พิรดา เตชะวิจิตร์ The One and Only
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-03-26 16:46:34
เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
หากความฝันของคุณคือการได้ใส่ชุดมนุษย์อวกาศแล้วเดินทางท่องไปยังอวกาศ ในขณะที่ประเทศของคุณยังห่างไกลจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คุณยังจะกล้าฝันทะยานไกลอยู่หรือไม่ แต่สำหรับผู้หญิงคนนี้ มิ้ง-พิรดา เตชะวิจิตร์ แม้แต่ขอบฟ้าก็หาใช่อุปสรรคของเธอ วิศวกรดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ หรือ GISTDA กำลังจะทำความฝันของเธอให้เป็นความจริง กับการเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่เดินทางสู่อวกาศ พร้อมกับตัวแทนอีก 22 ชาติทั่วโลก
ความฝันที่จะได้ท่องอวกาศของคุณมิ้งเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่
หลายคนคิดว่ามิ้งชอบมาตั้งแต่เด็ก แต่จริงๆ มิ้งสนใจด้านเทคโนโลยีมากกว่า เทคโนโลยีอะไรก็ตามที่มนุษย์พัฒนามาแล้วและเอาชนะธรรมชาติได้เราจะชอบเป็นพิเศษ ผู้หญิงหลายคนชอบเล่นทำกับข้าว แต่มิ้งจะชอบเครื่องจักร อาจเพราะที่บ้านมีโรงงานเซรามิค แล้วเราก็เห็นเครื่องจักรที่ทุ่นแรงคนงานได้ จากเตาเผาทั่วไปก็ค่อยๆ มีวิวัฒนาการเปลี่ยนมาเป็นเตาไฟฟ้า เราเลยรู้สึกว่าเทคโนโลยีมันเจ๋ง ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ตอนเด็กๆ มีความฝันว่าอยากเป็นนักบิน แต่พอได้เรียนด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ ความฝันในการเป็นนักบินเลยไม่ต่อเนื่อง
การจะเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ก็ต้องเรียนเก่ง
ตอนแรกมิ้งยังไม่เก่งฟิสิกส์มาก ตอนจบ ม.6 ที่โรงเรียนลำปางกัลยาณี มิ้งได้เจอกับติวเตอร์คนหนึ่งชื่อ พี่มด ที่จุดประกายครั้งยิ่งใหญ่ จากคนที่เรียนไม่ค่อยเก่งก็กลับรู้สึกว่าฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เป็นเรื่องง่าย แค่เราทำความเข้าใจกับมัน ทำให้มิ้งเอนทรานซ์ติดพระจอมเกล้าลาดกระบัง สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มิ้งขอบคุณเขามากเพราะเขาเปลี่ยนชีวิตมิ้งมาจนทุกวันนี้ พี่มดบอกเราว่าวิศวะเป็นผู้สร้าง เราก็รู้สึกว่าอยากเป็นวิศวกร
พอเรียนด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ใกล้จบปี 4 เราก็ต้องหาทางแล้วว่าจะทำงานหรือจะเรียนต่อ ถ้าทำงานเราต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ซึ่งเราไม่อยาก จนกระทั่งเจอประกาศทุน GISTDA รับวิศวกรดาวเทียม โดยจะส่งไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสก่อนกลับมาทำงานควบคุมดาวเทียมชื่อ “ไทยโชต” วิศวกรอวกาศ ฟังครั้งแรกตื่นเต้นมาก นี่แหละทางของฉันแล้ว ก็เลยสมัครทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส
ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีอวกาศเรามักจะนึกถึงอเมริกาและรัสเซีย ฝรั่งเศสมีความก้าวหน้าทางด้านนี้อย่างไรบ้าง
ฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญทางเครื่องบินและอวกาศ เครื่องบินก็มี Airbus ทุนนี้เป็นโครงการความร่วมมือของประเทศไทยและฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเคยทำดาวเทียมมาแล้วหลายดวงให้กับหลายประเทศ ประเทศไทยเราให้ฝรั่งเศสทำดาวเทียมดวงแรกที่เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ คือดาวเทียมไทยโชต หรือดาวเทียม THEOS แล้วให้วิศวกรจากไทยไปเรียนรู้ มิ้งได้ทุนปริญญาโท โดยเลือกหลักสูตรเองได้ มิ้งก็เลือกที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นระบบ ซึ่งนำมาพัฒนาได้
ทุนนี้มีปริญญาตรี 5 ทุน ปริญญาโท 10 ทุน และปริญญาเอก 5 ทุน มิ้งถือเป็นรุ่นแรกๆ ที่ GISTDA ส่งไป
จากตอนแรกที่อยากเป็นนักบินกลายมาเป็นวิศวกรอวกาศ เหนือความคาดหมายไหม
ก็ยังอยู่ในขอบเขตของเทคโนโลยี ยิ่งเป็นเทคโนโลยีด้านอวกาศก็ยิ่งไฮเทคเลยแหละ แต่ก็ไม่ได้ต่อยอดในความเป็นนักบินเท่าไหร่ แต่หลังจากมาทำงานก็เริ่มยากจะเป็นนักบินอวกาศ เพราะนักบินอวกาศเจ๋งตรงที่เขาได้ไปทำภารกิจที่น้อยคนมากจะได้โอกาสนั้น แล้วเทคโนโลยีที่สามารถซัพพอร์ตให้คนออกไปนอกโลกอีก ถ้าเรามีโอกาสได้อยู่นอกโลกบ้างคงเยี่ยมมาก
ทำไมตอนนั้นเรากล้าคิดไปถึงขั้นนั้น ในเมื่อประเทศเรายังไม่มีความสามารถทางเทคโนโลยีขนาดนั้น
มิ้งโชคดีเพราะอยู่ในตำแหน่งวิศวกรดาวเทียม ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับดาวเทียม มีโอกาสได้คุยกับนักบินอวกาศหลายคน ซึ่งทั้งโลกมีแค่ 500 กว่าคน และศึกษาว่าประเทศอะไรบ้างที่มีโครงการแบบนี้หรือส่งคนออกไปนอกโลกแล้วบ้าง ก็พบว่าเกาหลีใต้มีการส่งนักบินอวกาศคนแรกออกไปเมื่อปี 2008 มาเลเซียก็ส่งออกไปแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยก็น่าจะมีโอกาสส่งนักบินไปอวกาศบ้าง มันเป็นความฝันที่เหมือนจะไกลนะ แต่เราก็ตั้งเป้าเอาไว้เฉยๆ ว่า ขอโอกาสแค่สักครั้ง ถ้าเกิดขึ้นก็จะทำเต็มที่เลย
การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศต่างๆ เป็นอย่างไร
หลายประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ อย่างแรกคือเขาให้ความสำคัญกับการวิจัยเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ อาจจะดูห่างไกลแต่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีอวกาศไม่ต่างจากเทคโนโลยีปัจจุบันมาก แถมยังได้ประโยชน์อีกหลายเรื่อง เพราะเวลาที่เราพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศมันสามารถนำมาประยุกต์กับเทคโนโลยีปัจจุบันด้วย อีกอย่างคือเขามีการวาง roadmap ที่ยาวนาน มองเห็นถึงอนาคตว่า 10 ปี 20 ปีจะเป็นอย่างไร ไม่ได้มองแค่ 5 ปี มิ้งมองว่าสิ่งที่ประเทศไทยยังขาดคือความตระหนัก พอไม่มีความตระหนักเราก็เลยขาด roadmap ที่จะวางอนาคตซึ่งค่อนข้างสำคัญ
