Change.org เมื่อคนธรรมดาเปลี่ยนโลก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-01-06 14:00:12
“เสียงของทุกคนมีความหมายถ้าเอามารวมกัน เสียงเล็กๆ ของเรากลายเป็นเสียงที่ใหญ่และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”
เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง
ภาพ: วันวิสาข์ หนองภิวงค์ และ ภูวดล ชินจอหอ
การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็งในรอบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือสิ่งแวดล้อมสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมกำหนดสังคมที่เราอาศัยอยู่ (อันเป็นสิทธิที่มีอยู่แล้ว) การเกิดขึ้นของเว็บไซต์ Change.org ประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาสร้างการรณรงค์หรือลงชื่อสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม จึงมีส่วนสนับสนุนซึ่งกันและกันให้เสียงของคนธรรมดาและเครื่องมือออนไลน์นี้มีพลังเปลี่ยนโลกได้จริง
กว่าสิบแคมเปญที่ประสบความสำเร็จในระยะเวลาเพียงปีกว่าของ Change.org ประเทศไทย ตุลย์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการเว็บไซต์ มุ่งหวังเพียงให้คนไทยนำเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนี้ไปใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกร่วมกัน
จุดเริ่มต้นของ Change.org จนถึง Change.org ประเทศไทย
Change.org เกิดขึ้นที่อเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 2005-2006 ผู้ก่อตั้งคือคุณเบน แรทเทรย์ (Ben Rattray) ต้องการที่จะสร้างแพลตฟอร์มเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม เพื่อที่จะชวนภาคประชาชน องค์กรเอ็นจีโอ หรือคนที่สนใจมาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง ตอนแรกทำเป็นเว็บไซต์ข่าวก่อน สักพักเว็บข่าวไปได้ดีก็เริ่มทดลองเปิดพื้นที่ให้ประชาชนธรรมดารณรงค์เรื่องของตนเองได้ กลับกลายเป็นว่าพอเปิดพื้นที่ตรงนี้คนให้ความสนใจมากที่สุด มากกว่าการอ่านบล็อกหรืออ่านข่าว มีเรื่องรณรงค์มากมายและเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องในฝั่งอเมริกาและยุโรป จนทำให้เว็บไซต์ Change.org เปลี่ยนเป็นรูปแบบในปัจจุบัน คือเป็นเว็บไซต์ที่ประชาชนสามารถสร้างเรื่องรณรงค์ของตัวเองขึ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
Change.org มีอยู่ทั่วโลกกว่า 20 ประเทศและของประเทศไทยก็เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วพร้อมๆ กันในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย ตอนนี้มีอายุประมาณปีครึ่ง เริ่มต้นจากไม่กี่พันคน ปัจจุบันมีผู้ใช้เกือบล้านคนแล้วในเมืองไทย
กระบวนการของ Change.org สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
ต้องเล่าก่อนว่า Change.org เป็นแพลตฟอร์มเปิดที่หากประชาชนรู้สึกว่าเรื่องไหนไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม หรือว่าต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง สามารถมารณรงค์ที่ Change.org ได้ ขั้นตอนการสร้างค่อนข้างจะง่าย คือสร้างเรื่องรณรงค์ โพสต์ขึ้นเว็บไซต์ แล้วชวนเพื่อนๆ มาร่วมลงชื่อ และแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ สำหรับคนที่มาลงชื่อก็สามารถแสดงความคิดเห็น แชร์ต่อ หลังจากนั้นรายชื่อจะเข้าสู่ระบบเพื่อพิมพ์ออกมาไปยื่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกทีหนึ่ง ความแตกต่างของ Change.org เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน คือทันทีที่คนลงชื่อจะมีจดหมายร้องเรียนส่งตรงไปหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่มีอำนาจหรือบริษัทต่างๆ รับรู้ปัญหาโดยตรงและรวดเร็วขึ้นว่ามีคนจำนวนเท่าไหร่ที่เห็นด้วยกับเรื่องเหล่านี้
