ป.แตน ปลัดนักสู้ยาเสพติด สร้างชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-12-13 09:59:30
“ความซื่อสัตย์สุจริตจะรักษาเกียรติของข้าราชการ และรักษาเกียรติภูมิที่เกิดเป็นข้าราชการใต้เบื้องพระยุคลบาทได้”
เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง
ภาพ: ณัตถิยา ปั้นประเสริฐ และ อิสสรียา จิตวรานนท์
“ถ้าฉันเป็นราชการ ฉันจะทำให้ดีที่สุด จะดูแลชาวบ้านไม่ว่ายากดีมีจน” อดีตลูกชาวนาที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ตั้งปณิธานไว้ว่าจะเติบโตขึ้นเป็นข้าราชการเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ดีมีสุข แม้ต้องเริ่มต้นด้วยตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวของรัฐ ต้องลงสนามสอบนับครั้งไม่ถ้วน เพียรพยายามกระทั่งได้เป็นปลัดอำเภอที่บ้านเกิดของตนเองเมื่ออายุ 30 ปี ว่าที่ ร.ต. (หญิง) สมพร ประดิษฐ์ ปลัดอำเภอรับผิดชอบงานป้องกัน อำเภอเสาไห้ ที่ชาวบ้านเรียกเธอว่า “ป.แตน” น้อมรับหน้าที่ด้วยใจที่เปี่ยมล้นอุดมการณ์ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนให้ชุมชนพึ่งตนเองและพึ่งพาราชการได้จนเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้าน กู้เกียรติยศและความภาคภูมิใจในการเป็นข้าราชการของแผ่นดิน
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นปลัดอำเภอมาตั้งแต่เด็ก
ฐานะครอบครัวยากจนมาก พ่อเป็นชาวนา แม่เป็นแม่ค้ารถเข็นขายไก่ย่าง ส้มตำ ลูกชิ้น เป็นคนที่ไม่มีเวลาสนุกสนานเหมือนคนอื่นๆ ทุกวันต้องตื่นตีสี่มาเตรียมของให้แม่ เลิกเรียนก็ต้องไปช่วยพ่อที่ทุ่งนา บางทีพ่อไปหาปลาตอนกลางคืนเราก็ไป ประสบการณ์ช่วงวัยเด็กทำให้เราเข้มแข็งและอดทน เราเห็นพ่อแม่ลำบากมาก แต่ทำไมครอบครัวอื่นๆ ข้างบ้านที่รับราชการแล้วอยู่สุขสบายนะ เราก็อยากให้พ่อแม่อยู่สุขสบายบ้าง เลยฝันอยากเป็นข้าราชการ ดูในทีวีเห็นปลัดอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านออกพื้นที่แล้วมันเท่ เลยตั้งความฝันไว้ว่าโตขึ้นต้องรับราชการและเป็นปลัดอำเภอให้ได้ อีกจุดหนึ่งคือสมัยเล็กๆ คุณพ่อพาไปติดต่อราชการแล้วเรารู้สึกว่าเขาบริการไม่ค่อยดี พูดกับคนจนไม่ค่อยดี เราก็คิดว่าไม่ได้ ถ้าฉันเป็นราชการหรือได้มานั่งตรงนี้ ฉันจะทำให้ดีที่สุด และจะดูแลชาวบ้านโดยไม่เลือกว่าเขาจะยากดีมีจน จะต้องช่วยเหลือเขาให้ได้
กว่าจะมาถึงตรงนี้ เส้นทางการรับราชการของ ป.แตน เป็นอย่างไร
ด้วยความที่เราอยากได้และอยากเป็นอะไรก็ต้องตั้งใจเรียน พอเรียนต่อรามคำแหงต้องทำงานไปด้วย ทำก่อสร้าง ทำงานโรงงาน ใช้เวลาสามปีครึ่งก็เรียนจบมหาวิทยาลัย จากนั้นก็ไปสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองหรือลูกจ้าง สย. (กรมการปกครอง) อำเภอวิหารแดง เงินเดือนน้อยประมาณ 5,000 กว่าบาท แต่โชคดีที่งานที่ทำใกล้ชิดกับปลัดอำเภอและนายอำเภอจึงได้เรียนรู้ระบบสายราชการ ที่สำคัญคือได้ผู้บังคับบัญชาที่ดีคือ นายอำเภอคณีธิป บุณยเกตุ ท่านสอนงานให้รู้จักความเสียสละ ความอดทน การเอาใจใส่ดูแลประชาชนที่มาติดต่อราชการ
