พรทิพย์ กองชุน Pornthip Plus Google
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-08-09 16:04:00
เรื่องและภาพ: ศรินทร เอี่ยมแฟง
Google กำลังจะโตเป็นหนุ่มอายุ 15 ปีในปีนี้ การเติบโตแบบพุ่งทะยานทำให้ Google ถูกจัดอันดับเป็นบริษัทที่คนอยากทำงานด้วยมากที่สุดในสหรัฐฯ รวมถึงบุคลากรด้านไอทีทั่วโลก เช่นเดียวกับในประเทศไทย ความสัมพันธ์ระหว่างเสิร์ชเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่กับ คนไทยดำเนินไปด้วยดี กระทั่งขยับเข้ามาเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ เมื่อสองปีที่แล้ว เบื้องหลังมิตรภาพอันยาวนานต้องยกเครดิตให้แก่ พี่อ้อ-พรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายการตลาด ผู้นำหญิงคนเก่งที่ให้กำเนิดและดูแล Google Thailand ไปพร้อมๆ กับการถ่ายทอดสายเลือดความเป็น Google ไปยัง Googler รุ่นใหม่มาถึงแปดปีแล้ว
ก่อนจะมาเป็น Googler ทราบมาว่าพี่อ้อมีประสบการณ์ทำงานด้านไอทีมาพอสมควร
พี่อ้อจบสาขาการเงินและการธนาคาร ม.รามคำแหง ตอนที่จบเป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง สาขานี้ไม่มีงานทำ เริ่มงานด้วยการฝึกงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพราะทำงานหนัก หลังจากนั้น พี่อ้อติดตามเจ้านายออกมาทำบริษัททัวร์ออนไลน์ในยุคแรกๆ ชื่อว่า PassionAsia.com เริ่มต้นเรียนรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีจากงานนี้ ได้ลองผิดลองถูกทำไป ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ชื่นชอบคือการได้ทำงานเทคโนโลยี เลยเปลี่ยนทิศทางไปสมัครงานที่ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ดูแลเรื่องการพัฒนาและขายโปรแกรมสำหรับองค์กร ERP หรือ Business Intelligence ถือว่ายากมากเหมือนกัน
เริ่มเข้ามาทำงานที่ Google ตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
ก่อนหน้านี้ Google ไม่ได้มีออฟฟิศที่เมืองไทยเลย พอ Google ประกาศรับสมัคร country consultant ปรากฏว่าคุณสมบัติต่างๆ น่าสนใจมาก เช่น ต้องการคนที่เข้ามาเริ่มต้นตลาดเมืองไทยให้ Google พัฒนาเทคโนโลยีให้คนไทยใช้ ตำแหน่งนี้จะรับแค่คนเดียวประจำประเทศนั้นๆ เรามีความรู้เรื่องอุตสาหกรรมไอทีอยู่แล้วรู้จักพันธมิตร ผู้ให้บริการต่างๆ เลยเข้าไปสมัครงาน พอได้งานก็ไปอยู่ที่อเมริกา หลังจากนั้นมาอยู่สิงคโปร์ พอประเทศไทยเปิดออฟฟิศก็กลับมาทีนี่
ตอนนั้น Google ค่อนข้างเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จึงน่าจะมีผู้สมัครไม่น้อย คิดว่าอะไรทำให้ได้รับเลือก
