www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

ทรงยศ สุขมากอนันต์ The Idol of the Year
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-12-12 11:24:12


เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง 
ภาพ: ณัตถิยา ปั้นประเสริฐ และ อิสสรียา จิตวรานนท์


กระแสที่รุนแรงตั้งแต่เริ่มฉายเมื่อเดือนพฤษภาคมลากยาวจนเกือบสิ้นปี ราวกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ตามด้วยอาฟเตอร์ช็อคอย่างต่อเนื่อง นี่คือความสำเร็จของ “HORMONES วัยว้าวุ่น” ซีรีส์แห่งปีที่นำเสนอเรื่องราวด้านมืดของวัยรุ่น บวกกับโปรดักชั่นที่แตกต่างแบบการถ่ายทำภาพยนตร์ และความสามารถเฉพาะตัวของผู้กำกับระดับแถวหน้าของประเทศไทย พี่ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ คนเดียวกับหนึ่งในทีมผู้กำกับที่สร้างปรากฏการณ์ “แฟนฉัน” ให้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยเมื่อสิบปีที่แล้ว

จากภาพยนตร์ “แฟนฉัน” “เด็กหอ” “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” “5 แพร่ง ตอน Backpacker” “Top Secret วัยรุ่นพันล้าน” ขยายผลงานสู่จอแก้วกับซีรีส์ “Coffee Prince Thailand” และ “HORMONES วัยว้าวุ่น” สู่การก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารบริษัท นาดาว บางกอก ในเครือ GTH อย่างเต็มตัวในวัย 40 ปี เมื่อตั้งคำถามว่า หากประวัติชีวิตของตนเองเปรียบได้กับภาพยนตร์สักเรื่อง เส้นเรื่องของเขาดำเนินมาถึงจุดจบบริบูรณ์แล้วหรือยัง...จากนี้คือคำตอบที่ไม่สปอยล์ของ the Idol of the Year คนนี้


อยากให้พี่ย้งเล่าประสบการณ์ช่วงวัยว้าวุ้นของตัวเอง
เป็นเด็กที่คุณพ่อจับย้ายโรงเรียนบ่อย เพราะไม่ตั้งใจเรียน ชอบเกเร แต่ยังทำคะแนนได้ดี คุณพ่อก็เลยคิดว่าโรงเรียนต้องไม่ดีแน่ๆ ก็เลยจับย้ายโรงเรียนไปเรื่อยๆ ตอนแรกอยู่ปานะพันธุ์ ย้ายมา ม.ต้นที่อัสสัมชัญศรีราชา ม.ปลายมาอยู่เซนต์คาเบรียล
ตอน ป.1 ที่ย้ายไปอยู่โรงเรียนปานะพันธุ์ ย้ายไปกลางเทอมด้วยนะ ไปถึงเราเหมือนเป็นคนแปลกปลอม ทำให้รู้สึกว่าเราเข้าสังคมยากมาก เผอิญมีเพื่อนดีๆ ที่พยายามเข้ามาคุยกับเรา จำได้เลยเพื่อนชื่อ “ชาตรี” ชื่อเล่นชื่อ “ต้น” แล้วก็เป็นที่มาของต้นใน “เด็กหอ” ปานะพันธุ์เป็นโรงเรียนประจำ อยู่ยาวจนจบ ป.6 เลยไม่ค่อยมีปัญหาอะไร พอไปสอบเข้า ม.1 ที่เทพศิรินทร์ก็สอบไม่ติด สอบเข้าที่ไหนก็สอบไม่ติด พ่อเลยให้ไปเข้าโรงเรียนวัดสระเกศที่อยู่ใกล้บ้าน ใกล้ตลาดโบ๊เบ๊ เรียนจนจบ ม.1 พ่อก็ว่า เอ๊ะ ทำไมมันไม่ตั้งใจเรียนแล้วเกรดดี เลยถูกส่งไปอยู่โรงเรียนดัดสันดานในสมัยนั้น คือโรงเรียนประจำ อัสสัมชัญศรีราชา ตอนนั้นรู้สึกโกรธพ่อมากที่จับเราย้ายโรงเรียน เพราะเรากำลังเริ่มสนิทกับเพื่อน แล้วต้องไปอยู่โรงเรียนประจำที่ไกลมาก แต่พอสองปีผ่านไป ม.2 ม.3 พ่อก็จับย้ายกลับมาเรียนที่กรุงเทพฯ เราไม่อยากกลับแล้ว โตขึ้นมาเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าสองปีนั้นเปลี่ยนเราจากความรู้สึกอย่างหนึ่งกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ช่วงชีวิตนั้นก็เป็นที่มาของหนังเรื่อง “เด็กหอ” สุดท้ายก็ย้ายมาเรียนที่เซนต์คาเบรียล ม.ปลายก็ไม่ได้ตั้งใจเรียน เกรดก็ไม่ค่อยดี เซนต์คาเบรียลในช่วงนั้นมีแต่สายวิทย์ เราชอบเรียนเลข ชอบเรียนฟิสิกส์ แต่ว่ามีสิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าเราชอบการถ่ายภาพ แต่เราไม่กล้าเอนทรานซ์นิเทศศาสตร์เพราะเรียนสายวิทย์มา