จากนั้นก็เปลี่ยนสายงานไปเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจของเทศบาลตำบลหินกอง ประมาณหนึ่งปีก็กลับมาสมัครเป็นลูกจ้าง สย. ที่ศาลากลางจังหวัดสระบุรี เรียนงานระดับจังหวัด ทางท่านผู้บังคับบัญชาเห็นว่าเราขยันและมีความสามารถเลยให้ไปเป็นเลขาหน้าห้องปลัดจังหวัด ทำให้รู้ว่าในแต่ละอำเภอมีกรอบการทำงานอย่างไรบ้าง เราเห็นว่าในพื้นที่เราสถานการณ์ยาเสพติดแพร่ระบาดขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำไมแนวทางการทำงานยังเหมือนเดิม เราก็เอาตรงนี้เก็บมาคิดหาวิธี เพราะตอนนั้นไม่มีอำนาจหน้าที่แก้ไข หลังจากนั้นมีโครงการสอบปลัดอำเภอในปี 2552 เลยไปสอบบรรจุได้ลำดับที่ 144 มีสิทธิ์เลือกจังหวัดได้จึงขอเลือกบ้านเกิดที่สระบุรี อยู่ที่หนองแซงประมาณสองเดือนก็ย้ายไปอยู่ที่อำเภอเมืองห้าปี ทำงานเรื่องยาเสพติดจนเข้าที่เข้าทางแล้วก็ขยับมาอยู่ที่เสาไห้
ป.แตน กำนันไก่ วนิดา ดำรงไชย กำนันตำบลม่วงงาม และพี่ปรีชา บุญศรี อาสาสมัครมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับภูมิศาสตร์พื้นที่ สามกำลังสำคัญของ “โคก หนอง นา โมเดล”
เรียกได้ว่ามีประสบการณ์ในพื้นที่มากกว่าปลัดคนอื่น
จริงๆ แล้วถ้าเรียนจบปริญญาตรีก็สอบ ก.พ. เข้ารับราชการ สอบปลัดอำเภอได้ก็ได้เป็นเลย แต่ตัวหนูเองใช้เวลาเยอะ คือเริ่มไต่เต้าตั้งแต่ตำแหน่งเล็กๆ แต่ทำให้เรามีประสบการณ์ค่อนข้างแน่น เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาได้มากกว่า ส่วนใหญ่น้องๆ ที่สอบได้เลยจะรู้สึกกังวลเพราะอาชีพปลัดอำเภอต้องแบกรับภาระมาก บางเรื่องเสี่ยงต่อคุกต่อตาราง มันอยู่ที่การศึกษาและการสะสมประสบการณ์นะคะ เราไม่ดูว่ามันเป็นตำแหน่งเล็กเงินเดือนไม่ดี เราเลือกที่จะลองทำเพื่อไปสู่จุดหมายของเราให้ได้
หน้าที่ของปลัดอำเภอครอบคลุมงานประเภทใดบ้าง
งานเกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนตั้งแต่เกิดยันตาย งานของปลัดอำเภอมีทั้งงานด้านการปกครอง เช่น การดูแลฝ่ายปกครองท้องที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน กลุ่มมวลชนต่างๆ ในพื้นที่ กำนันผู้ใหญ่บ้านที่ต้องออกไปทำงานต่างพระเนตรพระกรรณให้ในหลวงจะมีปลัดอำเภอปกครองดูแลอีกชั้นหนึ่ง และมีปลัดอำนวยความเป็นธรรมที่ดูแลในเรื่องของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทข้อร้องเรียน สุดท้ายก็จะเป็นปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงอย่างที่หนูรับผิดชอบอยู่คืองานป้องกันที่ดูแลความเดือดร้อนของประชาชน การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องมวลชน ความไม่สงบในพื้นที่ การปราบปรามยาเสพติด ตรวจสถานบริการกลางคืน ชาวบ้านสามารถให้ปลัดอำเภอช่วยได้เท่าๆ กับร้องขอแก่ตำรวจ อย่างเช่นเรื่องของการจับกุมไม่ว่าจะลักเล็กขโมยน้อย อาชญากรรมในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในกรอบการปราบปรามจับกุมดำเนินคดี แต่เรามีอำนาจครอบคลุมกว่าในแง่การพัฒนาคุณภาพชีวิต เราทำงานปกครองตลอด 24 ชั่วโมงจริงๆ ชาวบ้านเดือดร้อนเมื่อไหร่ก็ต้องออกไป
มีข้อยกเว้นสำหรับปลัดอำเภอผู้หญิงบ้างไหม
ไม่มีข้อยกเว้น ความที่เรามีหัวใจมุ่งมั่นทำงานตรงนี้ต้องพิสูจน์ให้เขาเชื่อมั่น ยิ่งต้องทำให้เห็นว่าผู้หญิงทำได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ผลที่ตามมาสะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงคนหนึ่งมาลุยงานในพื้นที่ ผู้ชายอกสามศอกเจ้าของพื้นที่จะรู้สึกว่าเขาควรต้องลุกขึ้นมาทำงานบ้างแล้ว จะปล่อยให้ผู้หญิงทำคนเดียวไม่ได้
เพราะอะไรถึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด
เวลาลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้าน ปัญหาอันดับแรกที่เขาสะท้อนมาคือลูกหลานติดยาเสพติด มันระบาดมากแม้กระทั่งพื้นที่เสาไห้ที่จริงๆ แล้วเป็นเขตเกษตรกรรม ไม่ได้มีแหล่งสถานบันเทิง ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาระดับประเทศด้วย ยิ่งปราบก็ยิ่งไม่หมด เด็กที่ถูกจับกุมโดยข้อหาเสพคนหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้งแต่เขาก็เลิกไม่ได้ ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เขากลับไปเสพยาอีก ก็มองกระบวนการหลายกระบวนการ เช่น การบำบัดรักษาของโรงพยาบาลยังเป็นแบบไปกลับ ให้ครอบครัวพาไปรับยาไปบำบัดจิตเวชแล้วก็กลับบ้าน ส่วนในชุมชนก็ยังมองว่าเด็กพวกนี้เป็นเด็กเหลือขอ อยู่ไปก็มีแต่จะสร้างปัญหา เราจึงริเริ่มเอาเด็กกลุ่มนี้มารวมกันแล้วใช้วิธีชุมชนบำบัดที่ตำบลหนองปลาไหล โดยเชิญกำนันผู้ใหญ่บ้านและพี่เลี้ยงที่เป็นตำรวจกับทหารเข้ามาดูแล ทางสาธารณสุขยังไม่ได้เข้ามาเต็มตัวซึ่งเป็นความบกพร่องในช่วงแรก
พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองเอาชนะยาเสพติด ตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ อยู่ในระหว่างการพัฒนาให้เป็นพื้นทีต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล”
ชุมชนบำบัดเป็นอย่างไร