ตอนสัมภาษณ์นี้ยากมาก ไม่ใช่คำถามอย่างเดียว แต่ต้องไปพรีเซ็นต์ให้ผู้สัมภาษณ์หลายคนฟัง คำถามที่ยากที่สุดคือ ถ้าเรามีคุณคนเดียวอยู่ที่ประเทศไทย คุณจะทำอย่างไรให้คนทั้งประเทศรู้จักเรามากขึ้น ระยะสั้นวางแผนอย่างไร ระยะยาววางแผนอย่างไร เราเองคนเดียวไม่สามารถที่จะทำได้อยู่แล้ว คำตอบของพี่อ้อก็คือการหาพันธมิตรในประเทศ เรามีความรู้เรื่องอุตสาหกรรมไอทีอยู่แล้ว รู้จักพันธมิตร ผู้ให้บริการต่างๆ ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ทำให้ได้รับงานนี้ สำหรับเรื่องคู่แข่ง พี่อ้อไม่ตรงคุณสมบัติหลายเรื่อง เขาต้องการคนจบปริญญาโทเอ็มบีเอ แต่เราเชื่อว่าประสบการณ์และความสามารถเราตอบโจทย์ ส่วนสาเหตุอีกข้อ คิดว่าตำแหน่งนี้ทำอยู่คนเดียว เรามาสตาร์ทอัพกรุยทางทำธุรกิจของ Google ในประเทศไทย อย่างที่เล่าให้ฟังว่าเราเริ่มทำ PassionAsia.com ตั้งแต่แรก ทำทุกอย่าง แม้กระทั่งทำบัญชี รับพนักงาน ทำโอเปอเรชั่น จุดแข็งตรงนี้น่าจะทำให้เขาเชื่อว่าเราสามารถสตาร์ทอัพธุรกิจได้
ตำแหน่งตัวแทนประเทศไทย ทำงานคนเดียว รับผิดชอบเรื่องใดบ้าง
ตำแหน่งนี้เหมือนเป็นคนกลางระหว่างผู้ใช้งานชาวไทยกับ Google ทำอย่างไรให้สองคนมาเจอกันแล้วคุยกันรู้เรื่อง รู้จักกันว่าผู้ใช้ชาวไทยใช้งานดีมากน้อยแค่ไหน ต้องการใช้เทคโนโลยีอะไรเพิ่มเติมอีก เราก็จะ ต้องลงมาดูมาคุยที่ตลาด ผู้ใช้สำคัญที่สุดที่จะส่งสารออกมาว่าควรพัฒนาไปทิศทางไหน เสร็จแล้วเอาข้อมูลส่งไปที่สำนักงานใหญ่
ผลงานชิ้นแรกๆ ที่ทำออกมา ตอนนั้น Google Search มีโครงสร้างเหมือนภาษาอังกฤษเลย คือเขียนแล้วก็วรรคแล้วก็เขียนต่อ ซึ่งภาษาไทยเขียนติดกันเป็นวลี เทคโนโลยีในตอนนั้นเข้าใจว่าเป็นหนึ่งคำ ผลการค้นหาเลยไม่ตรงเท่าที่ควร พี่อ้อก็จะต้องกลับไปบอก Google ให้แก้ไขอย่าง เร่งด่วนจนปรับปรุงเทคโนโลยีคำและการตัดคำ (word segmentation) ทดสอบจนกระทั่งสมบูรณ์ ผู้ใช้ชาวไทยมีความสุขมากขึ้นเพราะว่าหาอะไรก็เจอ แล้วคนต้องการหาข้อมูลมากขึ้น หาสถานที่ ร้านอาหาร ข้อมูลเรื่องการศึกษา การทำธุรกิจ การที่เราได้ข้อมูลที่ตรงกับสิ่งที่ค้นหาทำให้คนไว้วางใจและใช้ Google มากขึ้น รู้สึกดีใจเพราะ Google ก็ชื่นชม
เราเป็นบริษัทนวัตกรรมที่จะต้องมีอะไรออกมาใหม่ๆ เสมอ มีการปรับให้สอดคล้องกับผู้ใช้ประเทศนั้นๆ ไม่ใช่แค่แปลภาษาอย่างเดียว แต่รวมถึงแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาที่ต้องสอดคล้องด้วย ผู้ใช้มีทุกวัยทุกกลุ่มทุกความสนใจ อะไรที่คนส่วนใหญ่ชอบ อย่าง Doodles ภาพวาดที่เปลี่ยนไปบนโลโก้ของ Google Search วันสงกรานต์จะเป็นรูปคนสาดน้ำ วันลอยกระทงก็มีรูปกระทงลอยอยู่ จุดประสงค์ของ Doodles เพราะเราอยากให้สอดคล้องกับวันสำคัญหรือประเพณีทั่วโลก ครั้งหนึ่งเคยทำวันช้างไทยเดือนมีนาคม หลายคนไม่รู้ว่าเป็นวันช้างไทย มีความสำคัญอย่างไร คลิกไปดูผลการค้นหาเกี่ยวกับช้าง เห็นประวัติความเป็นมาและความผูกพันกับประเทศ ก็เป็นความตั้งใจนำเสนอเรื่องที่เราสนใจให้คนเข้าไปเรียนรู้มากขึ้น
บริษัทที่ได้ชื่อว่ามีคนอยากทำงานมากที่สุด ต้องเก่งขนาดไหน คุณสมบัติอย่างไร
Google มองหลายๆ มุม ในแง่ของมหาวิทยาลัยที่เรียน เกรด ประสบการณ์ ทักษะ วิธีการคิด ถามว่าทุกคนจะต้องเพอร์เฟ็คต์ในทุกด้านที่พูดมาไหม เป็นไปไม่ได้ สิ่งสำคัญคือเรามองจุดแข็งของเราก่อนว่าเชี่ยวชาญเรื่องอะไร อยากจะทำลักษณะงานแบบไหน พอรู้ความสามารถก็ไปดูว่า Google เปิดรับตำแหน่งนั้นไหม แล้วจะเตรียมตัวอย่างไร มีคนถามบ่อยเหมือนกัน พี่อ้อก็จะบอกว่าเริ่มพัฒนาตัวเองตั้งแต่ตอนนี้เลย เพราะถ้ามาฝึกฝนก่อนสัมภาษณ์งานไม่ทันแน่นอน