อะไรทำให้ตัดสินใจเรียนนิเทศศาสตร์ในที่สุด
เพื่อนเราสิบกว่าคนสอบเข้าวิศวะ บัญชี หมอ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ความที่ตัวเองก็รู้สึกอยากเรียนวิศวะ เรียนบริหารเพราะที่บ้านทำธุรกิจ แต่เอนฯ ไม่ติดอยู่คนเดียวในเพื่อนสิบกว่าคน เหมือนกับว่าโลกมันล่มสลาย ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ไปเจอเพื่อนเจอครูที่โรงเรียนก็รู้สึกเขินๆ อายๆ เคว้งมาก รู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กมาก จนกระทั่งไปเข้าที่เอแบค เรียนไปหนึ่งปีแล้วเราค้นพบว่าการเรียนสายบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะเรียนเป็นภาษาอังกฤษทรมานมาก เป็นคนไม่ชอบภาษาอังกฤษเลย มีอยู่วันหนึ่งตอนปีสองเทอมหนึ่ง อ่านหนังสือจิตวิทยาเป็นภาษาอังกฤษเล่มหนามาก ถามตัวเองว่าทำไมเราต้องทรมานตัวเองถึงขนาดนี้ เลยตัดสินใจว่าจะไม่อ่านหนังสือสอบ แล้วหยิบหนังสือเอนทรานซ์มาอ่านอีกรอบ เราเหลือเวลาเรียนในมหาวิทยาลัยอีกสี่ปี เราอยากเรียนในสิ่งที่รัก ในสิ่งที่ชอบ ก็เลยตัดสินใจว่าจะเรียนคณะอะไรก็ตามที่สอนถ่ายภาพ เพราะว่าเราชอบถ่ายภาพ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่มีปัญหาอะไรเลยนะ สุดท้ายก็ติดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ภาคฟิล์ม

ได้เรียนถ่ายภาพอย่างที่อยากเรียน สี่ปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร
รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งถ้าเทียบกับผู้กำกับ “แฟนฉัน” หกคน เขามีเป้าหมายตั้งแต่ก่อนเข้านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ว่าอยากเป็นผู้กำกับ ตอนไฟนอลธีสิสแต่ละคนมีหนังของตัวเอง เราเรียนจบแต่ไม่ได้ทำหนัง คือไปเป็นตากล้องให้ทุกเรื่อง อยู่ในทีมงานทุกคน แต่รู้สึกว่ามันไม่มีตัวตน มันเป็นความรู้สึกของเด็ก

พี่เริ่มค้นพบว่าตัวเองทำหนังได้ตอนเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ฟีโนมีน่า เขาบอกว่าถ้าอยากเติบโตในหน้าที่การงาน อยากเป็นผู้กำกับโฆษณา เขาไม่รู้หรอกว่าผู้ช่วยผู้กำกับคนไหนทำหนังได้บ้าง เล่าเรื่องได้บ้าง ก็ให้ทำหนังสั้นให้ดู ตอนนั้นเราทำหนังสั้น “ด.เด็ก ช.ช้าง” แล้วประสบความสำเร็จ ส่งประกวดที่มูลนิธิหนังไทยก็ได้รางวัล กำลังจะได้เป็นผู้กำกับในฟีโนมีน่าแล้ว พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) มาชวนทำ “แฟนฉัน” พอดี ตอนนั้นรู้สึกกดดันว่าเพื่อนๆ ทุกคนเป็นผู้กำกับตั้งแต่สมัยเรียน เราเป็นตากล้องแล้วจะอยู่ตรงนั้นได้ไง ต้องอาศัยความทุ่มเท พยายามและตั้งใจให้มากๆ พวกนั้นมีพรสวรรค์ เราต้องทำมากกว่าเขาเพื่อให้ได้เท่าเขา