เป็นลักษณะของการเปิดหมู่บ้านให้ผู้ปกครองเห็นว่าเด็กเสี้ยนยาเป็นอย่างไร เวลาลงแดงเกิดอาการอะไร ซึ่งค่ายแรกเราแทบจะล้มเพราะมีเด็กเสียชีวิต เด็กคนหนึ่งอายุประมาณ 30 กว่า กาหัวไว้เลยว่าเป็นผู้ค้าที่เราต้องจับเขา แต่วันนั้นเขาเดินมาหา เราก็ให้โอกาสบำบัดรักษา เราไม่รู้ว่าเขามีโรคประจำตัว เด็กคนนี้ใช้ยามานานเกินกว่าห้าปีแล้วและเป็นโรคหัวใจ เขาอ้วนและขาวมาก ดูผิวเผินอาจจะไม่ใช่เด็กติดยา พี่เลี้ยงคอยดูแลเขาอย่างดี เช็ดเนื้อเช็ดตัว เขาอยู่ที่นี่แล้วมีความสุขไม่อยากกลับบ้าน พอปิดค่ายได้สามวัน ช่วงนั้นมีปัญหาอุทกภัย เราประชุมอยู่ที่ศาลากลาง ผู้ใหญ่โทรมาบอกว่าเขาน็อกอยู่โรงพยาบาล ป.อยู่ไหนรีบมา เด็กร้องหา ป. แต่พ่อแม่เขาให้กลับบ้าน กลับไปได้ไม่ถึงสิบนาทีก็ชักแล้วก็หมดลม เราไปทันภาพสุดท้ายคือหมอปั๊มหัวใจเด็กอยู่ เราเดินไปที่เตียงแล้วบอกว่าอ้วนลุกขึ้นมา ต้องสู้ ต้องเข้มแข็ง ถ้าเอ็งฟื้นขึ้นมาเดี๋ยวพี่จะบวชให้ ภาพที่เจ็บปวดที่สุดคือแม่เป็นลมคาแขนเรา เรารู้สึกว่าทำลูกเขาตาย เด็กคนนี้กลับตัวแล้วแต่ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตที่ดี เราจัดงานศพอะไรเสร็จแม่เขามาจับมือเราบอกว่า ป.อย่าท้อ ทำตรงนี้ต่อ ไม่อยากให้คนอื่นเป็นแบบนี้อีก
แต่ความผิดพลาดในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองเอาชนะยาเสพติด”
เราปรึกษากับสำนักงาน ป.ป.ส. พี่ชัยวัฒน์ ชอบงาม แนะนำให้ใช้ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นสถานที่ในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด เราก็เลยมองว่าในพื้นที่เรามีศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของลุงบุญลือ เต้าแก้ว มีคุณลุงบุญลือ คุณป้าบุญมี และพี่บุญล้อม เราเอาแนวทางนี้ไปคุยกับลุง ลุงบอกลองดูสิ ป. ลุงอยากช่วยคนแต่ลุงมีความรู้แค่เรื่องเกษตร จึงเริ่มทำโครงการประมาณปลายปี 53 เด็กเข้ามากินอยู่หลับนอนในบ้านลุงสองเดือน ไม่ถูกกดดันเหมือนกับอยู่ในค่ายในสถานที่บำบัด เขาผ่อนคลายกับการใช้ชีวิตแบบวิถีชาวบ้าน เป็นการบำบัดทางธรรมชาติด้วย เช้ามามีงานทำตลอด ปลูกผักปลูกหญ้า ทำสวน แรกๆ ไม่มีที่จะนอน ลุงบุญลือให้เด็กสร้างบ้านเองสองหลัง เขาสามารถจัดสวนแปลงเกษตรได้ดีมากๆ เราก็ไม่คิดว่าเขาจะทำได้ขนาดนั้น
60 วันที่นั่นทำให้เขาเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนทัศนคติ จากคนที่แข็ง ไหว้ไม่เป็น กลับกลายเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักเก็บอดออม เราสอนให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน คือการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เราจะสอดแทรกเรื่องพระราชกรณียกิจตลอดเวลา เขามีหน้าที่ที่จะตอบแทนพระเจ้าอยู่หัวอย่างไร เขาก็เริ่มจะเรียนรู้กระบวนการของลุงบุญลือและป้าบุญมี คนสองคนนี้เป็นคนแก่อายุ 60 ปีทั้งคู่ แต่ดูแลเด็กโดยไม่ต้องมีคนคุ้มกัน แรกๆ ชาวบ้านแถวนั้นแม้กระทั่งครูยังพูดว่า เอาเด็กติดยามาไว้ในสวน ไม่กลัวผักกลัวหญ้าติดยาตายหรอ ลุงบุญลือตอบว่า ไม่เป็นไรหรอกครู ขยะของเหลือใช้ในบ้านเรายังใช้ประโยชน์ได้ แค่ลูกหลานเราหลงผิด ทำไมเราจะทำให้เขาเป็นคนดีไม่ได้ ต้องยกย่องลุงบุญลือเลย นี่แหละคือหัวใจของการเป็นครู ของการเป็นปราชญ์ พอเด็กเข้าสู่กระบวนการการฝึกอาชีพไปพร้อมกับการรักษา เขาก็เริ่มคิดว่าถ้าออกไปจะประกอบอาชีพอะไร ในเมื่อบริษัทเอกชนคงไม่เอาเด็กกลุ่มนี้ ทำไมไม่สร้างเด็กให้เป็นนายของตัวเอง เขาอยากเป็นเหมือนลุงลือ ลุงลือเรียนแค่ กศน. ทำไมทำสวนใหญ่ขนาดนี้ได้ เด็กก็กลับไปทำที่บ้านของตัวเอง ใช้เนื้อที่ประมาณงานกว่าๆ ทำเล้าไก่ เลี้ยงกบ ทำแปลงผักสวนครัว แปลงผักดอกไม้ ปลูกมะละกอ เราก็ไปช่วยกันถาง บอกผู้ใหญ่บ้านต้องช่วยเด็กนะ ถ้าไม่มีกระบวนการติดตาม เด็กจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองเอาชนะยาเสพติด ตำบลนาโฉง เป็นแห่งแรกที่สร้างขึ้นจากเด็กที่เคยใช้ยาเสพติดแล้วกลับตัวกลับใจ เขาภูมิใจกับสิ่งที่ทำและยังสามารถเอาองค์ความรู้ไปสอนน้องๆ ที่ติดยาต่อได้อีก นี่คือความสำเร็จของเด็กที่เราดูแลมากับมือ รู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่ เราได้บุญ ตอนนี้เรามีเครือข่ายที่กว้างมากทั้งในส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง อาสาสมัครชาวบ้าน และปราชญ์ชาวบ้าน ทำให้มั่นใจว่าต้องเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ
เราจะเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปที่มีต่อผู้ติดยาเสพติดได้อย่างไรคะ
ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจว่าหน้าที่แก้ปัญหายาเสพติดเป็นของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว วันหนึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจังย้ายไป ชาวบ้านที่เกิดอยู่กินนอนอยู่ในพื้นที่ต้องลุกขึ้นมาดูแลตัวเองและลูกหลานให้ได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ใครมีจิตอาสาอยากทำงานตรงนี้ออกมา เปิดโอกาสให้เขาได้ลองทำชุมชนบำบัด อยากทำอะไรทำไป เดี๋ยว ป. จะคอยสนับสนุนเรื่องแง่กฎหมาย เวลาออกตรวจปัสสาวะเราเดินเคาะตามบ้านเลย แนะนำให้เขาเข้าใจว่ามาตรวจเพื่อบำบัดรักษาลูกหลานของท่าน ไม่ได้จับกุมหรือดำเนินคดี ใครพบสารก็แยกออกมาเข้าสู่กระบวนการบันทึกประวัติ แต่ไม่ได้เข้าระบบของราชการ หมู่บ้านดูแลกันเอง หลังจากนั้นก็มาปรึกษากันว่าจะเอาค่ายแบบไหน ดึงเอากำนันผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำหมู่บ้านมาเป็นพี่เลี้ยงคอยพูดคุยให้กำลังใจ เด็กก็จะเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่ไม่ได้รังเกียจเขา ผู้ใหญ่ก็จะรู้ว่าทำไมเด็กถึงติดยา หลังออกจากค่ายเราสร้างกระบวนการติดตาม เด็กที่ใช้ยาไม่ได้เลิกง่ายๆ ใช้เวลาสี่ปีถึงจะหยุดได้เพราะสมองเขาติดยา
หลังออกจากโครงการยังมีเด็กที่กลับไปใช้ยาอีกไหม