ประเด็นไหนที่คนไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษ
หนีไม่พ้นสัตว์ สิ่งแวดล้อม และเรื่องระเบียบวินัยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นทางเท้า จักรยาน ฟุตบาท แล้วก็เป็นเหมือนกันทุกประเทศเลยครับ ยุโรป อเมริกา หรือเอเชีย Change.org เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงประเด็นใกล้ตัวอย่างเรื่องขยะ ระเบียบวินัยต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันประชาชนก็เป็นห่วงในเรื่องที่เขาไม่สามารถช่วยเหลือได้เพียงลำพัง อย่างการพิทักษ์ปกป้องสิ่งแวดล้อมและสัตว์ เป็นสองมุมสะท้อนจากความรู้สึกของประชากรโลก
ยกตัวอย่างการรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จ มีผู้ลงชื่อเกินความคาดหมาย
ล่าสุดที่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องรถเมล์คนพิการ ที่กลุ่มคนพิการรณรงค์ให้ ขสมก. จัดซื้อรถเมล์ที่เป็นพื้นต่ำเพื่ออำนวยความสะดวกคนพิการนั่งรถเข็น คนท้อง หรือคนแก่ เรื่องนี้มีคนลงชื่อเป็นหมื่น จนนำไปสู่การยื่นรายชื่อกับ ขสมก. ซึ่งตอนแรก ขสมก. ตกลงที่จะซื้อแค่ 1,500 คัน แต่พอมีคนจำนวนมากทั้งประชนและผู้พิการ รวมทั้งสื่อที่ติดตามเรื่องนี้ ขสมก. จึงตกลงซื้อรถเมล์พื้นต่ำทั้งหมด 3,000 คัน และจะทำงานร่วมกับคนพิการและ กทม. เพื่อสร้างฟุตบาทให้อยู่ในระนาบเดียวกันกับรถเมล์ เรารู้สึกประทับใจส่วนตัวเพราะเป็นการต่อสู้ของคนพิการที่สามารถเรียกร้องสิทธิของเขาได้ จริงๆ ก็เป็นสิทธิของทุกคนด้วยนะครับ
อะไรเป็นตัววัดว่าการรณรงค์ประสบความสำเร็จ ยอดผู้ลงชื่อ หรือปฏิกิริยาของฝ่ายที่ถูกร้องเรียน
ดูง่ายมากเลยว่าเรื่องไหนประสบความสำเร็จ คือผู้ที่ถูกร้องเรียนเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องหรือเปล่า อย่างเรื่องคนพิการ ขสมก. ตอบรับซื้อรถเมล์ หรือแคมเปญ “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” ก็มีการจัดสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวแล้ว หรือเรื่องใหญ่อย่าง “Fin Free Thailand” ที่เรียกร้องให้โรงแรมงดเสิร์ฟเมนูหูฉลาม จากไม่กี่โรงแรมตอนนี้กลายเป็น 50-60 โรงแรมที่ตอบรับ
นั่นแปลว่าแคมเปญออนไลน์มีพลังพอที่ทำให้ฝ่ายที่ถูกร้องเรียนละอายใจ
Change.org ไม่ได้ทำแค่ออนไลน์แต่เราทำออฟไลน์ด้วย ออนไลน์เป็นจุดเริ่มต้นของประเด็นหรือความสนใจ เพราะเป็นที่ที่คนอยู่ แต่ก่อนถ้าจะรณรงค์อะไรต้องไปเคาะตามประตู แจกใบปลิว รวมตัวกันซึ่งค่อนข้างจะใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนอยู่บนโลกออนไลน์ ทำให้รูปแบบการรณรงค์เปลี่ยนไป
บางประเด็นแค่รณรงค์ผ่านออนไลน์ บริษัทเหล่านั้นก็รู้สึกไม่สบายใจ ละอายใจ แล้วก็เปลี่ยนทันที ถ้าได้ตามเรื่องแรกๆ ที่คุณศจินทร์ ประชาสันติ์ ซึ่งเป็นแม่บ้าน รณรงค์ให้รถทัวร์ยุติการฉายหนังรุนแรง มีคนลงชื่อไม่ถึง 500 คน แต่ทาง บ.ข.ส. ก็เปลี่ยนนโยบายทันที แต่บางเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่จำเป็นต้องมีคนลงชื่อเยอะและต้องมีแอ็คชั่นแบบออฟไลน์ด้วย เช่นเรื่องเขื่อนแม่วงก์ที่มีคนลงชื่อแล้วยังต้องออกมาเดินขบวน เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับแต่ละเรื่อง
หนึ่งปีของ Change.org ประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยต้องการมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน
ตอนที่ตั้ง Change.org ในประเทศไทย หลายคนที่เมืองนอกมองว่าธรรมชาติหรือบุคลิกของคนไทยจะใช่ไหมกับการออกมาเรียกร้องอะไรแบบนี้ แต่เห็นได้ชัดว่าทุกอย่างเกินคาด พอมีคนใช้แล้วประสบความสำเร็จ คนอื่นก็มาลองใช้ ประเด็นก็แตกออกไปมากขึ้น จนมีแคมเปญเกือบร้อยเรื่องต่อเดือน คำพูดที่ผมประทับใจมากที่สุดก็คือ “เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้บ้าอยู่คนเดียว” เขาไม่ได้คิดไปเองว่าเรื่องนี้ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง ในส่วนของผู้ที่ถูกร้องเรียนก็ให้ความสนใจมาก สำหรับบริษัทเอกชนถือว่าลูกค้าของเขาเป็นคนสำคัญที่ต้องรับฟัง ส่วนหน่วยงานราชการแน่นอนนี่เป็นสิ่งที่ประชาชนร้องเรียน
บางแคมเปญที่ออกมาก็มีเสียงตอบรับที่ไม่เห็นด้วย เรามีสิทธิกลั่นกรองได้ขนาดไหน
เรามีกติกาเบื้องต้นว่า Change.org จะไม่สร้างแคมเปญที่ผิดกฎหมายในประเทศนั้นๆ ซึ่งเรามองว่าโลกออนไลน์เป็นพื้นที่เปิด เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แคมเปญหลายอันเจ้าหน้าที่เองอาจจะไม่ชอบ แต่มันเป็นเรื่องที่ทุกคนอยากแสดงความคิดเห็น ความหลากหลายตรงนี้จะเป็นเหมือน Crowdsourcing (การร่วมสร้างสรรค์ของกลุ่มคนเพื่อสร้างสิ่งต่างๆ และแก้ไขปัญหาร่วมกัน) แนวคิด ไอเดีย ชอบ ไม่ชอบ มันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมต้องการอะไร ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงอะไร
เป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของ Change.org
ระยะสั้นคืออยากให้มีเรื่องรณรงค์มากขึ้น เขียนได้น่าสนใจและมีคุณภาพมากขึ้น ระยะยาวเราอยากเป็น YouTube of Social Change โดยมองว่าอีกห้าปีข้างหน้าเราจะอยู่ในระดับเดียวกับเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือยูทูป แต่เน้นประเด็นทางสังคม หมายความว่าถ้าเห็นอะไรไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม ให้นึกถึง Change.org เราก็สามารถเริ่มแคมเปญสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ว่าผู้คนมาใช้มากขึ้น แต่อยู่ที่ตัว Change.org เองด้วยที่จะปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีให้คนอยากใช้
ขอถามถึงประวัติส่วนตัวว่าเข้ามาทำงานด้านการรณรงค์ทางสังคมได้อย่างไร
เริ่มจากเป็นผู้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อมที่บางกอกโพสต์ เพราะสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว หลังจากนั้นก็นำความรู้มาทำงานให้กับรอยเตอร์ ซึ่งเป็นสำนักข่าวต่างประเทศ จังหวะหนึ่งเรารู้สึกว่าการทำข่าวยังไม่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนัก เพราะเราเขียนแต่ก็ไม่รู้ว่าผู้รับสารต้องการอะไร เลยขยับจากการทำงานเชิงสื่อมาทำงานให้เอ็นจีโอระหว่างประเทศอย่างองค์การ Oxfam และ Save The Children เพื่อที่จะลงไปที่รากหญ้า ได้เห็นว่าสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เรารณรงค์ สิ่งที่เราเขียนจะมีผลกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง จนกระทั่งไปทำ MTV EXIT ในประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ ก่อนจะมาเจอ Change.org ที่เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ คือเราอยากจะทำงานให้ประชาชนโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดขององค์กร อยากหาพื้นที่ที่จะทำประเด็นอะไรก็ได้ ไม่ใช่เพียงเพื่อประเด็นขององค์กรเท่านั้น ตอนนั้น Change.org กำลังหาเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละประเทศก็เลยสมัครเข้ามา
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นผู้เปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง
เราอยู่ที่อังกฤษตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งโต เห็นประเทศที่มีการพัฒนาที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่เป็นเรื่องสำคัญ พอกลับมาอยู่เมืองไทยและความที่แม่เป็นครู เรายิ่งรู้สึกว่าอยากจะเห็นการศึกษาที่ดีขึ้นและมีการพัฒนาเหมือนอังกฤษ บวกกับว่าเราอยากเป็นนักเขียนนักข่าวตั้งแต่เด็ก สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะตอนอยู่อังกฤษอยู่ต่างจังหวัดมากๆ โตกับชนบทกับต้นไม้ สิ่งเหล่านี้เลยรวมกันเป็นตัวของเรา
