www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

อดัม แบรดชอว์ พูดอังกฤษ คิดไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-07-01 17:17:29

ชมคลิปสอนการออกเสียงภาษาอังกฤษแบบชัดเวอร์กับ อดัม แบรดชอว์

 

 

เรื่องและภาพ: ศรินทร เอี่ยมแฟง

 

“ไม่มีทางลัดในการเรียนภาษา เพราะมันคือเรื่องของการฝึกฝนให้สม่ำเสมอ”

ความบังเอิญทำให้ อดัม แบรดชอว์ ในวัยยี่สิบเอ็ด ออกเดินทางจากบ้านเกิดที่สหรัฐอเมริกามาเป็นผู้สอนศาสนาที่ประเทศไทยเป็นเวลาสองปีเต็ม ความตั้งใจทำให้เขามุมานะเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อจะได้กลับมาปักหลักที่เมืองไทย และอีกครั้งที่ความบังเอิญทำให้เขาได้รับการติดต่อเป็นผู้ดำเนินรายการท่องเที่ยวในประเทศไทย จนเป็นที่รู้จักในบทบาท “ฝรั่งป๊อก ป๊อก” ซึ่งช่วยสนับสนุนความตั้งใจติดตามความฝัน กับการเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ต่อยอดสู่ผลงานพ็อคเก็ตบุ๊คและรายการโทรทัศน์ด้านการสอนภาษาอังกฤษถึงสี่รายการ

 

สาเหตุใดที่ทำให้อดัมเดินทางจากสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทยและเรียนภาษาไทย
เมื่ออดัมอายุสิบแปดก็ย้ายออกจากบ้านที่ยูทาห์ไปซานดิเอโก้ แคลิฟอร์เนีย ตอนนั้นอยากเป็นตัวของตัวเอง อยากจะสามารถเลี้ยงชีพด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ สุดท้ายก็ต้องกลับบ้านเพราะว่าหมดเงินครับ จะทำอย่างไรดีก็ปรึกษาพ่อแม่ เพราะดร็อปการเรียนไว้ที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ พ่อแม่แนะนำให้สมัครโครงการอาสาสมัครของศาสนาของเรา (ศาสนาคริสต์ นิกายมอร์มอน) โครงการนี้จะส่งอาสาสมัครไปทั่วโลกโดยที่คนสมัครเลือกไม่ได้ว่าจะไปที่ไหน อดัมก็ถือว่าตัวเองโชคดีเพราะได้รับเลือกมาประเทศไทย ถือว่าเป็นเรื่องบังเอิญมาก มาประเทศไทยครั้งแรกเมื่ออายุยี่สิบเอ็ด ก่อนมาก็เรียนภาษาไทยมาก่อนสามเดือน แต่ไม่ได้เก่งเท่าไหร่ ฟังคนไทยไม่ทัน พูดก็ไม่ออก ภาษาก็ไม่ชัด วรรณยุกต์ก็ไม่ได้ ในฐานะเอลเดอร์ก็ต้องย้ายไปย้ายมา เริ่มแรกอยู่ที่ขอนแก่นสามเดือน ย้ายไปบุรีรัมย์สองเดือน แล้วกลับมาที่กรุงเทพฯ หกเดือน จากนั้นก็ไปอยู่อุดรธานีหกเดือน กลับมาอยู่สะพานใหม่ กรุงเทพฯ สุดท้ายก็ย้ายไปศรีสะเกษสามเดือนถึงครบวาระสองปี แล้วกลับอเมริกาไปเรียนต่อวิชาภาษาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยยูทาห์

เมื่อกลับไปผมใช้ความพยายามและขยันมากในการเรียนภาษาไทย ไม่อยากลืม แต่ไม่มีโอกาสใช้เท่าไหร่เพราะคนไทยที่ยูทาห์น้อยมาก เริ่มสังเกตว่าภาษาไทยเสื่อมลง ขึ้นสนิม มีอยู่วันหนึ่งหลังจากกลับไปได้หกเดือน ผมไปร้านอาหารไทยแล้วอยากจะพูดกับคนไทยแต่เรียบเรียงประโยคไม่ถูกแล้ว วันนั้นก็ตระหนักว่าภาษาที่สองสามารถเสื่อมลงได้เร็วมาก ไม่เหมือนภาษาแม่ที่อยู่ในตัวเราตลอดชีวิต วันนั้นเป็นวันที่สำคัญสำหรับอดัม ถ้าอยากจะคงความสามารถในการพูดภาษาไทยเอาไว้ก็ต้องฝึกใช้ทุกวันเหมือนเดิม ผมก็เลยสมัครงานที่ร้านอาหารแห่งนั้น แล้วก็บอกเจ้าของชื่อพี่ประวิทย์ว่าผมจะมาทำงานเต็มที่ แต่มีข้อแม้คือพี่ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับภาษาไทยให้ผม ระหว่างที่ไม่ได้เจอเขา อดัมก็จะเรียนในยูทูปหรือพยายามอ่านวรรณกรรมไทย รับสื่อภาษาไทย แล้วเอาคำถามมาถามพี่ประวิทย์