เมื่อกลับไปใช้เหมือนเดิม กระบวนการต่อมาคือมาตรการบังคับปราบปราม เขาก็เสียใจนะเวลาที่เราไปจับ เราก็เสียใจ แต่มันก็ต้องเป็นไปตามมาตรการทางสังคม ไม่เช่นนั้นชาวบ้านก็จะไม่เชื่อถือกระบวนการของภาครัฐ จากนั้นเราก็ให้ชาวบ้านสร้างมาตรการหมู่บ้านขึ้นมาอีก ว่าในหมู่บ้านจะดูแลคนในหมู่บ้านอย่างไร อย่างเช่นศูนย์ฯ ของกำนันไก่ (วนิดา ดำรงไชย) หมู่ 8 ตำบลม่วงงาม เขาจะสร้างกฎไว้เลยว่าถ้ากลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจะตัดสิทธิออกจากสวัสดิการหมู่บ้าน แต่ครัวเรือนไหนที่กลับตัวแล้วก็จะมีธงไปติดไว้หน้าบ้าน
“โคก หนอง นา โมเดล” เป็นอีกโครงการต่อยอดจากศูนย์การเรียนรู้ฯ เป็นมาอย่างไรคะ
สามปีที่ผ่านมาคนไทยเจอวิกฤติน้ำท่วมหนักหนาสาหัสมาก รู้สึกปลาบปลื้มใจและสงสารพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ท่านทรงเรียกให้รัฐบาลเข้าเฝ้าเพื่อถวายงานเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม ตอนนั้นยังทรงพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช นี่คือจุดเริ่มต้นที่อยากทำโครงการเพื่อช่วยในหลวง โครงการนี้เชื่อมโยงกับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด เด็กกลุ่มนี้สิบกว่าคนไปเรียนรู้เรื่อง “โคก หนอง นา โมเดล” กับอาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร จากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ แล้วกลับมาบอกว่าผมอยากทำงานให้ในหลวง ผมมีที่อยู่เท่านี้จะทำได้อย่างไร โดยความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสํารวจและผลิต จํากัด และทีมสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง นำมวลชนมาทำ “หลุมขนมครก” ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่สองจุด จุดแรกคือ “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองเอาชนะยาเสพติด” ตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ อีกจุดหนึ่งคือบ้านของเด็กที่ทำเสร็จแล้ว ศูนย์การเรียนรู้นี้จะ
ถ่ายทอดแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงด้วย
“โคก หนอง นา โมเดล” คือการใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนหนึ่ง ในพื้นที่หนึ่งแปลงเราสามารถขุดดินเพื่อสร้างหนองน้ำหรือสระน้ำไว้ในบ้าน เริ่มแรกเดิมทีชาวบ้านมาลงแรงช่วยกันขุดบ่อ โคกคือเอาดินในหนองน้ำมาปั้นเป็นโคกเพื่อปลูกบ้านบนที่สูง เวลาหน้าน้ำ ไก่หรือสัตว์เลี้ยงทั้งหลายก็สามารถอยู่บนโคกได้ พืชผักสวนครัวหรือป่าก็ปลูกบนโคก ถึงน้ำท่วมเราก็เก็บผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาอยู่บนโคกได้ ส่วนหนองน้ำเราก็เลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำพวกผักกะเฉดผักบุ้ง ส่วนนาเน้นการปั้นคันนาให้สูงอย่างน้อยหนึ่งเมตร เพราะถ้าคันนาเล็กพอแค่รถเกี่ยวข้าวผ่านได้ จะไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ แต่ถ้าคันนาใหญ่จะสามารถอุ้มน้ำเก็บน้ำได้ นาข้าวได้น้ำฝนที่กักเก็บทำให้คุณค่าทางอาหารของข้าวสูง