โดยส่วนตัวคุณตุลย์อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรมากที่สุด
โดยส่วนตัวคือการศึกษา และเรื่องที่หลายคนในเมืองไทยเห็นเหมือนกันคือระเบียบวินัย การเคารพสิทธิผู้อื่น การศึกษาอาจจะหมายถึงความเท่าเทียมของการศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงได้ในระดับที่คล้ายคลึงกัน และสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ ถ้าเจาะลึกลงไปก็จะเรื่องขนาดห้องเรียน ซึ่งเราเห็นว่ามันส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้อย่างชัดเจน
Change.org เคยมีการรณรงค์ใหญ่เมื่อเดือนเมษายนในประเด็นการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีทั้งกลุ่มของครูในชนบทและผู้ปกครองที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และรณรงค์ให้มีการเจรจาเพื่อพิจารณาว่าโรงเรียนไหนควรยุบหรือโรงเรียนไหนควรจะอยู่ต่อ เป็นแคมเปญที่มีคนลงชื่อเยอะมากประมาณ 20,000 คนในเวลาแค่สามวัน จนมีการนำรายชื่อไปยื่นกับท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในขณะนั้น และมีการตอบรับว่าจะยุติการยุบโรงเรียน ปัจจุบันมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นเพื่อพิจารณาคุณภาพโรงเรียนเล็กจากการรณรงค์นี้ เป็นเรื่องที่เราประทับใจมากเพราะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาอันสั้นจากที่เขารณรงค์กันมาสามปี
ในฐานะคนธรรมดา เราอาจไม่ทราบหรือไม่เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิเปลี่ยนแปลงสังคมได้ อยากให้คุณตุลย์ให้แง่คิดทิ้งท้าย
เสียงของทุกคนมีความหมายถ้าเอามารวมกัน เสียงเล็กๆ ของเรากลายเป็นเสียงที่ใหญ่และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ บางคนอาจจะคิดว่ามีแต่แคมเปญใหญ่ๆ ระดับนโยบาย ระดับประเทศ ระดับสื่อ แต่จริงๆ แล้วเสียงของเราก็สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่เล็กลงมาได้ ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น การรณรงค์ให้ใช้ซ้ำพลาสติกใน ม.เกษตรศาสตร์ หรือการใช้พื้นที่สีเขียวใน ม.ศิลปากร อยากให้กำลังใจครับ แต่ถ้ารู้สึกว่ายังไม่กล้าก็อาจจะมาลงชื่อในแคมเปญต่างๆ เพื่อรับรู้ข่าวสาร ตอนนี้ผู้ใช้ Change.org ส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงานใหม่ๆ อายุ 23-24 จนถึง 34-35 ปี เราอยากเห็นน้องๆ เยาวชนเข้ามาใช้มากขึ้น อยากเห็นแคมเปญจากน้องๆ มัธยมหรือมหาวิทยาลัย เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเขา ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างกับเรื่องใหญ่ๆ ที่มีอยู่
Did you know?
เคล็ดลับการเขียนเรื่องรณรงค์ให้ประสบผลสำเร็จ
“ต้องนำเสนอประเด็นได้น่าสนใจระดับหนึ่ง ส่วนจะต้องเขียนเก่งไหม ทีมงาน Change.org จะเข้าไปช่วยเกลาและทำให้น่าสนใจมากขึ้น
ควรจะเรียนรู้จากแคมเปญอื่น อ่าน tutorial หรือคำแนะนำในการเขียนบนเว็บไซต์ คร่าวๆ คือ เป็นเรื่องที่กระทบต่อความรู้สึกคน ใกล้ตัว เป็นเรื่องที่คนรู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่เกินไปจนรู้สึกว่ามันยาก
สุดท้ายเป็นเรื่องของโซเชียลมีเดีย คือเขียนแล้วต้องทดสอบ ลองให้เพื่อนแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อดูว่าผู้คนสนใจไหม ก็จะสามารถวัดได้
ส่วนทีมงาน Change.org เองก็จะคอยหยิบจับแคมเปญต่างๆ มาทดสอบกับฐานผู้ใช้คนอื่นๆ ด้วย เพื่อดูว่าเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนหรือไม่”
ที่มา >> นิตยสาร plook