พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หมอช่างเขียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-01-30 11:36:00
เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: ภูวดล ชินจอหอ และ วันวิสาข์ หนองภิวงค์
“รายได้จากการขายหนังสือไม่เยอะเลยถ้าเทียบรายได้ของการเป็นหมอ เพราะฉะนั้นเราเขียนจากความชอบอย่างเดียวเลย”
หากนักเขียนคนหนึ่งออกหนังสือใหม่ได้ 2-3 เล่มต่อปีก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้านักเขียนคนนั้นมีบทบาทหลักเป็นแพทย์รักษาคนไข้ คงต้องยอมรับว่าผลงานเขียนและแปลหนังสือด้านสุขภาพ 10 เล่มภายในไม่ถึง 5 ปีของเธอ นับเป็นพอร์ตโฟลิโอที่แน่นทั้งปริมาณและคุณภาพ และหากคุณกำลังนึกภาพของหมอนักเขียนให้เป็นหมอสุดเนิร์ดหน้านิ่ง ยิ่งต้องบอกว่าไม่ใช่ เพราะ หมอผิง-พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย เป็นหนึ่งในไอคอนของคุณหมอสมัยใหม่ที่ “healthy” ไปทุกไลฟ์สไตล์ ด้วยเคล็ดลับคือการทำในสิ่งที่ตนเองถนัดและมีวินัยกับสิ่งนั้น
คนส่วนใหญ่รู้จักหมอผิงจากทวิตเตอร์ ที่จริงแล้วชื่อ “หมอผิง” เริ่มต้นจากไหน
จริงๆ หมอออกหนังสือก่อนทวิตเตอร์นะ สมัครทวิตเตอร์ไว้ใช้ส่วนตัวเลยใช้ชื่อ @thidakarn ไม่ได้ใช้ด็อกเตอร์เหมือนคนอื่น บังเอิญเรารู้จักกับดาราหรือเซเลบ เป็นคนไข้บ้างเป็นเพื่อนบ้าง เขาทวีตมาหาเราเลยเริ่มมีคนมาตามเรา เริ่มมีคนถามก็เลยทวีตให้ความรู้ไป แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจจะตอบปัญหาทางทวิตเตอร์ เพราะโรคหลายโรคโดยเฉพาะโรคผิวหนังยากที่จะวินิจฉัยทางทวิตเตอร์ ยิ่งหลายคนมีหมอส่วนตัวอยู่แล้ว หมอไม่อยากเข้าไปทำให้การรักษาวุ่นวาย
ย้อนรอยขึ้นไปอีกตอนก่อนจะมีคำนำหน้าว่าหมอ ทำไมหมอผิงถึงตัดสินใจเลือกเรียนแพทย์
โดยส่วนตัวตอนเด็กๆ อยากเป็นหลายอย่างที่ไม่ใช่หมอ เช่น นักโบราณคดี สถาปนิก นักเศรษฐศาสตร์ แล้วก็อยากเป็นนักเขียน ค่านิยมที่ว่าถ้าเรียนเก่งก็ต้องเรียนสายวิทย์ เราเรียนชีววิทยาได้ดี คุณพ่อบอกว่าควรจะเป็นหมอ แล้วคุณพ่อก็มองว่านิสัยเราไม่ชอบเป็นลูกน้องใคร อาชีพหมอค่อนข้างอิสระ เราก็เชื่อคุณพ่อเลือกหมอไว้อันดับหนึ่ง แล้วก็เลือกสิ่งที่เราชอบรองลงมาอย่างเศรษฐศาสตร์ แต่เราก็ไปติดอันดับหนึ่ง (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล) ปีหนึ่งก็ไม่ตั้งใจเรียนหรอก แต่พอเรียนไปก็ค่อยๆ ชอบอาชีพนี้ขึ้นมา
แสดงว่าหมอผิงค่อนข้างมีความสนใจและความถนัดหลากหลาย
