ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-04-24 16:49:32
“ภารกิจเราต้องสร้างวินัยในคน ถ้าคุณไม่มีวินัย เด็กไม่มีวินัยหรือแม้แต่คนแก่ไร้วินัย
ทำอะไรไม่สำเร็จหรอก ต้องมาสร้างวินัยในคน ชาติไหนไม่มีวินัย ชาตินั้นล่มจมแน่นอน”
ความตั้งใจที่ต้องการสร้าง “ตัวอย่าง” ที่นำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการ “ทำตาม” ได้ง่ายขึ้น ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ “อาจารย์ยักษ์” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิต ลาออกจากอาชีพข้าราชการ เพื่อพลิกผืนดินดาน เกิดเป็น “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” ต้นแบบศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงพร้อมแนวทางมุ่งมั่นคืนการทำกสิกรรม กลับสู่วิถีธรรมชาติดั่งที่เคยเป็นมา
เรียนรู้ชีวิตพึ่งตนเองแต่วัยเยาว์
จากเด็กชายจากท้องทุ่งเมืองแปดริ้ว ที่เติบโตมากับแม่น้ำบางปะกง มีพื้นเพมาจากครอบครัวชาวนาเล็กๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่เกิดทำให้การดำรงชีวิตเรียบง่ายแทรกซึมอยู่ภายในตัวคนอาจารย์ยักษ์โดยไม่รู้ตัว
ในครอบครัวของอาจารย์มีพ่อทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีความสามารถรักษาโรคแผนโบราณแกคนในชุมชน ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน มีหน้าที่เลี้ยงลูกและทำงานบ้าน หากมีเวลาว่างก็ทำขนมขาย หารายได้เสริมเล็กๆน้อยๆ เพื่อนจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง มีรายได้พอมีพอกิน ไม่ถึงกับร่ำรวย แต่ไม่เคยขาดแคลน ชีวิตคลุกคลีอยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก
“ชีวิตวัยเด็กสนุกมาก เป็นเหมือนการละเล่น บางครั้งพ่อจะทำของเล่นเลียนแบบของจริงให้ พ่อจะเอาเครื่องมือช่างของเด็ก ซึ่งไม่อันตราย จะสอนให้ตอกตะปู เลื่อยอะไรต่างๆ ทำให้เรียนรู้งานช่างที่เป็นงานของผู้ชายทั้งหมด ส่วนแม่ทำกับข้าว สานเสื่อ ทอผ้า เราก็ไปช่วย ทำได้ทุกอย่าง
พ่อแม่บ่มเพาะคุณธรรม บ่มเพาะความขยันขันแข็ง ถูกฝึกให้พึ่งตนเองได้ทุกอย่าง มันถูกปลูกฝังจนเกิดความรู้สึกว่าวิถีการพึ่งตนเองเป็นสิ่งที่ทำทั้งหมดเลย มันบ่มเพาะวิธีคิด พ่อแม่จะสอนให้รู้จักแบ่งปัน รู้จักให้ทาน วิธีสอนไม่ได้สอนด้วยวาจาแค่ทำให้ดูเลย ได้ผักได้ปลาก็มาต้มแกงใส่ถ้วย ใส่ปิ่นโต วิ่งไปแจกเขาไปทั่ว เราก็ถูกฝึกให้รู้จักการให้มาตั้งแต่เล็กๆ เป็นเหมือนแรงบันดาลใจที่ซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
วิถีชีวิตหากินหาอยู่หาใช้ มีของกินเหลือเฟือ มีของกินของใช้ ทำเองทั้งนั้น ของกินของใช้ ซ่อมบ้านจะเอาไม้ซุงมาแช่น้ำเอาไว้จนพอง เราก็เอามาซ่อมบ้านก็ทำกันเอง ชีวิตเพิ่งตนเองทั้งหมด