 

นานไหมจึงมีโอกาสกลับมาเมืองไทยเป็นครั้งที่สอง
อดัมหาโครงการแลกเปลี่ยนเพราะว่าอยากกลับมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทย มหาวิทยาลัยมีโครงการแลกเปลี่ยนกับสถาบันพระปกเกล้า เลยได้มาทำหน้าที่แปลเอกสารภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ผมถือว่าการทำงานที่นี่ได้ยกระดับภาษาอีกขั้นหนึ่ง ได้เจอศัพท์ทางการและศัพท์ทางการเมืองมากขึ้น นอกจากนั้นก็เป็นวิทยากร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เป็นผู้พูดต่อหน้าหลายคน ครั้งแรกก็ไม่ได้เก่งครับ พูดได้ไม่ถึงสามสิบนาที เนื้อหาก็ไม่มีแล้ว ทุกวันนี้ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบ่อยมาก พูดนานเป็นสามชั่วโมง

หลังจากนั้นหกเดือนผมก็ต้องกลับอเมริกาไปเรียนต่ออีกหนึ่งปี แต่ก็คิดถึงประเทศไทยเหมือนเดิม ในครั้งที่สองที่กลับมาไทยได้เจอแฟนซึ่งตอนนี้เป็นภรรยา ตอนนั้นเพิ่งเจอกันเริ่มคุยกันทางเฟซบุ๊ค ก็เป็นส่วนที่ดึงดูดให้อดัมกลับมาประเทศไทยครั้งที่สาม ครั้งนี้มาเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้อีกหกเดือนแล้วก็กลับ กะว่าเมื่อได้ปริญญาตรีเรียบร้อยแล้วจะกลับมาปักหลักที่ประเทศไทยอย่างจริงจัง ความฝันของผมคือการเปิดสถาบันหรือศูนย์อบรมทางภาษาอังกฤษ แต่ถ้าจะทำได้ต้องมีเงินทุน อดัมเลยไปทำงานเป็นเซลแมนเคาะประตูตามหมู่บ้าน ขายระบบรักษาความปลอดภัย เป็นงานที่ห่วยมากแต่ต้องฝืนทำเพื่อเก็บเงินและกลับมาตามความฝันของตัวเอง จนได้เงินก้อนหนึ่งก็กลับมาเป็นครั้งที่สี่ นี่คือครั้งที่สี่ อยู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเกือบสามปีแล้ว

 

ทำไมถึงอยากกลับมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทย
หลักๆ ก็จะเป็นเรื่องภาษา สองปีแรกที่อยู่ประเทศไทย ตื่นเช้ามาอ่านภาษาไทยสองชั่วโมงไม่เว้นวัน โม้ อาจจะเว้นวันบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะขยันพากเพียรมากในการศึกษาภาษาไทยให้ลึกซึ่ง อดัมจะได้เข้าใจถึงความรู้สึกของคนไทย เมื่อกลับอเมริกาแล้วย้อนนึกถึงสองปีนั้น ก็รู้สึกว่าถ้าไม่หางานที่เกี่ยวกับภาษาไทยแล้วเหมือนเสียเวลาไปเปล่าๆ อีกอย่างหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าประเทศไทยใครๆ ก็จะนึกถึงน้ำใจของคนไทย คนไทยเป็นคนใจดี อันนี้เป็นส่วนที่ดึงดูดให้คนมาประเทศไทย ถ้ามาอยู่นานๆ เหมือนอดัมก็จะชอบความเป็นมิตร คนไทยยินดีต้อนรับ