เป็นคนมีความสนใจหลายด้าน แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนชอบอ่านหนังสือทุกรูปแบบ เวลาเราอ่านประวัติศาสตร์เราก็อินและอยากเรียนโบราณคดี พอได้อ่านหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์ก็รู้สึกว่านักเศรษฐศาสตร์นี่ฉลาดจริงๆ รู้แทบจะทุกอย่าง เสียดายที่ไม่ได้เรียน หมอเชื่อในทฤษฎีที่ว่าคนเรามีความถนัดที่แตกต่างกันไป จริงๆ หมอไม่ได้มีความคิดทางด้านวิทยาศาสตร์มากนัก แต่อ่านแล้วเข้าใจในเรื่องชีววิทยา การเป็นหมออาศัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์แท้ๆ เหมือนคนที่เรียนคณะวิทยาศาสตร์ ต้องท่องจำเยอะและต้องอาศัยศิลปะ การพูดจากับคน
การเป็นคนชอบอ่านหนังสือเป็นต้นทุนของพรสวรรค์ทางการเขียนหรือเปล่า
ไม่คิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์แต่เกิดจากการเรียนรู้ หมอว่าทุกคนที่อยากเขียนต้องเริ่มจากอ่านก่อน พออ่านแล้วเราจะเหมือนกับฟองน้ำที่ดูดคำดูดสำนวนเข้ามาเองโดยไม่รู้ตัว พออ่านไปเยอะๆ ยีนนักเขียนอาจจะถูกกระตุ้นขึ้นมา แต่ตอนเขียนแรกๆ ฝืดมาก เขียนเรื่องสั้นสัพเพเหระไปเรื่อยๆ เพราะอยากเขียน ไม่ได้เขียนเพราะอยากตีพิมพ์หนังสือ เราไม่รู้ตัวว่านั่นคือการฝึก แล้วพอถึงจุดหนึ่งที่เราอยากเขียนเรื่องสุขภาพมันทำให้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ้ากลับไปอ่านเล่มแรกที่เขียนมันไม่ใช่เลย ตอนนี้ก็ยังไม่ดี แต่ก็มีพัฒนาการในหมื่นแสนตัวอักษรที่เราพิมพ์ไปทุกวัน ทุกวันนี้แม้ช่วงที่ยังไม่ออกหนังสือก็เขียนบทความให้ สสส. ไม่ได้เงินมากมาย แต่เราเขียนเพื่อฝึกตัวเอง
มีความมั่นใจอย่างไรจึงตัดสินใจเขียนหนังสือขายเป็นเล่มแรก
พอเราเรียนด้าน Anti-Aging Medicine เราก็ลองกับตัวเองแล้วดี ในเมืองไทยไม่ค่อยมีหนังสือที่เกี่ยวกับด้านนี้เลยในตอนนั้น ในขณะที่เมืองนอกมีหนังสือเรื่องการดูแลตัวเอง ไลฟ์สไตล์สุขภาพ และการป้องกัน ก็ลองเขียนต้นฉบับแล้วส่งให้เพื่อนสนิทอ่าน เพื่อนบอกว่าใช้ได้ให้ลองส่งสำนักพิมพ์ ส่งไปเองเลยสองที่ ก็ตอบกลับมาทั้งสองที่ ตอนนั้นยังอยู่ในช่วงวัยรุ่นไฟแรงก็เขียนได้อีก เลยได้ทำงานกับทั้งสองเจ้า
หลังจากเขียนแล้วก็มาแปลหนังสือวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย จนถึงตอนนี้ 4-5 ปีมีหนังสือออกสิบเล่มแล้ว บางปีออกสามเล่มด้วยซ้ำ ที่จริงแล้วรายได้จากการขายหนังสือไม่เยอะเลยถ้าเทียบรายได้ของการเป็นหมอ เพราะฉะนั้นเราเขียนจากความชอบอย่างเดียวเลย และหมอก็มีเวลาเขียนอยู่แล้ว เพราะหมอไม่ดูละคร เลิกงานกลับบ้านไม่ได้ทำอะไรก็เขียนหนังสือได้ วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ไม่เดินห้าง ก็เลยมีเวลาเยอะ