เวลาพูดถึง Google เราจะนึกถึงความสนุก ความคิดสร้างสรรค์ และความใหม่ พนักงานต้องมีบุคลิกแบบนั้นหรือเปล่า
แน่นอน เป็นปัจจัยสำคัญมาก คนที่ทำงานกับ Google เรียกว่า “Googler” ต้องมีบุคลิกลักษณะแบบ “Googley” คือมี passion ในการทำงานเรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยี เวลาพูดถึงเทคโนโลยีคือเรื่องใหม่หรืออะไรที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องทำตัวให้ยืดหยุ่นแล้วเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ เป็นคนที่เปิดกว้าง ชอบความท้าทาย เพราะการที่จะพัฒนาอะไรใหม่ๆ บางทีเราอาจจะล้มเหลวก็ได้ สุดท้ายคือมีความสุขและความมุ่งมั่นในการทำงาน บุคลิกของเราเลยสนุก จะเห็นได้ว่าผลงานแต่ละตัวจะแฝงไปด้วยความสนุกสนาน
ความแข็งแรงของแบรนด์ในขณะนี้ มีการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไลฟ์สไตล์อื่นๆ เหมือนร้านกาแฟเจ้าดังบ้างไหม
ต้องย้อนกลับมาที่ภารกิจของเรา คือการรวบรวมข้อมูลทั่วโลกมาทำให้เป็นโปรแกรมให้ทุกคนเข้าถึงและดึงไปใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด สิ่งที่จะได้เห็น คงเป็นการต่อยอดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี เรียกว่า Google X เป็นโปรเจ็คต์ที่ก้าวหน้าไปไกลมาก อาจจะเคยได้ยิน Google Glass เป็นแว่นตาที่ให้เรา ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ ค้นหาข้อมูล แผนที่ ส่งอีเมล นอกจากนี้ยังออกแบบรถยนต์ไร้คนขับ แต่ควบคุมอยู่ในระยะที่ห่างออกไป สามารถขับเข้าไป ในสถานที่ที่มีอันตรายสูง เช่น มีกัมมันตภาพรังสี ถามว่าทำขึ้นมาเพื่อต้องการจะขายไหม ถ้ามันสามารถตอบโจทย์คนทั่วไป เราก็จะทำออกมาสู่ตลาด
คิดอย่างไรกับประเด็นที่ว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวิถีชีวิตมนุษย์
ข้อมูลมีความสำคัญเปรียบได้กับออกซิเจนที่เราหายใจทุกวัน พี่อ้อสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในโลกนี้ ถ้าเราสามารถเข้าถึงแล้วดึงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้นี่คือเป้าหมายสูงสุด ไม่ว่าจะการเรียนหรือการทำธุรกิจ พี่อ้อคิดว่านี่คือการยกระดับคุณภาพชีวิต ความสะดวกสบายส่วนตัว หรือเกี่ยวกับเศรษฐกิจการพัฒนาประเทศไทย อิจฉาน้องๆ สมัยใหม่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เข้าผ่านมือถือด้วยซ้ำ นี่คือสิ่งที่มันกำลังเปลี่ยนโลกอยู่
Google มองเห็นเทรนด์มาตั้งแต่ห้าปีที่ผ่านมา เห็นอัตราการเติบโตจากการใช้สมาร์ทโฟนเข้าถึงข้อมูล นวัตกรรมต่างๆ ที่ทำออกมาจึงรองรับการใช้งานผ่านอุปกรณ์การสื่อสารที่เคลื่อนที่ได้ เรียกว่า Google Mobile Services ตอนนี้ไปไกลกว่า เวลาค้นหาข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่บ้าน จนได้ข้อมูลในเว็บไซต์ที่ต้องการ เราสามารถคลิกให้ข้อมูลนี้โชว์ที่มือถือ ด้วย เรียกว่า Chrome to Mobile เปิดขึ้นมาแท็บต่างๆ ก็ตามมาด้วย