“หลุมขนมครก” ของในหลวงก็คือที่เป็นหนองเป็นสระส่วนหนึ่ง เป็นหลุมจากท้องนาส่วนหนึ่ง หลุมที่เกิดจากคลองไส้ไก่ที่อยู่ในครัวเรือนส่วนหนึ่ง เปรียบเสมือนว่าในพื้นที่หนึ่ง ถ้าน้ำไหลบ่าอย่างรวดเร็วเช่นในพื้นที่ราบติดภูเขา หากไม่มีหลุมบ่อ ไม่มีหนองน้ำเลย ความแรงของน้ำจะทำลายทุกสิ่งไปยังพื้นที่ต่ำสุด ซึ่งจะได้รับความเดือดร้อนหนัก แต่ถ้าพื้นที่บริเวณนั้นสามารถสร้างหลุมขนมครกไว้รองรับน้ำ ความรุนแรงของน้ำก็สร้างปัญหาน้อยลง แล้วในหน้าแล้งน้ำในหลุมขนมครกก็ใช้ประโยชน์ได้ โดยการคำนวณของอาจารย์ยักษ์ ถ้าหนึ่งแสนครัวเรือนสามารถสร้างหลุมขนมครกในจุดที่กำหนดไว้ จะสามารถสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ถึงสองเขื่อนโดยไม่ต้องเสียพื้นที่ป่า การสร้างเขื่อนไม่ใช่ทางออกในปัจจุบันนี้แล้ว มันมีทางเลือกใหม่คือการทำหลุมขนมครกนะ อันนี้คือประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
โมเดลนี้ยังเป็นการเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเองให้ได้ ชาวบ้านจะรู้สึกรักและอยากพัฒนาที่ดินของตัวเองให้ดีขึ้น สองคือเรื่องของความสามัคคีปรองดอง ความเอื้ออารี อันที่สามคือการเข้าถึงคำสอนของพระเจ้าอยู่หัว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อยู่อย่างเข้มแข็งและมั่นคง ในยุคสมัยนี้หลายคนอยากมีฐานะร่ำรวย จะมุ่งเข้าสู้โรงานอุตสาหกรรม แต่ฐานรากทางด้านครอบครัวต้องไปเช่าบ้านอยู่ ทั้งๆ ที่ดินตัวเองก็มีแต่กลับทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า สุดท้ายพอถึงเวลาทุกอย่างหมด ตอนนี้พยายามสอนให้ชาวบ้านกลับมาใช้ประโยชน์ที่ดินตัวเองให้มาก
งานที่ทำมีความเสี่ยงและความท้าทายสูง รับมือกับอุปสรรคหรือแรงกดดันอย่างไร
เป็นคนที่ยึดอุดมการณ์การทำงานมาก เรารักในอาชีพของตัวเอง ในเกียรติและศักดิ์ศรีของการเป็นปลัดอำเภอ เราก็จะครองตนด้วยความมีคุณธรรม เสียสละอดทน ที่ไม่กลัวอะไรเลยก็ไม่ใช่ จริงๆ แล้วกลัวเหมือนคนอื่น แต่เราก็จะพยายามเรียนรู้จากประสบการณ์ เซฟตัวเองให้ปลอดภัย สิ่งสำคัญคือหัวใจของเรา ถ้ารักที่จะก้าวหน้าในอาชีพที่ทำอยู่จะต้องไม่ละทิ้ง ต่อให้ท้ออย่างไรก็ต้องเดินหน้าต่อ มันเกินกว่าที่จะท้อ เรื่องที่เจอมารุนแรงที่สุดถึงขั้นเด็กเสียชีวิตเรายังผ่านมาได้ เพราะว่ามีกำลังใจของคนรอบข้างและเพื่อนร่วมงาน สุดท้ายสิ่งที่เราคิดไว้มันก็เกิด ที่ทำมาก็ไม่เคยมีอะไรที่ทำไม่ได้
ป.แตน เคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีของในหลวง ข้าราชการที่ดีต้องเป็นอย่างไร