สำหรับคนไทย ภาษาอังกฤษเรียนยากมาก แล้วสำหรับฝรั่ง ภาษาไทยเป็นอย่างไร
อดัมเป็นคนที่เชื่อมั่นว่าทุกภาษาไม่ว่าจะเป็นไทยอังกฤษ มันไม่ได้ง่ายแต่มันไม่ได้ยากขนาดนั้น อดัมจะแนะนำนักเรียนทุกคนว่าถ้าอยากเรียนก็เป็นไปได้ แค่ต้องทำตามขั้นตอนที่จำเป็น คือต้องฝึก ไม่มีทางลัดในการเรียนภาษา เพราะมันคือเรื่องของการฝึกฝนให้สม่ำเสมอ อย่างที่บอกกลับไปอเมริกาหกเดือนก็เริ่มขึ้นสนิมเพราะว่าไม่ได้ฝึกใช้ คนไทยเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาล สามารถพูดได้บ้างแต่ว่าไม่มีเวทีพูด ถ้าคนไทยตั้งใจหาโอกาสเอาไปใช้ สมมติว่าไปทักนักท่องเที่ยว หาเพื่อนฝรั่ง หรือพูดกับตัวเองที่บ้านก็ได้ รับสื่อภาษาอังกฤษ ดูรายการของอดัมก็ได้นะ ก็จะมีโอกาสฝึกฝนภาษาอังกฤษครับ
สำหรับอดัมแล้ว ไม่มีคำว่าเคล็ดลับในการเรียนภาษาอังกฤษ

หลายครั้งมีคนมาโพสต์ถามอดัมในเฟซบุ๊ค ทำอย่างไรถึงจะเก่งภาษาอังกฤษ หรือวิธีที่เร็วที่สุดในการเรียนภาษาอังกฤษคือวิธีไหน คือมันไม่มีทางลัด ถ้าเป็นภาษาไทยก็เหมือนกัน ฝรั่งที่มาอยู่ประเทศไทยหลายคนพยายามเรียนภาษาไทยแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่ได้ฝึก ภาษามันคือเรื่องของการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายก็จะกลายเป็นสิ่งที่เคยชิน ไม่เมื่อยไม่เหนื่อย เริ่มเป็นธรรมชาติ เหมือนที่อดัมพูดไทยตอนนี้ ไม่ได้กำลังคิดเป็นภาษาอังกฤษแล้วแปลเป็นไทย ตอนนี้คิดเป็นไทยได้แล้ว แต่ว่ามันใช้เวลา

 

 

คิดว่าปัญหาของคนไทยในการเรียนภาษาต่างประเทศคืออะไร
คนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษมีอยู่สองแบบ หนึ่งคือกลัวพูดผิด ถ้าพูดผิดแล้วก็จะโดนหาว่าโง่ ไม่เก่ง อาจจะเสียฟอร์ม รู้สึกอายต่อหน้าเพื่อน อาจจะรู้สึกว่าฝรั่งก็ไม่อยากคุยด้วยถ้าไม่พูดภาษาอังกฤษเป๊ะๆ กลุ่มที่สองก็คือ กลัวพูดถูก ถ้าออกเสียงถูกต้องคนอื่นจะคิดว่าดัดจริตก็เลยไม่อยากพูด ถ้าจะแก้ไขเรื่องการกลัวพูดผิด ก็แค่ยอมรับเลยว่าคุณจะพูดผิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่คุณใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง จบ เหมือนอดัมพูดไทยบางทีก็จะหลุดเหน่อ หลุดพูดผิด แต่อดัมไม่คิดมากเพราะรู้ว่านี่ไม่ใช่ภาษาของอดัม คนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษจะคาดหวังความดีพร้อมจากตัวเองได้อย่างไร ส่วนที่สอง กลัวพูดถูก ถ้าอยากสื่อสารกับฝรั่งให้ฝรั่งเข้าใจก็ต้องใส่สำเนียงที่ถูกต้อง ถ้าคุณพูดว่า “ฮาโหล ฮาวอายู ไอฟาย แต๊งกิ้วแอ่นยู้” ฝรั่งเข้าใจแต่เหมือนฝรั่งบอกว่า “ซะวัดดี๊ขรั่บ ขุ่นสะบ้ายดีไหม้ขรั่บ ผ่มม้าจากอเม๊ริกา” ซึ่งเราจะมองว่าน่ารักแต่สุดท้ายมันก็ผิด เราสามารถปรับปรุงให้ชัดขึ้นดีขึ้นได้ อยากให้คนไทยหันมาให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการเรียนภาษาอังกฤษ แทนที่จะดูถูกกันว่ากระแดะหรือโง่ซึ่งมันถ่วงพัฒนาการภาษาอังกฤษ

 