ถ้าถามพี่อ้อว่า Google มีจำนวนโปรแกรมอะไรเท่าไหร่ เยอะมากจนนับไม่ถ้วนแล้ว แต่เราก็ยังทำอยู่เพราะต้องการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต โปรแกรมเหล่านี้ขึ้นกับผู้ใช้ว่าจะเลือกใช้อย่างไร ใครอยากเอาไปต่อยอดก็สามารถทำได้ ทางเทคโนโลยีเรียกว่าการนำ API ไปใช้
ส่วนตัวเป็นคนติดออนไลน์ขนาดไหน
ติดออนไลน์มาก ถ้าเปิดได้ 24 ชั่วโมงก็เปิด เพราะเราทำเกี่ยวกับออนไลน์เทคโนโลยี เครื่องมือต่างๆ ก็ใช้ครบ อีเมล เอกสารต่างๆ ทำผ่าน Google Drive ทำงานด้วยสมาร์ทโฟน ประชุมกับคนที่ออฟฟิศด้วย Google+ Hangouts เรียกว่าเต็มที่ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แล้วเป็นคนที่ต้องอัพเดทเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่เสมอ อย่างที่บอกว่าลักษณะ Googley คือคนที่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
มีต้นแบบในการทำงานหรือการดำเนินชีวิตเป็นใคร
เราเรียนรู้จากหลายๆ คน รวมถึงคนที่อยู่รอบข้างด้วยนะคะ เราสามารถดึงส่วนดีๆ ของคนที่ประสบความสำเร็จมาใช้ได้ ไม่อยากให้ติดคนใดคนหนึ่งแต่ถ้าถามว่าไอดอลที่พี่อ้อเรียนรู้และให้ความสำคัญคือเจ้านายคนแรก คุณเนืองนิมมาน ณ นคร เขาจะสอนอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าจะทำอะไรต้องทำเต็มที่ มุ่งมั่น ทำอย่างดีที่สุด ถึงตอนนี้ก็ยังจดจำเป็นแนวทางปฏิบัติโดยตลอดมา
ในฐานะผู้บุกเบิก Google Thailand อะไรที่ทำให้เราเดินทางมาจนถึงจุดนี้
ต้องยอมรับว่าเราจะมีวิถีในการทำงานอยู่แล้ว มุ่งมั่นและตั้งใจทำงาน แต่สิ่งที่สนับสนุนคือความเป็น Google เอง พี่อ้อทำงานกับ Google มาแปดปีแล้ว สายเลือด ดีเอ็นเอเป็น Google ไปแล้ว Google ได้สอนแนวทางการทำงานให้กับพนักงาน เช่น การยอมรับว่าเราสามารถล้มเหลวก่อนจะประสบความสำเร็จได้ หรือในฐานะหัวหน้าฝ่ายการตลาดคือการมองผู้ใช้งานเป็นหลักแล้วสิ่งอื่นๆ จะตามมา หมายถึงให้เรารับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้งานเวลาจะพัฒนาอะไรก็แล้วแต่
สุดท้ายขอคำแนะนำให้กับน้องๆ ที่อยากจะทำงานบริษัทระดับโลกเช่นนี้
ทุกคนทำได้หมด ถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจวางเป้าหมายเราทำได้แน่ๆ ยกตัวอย่างพี่อ้อ ไม่เคยพูดว่าตัวเองเก่งเรื่องเทคโนโลยีหรือไอที เพราะเชื่อว่าเราต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอีกเยอะ แต่เราเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องปลุกกำลังใจตัวเอง เราไม่ใช่คนฉลาดหรือคนเก่งแต่เป็นคนที่ขยันมาก มุ่งมั่นมากตอนเรียนภาษาอังกฤษเราไม่สามารถเข้าใจทันทีเหมือนคนอื่น แต่พี่อ้อต้องกลับบ้านไปฝึกปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้พี่อ้อใช้เวลายาวนานอาจจะสิบกว่าปี แต่่เชื่อว่าน้องๆ มีความได้เปรียบมากกว่า มีเส้นทางลัดมากกว่าอยากให้กำลังใจทุกคนในการวางเป้าหมายแล้วเริ่มต้นวันนี้