เอาใกล้ๆ อย่างมาเลเซีย มีการวาง roadmap ว่าต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมในประเทศเขาเอง รวมถึงการส่งนักบินอวกาศคนแรกขึ้นไป ซึ่งเป็นการเสียเงินจำนวนมหาศาลประมาณต่ำๆ ก็ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง return กลับมาไม่ได้เป็นเงินเลย แต่เป็น return ของการสร้างไอดอลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจว่ามันทำได้ ให้เด็กๆ ภูมิใจว่าประเทศของเขามีนักบินอวกาศคนแรก และเป็นสัญลักษณ์ว่าประเทศของเขาปลูกฝังด้านการคิดและพัฒนาการวิจัย มิ้งมองว่าเขาตระหนักถึงเรื่องนี้ ถึงได้ทุ่มเงินด้านการศึกษาและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์
อีกตัวอย่างคือ ประเทศญี่ปุ่นรู้สึกว่าตัวเองอาจจะไม่มีอะไรทางวิทยาศาสตร์มาก แต่เขามีสถิติด้านการวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่กระเตื้องขึ้นครั้งแรกตอนคนญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบล อีกครั้งคือเขามีนักบินอวกาศคนแรกของประเทศ พอมีปุ๊บกลายเป็นว่างานวิจัยและจำนวนของนักวิจัยเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง เลยเป็นอะไรที่ไม่ได้เห็นเป็นตัวเงิน หรือเป็นกำไรออกมาทันที แต่เป็นการปลูกความยั่งยืนให้กับประเทศมากกว่า
เชื่อว่าหลายคนไม่ทราบว่าเรามีหน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เริ่มแรกเราเน้นด้านภูมิสารสนเทศมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายดาวเทียมที่เอามาวิเคราะห์ไฟป่า น้ำท่วม อย่างในปี 2011 ที่น้ำท่วม GISTDA มีบทบาทค่อนข้างเยอะในการเอาภาพถ่ายดาวเทียมมาวิเคราะห์ จะท่วมไปถึงไหน ภายในกี่วัน ส่วนในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ เราเพิ่งมีดาวเทียมดวงแรกคือไทยโชต 1 แต่เราพยายามจะสนับสนุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมธรรมดาให้กลายเป็นอุตสาหกรรมอวกาศ บางคนไม่รู้ตัวว่าถ้าฉันพัฒนาอีกหน่อยจะสามารถนำชิ้นส่วนเหล่านั้น จากธรรมดาทั่วไป สมมติว่าใช้ในเครื่องบิน น็อต สกรู เอามาใช้ในอวกาศได้ด้วย มันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ เพราะเทคโนโลยีอวกาศต้องซื้อน้อยแต่ซื้อแพง แต่ละอย่างต้องไฮเกรดทั้งนั้น GISTDA มีอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park) เพื่อบ่มเพาะอุตสาหกรรมธรรมดาให้เป็นอุตสาหกรรมอวกาศ ก็พยายามผลักดันกันอยู่ รวมถึงการเผยแพร่ความรู้เป็นศูนย์เรียนรู้และอบรมตามโรงเรียนต่างๆ
วิศวกรดาวเทียมต้องทำอะไรบ้าง
ดูแลดาวเทียมไทยโชต ทั้งตัวดาวเทียมและระบบภาคพื้นดินที่ใช้ติดต่อสื่อสารกับดาวเทียม เพื่อให้ดาวเทียมอยู่กับเราได้นานที่สุด เพราะการลงทุนดาวเทียมค่อนข้างสูง ถ้ามันเสียเราไม่สามารถบินขึ้นไปเพื่อซ่อมมันได้ เสียแล้วก็เสียเลย ดังนั้นการที่เรารู้จักตัวดาวเทียมของเราดีมันมีประโยชน์ และอนาคตถ้าเราอยากจะมีดาวเทียมดวงที่สองหรือสาม เราก็สามารถนำความรู้มาพัฒนาดาวเทียมได้
คุณสมบัติวิศวกรดาวเทียม