ยังจำความรู้สึกตอนที่ทำหนังเรื่องแรกได้ไหม เทียบกับตอนนี้แตกต่างอย่างไร
สำหรับพี่มีจุดเปลี่ยน 3 จุดเปลี่ยนคือหนังสั้นเรื่องแรก “ด.เด็ก ช.ช้าง” พี่เข้าสู่การเป็นผู้กำกับ สองคือ “แฟนฉัน” เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามีชีวิตต่อในวงการภาพยนตร์ไทย” เรื่องที่สามคือ “เด็กหอ” หนังใหญ่เรื่องแรกที่เรากำกับเอง เส้นที่สำคัญที่สุดคือ “ด.เด็ก ช.ช้าง” เราเป็นผู้ช่วยผู้กำกับมีเงินเดือนสองสามหมื่น ถ้าผู้ใหญ่เห็นว่าเราเป็นผู้กำกับโฆษณาได้ จะกลายเป็นผู้กำกับที่มีเงินเดือนเป็นหลักแสน ตอนนั้นเราแค่หวังเพื่อการเลี้ยงชีพ วันที่เราทำหนังต้องมีประเด็นที่จะเล่า คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก เราก็มานั่งถามตัวเองว่าถ้าจะเล่าเรื่องหนึ่ง เราควรจะเล่าเรื่องที่เราสนใจและรู้จักจริงๆ ในชีวิตที่ผ่านมา ประสบการณ์ชีวิตอะไรที่เรายังจำได้ดี ก็ไปนึกถึงเหตุการณ์ตอน ป.1 อาจารย์เคยให้เด็กนักเรียนวาดรูปส่ง เราวาดรูปช้างรูปหนึ่งที่เรารู้สึกว่าวาดได้ดีมากๆ ภูมิใจมาก แต่อาจารย์ไม่เชื่อว่าเราวาดเอง นั่นเหตุการณ์ตอน ป.1 เราอายุเกือบสามสิบยังจำได้ดี แสดงว่าเรื่องนี้ต้องมีอะไรบางอย่าง เราก็เลยหยิบมาเล่าใน “ด.เด็ก ช.ช้าง”

จำได้เลยตอนออกกองพี่กลัวมาก เราไม่ได้เป็นผู้กำกับ เราเป็นตากล้อง เราจะเล่าได้ไหมวะ ถ่ายอย่างนี้จะโอเคไหมวะ คือเป็นคนทำงานเทคนิคมาตลอด พอได้มาทำงานครีเอทีฟเราจะกลัวไปหมดเลย แต่กลัวไปก็ไม่มีประโยชน์ ก็เชื่อในสัญชาตญาณตัวเอง ถ่ายสองวันเสร็จที่สระบุรีแถวบ้านพี่บอล (วิทยา ทองอยู่ยง) สมัยนั้นเป็นอนาล็อก เป็นเทปม้วนเล็กๆ ดราฟท์ลงเทปม้วนใหญ่ แล้วก็ใช้วิดีโอสองเครื่องต่อกันที่ฟีโนมีน่า นั่งตัดต่อด้วยการใช้ดราฟท์เทปสองม้วน ด้วยวิธีการโบราณมาก นั่งทำอยู่ทั้งคืนจนเสร็จเป็นหนังความยาวสิบนาที พี่นั่งดูงานแบบ rough cut แรกๆ แล้วบอกตัวเองว่า เราก็เป็นคนเล่าเรื่องได้เหมือนกันนะ