ผลงานส่วนมากเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ แต่ “เคมีรักระหว่างเรา” กลับไม่เข้าพวก
เนื่องจากเป็นคนชอบอ่าน ไปอ่านเจอการศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กับความรัก พออ่านเรื่อยๆ ก็มานั่งรวบรวมความคิดจากการอ่านจนร้อยเรียงเป็นเรื่องเป็นหนังสือ หมอไม่รู้มาก่อนเลยที่เราพูดกันว่าความรักมีวันหมดอายุ จริงๆ แล้วมีคำอธิบาย แต่ก่อนหมอคิดว่าไม่จริงหรอก เราต้องมีรักที่ไม่มีวันหมดอายุ ต้องมีใครสักคนที่เราจะรักแบบลุ่มหลงไปตลอดชีวิต แต่รักหมดอายุเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นวิทยาศาสตร์ เราจะประคองต่อไปอย่างไรเมื่อผ่านช่วงของความรักที่ลุ่มหลงสู่ช่วงความรักที่ผูกพัน ปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นยามเมื่อเรามีความรักหรืออกหัก พอเราเข้าใจเรื่องพวกนี้แล้วเราจะเข้าใจความรักมากขึ้น ก็อาจจะควบคุมตนเองไม่ให้รู้สึกไปกับความรักเกินไป สมมติว่าคนกำลังจะอกหัก ถ้าเราอธิบายว่ามันเป็นเรื่องของจิตวิทยา ที่เรากำลังจะร้องไห้เป็นเพราะกลไกต่างๆ พอคิดอย่างนี้ความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วมจะลดลง
ความโรแมนติกจะลดลงไปด้วยไหม
ไม่เลย มันโรแมนติกตรงที่ความรักเกิดขึ้นเหนือการควบคุมของเรา เวลารักใครสักคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในร่างกายเรา คนๆ หนึ่งปรากฏตัวขึ้นแล้วทำให้เซลล์สมอง เซลล์หัวใจ ฮอร์โมนในร่างกายเราเปลี่ยนรวนไปหมดเลย หมอว่าโรแมนติกมากกว่าด้วยซ้ำ
เล่มล่าสุดที่กำลังจะออก “อ่านแล้ว Young” ตั้งใจจะบอกอะไร
ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเล่มสุดท้ายที่เกี่ยวกับสุขภาพหรือเปล่า ในเล่มนี้หมอพยายามรวมทุกแง่มุมสุขภาพกว่าเล่มก่อนๆ ที่เคยเขียนมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การออกกำลัง วิตามิน การพักผ่อน รวมไปถึงการดูแลระบบแต่ละระบบตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพื่อให้คนอ่านเข้าใจวิธีการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีจริงๆ แล้วนำไปใช้ เขาก็จะชะลอการเกิดโรค ชะลอแก่ได้ หวังว่าจะเป็นหนังสือสามัญประจำบ้านด้านสุขภาพได้ เป็นหวัดทำอย่างไรดี วิตามินตัวนี้กินดีหรือเปล่า อายุเท่านี้ต้องตรวจเช็คอะไร ต้องฉีดวัคซีนอะไร
จากการทำงานมากว่าสิบปี คนไทยมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพมากน้อยแค่ไหน