จากวิศวกรหลายสาขาสามารถแปลงมาเป็นวิศวกรดาวเทียมได้ อย่างวิศวกรคอมพิวเตอร์ ทุกระบบต้องมีคอมพิวเตอร์ มีสมองคิด ก็สามารถประยุกต์ใช้กับตัวระบบดาวเทียมได้ จากการสื่อสารทั่วไปก็มาเป็นการสื่อสารดาวเทียม ถ้ามาทำงานกับ GISTDA วิศวกรทุกแขนงทำได้หมด เพียงแต่เรายังไม่มีวิศวกรด้านเทคโนโลยีอวกาศโดยตรง แต่อีกไม่นานนี้ก็น่าจะมีแล้ว
ต้องหลงใหลในดวงดาวไหม
มันเป็นคนละศาสตร์กับดาราศาสตร์นะ หลายคนถามว่าพี่มิ้งดูดาวไหม พี่มิ้งไม่ได้ชอบดาราศาสตร์แต่ชอบเทคโนโลยีอวกาศมากกว่า เป็นสองแขนงที่มาคู่กัน เรื่องอวกาศเป็นเรื่องการสร้างยาน การสำรวจอวกาศอะไรแบบนี้มากกว่า
เพราะอะไรถึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Axe Apollo Space Academy
ฟังชื่อครั้งแรกมิ้งก็อึ้งแล้ว เพราะว่าคนไทยไม่เคยมีใครไปอวกาศมาก่อน นี่แหละแคมเปญของฉัน อาจจะเข้าข้างตัวเองนิดหนึ่ง พอเปิดรับสมัครเราก็หาทุกช่องทางเลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เปิดกี่ประเทศ ที่สำคัญเลย รับผู้หญิงหรือเปล่า เพราะกลัวว่าถ้าไม่รับผู้หญิงจะทำอย่างไร จะไปประท้วงก็ไม่ได้เนอะ
ด้วยอาชีพน่าจะมีพื้นฐานความรู้แน่น แต่ต้องทดสอบสมรรถภาพร่างกายด้วยใช่ไหม
เหนือความคาดหมายเหมือนกันนะ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แค่อยากจะได้ๆ แล้วพอได้จริงๆ เราต้องไปศึกษาว่านักบินอวกาศเขาทดสอบร่างกายอย่างไร ตอนแรกไปหาข้อมูลเจอหนักกว่านี้อีก คือต้องเอามือจุ่มน้ำเย็นสี่องศาแล้ววัดการเต้นของหัวใจ หรือการขึ้นบันไดต้องทำได้กี่ครั้ง กลายเป็นว่าทั้งหมดนี้เป็นการทดสอบสมัยก่อน เขาเลิกทำกันไปแล้ว โอเคค่ะ พอเราไปแคมป์จริงๆ มันก็หนัก เพราะเขาเอาคอร์สที่ทดสอบทหารมาทดสอบกับเรา แต่มิ้งก็ไม่ยอมแพ้ ทำเต็มที่จนจบมิชชั้น อีกอย่างที่รู้สึกตกใจคือ G-Force เคยได้ยินว่ามันแรงนะ มิ้งก็คิดว่ามีคนทนได้ก็ไม่เป็นไรมั้ง แต่พอไปขึ้นเครื่องบินตีลังกาจนเกิดแรง G เลือดตกลงมาจากสมองไปที่เท้าเยอะมาก ทำให้เราเกือบเป็นลม เพราะเวลาเหวี่ยง 5G ร่างกายเราจะหนักขึ้น 5 เท่า เลือดในร่างกายจะตกไปที่เท้าอย่างรวดเร็ว ตาก็จะมองเห็นเป็นสีเทา และเริ่มดำเพราะเลือดไปเลี้ยงที่ตาไม่พอ เป็นสภาวะที่อยากจะอาเจียน จะเป็นลม แล้ว G-Suit กองทัพอากาศที่ใส่ค่อนข้างหลวม เลยช่วยบีบเลือดที่เท้าได้ไม่เยอะ ทำให้เลือดตกไปเยอะ แต่พอเรารู้จังหวะว่าต้องเกร็งตัวก็ทำได้ พอไปเข้าคลาสที่สหรัฐอเมริกาก็รู้แล้วต้องทำอย่างไรก็ผ่านได้
ตั้งแต่วันที่รับสมัครจนถึงวันประกาศผลนานแค่ไหน
รับสมัครเดือนเมษายน วันที่ประกาศคือ 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน อย่างที่บอกว่ามิ้งจะต้องไปให้ได้ มิ้งก็ทำทั้งสามช่องทางรับสมัครเลย สมัคร “แฟนพันธุ์แท้อพอลโล” ทำคลิปวิดีโอเตรียมไว้แต่ยังไม่ทันทำ หรือการจับฉลากก็ซื้อผลิตภัณฑ์ของเขาเหมือนกัน สุดท้ายมาได้ในช่องทางแฟนพันธุ์แท้อพอลโล ซึ่งมิ้งตั้งเป้าไว้แล้วว่าน่าจะได้แฟนพันธุ์แท้ฯ เพราะมีความรู้ตรงนี้ เพียงแต่มันเป็นเกมโชว์ซึ่งมีจุดพลาดได้ คนที่เก่งที่สุดไม่จำเป็นต้องชนะ เพราะต้องอาศัยสติ การตอบคำถามสามวินาที หรือความโชคดีก็ตาม