สิ่งหนึ่งที่ครอบครัว “ศัลยกำธร” เห็นความสำคัญก็คือเรื่องการศึกษา เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ทางครอบครัวส่งมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ เพราะจะได้มีอนาคตที่ดี ถูกส่งมาเป็นเด็กวัด เรียนที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ แถวฝั่งธนฯ ด้วยความที่เป็นเด็กเรียนดีทางสายวิทยาศาสตร์ครอบครัวอยากให้เรียนหมอ แต่อาจารย์ทั้งกลัวและไม่ชอบรู้สึกว่าเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบมาก ตัวเองคงทำไม่ได้ อีกทั้งฝังใจอยากเป็นครูและนายอำเภอมาตั้งแต่เด็ก เป็นเพราะได้รับแรงบันดาลใขขากการดูหนังคาวบอยกลางแปลง ตอนอยู่ที่ต่างจังหวัดเรียนได้เป็นที่หนึ่งที่สองมาตลอด แต่มาเรียนที่กรุงเทพ สอบไล่ได้คะแนนเกือบท้ายสุดของชั้น เป็นแรงกดดันจนเป็นโรคไมเกรน พี่ชายที่เป็นทหารเห็นหน่วยก้านก็แนะให้เรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียนไปสักพักรู้สึกว่าไม่ตรงกับนิสัย รู้สึกว่าเวลาเขาจ้างว่าความก็ต้องไปทำให้เขาผิด รู้สึกไม่ชอบ
ในที่สุดอาจารย์ยักษ์จึงเลือกเดินตามความฝันตั้งแต่เด็ก คือ อยากเป็นนายอำเภอ ย้ายไปเรียนคณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดิม จนสำเร็จปริญญาตรีระหว่างเรียนก็เล่นกีฬาจนหายจากโรคไมเกรน และทำกิจกรรมทางการเมืองและกิจกรรมค่ายอาสายกับทางมหาวิทยาลัย
จบใหม่ไฟแรง สู่พัฒนากรเพื่อมวลชน
จากรั้วมหาวิทยาลัยที่บ่มเพาะความเป็นชาวค่าย ข้อมูลจากประสบการณ์จริงที่ได้สัมผัสกับความเป็นคนไทย ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ ทำให้เห็นปัญหาความยากแค้นในชนบท สร้างแรงบันดาลใขให้ตัดสินใจไปทำงานเป็นพัฒนากร
“หลังจากกระทรวงมหาดไทยเปิดสอบ ปรากฎว่าสอบได้ทั้งพัฒนากรและอักษรเลขได้ ทำให้ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกอะไร ตอนนั้นอยากเป็นนักพัฒนากรมากเลย เพราะผมคิดว่าผมมีวิญญาณนักพัฒนามาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ปี 1 พ.ศ. 2517 ตอนไปอยู่ค่าย เห็นชนบทมันน่าเวทนา ปัญหาเยอะ ผมก็รู้สึกแล้วว่าชีวิตนี้น่าจะทำอาชีพนี้จึงไปเป็นพัฒนากรดีกว่า ถ้ายังเป็นอักษรเลขซึ่งก็เหมือนเป็นเลขาผู้ว่าฯ ก็ต้องตามผู้ว่าฯตลอด มันก็ไม่ได้สัมผัสกับชาวบ้าน ต้องรับใช้นายอยู่ตลอด แต่มันเจริญเร็ว ตอนนั้นคิดจนเครียดเลย แต่ถ้าเป็นอักษรเลข แป๊บเดียวก็วิ่งไปเป็นผู้ว่าฯได้ง่าย เป็นนาอำเภอไม่ยากเพราะมีนาย รับใช้นาย นายใหม่ก็มีเยอะ พอนายผู้ว่าฯ เป็นใหญ่เป็นโตก็จะหิ้วตามไปได้ มันก็เจริญง่าย ถ้าทำงานถูกใจนายเสียอย่าง ก็เพราะคนตั้งไม่ใช่ชาวบ้าน คนตั้งเราเป็นใหญ่ก็คือนายเรานั่นเอง”