อาจจะมีกลุ่มเล็กๆ ที่อ่านเยอะเข้าใจเยอะ แต่กลุ่มใหญ่ยังไม่ค่อยรู้เพราะข้อมูลสุขภาพมีไม่เยอะและไม่สนุก และเนื่องด้วยนิสัยคนไทยค่อนข้างเชื่อคนง่าย เชื่ออะไรที่ส่งต่อกันมา และพื้นฐานเราโตมากับไสยศาสตร์ อะไรที่เหนือจริงก็ยังมีมีแนวโน้มจะเชื่อง่าย ซึ่งหมอว่าตรงนี้เป็นปัญหา มีเคสหนึ่งคิดว่าการทานวิตามินคือการดูแลตัวเองที่ดีแล้ว วันที่เขามาหาหมอก็ลิสต์วิตามินที่ทานมาให้ดู มีประมาณสองหน้ากระดาษครึ่ง ใครให้มาก็ทาน ซ้ำซ้อนและค่อนข้างอันตราย โชคดีที่เช็คแล้วทุกอย่างยังโอเคอยู่ อีกเคสหนึ่งคือคนไข้เชื่อเรื่องการดีท็อกซ์ด้วยถุงกาแฟ และทำต่อเนื่องเป็นเวลาสิบปี ทำให้ถ่ายเองตามธรรมชาติไม่ได้ หมอพยายามอธิบายไปว่ากลไกร่างกายมีธรรมชาติในการขับถ่ายของตัวเองอยู่แล้ว สารพิษต่างๆ ที่เราได้รับ ร่างกายก็มีกลไกกำจัด ไม่จำเป็นจะต้องไปทำแบบนั้น ซึ่งสองเรื่องในวงกว้างของสังคมไทยก็เป็นกันเยอะ
เราควรจะหาความรู้แล้วถามตัวเองก่อน อย่าเพิ่งเชื่อแม้ว่ามันเป็นสิ่งที่หมอพูด ดูว่ามีอ้างอิงอะไรไหม ลองไปอ่านอ้างอิง เวลาทวีตหมอพยายามใส่อ้างอิงเข้าไปด้วยเพราะอยากให้ทุกคนอ่าน ถ้าเราฝึกกระบวนการคิดแบบนี้ไปเรื่อยๆ ความเชื่อแบบผิดๆ จะน้อยลงในสังคมและจะปลอดภัยมากขึ้นในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง
หมอผิงมีเคล็ดลับในการดูแลสุขภาพร่างกายอย่างไร
หมอจะเน้นมากเรื่องการมีวินัย นอนให้พอ นอนไม่ดึก ตื่นมาก็ออกกำลังกายก่อน แล้วก็ทำอาหารเช้าทานเอง ระหว่างวันถ้าเป็นไปได้ก็พยายามเดินหรือใช้บันได ดูแลอาหารสามมื้อให้ดี และมื้อเย็นพยายามอย่ากินดึก หมอเลิกงานดึกนะเกือบสองทุ่ม แต่จะมีช่วงเบรกคือทานข้าวตอนห้าโมงและทานข้าวให้ตรงเวลา พอกลับบ้านถ้าเราตั้งใจว่าอยากเขียนหนังสือ หมอก็ปิดมือถือ เราก็มีสมาธิทำทีละอย่าง ช่วงนี้หมอพยายามฝึกนั่งสมาธิมากขึ้นเพราะรู้สึกว่าช่วยได้ ลดความเครียด และกระบวนการคิดดีขึ้น
เคยงอแงบ้างไหม
เคยบ้าง หมอก็มีอารมณ์อยากกินขนม บางทีอาหารเช้าก็ใส่อะไรที่ดูเป็นขนมเหมือนกัน หมอก็หย่อนให้ตัวเองทานขนมได้บ้างสัปดาห์ละครั้ง ถามว่ามีขี้เกียจออกกำลังกายบ้างไหม อันนี้มีน้อยนะ มันฝึกมาจนเป็นนิสัยในเรื่องการเคารพวินัยกับสิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ตอนไปเรียนเมืองนอก เพราะเราต้องดูแลตัวเอง ทำอย่างไรให้ตัวเองอยู่รอดด้วยดี
หมอสมัยใหม่หลายคนเป็นไอคอนและมีชื่อเสียง ส่วนตัวเรามีความท้าทายอะไรในวิชาชีพนี้