คิดว่าอะไรทำให้เราก้าวมาถึงจุดนี้
มิ้งว่าเป็นเรื่องของการตัดสินใจ แล้วไม่ใช่เป็นการตัดสินใจที่พูดกับตัวเองคนเดียวด้วย พูดกับทุกคน พูดกับเพื่อน พูดว่าถ้ามีโอกาสอย่างนี้สักครั้ง ฉันจะทำเต็มที่เลย เขาบอกให้ทำอะไรฉันจะทำ พอเป็นการแข่งแฟนพันธุ์แท้ฯ ปุ๊บ เราปฏิเสธไม่ได้ ต่อให้ไม่อยากออกทีวี มันเป็นข้อแก้ตัวค่ะ ไม่ทำก็ได้นะ แต่ชีวิตที่ต้องอยู่หลังจากเราปฏิเสธไม่ยอมทำให้เต็มที่ เวลาที่เรามองกลับมาเราคงเสียใจมาก หรือว่าต้องอยู่ต่อไปมันคงเป็นความรู้สึกที่แย่กับตัวเอง กับทุกเรื่องในชีวิตก็เหมือนกัน ตอนเรียนโท การตัดสินใจคือการตัดทางเลือก ตัดทางเดินกลับ ตัดทางออกอื่นๆ ที่อาจจะแอบออกไปได้ เหลือทางเดียวคือมุ่งไปและเรียนจนจบเป็นเป้าหมาย
กำหนดบินในปีหน้า ยังต้องเตรียมตัวอะไรอีก
มิ้งผ่านการทดสอบทุกอย่างแล้ว แต่ยังมีจุดที่เรารู้สึกว่าน่าจะบกพร่องเล็กน้อยคือความพร้อมของร่างกาย เพราะตอนเราฝึกเราเหนื่อยมาก นักบินที่กองทัพอากาศแนะนำให้ไปวิ่ง เพราะเวลาเกิด G-Force เราต้องเกร็งและต้องมีกล้ามเนื้อ การวิ่งจะสร้างกล้ามเนื้อ เรื่องการหายใจ และการออกกำลังกาย
6 นาทีในอวกาศจะทำอะไร
จริงๆ แล้วไฟลท์นี้ออกแบบให้คนไปเที่ยวและทำการทดลองเล็กๆ น้อยๆ 5-6 นาที การได้มองเห็นโลกจากมุมมองตรงนั้นเนี่ย คนทั้งโลกมีแค่ประมาณ 500 กว่าคน แค่เป็นหนึ่งในนั้นก็ยิ่งใหญ่มากและเพียงพอแล้ว ตั้งแต่ได้ไปมีคนฝากของเยอะมาก เอานี่ขึ้นไปด้วย เอารูปครอบครัวฉันไปด้วย อะไรที่ไปอวกาศไปแล้วกลับมามันจะพิเศษเนอะ ที่มิ้งตั้งใจจะเอาขึ้นไปคือพระบรมฉายาลักษณ์ ธงชาติไทยแสดงความเป็นไทย และตราสัญลักษณ์อื่นๆ ที่ทำให้มิ้งมีทุกวันนี้ โลโก้ GISTDA พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง โรงเรียนลำปางกัลยาณี รวมถึงรูปครอบครัว
คนจะชอบถามว่าแค่ 6 นาทีจะทำอะไร มันเป็น 6 นาทีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ในชีวิตมิ้ง มิ้งเคยได้ยินนักบินอวกาศบอกว่าเวลาที่นึกถึงช่วงเวลาที่ได้ออกไปทำภารกิจในอวกาศ เขาแทบไม่ลืมความรู้สึกนั้นเลย ความรู้สึกที่มองกลับมาเห็นโลกเป็นสีฟ้า มิ้งก็อยากจะมองโลกจากมุมมองอวกาศมันยิ่งใหญ่อย่างไร อยากรู้บ้างว่าทำไมเขาถึงไม่ลืมกัน ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ 6 นาที มันอยู่หลังจากนั้นมากกว่า พอสัมผัสแล้วจะเอากลับมาบอกต่อกับน้องๆ หรือใครที่มีความฝันก็แล้วแต่ ความฝันที่อาจจะดูไกลหรือแทบเป็นจริงไม่ได้ แต่ถ้าเราพยายามในเวลาที่โอกาสมาถึงก็เป็นจริงได้แน่นอน
หลังจากภารกิจ เราจะสามารถเรียกคุณมิ้งว่าเป็นนักบินอวกาศได้หรือไม่