ด้วยความที่จบใหม่ไฟแรง อุดมการณ์แรงกล้า จึงเลือกเป็นพัฒนากร ไปเป็นพัฒนากรฝึกหัดประมาณ 3-4 เดือน ได้เป็นประธานรุ่น 34 จากนั้นไปฝึกภาคสนามที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพัฒนากรมือใหม่ ความรู้ยังน้อย ไม่แม่นทฤษฎี อีกทั้งอ่อนประสบการณ์ รู้ปัญหาไม่รอบด้าน ขาดคนที่จะให้คำปรึกษาและชี้แนะ ทำทุกอย่างด้วยใจและจิตวิญญาณแบบกำปั้นทุบดิน ทำให้แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ หลังจากนั้นเมื่อกลับมาคิดทบทวน ทำให้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง
“ตอนไปอยู่ค่าย เห็นชนบท มันน่าเวทนา ปัญหาเยอะไปเป็นพัฒนากรดีกว่า
ถ้ายังเป็นอักษรเลข ซึ่งก็เหมือนเป็นเลขาผู้ว่าฯ ก็ต้องตามผู้ว่าฯตลอด มันก็ไม่ได้สัมผัสกับชาวบ้าน”
“ถ้าเราจะเป็นนักพัฒนามืออาชีพที่ผ่านเทิร์นโปรแล้ว เหมือนเทิร์นโปรกอล์ฟ เราจะต้องแน่นทฤษฎีมีความรู้มากมาย มีหลักการเพียงพอ ต้องพอตัวทีเดียว สองเราต้องมีวิญญาณนักพัฒนาจริงๆ ไม่ใช่วิญญาณลูกจ้างไปพัฒนา มันจะไม่เกิด และเราต้องประสานคนเด่ง เราต้องประสานเซียนแต่ละด้านให้ได้ ถ้าแม่นทฤษฎี มีวิญญาณ ประสานเซียนได้ ทำอะไรก็สำเร็จ”
แต่แล้วก็เกิดปัญหาความขัดแย้งกันในระบบราชการซึ่งตอนนั้นเราเป็นวัยรุ่น เราประสบการณ์ไปพอจะเอาแต่ใจตัวเองก็เอาเกิดความขัดแย้งหลังจากที่รู้สึกขัดแย้งภายในใจของตนเอง จึงคิดลาออก แต่ผู้บังคับบัญชาไม่อนุมัติ ก็โอนมาสอบเข้าสภาพัฒน์อีกครั้ง ได้รับการบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน เริ่มเข้ามาทำงานในช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 4 เมื่อปี 2523 เริ่มเรียนรู้วิธีทำแผนตั้งแต่แผนเล็กๆ เช่น แผนจังหวัด แผนภาค จนถึงแผนระดับชาติ ซึ่งช่วยทำให้เข้าใจแผนนานาชาติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
แรงบันดาลใจจากในหลวง
พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ไปทั่วโลกว่า
“เราไม่เป็นทุนนิยมเสรี เราไม่เป็นคอมมิวนิวส์
เราจะเป็นแบบไทยๆของเรา เรามีองค์ความรู้ในการปกครองตัวเอง”
อาจารย์ยักษ์เล่าว่า สมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2524 ได้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานช่วยเหลือพสกนิกรทั่วประเทศ และพระราชทานทุนส่วนพระองค์อีกด้วย ทั้งๆที่สมควรเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐ จึงสั่งให้นายเสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ นำงบกลางที่ตั้งไว้เพื่อใช้ในยามสงครามหรือเวลาเกิดภัยพิบัติ มา 400 ร้อยล้านบาท ตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรียกย่อๆว่า กปร. โดยมี นายสุเมธ ตันติเวชกุล มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ มีเจ้าหน้าที่ทำงาน 200-300 คน เพื่อประสานการทำงานร่วมกับโครงการพระราชดำริต่างๆทั่วประเทศ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่มุ่งพัฒนาชนบทในเขตอันตราย ได้แก่ ชายแดนและเขตสู้รบกันภายในประเทศในสมัยนั้น