จาก “แฟนฉัน” ถึง “ฮอร์โมน” ความสำเร็จที่ต่อเนื่องเหมือนหนัง happy ending ส่วนตัวพี่ย้งคิดอย่างไร
ถ้าชีวิตการทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์ พี่ว่าแปดสิบห้าเปอร์เซ็นต์เลยนะที่พี่ลำบาก เพียงแต่ว่าคนไม่รู้หรอก เหมือนน้องๆ แก๊งฮอร์โมน กว่ามันจะไปอยู่ในซีรีส์แล้วทำให้คนเชื่อในคาแร็กเตอร์ มันถูกพี่ดุ มันถูกพี่ด่า มันถูกครูสอนแอคติ้งเคี่ยวเข็ญ มันทำงานหนัก มันไม่ได้นอน อย่างคอนเสิร์ตฮอร์โมนเดย์ที่ทุกคนแฮปปี้ น้องๆ ทุกคนสอบ ทำงานหนัก แต่ก็ต้องมาซ้อมถึงเที่ยงคืนตีหนึ่งตีสอง ส่วนเหล่านี้คนดูไม่ได้รับรู้ จะรับรู้วันที่ประสบความสำเร็จแล้ว

ทุกคนรู้ว่าพี่จบนิเทศจุฬา แต่ทุกคนอาจไม่เคยรู้ว่าพี่เอนฯ ไม่ติด ไม่เคยรู้ว่าในช่วงเวลาที่เอนฯ ไม่ติดแย่แค่ไหน แต่เหตุการณ์เอนทรานซ์ไม่ติดวันนั้น จนกระทั่งพี่ได้ทำหนัง “แฟนฉัน” แล้วประสบความสำเร็จ พี่เห็นสิ่งหนึ่งว่า ณ วันที่เราผิดหวัง ไม่ได้ไปตามทางที่อยากไป โดยที่เราพยายามเต็มที่แล้ว ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ลองคิดดีๆ ว่าต้องมีสิ่งที่ดีกว่านี้รอเราอยู่ข้างหน้า มันจะมีสิ่งที่ดีกว่านี้รอเราอยู่ข้างหน้าจริงๆ

ทำไมผลงานส่วนใหญ่ของพี่ย้งจะเล่าเรื่องวัยรุ่นวัยเรียน
เป็นช่วงเวลาที่พี่มีความสุข ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน การอยู่กับแก๊งเด็กที่ใช้ชีวิตแบบไม่มีผู้ปกครองมันสนุก เราอยากจะทำอะไรก็ทำได้ และที่สำคัญ มันไม่มีประสบการณ์ชีวิตมาตีกรอบให้เรากลัวที่จะทำหรือไม่ทำอะไร ก็เลยเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์สนุกๆ ในชีวิตมาเล่าได้เยอะ สองคือพอเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วมองย้อนกลับไป เราเคยผ่านชีวิตวัยรุ่นแบบนั้นมา เราเข้าใจสองมุมมอง ตอนเป็นเด็กเราเข้าใจอย่างหนึ่ง ตอนเป็นผู้ใหญ่เราจะเข้าใจอีกแบบหนึ่ง เวลาเราเอามาเล่า เราจะเล่าแบบเข้าใจ อย่าง “Top Secret วัยรุ่นพันล้าน” ก้าวข้ามเส้นของชีวิตวัยรุ่น เป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จ มีวิธีคิดบางอย่างที่มุทะลุ ความกล้า บ้าบิ่น ความไม่มีประสบการณ์ชีวิต อันนั้นแหละทำให้เขาทะลุไปได้ทุกด่าน สิ่งหนึ่งที่พี่อินมากๆ คือช่วงพาร์ทครึ่งหลังที่จะสร้างโรงงาน เหมือนตอนที่พี่ทำ “นาดาว” เลย คือยิ่งสูงจะยิ่งหนาว เหมือนยิ่งอยู่คนเดียว เคว้งคว้างจนรู้สึกว่าเราควรจะเดินต่อไปดีไหม