ขึ้นไปความสูง 103 กิโลเมตร ซึ่งถ้าเกิน 100 กิโลเมตรก็ถือว่าเป็นอวกาศแล้วเพราะเลยชั้นบรรยากาศ คำว่าอวกาศคือไม่มีอากาศแล้ว เครื่องบินที่ขึ้นไปก็ค่อนข้างพิเศษ เพราะเวลาทะลุขึ้นชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วสูงจะต้องเสียดสีกับชั้นบรรยากาศ เครื่องบินต้องถูกออกแบบให้มีความทนทานทนความร้อนได้ รวมถึงเวลากลับลงมาอีก เครื่องบินปกติจะบินแค่ความสูงประมาณ 10 กิโลเมตร ส่วนคำว่านักบินอวกาศ หรือ astronaut ใช้เรียกกับคนที่ไปทำภารกิจบนอวกาศ เป็นคำศัพท์ของสหรัฐฯ ส่วนรัสเซียเรียก cosmonaut ซึ่งความหมายเดียวกัน คนที่ออกไปทำภารกิจบนอวกาศไม่จำเป็นต้องขับเครื่องบินอย่างเดียว ภาษาไทยที่ตรงมากกว่าคือ มนุษย์อวกาศ มีคำศัพท์อีกคำที่บัญญัติขึ้นมาคือ commercial astronaut เพราะระยะหลังมีคนที่ไม่ได้ไปทำภารกิจแต่ไปเที่ยวมากขึ้น
เสน่ห์ของอวกาศคืออะไร
เป็นเสน่ห์ของเทคโนโลยี ของความคิดมนุษย์ที่มิ้งหลงไหล เวลาใครคิดค้นอะไรได้จะมีเสน่ห์มาก เฮ้ย คิดได้อย่างไรอ่ะ วัสดุชิ้นนี้ต้องมาทำแบบนี้ถึงจะทนทานมากขึ้น อาจจะไม่ใช่เทคโนโลยีอวกาศอย่างเดียว แต่เทคโนโลยีอวกาศเป็นการพิสูจน์อีกขั้นหนึ่ง อย่างตอนสงครามเย็น มิ้งชอบนะ มันเป็นเรื่องของการบีบคั้นความสามารถของมนุษย์ที่เจ๋งมาก เราต้องแข่งกันพาคนไปนอกอวกาศซึ่งยากมาก พอมาคิดถึงว่าผ่านมา 45 ปีมาแล้วที่ นีล อาร์มสตรอง ไปเหยียบดวงจันทร์ ถึงตอนนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าทึ่งว่าคนเราเนี่ยนะ ที่อยู่บนโลก ขึ้นยานไปเหยียบดวงจันทร์ ทำได้อย่างไร
ใครเป็นไอดอลนักวิทยาศาสตร์ของคุณมิ้ง
น่าจะเป็นนักธุรกิจที่นำข้อมูลมาประยุกต์มากกว่า นั่นคือ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของ Virgin และ Virgin Galactic เริ่มจากเพลงจนตอนนี้มี Virgin Galactic ทำไฟล์ทให้คนไปเที่ยวอวกาศ เขาเจ๋ง เป็นคนพูดจริงทำจริง รักษาสัญญา กิจกรรมต่างๆ ที่เขาทำมันหลุดโลก แต่ประทับใจตรงที่เขาเป็นคนมีความพยายามมากจริงๆ
จะบอกอะไรกับคนที่มีความฝันเดียวกันกับคุณมิ้ง
ไม่ใช่แค่ความฝันในการท่องอวกาศ ทุกความฝันอยู่ที่ใจเราที่เชื่อว่ามันจะเกิดได้จริงหรือเปล่า มิ้งจะมีการเตรียมพร้อมเสมอ เพราะมิ้งอาจจะตรงสายด้วย มิ้งเคยรู้ว่าการจะเป็นนักบินอวกาศได้ต้องเป็นวิศวกร คุณหมอ หรือนักวิทยาศาสตร์ จะมีความได้เปรียบ มิ้งก็จะเตรียมพร้อมเรื่องภาษาด้วย ความฝันเป็นไปได้จริงๆ นะ อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวเลย แต่ว่าคุณต้องพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่าคุณอยากเป็นจริงๆ เวลาที่มีโอกาสมาถึง มันอาจจะเป็นโอกาสสุดท้าย อาจจะมีแค่ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ทำให้เต็มที่ ใส่ให้เต็มแรงเลยว่าตรงนี้คือความฝันของฉัน แล้วมันจะเป็นความฝันของคุณจริงๆ การไปอวกาศครั้งนี้มิ้งบอกว่านี่มันตัวของฉัน บางคนก็บอกมันเว่อร์ มิ้ิงบอกไม่เว่อร์ ใครไม่รู้แต่ฉันรู้ มันคือความฝันของฉัน
ความฝันที่อยากจะท่องอวกาศกำลังจะเป็นความจริงแล้ว ยังมีความฝันอะไรอีก
มิ้งทำงานทางด้านการวิจัยมาก็รู้สึกว่ายังขาดอยู่คำหนึ่งคือคำว่าดอกเตอร์ อยากไปเรียนต่อปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะไปเรียนประเทศอะไร หรือสาขาไหน
ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 40 เดือนเมษายน 2557