ประเทศต่างๆทั่วโลกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือเสรีนิยมและคอมมิวนิสต์ เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำให้มีนักวิชาการระดับโลกตั้งทฤษฎีโดมิโน เชื่อว่าเมื่อแท่งหนึ่งล้มลงก็จะล้มทับแท่งอื่นให้ล้อตามมาเป็นทอดๆ ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2525 บริเวณชายแดนประเทศไทยส่อเค้าความไม่สงบทำให้ทั้งโลกจับตามมองว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ตามประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รายล้อม
พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ไปทั่วโลกว่า
"เราไม่เป็นทุนนิยมเสรี เราไม่เป็นคอมมิวนิวส์ เราจะเป็นแบบไทยๆของเรา
เรามีองค์ความรู้ในการปกครองตัวเองมาตั้งนาน ทำไมต้องไปลอกเขา เรามีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรง
สมบูรณ์ มั่นคง ร่ำรวย ไม่ได้รวยเงิน เรารวยของกิน รวยของใช้ รวยที่อยู่อาศัย รวยบุญ รวยทาน
รวยเพื่อน รวยสมบัติอยู่ในป่ารอบด้าน มียุ้งข้าว มีความมั่งคั่ง เรามีครูของเราเอง
เรามีคลังอาหาร เรามีช่างที่เก่งเป็นเลิศในโลก เรามีหมอ
เรามีความสามารถในการยืนด้วยลำแข้งตนเอง ทำไมต้องไปเป็นคอมมิวนิสต์ ทำไมต้องเป็นทุนนิยม
ทำไมต้องเศรษฐกิจตาโตไม่ต้องตาโต อยากรวยไม่ต้องไปวัด GDP กับเขา
เงินทองพวกนั้นของมายา ข้าวปลานี่แหละของจริง
จะเป็นอย่างนี้ จะยืนยัดอยู่ที่นี่ We still stand here for the good of the whole world."
เดินตามรอยพ่อหลวง
นั่นแหละเป็นมูลเหตุตั้งแต่ปี 2525 ให้เดินตามพระองค์ท่านในแนวพระราชดำริของท่าน ตามไปจดบันทึกพระราชดำริกลับมาประมวล
“ผมได้หวนคิดว่าสิ่งที่เราเรียนมามันผิด มันจะบอกว่าผิดมันก็ไม่ได้ผิดทั้งหมดแต่มันก็ผิดเกินไม่น้อย เพราะอะไร ผมว่าผิดครึ่งเดียวเพราะมันไม่ได้สอดรับกับวัฒนธรรมเรา ไม่ได้สอดรับกับแผ่นดินของเรา
คนไทยกับฝรั่งมันคิดไม่เหมือนกันเลย การกินก็ไม่เหมือนกัน นอนก็ไม่เหมือนกัน
อะไรก็ไม่เหมือนกันเลย แต่เราไปลอกเขามาทั้งนั้น เราไปลอก ไปลอกศาสตร์ปกครองเขามาเรียน
เรียนศาสตร์ปกครองจากฝรั่งทั้งนั้น ตำราที่ผมเรียนมาก็ของฝรั่งทั้งนั้น ลอกเขามาทั้งนั้น
เศรษฐศาสตร์ก็ถูกบังคับเรียนก็ลอกมาจากอดัม สมิธ”