ข้าราชการที่ดีในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องยึดหลักทศพิธราชธรรม เราเองในสายงานการปกครองก็ต้องยึดหลักธรรมาภิบาล คือการปกครองโดยธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มุมานะ ขยันอดทน รู้จักหน้าที่ว่าเราเป็นข้าราชการทำงานเพื่อประชาชน ความซื่อสัตย์สุจริตจะรักษาเกียรติของข้าราชการ และรักษาเกียรติภูมิที่เกิดเป็นข้าราชการใต้เบื้องพระยุคลบาทได้ คนที่สนองพระบรมราโชวาทต่างๆ แนวทางต่างๆ มาปฏิบัติให้เกิดความผาสุกแก่ราษฎรก็คือข้าราชการ แต่ถ้าข้าราชการไม่ยึดถือคำสอนของในหลวง ทำงานเช้าชามเย็นชาม ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ปัญหาคอร์รัปชั่นเกิด ชาติบ้านเมืองวุ่นวายเกิดความแตกแยก ข้าราชการจึงเป็นหลักที่ประชาชนจะต้องพึ่งได้ จุดมุ่งหมายของชีวิตการรับราชการคือทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข แล้วก็มีความสุขกับการรู้สึกว่าราชการสามารถพึ่งได้
มีต้นแบบในการดำเนินชีวิตเป็นใคร
เราเป็นข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดิน ต้นแบบก็คือพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะของคนรุ่นหลังที่เกิดมาบนผืนแผ่นดินใต้ร่มพระบารมีก็ต้องน้อมนำหลักคำสอนหรือแนวทางที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติมาทำให้เกิดผลสำเร็จ แม้กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวท่านอยู่สูงขนาดนั้น ท่านยังเสียสละทำให้ประชาชนได้ถึงขนาดนี้ แล้วทำไมเราเป็นข้าราชการตัวเล็กๆ ซึ่งอาศัยพระบารมีอยู่ถึงไม่ทำงานเหมือนที่ในหลวงท่านทรงทำด้วยความเหนื่อยยาก อันนี้คือแรงบันดาลใจ ต้องบอกว่าเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมเหนือที่สุดหาสิ่งใดเปรียบเทียบไม่ได้แล้ว ท่านสอนทุกเรื่องแม้กระทั่งเรื่องความประหยัด ความอดออม ความเสียสละ ความเอื้ออาทร ความมีเมตตา เราจะเดินตามรอยเท้าของพระองค์ท่านให้ถึงที่สุดค่ะ
หลายปีที่มุ่งมั่นทำงานมา เป้าหมายสูงสุดของการรับราชการคืออะไร
จริงๆ มันถึงแล้วนะ สูงสุดของการรับราชการก็คือได้เห็นภาพความสุขของประชาชนรอบข้าง ตัวหนูเองเป็นคนทำงานแล้วมุ่งหวังผลการทำงานมากกว่า ไม่ได้หวังว่าต้องขึ้นระดับสูง เพราะรู้แล้วว่าขึ้นระดับสูงต้องเจอกับอะไรบ้าง โอกาสที่จะเจอกับพื้นที่น้อยมาก แล้วมันจะยิ่งหนาวยิ่งเจ็บปวด มีหลายอย่างที่เป็นเงื่อนไขกดดันอาชีพราชการ แต่ว่าความเป็นอยู่ตรงนี้คือการได้เป็นที่รักของประชาชน อย่างที่บอกว่าถ้าเราเป็นข้าราชการแล้วจะดูแลตาสีตาสาประชาชนให้มีความผาสุก ถึงแม้จะอยู่ในระดับปลัดอำเภอไม่ใช่นายอำเภอ แต่เราก็ถือว่าเราใช้ความเป็นข้าราชการได้เกิดประโยชน์สูงสุด จะบอกว่าถึงตายก็ไม่เสียดายแล้ว แค่นี้คือที่สุดของอาชีพราชการแล้วค่ะ
แหล่งที่มา > นิตยสาร plook