เหมือนกับเราทำ “ฮอร์โมน” มันเป็นโมเดลใหม่ คอนเทนต์ที่เราไม่เคยเห็นในโทรทัศน์ไทย ฉายทางช่องเคเบิ้ล เราไม่แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า แต่เราใช้งบมหาศาล ใช้ชื่อเสียงนักแสดง ใช้ชื่อเสียงบริษัทที่เคยทำงานที่แมสมากๆ พี่นำวิธีโปรดักชั่นแบบหนังมาทำละคร และเราต้องคุมคุณภาพให้อยู่ในมาตรฐานเรากับ GTH เราไปขอน้องๆ พีท ปันปัน แพตตี้ กับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งปกติเขาไม่เล่นละคร ไม่เล่นโปรเจ็คต์เล็กๆ เราแบกความรับผิดชอบตรงนี้อยู่ จึงเป็นความกดดันว่าต้องทำให้ดี ต้องเคี่ยวเข็ญจนใช่ เหมือนเราบ้าหรือเปล่าวะ พยายามเดินในเส้นทางที่ไม่รู้ว่าเส้นชัยคืออะไร แต่ออกเดินแล้วเราหยุดไม่ได้ ถ้าเราเดินหันหลังกลับแปลว่าสิ่งที่เราเชื่อไม่ถูกพิสูจน์ว่าเป็นจริงได้ เราถึงเส้นชัยมันอาจจะล้มเหลว แต่อย่างน้อยก็พิสูจน์ว่าเส้นทางนี้ไม่เวิร์ค

“ฮอร์โมน” ไม่ใช่ซีรีส์วัยรุ่นเรื่องแรก คิดว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากไหน
คงเป็นเพราะความแตกต่าง ความแตกต่างทำให้คนสนใจ เราก็ไม่แน่ใจหรอกว่าสิ่งที่เราทำมันจะดี คนดูจะชอบร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า แต่เราเชื่อว่าเรามีเจตนาที่ดีและเราตั้งใจทำ แล้วก็เราเชื่อสัญชาตญาณตัวเอง ไม่มีหลักการใดๆ เลยกับการทำงานครีเอทีฟที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จที่ดี นอกจากการเป็นตัวของเราเอง เราเชื่อว่าคนทุกคนล้วนแตกต่าง ไม่มีใครเหมือนกันเลย ต่อให้มีรูปแบบในเรื่องความรักเหมือนกัน เราก็จะมีวิธีคิดหรือรายละเอียดในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเวลาทำอะไรก็ตาม พี่จะเชื่อสัญชาตญาณตัวเองให้มากที่สุด เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด เราเห็นอะไร เรามีทัศนคติอะไร เราจะใส่สิ่งนั้นลงไปในงานของเรา ซึ่งทำให้งานของเราต่างจากคนอื่น แล้วคนดูก็จะรู้สึกว่าทำไมต้องดูงานของเรา เพราะถ้ามันเป็นงานเหมือนกับของคนอื่น แปลว่าเขาไม่ต้องดูงานของเราก็ได้

กรณีที่คนมีอคติกับเรื่องนี้ว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของวัยรุ่น
วันที่เด็กวัยรุ่นสามารถเข้าสู่สื่อต่างๆ หรือคลิปวิดีโอที่พาไปในสิ่งไม่ดีแบบง่ายๆ ด้วยการหยิบโทรศัพท์โหลดอินเทอร์เน็ต ผมรู้สึกว่าผมควรต้องทำสื่ออะไรบางอย่างที่อาจจะมีคอนเทนต์แบบนั้นเหมือนกัน แต่เราพาเขาไปสู่บทสรุปหรือทิศทางที่เขาต้องเจอด้วยดีกว่า ถ้าสไปร์ทเป็นเด็กใจง่ายแบบนี้ วันหนึ่งที่เขาเจอความรักจริงๆ ผู้ชายคนนั้นอาจจะทำใจไม่ได้ก็ได้ ถ้าน้องผู้หญิงที่เลือกที่จะเป็นแบบสไปร์ทก็ต้องยอมรับว่าอาจจะเจอสิ่งนี้ เราเชื่อว่าเรามีเหตุผลในการทำฮอร์โมน ผมอธิบายได้แค่นี้เพราะผมคิดว่าคงไม่มีสื่ออะไรที่จะตอบคำถามหรือแก้ปัญหาสังคมได้ทุกคำตอบ ในฐานะสื่อเราทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว วันที่ผมเขียนบทที่มีฉากแรงๆ ตัวละครมีทัศนคติที่ไปในทางดาร์ก ผมถามตัวเองตลอดว่าเราจะเล่าตัวละครตัวนี้เพื่ออะไร จนกระทั่งเราได้คำตอบถึงปล่อยออกมา จะให้มันเป็นละครที่ใสซื่อ พูดแต่ความดี มีบทสรุปว่านี่คือถูกผิด นี่คือขาว นี่คือดำ เราหาทางออกให้กับทุกปัญหาชีวิต เวลามีคนมาบอกเราแบบนี้เราก็ไม่ฟัง