คุณอดัมเป็นที่รู้จักจากการทำรายการ “ฝรั่งป๊อก ป๊อก” มีที่มาที่ไปอย่างไร
แรกๆ ที่กลับมาเรายังไม่ได้เปิดสถาบันเพราะการเปิดบริษัทค่อนข้างมีขั้นตอนซับซ้อน ผมจึงสอนพิเศษตัวต่อตัว เริ่มลงคลิปในยูทูป ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ค มีคนถามเรื่องภาษาอังกฤษมาเรื่อยๆ อดัมก็จะตอบ เริ่มมีคนติดตามขึ้นเยอะ จริงๆ ไม่เยอะเท่าไหร่ คนกดไลค์หมื่นคนในเฟซบุ๊คตอนนั้นรู้สึกว่าดังมาก ทางช่อง 5 เห็นคลิปในยูทูปเลยติดต่อมาทำรายการ Wink wink English อันนี้เจ๊งไปแล้ว (ฮา) แต่ว่าไม่มีใครรู้จักหรอก ไม่นานรายการฝรั่งป๊อก ป๊อกก็ติดต่อมาอยากให้เป็นพิธีกรรายการท่องเที่ยว ที่เราจะให้คุณไปอยู่ในหมู่บ้านใช้ชีวิตกับชาวบ้าน ให้คุณได้เข้าใจวิถีชีวิตที่แท้จริงของคนไทยในชนบท

 

จากเอลเดอร์ที่ต้องเดินทางทั่วอีสาน จนมาเป็นพิธีกรรายการท่องเที่ยวประเทศไทย อะไรในประเทศไทยที่สร้างความแปลกใจให้กับอดัมบ้าง
รายการฝรั่งป๊อก ป๊อกทำมาสามปีแล้ว จะเรียกว่าได้ไปเที่ยวไหมก็ไม่รู้ เพราะไม่ใช่ว่าไปอยู่ในรีสอร์ทหรูๆ แต่อยู่โฮมสเตย์ เรียกว่าไปใช้ชีวิตกับชาวบ้านมากกว่า ผมได้ประสบการณ์และความเข้าใจเกี่ยวกับคนไทยมากขึ้น บางทีก็ต้องกินอะไรแปลกๆ ทำอะไรแปลกๆ ที่ตัวเองไม่เข้าใจ ตอนที่ไปอยู่อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่ อดัมต้องกินลาบดิบ ซึ่งเป็นคนไม่ชอบกินเนื้อดิบนอกจากซูชิ แต่ในฐานะที่เป็นพิธีกรในการค้นคว้าความรู้ใหม่ๆ ก็ต้องลองชิม ถามว่าอร่อยไหมก็พอได้นะ บางทีก็จะไปเกี่ยวข้าวกับชาวบ้าน มีอยู่ครั้งหนึ่งชาวบ้านเอามูลควายมาเป็นพลังงาน เราก็จะไปเก็บขี้ควายมาใส่ในถัง ถังก็จะคนขี้ โทษที มูลควายฮะ แล้วมูลควายก็จะกลายเป็นพลังงานไฟฟ้าให้กับบ้าน สุดยอด ก็จะเป็นความเป็นไทยแท้ๆ ใช้ชีวิตพอเพียง ปลูกเอง กินเอง เลี้ยงเอง แล้วไม่ไปตลาดเลย หรือไปเดือนละครั้งถ้าอยากกินอะไรที่ไม่มีในสวน ล่าสุดผมไปที่หัวหินแต่ไม่ได้ไปทะเลนะ ไปในป่ามีชาวบ้านเอาถั่วพูใหญ่มากมาให้ เขาบอกว่าในสวนของผมเราไม่ใช้สารเคมี ลองชิมดูนะ อร่อยมาก เห็นการใช้ชีวิตแบบนี้ก็อิจฉา ชีวิตแบบง่ายๆ สบายๆ เรื่องเงินก็ไม่แคร์ เขามีรายได้จากโฮมสเตย์นิดหน่อย เรื่องอาหารก็มีครบวงจรในสวนของตัวเอง

 

การเดินทางท่องเที่ยวที่ประทับใจที่สุดคือที่ไหน
เป็นทริปที่คาดไม่ถึงว่ามันจะเป็นอย่างนั้นคือสุราษฎร์ธานี จริงๆ เคยไปภาคใต้มาบ้าง เคยไปภูเก็ต เกาะพีพี กระบี่ อดัมรู้สึกว่าประเทศไทยมีบางจังหวัดที่เป็นความลับ ไม่มีใครรู้ว่ามันสวยขนาดไหน ผมไปอุทยานแห่งชาติเขาสก สวยมาก ธรรมชาติเขียวขจี ต้นไม้เยอะ ภูเขาสูง มีแม่น้ำ ทะเลสาบ ทะเล น้ำตก ภายในบริเวณไม่กว้างใหญ่แต่ก็มีครบทุกอย่าง ชาวบ้านก็พาไปดูหิ่งห้อยตอนกลางคืนที่สวยมาก ตอนเย็นมีหนังตะลุงให้ดู ฟังไม่รู้เรื่องแต่ก็สนุกดี ตอนนั้นได้เรียนภาษาใต้นิดหน่อยเพราะมีชาวบ้านสอนพูดประโยคง่ายๆ เร็วๆ นี้มีแผนจะกลับไปเที่ยวเขื่อนรัชชประภา