อาจารย์ยักษ์ได้เดินตามรอยแนวพระราชดำริของในหลวง แล้วกลับมาคิดพิจารณาถึงทฤษฎีความรู้ที่ตามแนวคิดของต่างชาติในตำราต่างๆ ไม่สอดรับกับวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย แต่คนไทยได้รับการปลูกฝังค่านิยมที่ผิด เมื่อหวนนึกถึงการดำเนินชีวิตในวัยเด็ก ก็คิดได้ว่าพ่อแม่ได้ใช้วิธีการตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า การสอนมี 2 อย่าง คือ การสอนความรู้ให้สามารถเลี้ยงชีพได้ มีความรู้ที่สามารถช่วยผู้อื่นได้ และการมีคุณธรรม สามารถดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดี เลี้ยงดูทุกชีวิตให้อยู่ได้พอมีพอกิน
หลังจากการทำงานรับราชการอยู่กปร.นานกว่า 16 ปี ได้เห็นความเป็นไปและความยากลำบากในการผลักดันการทำงานตามแนวพระราชดำริ โดยผ่านกลไกของรัฐ ในขณะเดียวกันก็มองเห็นหายนะที่กำลังคืบคลานเข้าโถมกระหน่ำประเทศไทยจากการหลงระเริงไปกับสีสันบรรเจิดของฟองสบู่มาหลายปี ในที่สุดอาจารย์ยักษ์จึงตัดสินใจแน่วแน่ลาออกจากราชการหันมาใช้ชีวิตเกษตกรตามบรรพบุรุษ
ท้าพิสูจน์ "เศรษฐกิจพอเพียง" ด้วยตนเอง
“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หลายเรื่องรุมเร้า เบื่อมากเลย ไม่อยากอยู่กรุงเทพฯอยากหนีมาอยู่บ้านนอก บอกกับชาวบ้านท้าทายว่าทำไม่ได้หรอกที่พระเจ้าอยู่หัวสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องพึ่งตนเอง มันจะทำได้หรือ นักวิชาการไม่เชื่อ ชาวบ้านก็ไม่เชื่อ ศูนย์ราชการก็ไม่เชื่อ นักวิชาการมหาวิทยาลัยก็ไม่เชื่อ เราก็ต้องถูกท้าทายเลยออกมาทำให้ดู”
“ผมต้องการพิสูจน์ให้เกษตรกรเห็นว่า ทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นอกจากจะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสุขที่แท้จริง ยังรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน
และยังช่วยให้โลกที่กำลังร้อนระอุร่มเย็นลง”
อาจารย์ยักษ์กลับไปใช้ชีวิตวิถีเกษตรกรเหมือนเช่นในวัยเด็ก และนำความรู้แนวทางกสิกรรมธรรมชาติไปเผยแพร่ มีการถกเถียงและขัดแย้งทางความคิดกับนักวิชาการหลายครั้ง หลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานราชการ นักวิชาการ และชาวบ้าน ต่างก็ไม่เชื่อว่าการดำเนินชีวิตตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงจะไปรอด คิดว่าอาจารย์เป็นคนเพี้ยนที่ลาออกจากการมีอาชีพที่มั่นคง มาดำเนินชีวิตที่มีความแน่นอนน้อยกว่า
"ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่มาบเอื้อง" บทพิสูจน์แบบเห็นผลจริง
อาจารย์ยักษ์จึงลงมีปฏิบัติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน คือ พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น ทำได้จริงบนพื้นที่เล็กๆ โดยการจัดสภาพแวดล้อมให้ดีเสียก่อน แล้วปลูกป่าสามอย่าง ได้แก้ หนึ่งกินได้ สองใช้งานได้ และสามสร้างที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งจะให้ประโยชน์สี่อย่าง คือ กินได้ ใช้งานได้ มีที่อยู่อาศัยและให้ความร่มเย็น