กลุ่มผู้กำกับ “แฟนฉัน” ถือเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นผู้กำกับ การทำหนังสักเรื่อง เราให้ความสำคัญกับอะไร
พี่อาจเป็นนักศึกษาหนังกลุ่มแรกๆ เลยที่ได้ทำหนังหลังเรียนจบไปสิบปีแน่ะ จริงๆ แล้วพี่บอล (วิทยา ทองอยู่ยง) มีประสบการณ์การเขียนบทกับฟิล์มบางกอกมาแล้ว พี่ต้น (นิธิวัฒน์ ธราธร) ทำหนังกับอาร์เอส พี่ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ฟีโนมีน่า พี่เอส (คมกฤษ ตรีวิมล) เป็นผู้ช่วยผู้กำกับของพี่อุ๋ย นนทรี มาสามสี่เรื่องแล้ว วันนั้นขนาดประสบการณ์เรามากขนาดนั้น เรายังกลัวกับการทำ “แฟนฉัน” เรื่องแรก เราคิดว่านี่เป็นโอกาสเดียว ถ้าเราคว้ามันไว้ได้ มันอาจจะทำให้เราได้ทำต่อ ถ้าเราคว้าไม่ได้มันอาจจะเป็นโอกาสที่ผ่านไป อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นหนังที่เราภูมิใจ พี่รู้สึกว่าน้องๆ หลายคนอย่ารีบก้าวเดินเร็วเกินไป ทุกวันนี้เด็กมีโอกาสทำหนังใหญ่เร็วมาก นายทุนอาจจะรู้สึกว่าทุนต่ำกว่า ค่าตัวต่ำกว่า และอาจจะได้หนังทำรายได้ก็ได้ แต่เชื่อพี่เถอะว่าถ้าน้องประเมินตัวเองว่ายังไม่พร้อม อย่าเพิ่งทำ เพราะวันที่ทำหนังใหญ่เรื่องแรกแล้วไม่ประสบความสำเร็จ มีโอกาสที่น้องจะจบชีวิตการทำหนังตั้งแต่เรื่องแรกเลย

first impression (ความประทับใจแรก) คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เวลาพี่ตัดต่อหนังอะไรก็ตามถ้ายังไม่พอใจในคัตติ้งนี้พี่ยังไม่ให้ใครดู ถ้าเราจะเริ่มต้นก้าวครั้งแรก มีคนชวนพี่ไปทำละครหลายครั้ง พี่ก็ยังไม่พร้อมสักที จนกระทั่งพี่บอย อรรถพล ณ บางช้าง มาชวนไปทำซี่รี่ส์ให้ทรู พี่บอกว่าผมไม่ถนัดกับการทำสามกล้องสวิตซ์ชิ่งแบบฟรีทีวีนะ ถ้าให้ทำแบบหนังผมอยากจะลองทำดูเหมือนกัน พอรู้สึกว่าพร้อมเราก็ลงไปทำ ถ้ายังไม่พร้อมก็ยังไม่เสี่ยง เพราะถ้าเกิดพลาดมันไม่คุ้มค่ากับเส้นทางเดินของเรา เราควรทุกก้าวให้หนักแน่นมีพลัง