 

สำหรับคนต่างชาติ เมืองไทยมีเสน่ห์อย่างไร
คนไทยเป็นคนนิสัยดี อัธยาศัยดี ตามที่เขาบอกว่า “Land of Smile” มันจริง คนไทยยิ้มเก่ง ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าน่าอยู่ ที่นี่เป็นที่อบอุ่นที่ต้อนรับชาวต่างชาติไม่ว่าระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนั้นก็มีเรื่องธรรมชาติ มีทะเล ภูเขา น้ำตก แม่น้ำ ทะเลสาบ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ น่าอิจฉามากๆ คนไทยไม่เข้าใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆ แต่มีอะไรมากมายให้ค้นคว้า อดัมอยู่เมืองไทยมาเจ็ดปี ทำรายการฝรั่งป๊อก ป๊อกมาสามปี ได้ไปหลายที่แต่ก็ยังรู้สึกว่าประเทศไทยยังมีอะไรเยอะแยะที่ไปไม่ถึง หลายครั้งที่มีเวลาพักร้อน ถามว่าอดัมไปประเทศข้างๆ ได้ไหม ได้ แต่อดัมเลือกเที่ยวที่ใหม่ในประเทศไทยตลอด มันเหมือนหัวหอม ปอกทีละชั้นๆ

 

เมื่อถามถึงข้อดีแล้ว คิดว่าเมืองไทยมีข้อเสียอย่างไร
ไม่ว่าอยู่อเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศไทยก็มีข้อเสีย เราอาจจะมองแง่ดีได้แต่เราคงมองข้ามข้อเสียที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ เช่น รถติดมาก สิ่งเดียวที่จะทำได้เพื่อแก้ไขคือสร้างถนนที่ใหญ่ขึ้น อันนั้นจะใช้เวลาหลายปี ต้องยอมรับสภาวะของประเทศไทย แต่ถ้าไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ติด ถ้าพูดถึงประเทศไทยโดยภาพรวมก็จะมีกรุงเทพฯ และนอกกรุงเทพฯ ใช่ไหม กรุงเทพฯ ก็อีกเรื่องหนึ่ง มลพิษเยอะ รถติด น้ำคลองก็สกปรก แต่เป็นธรรมดาของเมืองใหญ่ แต่ถ้านอกกรุงเทพฯ ก็ไม่มีปัญหาพวกนี้
นอกจากนั้นผมไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้มาก คือเรื่องการเมือง ถ้าคนไทยไม่หันมาคุยกัน มีการโต้วาทีโดยที่เราสามารถเห็นไม่ตรงกันแต่เป็นเพื่อนกันต่อไปได้ ที่อเมริกามีพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่เหมือนกัน อดัมก็เป็นพรรคหนึ่ง น้องชายเป็นอีกพรรคหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นต้องเกลียดกัน การมีสองฝ่ายจริงๆ แล้วทำให้เกิดความสมดุล ถ้ามีพรรคใหญ่พรรคเดียวก็เรียกกว่าเผด็จการใช่ไหมครับ ฉะนั้นต้องมีสองพรรคที่ยอมรับว่าอีกพรรคมีความเห็นคนละแบบ แล้วหันมาประนีประนอม คุยกันอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาการเมืองปัญหาชาติ แทนที่จะไปประท้วง มันไม่จำเป็น ถ้าประเทศไทยมีการโต้วาทีระหว่างผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็น่าจะดีนะครับ เพราะว่าเขาจะได้รู้ว่าคนที่เขาเลือกคิดอย่างไรกับเรื่องนี้เรื่องนั้น แทนที่จะบอกว่าชอบคนนี้เพียงเพราะว่าเป็นคนเก่งหรืออย่างนี้อย่างนั้น เราควรจะเลือกคนที่เราเห็นด้วยกับเขาในการบริหารประเทศ แค่เป็นความคิดเห็นของฝรั่งคนหนึ่งนะครับ