ทั้งนี้การวัดความเจริญไม่ได้ดูจากค่า GDP แต่เทียบจากความเจริญของวัดที่มีคนทำบุญทำทาน และที่สำคัญจะต้องมีคลังอาหาร และเก็บรักษาภูมิปัญญาที่ถ่าบทอดมาจากบรรพบุรุษให้สืบต่อไป นอกจากนี้ยังต้องเรียนรู้หลักการค้าที่เป็นธรรม
“เราอยากพิสูจน์ทำให้ดูว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเดียงทำได้จริง ก็ออกมาทำให้ดูว่ามันอยู่ได้จริงไหม”
โดยเลือกจากพื้นที่จากข้อหนึ่งคือดินเลวที่สุด และสองคือน้ำหายากที่สุด และแรงงานก็วิ่งไปหาเหล่งท่องเที่ยวหมด ชลบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ อุตสาหกรรมรอบบ้านไปหมดเลย ไม่มีแรงงาน ยากทั้ง 3 ยาก ก็ต้องพิสูจน์หลักคิดอันนี้มันจะอยู่ได้ไหมในสังคม”
พอเรามาทำศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่มาบเอื้อง จ.ชลบุรี เราพิสูจน์ว่าไอ้สามยากนี้ มันทำได้จริง หนึ่งมันก็มีป่าเกิดขึ้น สามอย่างมันได้ สองมันมีนา มันมีข้าว มันมีปลาจริง ในนามีข้าวจริง ทั้งสามอย่างก่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 4 อย่างจริง ภายในหนึ่งปี สามารถเห็นได้ชัดๆ”
ผลพิสูจน์
ในที่สุดเวลาผ่านไป อาจารย์พิสูจน์ให้เห็นว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเองสามารถทำได้จริง สามารถขยับขยายพื้นที่จาก 3 ไร่ เป็น 5 ไร่และกลายเป็นหลายร้อยไร่ในที่สุด มีคนเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น พากันทำตาม มีผู้เชิญให้ไปเสนอในที่ประชุมนานาชาติ และมีการออกสื่อต่างๆทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ในปี 2541 เริ่มจัดอบรมหลักสูตร 1 วัน โดยดัดแปลงเล้าหมูเป็นห้องเรียน พอปี 2544 จัดอบรมหลักสูตร 8 วัน จึงนำเล้าหมูส่วนหนึ่งเป็นที่นอนของผู้เข้ารับการอบรมมีนิสิตมาอยู่กินนอนที่นี่ หลังจากนั้นมีงบประมาณสนับสนุนจึงเป็นหลักสูตร 15 วัน มีคนมาเรียนตั้งแต่ 50-150 คน และขยายวงกว้างเรื่อยๆ จนกลายเป็นมหาวิทยาลัยโดยปริยาย
“การพัฒนาที่สำเร็จที่สุด คือ เปลี่ยนวิธีการคิดคนแล้วชีวิตเขาจะเปลี่ยน
พอทำประสบความสำเร็จก็ได้รับการกล่าวขานไปอีกหลายพันคน”
มีคนพูดกันไว้ว่าชาวชวนจันท์นั้นมันเก่งหนักหนาดื้อหนักหนา เพื่อนๆเลยท้าอาจารย์ยักษ์ว่า ถ้าอาจารย์ยักษ์แน่จริงให้ไปเปลี่ยนคนจันท์ให้เขาดูหน่อย พรรคพวกเลยส่งคนมาอบรมหลังจากนั้นอาจารย์จึงได้จัดวิชา “เปิดสมองบ่งหนองความคิด” ขึ้นมา เน้นสอนให้ชาวบ้านพื่งตนเองอย่ารอแบมือเป็นขอทาน รอให้รัฐช่วย รอให้คนนู้นคนนี้มาช่วย ต้องพึ่งตนเองเหมือนในหนังสือพระมหาชนก ซึ่งการพัฒนาที่สำเร็จที่สุด คือ เปลี่ยนวิธีการคิดคนแล้วชีวิตเขาจะเปลี่ยน พอทำประสบความสำเร็จก็ได้รับการกล่าวขานไปอีกหลายพันคน