จะหาพล็อตเรื่องให้มีความแตกต่างน่าสนใจอย่างไร
เราต้องใช้ชีวิตนะ “เด็กหอ” พี่ทำไปเมื่อเแปดปีที่แล้ว ถ้าเอาบทเดิมมาทำในวันนี้ พี่จะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนเดิม เพราะแปดปีเปลี่ยนชีวิตเรา อาจจะมองอะไรไม่เข้าใจแบบวันนั้นก็ได้นะ ถ้าเราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ งานชิ้นต่อๆ มามันต้องเติบโตเปลี่ยนแปลง ไม่รู้ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง แต่มันจะไม่เหมือนเดิมแน่นอน จะเห็นเลยว่าพี่พยายามไม่อยู่ที่เดิม พี่ทำหนังมาจนถึง “Top Secret วัยรุ่นพันล้าน” แล้วเริ่มรู้สึกว่าต่อให้หนังคือความฝันสูงสุดของเรา แต่ชีวิตเริ่มวนลูป เขียนบท ออกกอง โปรดักชั่น ตัดต่อ โปรโมท เสร็จแล้วก็กลับมาเขียนบท เลยพยายามทำสิ่งอื่น ได้ทำงานสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ก็ได้ประสบการณ์ชีวิตอีกแบบหนึ่ง ได้ไปเป็นครูในบ้าน AF ก็อีกแบบหนึ่ง จนกระทั่งลงมาทำซีรีส์ “ฮอร์โมน” ทำให้ได้เรียนรู้การตลาด แฟนคลับ แบบที่เราไม่เคยเจอตอนทำหนัง ตอนนี้ประสบการณ์ชีวิตพี่ไม่เหมือนวันที่ทำหนัง วันที่กลับไปทำหนัง พี่อาจจะได้ใช้ประสบการณ์ชีวิตไปทำให้หนังมีอะไรมากขึ้น

หนังของพี่ย้งได้ทั้งรายได้ และรางวัล จุดสูงสุดของอาชีพผู้กำกับอยู่ที่ไหน
มาถึงวันนี้พี่ว่าจุดสูงสุดไม่มีจริงแล้ว แต่จะมีจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่าพอใจแล้ว โอเคแล้ว เคยถามตัวเองเหมือนกันว่าเราจะมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ จนไม่มีความทะเยอทะยาน หรือไม่มี passion กับการทำงานกำกับแล้วหรือเปล่า มันหมดไฟแล้วไหม คือกลัวการหมดไฟมากเลยนะ การหมดไฟนี่อธิบายอะไรไม่ได้ด้วยซ้ำ ที่ผ่านมาคิดเสมอว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เราไม่อยากทำหนังแล้ว พอทำหนังเรื่องนี้จบก็ฟินแล้ว ตายตาหลับแล้ว มันน่าจะเป็นการหมดไฟ ไม่น่าจะเป็นการฟินจริงๆ แต่กรณี “ฮอร์โมน” พี่ยังเคยโพสต์ในทวิตเตอร์ว่า เมื่อสิบปีที่แล้วตอน 2003 “แฟนฉัน” เป็นปรากฏการณ์ในชีวิต พออีกสิบปีต่อมาคือ 2013 “ฮอร์โมน” เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ในชีวิต มันไม่มีอะไรบ่งบอกเราก่อนเลยว่า โปรดักชั่นเมื่อปลายปีที่แล้วเราจะเห็นภาพวันนี้ “ฮอร์โมน” เป็นการตลาดแบบใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เราใช้วิธีวางแผนเท่าที่พอรู้และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ ออนแอร์ตอนแรกเราพยายามศึกษาข้อมูลจากคนดู แล้วตัดต่อในตอนที่สองไปอย่างนี้จนถึงตอนที่สิบสาม ทำให้พี่รู้ว่า “ฮอร์โมน” ต้องฉายเปิดเทอม เพราะว่าเด็กดูวันเสาร์ ดูรีรันวันอาทิตย์ หลังจากนั้นระหว่างสัปดาห์จะเอาไปคุยกันที่โรงเรียน แล้วเกิดการดูต่อระหว่างสัปดาห์ ทำให้กระแสในระหว่างสัปดาห์ไม่จบ และอยากดูต่อไปในเสาร์ต่อมา พอเราจะทำซีซั่นต่อไป เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องไปฉายเดือนสิงหาคม



