรที่เรายังทำไม่ได้ น่าจะมีอะไรในโลกนี้บอกวิธีแก้ปัญหานี้นะ เราก็เดินทางไปหามาพัฒนาตัวเอง


ครูเงาะไปเรียนสะกดจิตบำบัด ตอนแรกกะว่าจะเรียนเพื่อมาพัฒนานักแสดง เพราะนักแสดงบางคนมีปมบางอย่างที่ทำให้เขาบล็อกตัวเอง คนจะเล่นดีไม่ดีดูจากว่าเขาจริงกับตัวเองแค่ไหน ถ้าคนๆ นี้ยังเฟคกับตัวเองอยู่ หลอกตัวเอง พูดจาไม่มีความจริงอยู่ในนั้น คนพวกนี้เล่นอย่างไรก็เล่นปลอมค่ะ แต่ถ้านักแสดงที่เล่นดีจริงๆ เล่นแล้วเข้าถึงคนจริงๆ พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่จริงกับตัวเองที่สุด ยอมรับตัวเองในทุกรูปแบบ เราเจอนักแสดงบางคนที่เขาปิดตัวเองอยู่ เราอยากช่วยเพราะเห็นว่าเขามีศักยภาพ มีพรสวรรค์ ครูเงาะก็เลยไปหาวิธีการในโลกนี้ มีศาสตร์ใดบ้างที่จะช่วยให้นักแสดงของเราดีขึ้น ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นว่าได้พัฒนาตัวเองด้วย ศาสตร์ของการแสดงเป็นเรื่องของมนุษย์ มันไม่สามารถบอกได้ว่าเลิกเรียนได้ตอนไหน เพราะข้างในตัวของเราเป็นเหมือนจักรวาลที่หาจุดจบไม่ได้ การเรียนรู้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งดีกับตัวเรามากเท่านั้น


อยากให้ช่วยขยายความเรื่องการดึงศักยภาพของคนๆ หนึ่งออกมาให้เต็มที่
ถ้ามีใครสักคนที่ไม่เห็นคุณค่าของตัวเองเดินมาบอกครูเงาะ ครูเงาะก็จะบอกว่า ไปเห็นคุณค่าของตัวเองเสียสิ ในชีวิตจริงเรามักจะคอยซ้ำเติมตัวเอง ทำอะไรผิดพลาดนิดหน่อย คิดซ้ำ กระทืบตัวเองซ้ำ เวลาจะทำอะไรดีๆ ก็พูดกับตัวเองว่าแกทำไม่ได้หรอก แต่น่าแปลกนะคะ กับเพื่อนกับฝูงถ้าใครทำอะไรพลาด ไม่เป็นไรให้อภัย ทำไมเราไม่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเองก่อน ทำไมเราถึงไปเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดให้กับคนอื่น ทั้งๆ ที่ตัวคุณเองคอยแต่จะทำร้ายตัวเอง ฉะนั้นเราต้องชี้ตรงนี้ให้เขาเห็นก่อน จากนั้นค่อยๆ ให้เขาลิสต์เลยว่าสิ่งใดที่เคยทำในชีวิตแล้วมีค่ากับตัวเขาเอง กับผู้อื่น เล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ แค่คุณพาคนแก่ข้ามถนน แค่คุณเห็นคนทำสตางค์ร่วงแล้วคุณหยิบคืน สิ่งดีๆ เหล่านี้ที่ทำมาเคยสักครั้งไหมที่หันมาชื่นชมตัวเอง เราทำมาดีแล้ว ดีได้อีก ดีแล้วก็ดีได้


ในบางกรณีบางคนมีปมลึกมาก เช่น ในช่วงวัยก่อนเจ็ดขวบอาจถูกใครบางคนที่เขารัก คุณครู คุณพ่อ คุณแม่ทำพลาด ไปพูดอะไรที่ทำให้เขาเข้าใจผิดกับตัวเอง อาจจะบอกว่าแกนี่โง่มากเลยนะ แกสู้คนนั้นไม่ได้ ทำไมไม่เหมือนคนนั้น ลูกได้ที่สามมาก็บอกว่าทำไมไม่ได้ที่สอง ได้ที่สองมาก็บอกว่าทำไมไม่ได้ที่หนึ่ง ลักษณะคำพูดแบบนี้จะฝังลึกลงไปในระดับจิตใต้สำนึก ทำให้เขารู้สึกไม่ดีพอ ไม่มีคุณค่า ความรู้สึกนี้จะคอยควบคุมชีวิตมาเรื่อยๆ พอโตขึ้นมาเขาก็จะทำตัวไม่มีค่าแบบที่ใจเชื่อ กรณีนี้บางครั้งต้องมีการทำสะกดจิตบำบัด หรือ Hypnotherapy ร่วมด้วย เพื่อเป็นการแก้ปมในระดับลึก ซึ่งไม่สามารถพูดบอกกันให้เข้าใจได้ ต้องบอกไปในระดับจิตใต้สำนึก