บางทีก็มีความคาดหวังจากภายนอก ยอมรับว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดตลอด หมอก็ไม่ได้มีบทบาทที่จะต้องมีสุขภาพดีตลอด เพียงแต่เราอยากให้คนมีสุขภาพดีบ้าง การมีอาชีพแพทย์ในปัจจุบันยากด้วยหลายๆ ปัจจัย ด้วยสถานะของแพทย์กับคนไข้เปลี่ยนไป คนไข้อาจมองเราเป็นคนขาย การฟ้องร้องมีมากขึ้น ตรงนี้อาจทำให้แพทย์เองก็รักษาด้วยความเกร็งเหมือนกัน ต้องอธิบายอะไรเยอะขึ้นกว่าเมื่อสิบปีก่อน อยากฝากบอกหมอรุ่นน้องๆ เวลาคนไข้ถามเยอะๆ ต้องนึกถึงใจเขาใจเรา หมอบางคนอาจจะหงุดหงิดเวลาคนไข้ถามเยอะ แต่เขามีสิทธิถามได้ หมอยังเคยเจอคนไข้ฝรั่งถามว่าหมอเคยฉีดอันนี้มากี่เคสแล้ว เดือนหนึ่งกี่ครั้ง เคยพลาดไหม เราก็รู้สึกว่าเขาตรงดี
คิดอย่างไรกับประเด็นเรื่องวิชาชีพ การวินิจฉัยผิด หรือการเลี้ยงไข้
การรักษาโรคเป็นศิลปะ และอยู่ที่ช่วงเวลาด้วย คุณไปหาหมอคนหนึ่งวินิจฉัยผิด อีกหนึ่งอาทิตย์ไปหาหมออีกคนหนึ่งวินิจฉัยถูก อาจไม่ได้แปลว่าหมอคนที่สองเก่งกว่านะ แต่หนึ่งอาทิตย์ผ่านมาอาการของโรคชัดขึ้นแล้ว หรือหมอคนที่สองรู้แล้วว่าหมอคนที่หนึ่งรักษาแบบนี้ไม่เวิร์ค อยากให้เข้าใจว่าหมอทุกคนไม่มีใครอยากวินิจฉัยผิด ทุกคนอยากได้ยินคนไข้บอกว่ามาหาคนนี้แล้วหายเลย มันชื่นใจ เท่าที่ทราบไม่เคยเห็นหมอคนไหนตั้งใจเลี้ยงไข้ หรือมีหลักสูตรการเลี้ยงไข้ แต่ว่าสิวเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องยอมรับว่าบางคนอาจต้องรักษาไปเรื่อยๆ คือคุณหน้ามันอุดตันง่ายมาก คุณหยุดยาอาจจะกลับมาขึ้นใหม่ หรือด้วยไลฟ์สไตล์ต่างๆ ซึ่งเป็นไปได้อยู่แล้ว ไม่ได้แปลว่าหมอเลี้ยงไข้ถึงต้องใช้ยาเขาตลอด
ชีวิตการเป็นหมอให้อะไรกับตัวเองบ้าง
หมอคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความถูกต้องของมัน อยู่ที่ว่าเราจะเลือกมองมุมไหน ถึงแม้ว่าตอนแรกเราไม่ได้ชอบหมอแล้วเราเลือกเป็นหมอ ถึงแม้จริงๆ แล้วเราอาจจะชอบงานนักเขียนมากกว่า แต่มันก็มีเหตุผลของมัน ถ้าไม่ได้เริ่มจากการเป็นหมอ เราก็อาจจะไม่ได้เขียนงานแนวสุขภาพ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าต้นฉบับแนวสุขภาพที่ส่งไปให้ บก. มันน้อยกว่างานแนวอื่นอยู่แล้ว
ล่าสุดเห็นหมอผิงเรียนเขียนบทภาพยนตร์ ยังมีอะไรที่อยากทำอีกไหม
บางทีก็อยากทำอะไรแปลกๆ บ้าง แต่ที่ไปเรียนเขียนบทภาพยนตร์ก็ไม่ได้หวังว่าจะได้เขียน อยากไปฝึกสมอง ฝึกจินตนาการ เผื่อจะได้ปรับปรุงพัฒนาการเขียนของตัวเอง ประกอบกับเป็นคนชอบดูหนังมากอยู่แล้ว คือจริงๆ ก็อยากเขียนเรื่องที่ไม่ใช่แนวสุขภาพ อย่าง “เคมีรักระหว่างเรา” ซึ่งฉีกแนวไป เวลาเขียนแล้วมีความสุข