ฟังดูแล้วพี่ย้งทำเกือบทุกหน้าที่ ทั้งกำกับ แคสติ้ง เขียนบท และมาร์เก็ตติ้ง
เป็นคนสนุกกับการเล่นสิ่งนี้ แต่ถามว่าพี่รู้ตั้งแต่ก่อนทำไหม ไม่รู้ พอออนแอร์ ep 1 เราก็พยายามดูว่าคนดูละครเมาท์อะไรกันในทวิตเตอร์ “ฮอร์โมน” ไม่มีงบโปรโมทเหมือนหนัง เรามีงบอยู่ล้านต้นๆ เราคุยกันว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่มีต้นทุน น้องๆ นักแสดงเราเยอะ มีคนตามเยอะ จีทีเอชมีโซเชียลเน็ตเวิร์กที่แข็งแรง เราใช้อันนี้แหละเป็นต้นทุนของเราและก็กระจายมัน เรามั่นใจในคอนเทนต์ของเราและเชื่อว่าเขาน่าจะแฮปปี้ ถ้าเขาแฮปปี้ก็น่าบอกต่อ ตอนแรกไม่มีฉายในยูทูปนะ มีฉายแต่ในช่องวัน (one) เพราะเจตนาคือเราจะสร้างช่องวัน แต่พอมีการบอกต่อ คนที่ไม่ใช่แฟนประจำเริ่มถามหาว่า เอ๊ะ ฮอร์โมนคืออะไร หาดูได้ที่ไหน เราก็เริ่มคุยกันว่าถ้าไม่มียูทูปเขาจะไม่มีโอกาสได้ดูเลยนะ สุดท้ายก็ตัดสินใจว่าลงยูทูปเถอะ เสี่ยงหน่อย ช่องเราอาจจะไม่ขึ้น แต่แบรนด์ช่องก็จะอยู่ในยูทูป อย่างน้อยแบรนด์เกิด นี่เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ระหว่างทางตลอดเวลา

ถ้าเมื่อไหร่ที่เราไม่หยุดเรียนรู้ ไม่หยุดการแสวงหาสิ่งใหม่ จะไม่มีจุดสูงสุดสำหรับเรา มันจะมีสิ่งที่เรายังสนุกเรื่อยๆ ท้าทายเราไปเรื่อยๆ และทำให้เราทะเยอทะยานไปเรื่อยๆ เคยเขียนในเฟซบุ๊คว่า มาถึงวันนี้ถ้าไม่ได้ทำหนัง ไม่ได้ทำอะไรต่อไปอีกแล้ว หรือไม่ได้ทำสิ่งที่เกิดปรากฏการณ์อีกแล้ว พี่ตายตาหลับแล้วนะ แต่อยากจะบอกว่าไม่ใช่ว่าหมดไฟ เรารู้สึกว่าเราลองใช้ชีวิตกับวงการบันเทิงมาอย่างเต็มที่แล้ว ถ้าพรุ่งนี้กูยังไม่ตายเดี๋ยวก็มีสิ่งที่ทำให้เราอยากทำโน่นทำนี่แบบไม่เหมือนเดิมอีกอยู่ดี สำหรับพี่การประสบความสำเร็จหรือจุดสูงสุดไม่มีจริงหรอก ถ้าเรายังอยากเห็นอะไรใหม่ๆ จากตัวเราอยู่

ถ้าเปรียบชีวิตของตัวเองกับหนังประวัติชีวิตแบบ “Top Secret วัยรุ่นพันล้าน” ตอนนี้เรื่องดำเนินมาถึงจุดไหนแล้ว
เรื่องดำเนินมาตอนที่คุณปู เซเว่นบอกว่า เรารับสินค้าคุณเข้าโรงงาน แต่ว่าต๊อบยังต้องคิดว่าแล้วเราจะทำสินค้านั้นไปขายในเซเว่นสี่พันสาขาได้อย่างไร เป็นช่วงที่เราทำ “ฮอร์โมน” ติดลมบน เราทำให้น้องๆ มีชื่อเสียง แต่เราจะทำอย่างไรให้คนดูยังรอดูซีซั่นสอง เราจะทำงานให้มีคุณภาพในระดับเดิมได้ไหม นักแสดงยังพัฒนาตัวเองต่อไปที่ไม่ใช่เท่าเดิม ทำได้ไหม บริษัท นาดาว บางกอกทำโปรดักชั่นและดูแลศิลปิน ความรับผิดชอบของพี่ในเวลานี้เหมือนกับที่ต๊อบเอาเถ้าแก่น้อยเข้าเซเว่นได้ แต่เรายังไม่รู้เลยว่าจะทำสี่พันสาขาได้จริง ถ้าไม่ได้มันโดนเอาออกเลยนะ