ภารกิจสำคัญ
อาจารย์ยักษ์เล่าว่า ภารกิจสำคัญของอาจารย์ในขณะนี้ก็ คือ ต้องให้ความรู้แก่คนไทยเพื่อที่จะอยู่รอดได้ในยามที่สังคมกำลังปรวนแปรที่มีสาเหตุจากวิกฤต 4 ประการ คือ ภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาด ความอดอยากและภาวะสงคราม อาจารย์คิดว่า ความรู้และคุณธรรมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้คนอยู่รอดได้ท่ามกลาง ความแปรปรวนของโลกที่มาจากวิกฤตทั้งสี่นี้ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จ
“นวัตกรรมเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นนวัตกรรมใหม่ คนก็จะตีความไปว่าถ้าไม่ให้ค้าขายก็จะต้องไปอยู่อาศัยท่ามกลางป่าเขา เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจกับคนจึงเป็นเรื่องที่ยาก ยิ่งการศึกษาสูง เรียนสูง ตำแหน่งสูงยิ่งพูดยากสอนยาก ยึดติดเป็นบัวใต้ตม ยึดติดกับความรู้เก่า
ถ้าให้ไปทำกับพวกเก่งๆทำไม่ได้ เราต้องทำงานกับพวกคนหัวไว พวกบัวพ้นน้ำแล้ว ฝึกคนกลุ่มนี้แล้วให้คนกลุ่มนี้นำออกไปเผยแพร่ต่อ นี่คืออุปสรรคสำคัญเพราะค้นหาคนที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ยากมาก แต่ต้องไม่ท้อ ถ้าคนทำตามพระเจ้าอยู่หัวแค่ 3 ล้านคน โดยเอาแค่ 5 แสนคนที่จะเป็นครูสอนคนอื่นได้แค่นี่ก็เพียงพอแล้ว”
“เราต้องฝึกให้เราชินกับความขยัน ชินกับความดี ชินกับงานที่ควรทำ สิ่งนี้คือสิ่งที่พระองค์ท่านสอนไว้ พ่อแม่ก็สอน พระก็สอน ครูก็สอน ซึ่งมันตรงกัน ถ้าทำตามแบบบันได 9 ขั้นสู่ความมั่งคั่งแบบพอเพียง คุณจะมั่งคั่งได้จริง ขอให้เพียรพยายามทำต่อไปแล้วมันจะชินเอง”
“การให้ความรู้กับคนเป็นครูเป็นงานหนัก ผมได้เป็นครูสมใจเลยตอนนี้ สมใจนึกเลย ฝันอยากเป็นครูตอนเด็กๆ ตอนนี้เป็นครูสอนทุกระดับ สอนตั้งแต่ชาวบ้าน เด็กเล็ก เด็กอนุบาลจนอายุ 70 สอนยังอนุบาลยังด็อกเตอร์เลย ทั้งที่มาสอนที่นี้ วิ่งไปสอนในมหาวิทยาลัย วิ่งไปสอนในโรงเรียนไปจัดตั้งกลุ่มให้ลงมือปฏิบัติ
ภารกิจเราต้องสร้างวินัยในคน ถ้าคุณไม่มีวินัย เด็กไม่มีวินัย หรือแม้แต่คนแก่ไร้วินัยทำอะไรไม่สำเร็จหรอก ต้องมาสร้างวินัยในคน ชาติไหนไม่มีวินัยชาตินั้นล่มจมแน่นอน”
สอง คือ ต้องสอนให้เอาชีวิตให้รอดตาม “หลักพอเพียงขั้นพื้นฐาน 4 พอ” พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น สาม...ต้องทำให้คนมันเด่น คนไทยมันเด่น เรื่องบุญ เรื่องทาน เด่นเรื่องการแปรรูป เก็บรักษาเรื่องนู้น เรื่องนี้มันเด่น เรามีเรื่องเด่นมากมายเลยเอาให้มันเด่นสักอย่างก็ยังดี เป็นภารกิจที่สร้างคน ถ้าสร้างคนไทยได้มากเท่าไหร่ คนไทยก็รอดมากเท่านั้น” อาจารย์ยักษ์ เล่าถึงปณิธาน