 


ตัวเราเองสามารถสะกดจิตบำบัดตัวเองได้ไหม
การบำบัดจิตใต้สำนึกเราสามารถให้คนอื่นทำให้ได้ แล้วทำให้ตัวเองได้ด้วย ลองสร้างให้จิตใต้สำนึกของเราจำในเรื่องที่ดี อย่าไปฉายซ้ำสิ่งที่ไม่ดี ยกตัวอย่างเวลาคุณฝึกเขียน ก.ไก่ คุณเขียนซ้ำๆ จนขนาดที่ว่าตอนนี้คุณสามารถเขียนกลับหัวก็ได้ เขียนด้วยมือซ้ายก็ได้ เพราะคุณทำซ้ำจนลงไปเป็นนิสัยในระดับจิตใต้สำนึก คนบางคนกลับบ้านทางเดิมซ้ำๆ วันหนึ่งเมา รู้ตัวอีกทีมาถึงบ้านได้แล้ว เพราะมันคือโปรแกรมซ้ำที่ลงไปในระดับจิตใต้สำนึกแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าในหัวของคุณฉายสิ่งดีๆ ซ้ำๆ นึกถึงเรื่องที่เราทำดีซ้ำๆ เรื่องที่เราประสบความสำเร็จซ้ำๆ ข้างในของคุณก็จะจำได้ว่า อ๋อ คุณเป็นคนที่ช่างประสบความสำเร็จเหลือเกิน จากนั้นอะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาจะง่ายไปหมด แล้วมันจะพาเราไปสู่จุดที่เชื่อว่าเราเป็นคนช่างประสบความสำเร็จไปเองโดยอัตโนมัติ เหมือนกับที่เราขับรถกลับบ้านโดยอัตโนมัติ ในแต่ละวันง่ายๆ ลองบอกสิ่งดีๆ กับตัวเองทุกเช้า นึกถึงเรื่องดีๆ ฉันเป็นที่รักนะ คุณแม่รักฉัน คุณพ่อรักฉัน นึกถึงอย่างเป็นประจำ เราก็จะจำได้ว่าเราเป็นที่รักมาตั้งแต่วันที่เราเกิด ชีวิตของคนเราถ้าถูกขับเคลื่อนด้วยความรัก การยอมรับ สำคัญที่สุดคือรักตัวเอง ยอมรับตัวเอง และเคารพตัวเอง คุณก็จะทำอะไรก็ได้แล้วในโลกนี้


ก้าวต่อไปของครูเงาะคืออะไร
ครูเงาะอยากทำโรงเรียนการแสดงที่สอนการพัฒนามนุษย์ค่ะ ทั้งคนในประเทศไทยและคนในอาเซียน เพราะคนเอเชียถูกเลี้ยงมาในลักษณะที่ไม่ได้ให้ความรัก ไม่มีการสัมผัสกัน ไม่มีการบอกรักหรือสั่งสอนกันแบบที่ฝรั่งส่วนใหญ่ทำ ไม่ได้บอกว่าฝรั่งดีกว่าเรานะคะ อยากให้โรงเรียนนี้เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนกล้าแสดงออก กล้าที่จะหันกลับมารู้จักตัวเอง นั่นคือสิ่งที่เราปรารถนาจะให้เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ และอาจจะเป็นโปรเจ็คต์เขียนหนังสือ ทำรายการทีวีที่เน้นการสอนให้คนเข้าใจตัวเองแล้วก็เลี้ยงลูกให้ถูกต้อง


สุดท้ายอยากให้ฝากถึงคนมีพรสวรรค์แต่ขาดความกล้า
ครูเงาะจะบอกเด็กๆ ของครูเงาะทุกคนว่าสิ่งที่จะทำให้เราเจอตัวเองได้ก็คือเรา ต้องลองลงมือทำค่ะ ครูเงาะพบอาชีพที่ครูเงาะรักได้เพราะครูเงาะเล่นละครเวที ทำกิจกรรม ทำทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาลงมือทำเราจะรู้เองว่ามันใช่หรือไม่ใช่ ถ้าคุณนั่งคิดไม่มีทาง แล้วอยากรู้อะไรรู้ให้ลึกรู้ให้จริง ไปเรียนรู้ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำได้แล้วก็พอแล้ว แล้วก็ไม่พัฒนาตัวเอง ฉะนั้นถ้ารักจริงๆ ทำให้เต็มที่นะคะ มีพื้นที่ให้กับหนูแน่นอน

ที่มา นิตยสาร plook ฉบับที่ 42 มิถุนายน 2557