www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

แชมป์ ทีปกร : จักรวาลนักวาดเขียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-04-02 14:56:56

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง  ภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก

                               

ความสำเร็จทางธุรกิจออนไลน์อย่างไม่ทันตั้งตัวของเด็กหนุ่มปีสอง ทำให้ความฝันในการเป็นนักเขียนของเขาถูกท้าทาย แต่การคว้าโอกาสในครั้งนั้นก็ได้มอบตั๋วเดินทางเที่ยวพิเศษซึ่งพาเขามายังจุดหมายปลายทางได้เร็วขึ้น

เรากำลังพูดถึง แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ชื่อที่มักมีคำนิยามห้อยท้ายว่า “เว็บมาสเตอร์ผู้ก่อตั้งเว็บบล็อกสัญชาติไทย Exteen.com” เจ้าของผลงานตัวหนังสือและภาพวาดหลายเล่มในรอบสามปีที่ผ่านมา รวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ชักชวนนักอ่านให้ก้าวเข้าไปในโลกแห่งความคิดและจักรวาลแห่งความฝันของเขาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผลงานล่าสุด “ยูนิเวอร์เศร้า” สะท้อนแง่มุมที่น่าสนใจของนักวาด-เขียนรุ่นใหม่วัย 28 ปีที่ยังคงกำตั๋วเดินทางสู่จักรวาลไว้แน่นสู่ปลายทางของเขา

ผลงานแรกที่สร้างชื่อให้คุณแชมป์คือ Exteen.com ซึ่งเริ่มทำเมื่อครั้งเป็นนิสิตวิศวะ ม.เกษตร ความสำเร็จของ Exteen.com เกิดจากอะไร
แปดปีที่แล้ว Exteen.com เป็นเว็บบล็อกแรกๆ ในเมืองไทย ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีผู้ให้บริการบล็อก คนต้องการพื้นที่ในการแสดงออกมากไปกว่าไดอารี่ออนไลน์ ผมรู้สึกว่าจังหวะที่เราเข้ามาเหมาะสมพอดี รวมไปถึงมีความยืดหยุ่นเนื่องจากเราไม่ได้เป็นบริษัท เราทำเล่นๆ กับเพื่อนสองคน ด้วยความที่เป็นทีมเล็กทำให้เราปรับตัวได้ตลอดเวลา ซึ่งเหมาะกับธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต เขาต้องการอะไร เสนออะไร เราเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ได้ตลอดเวลา กลุ่มที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในช่วงนั้นคือวัยรุ่นและเด็กมหาวิทยาลัย การที่เรามีช่วงอายุใกล้เคียงทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าเขาต้องการสีสันหรือฟีเจอร์อะไรใหม่ๆ              

ความสำเร็จนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรกับเด็กปี 2 บ้าง
ผมอายุ 20 ปีตอนที่สร้างเว็บไซต์ขึ้นมากับเพื่อนชื่อต่าย เพื่อนจะดูเรื่องโปรแกรมมิ่ง เซิร์ฟเวอร์ หรือทางเทคนิคทั้งหลาย ส่วนผมจะดูหน้าตาของเว็บไซต์ การตอบสนองกับผู้ใช้ การติดต่อโฆษณา ทำให้ผมเป็นคนโตเร็วกว่าเด็กปกติ ตอนนั้นเด็กปีสองเราก็คงตามเรื่องตามราวของเรา เล่นเกม อ่านหนังสือ เฮฮากับเพื่อน แต่การทำเว็บทำให้เราเรียนรู้เรื่องธุรกิจเร็วกว่าคนอื่น เรียนรู้ว่าสปอนเซอร์ที่มาลงโฆษณาต้องดีลอย่างไร ลูกค้าตอบรับมาแบบนี้เราต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร เรียนรู้เรื่องบัญชี เศรษฐศาสตร์ ทุกอย่างเลยฮะ

จากเว็บมาสเตอร์ ตอนนี้คุณแชมป์กลายเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนและนักวาดภาพมากกว่า จริงๆ แล้ว ความฝันของเราคืออะไร
ตั้งแต่เด็กๆ ผมเป็นคนชอบวาดรูป ชอบเขียนการ์ตูน ชอบสื่อสารด้วยการเขียน การทำเว็บบล็อกก็เหมือนเป็นการตอบความฝันของเราในทางหนึ่งครับ เริ่มมาจากการเขียนบล็อกตัวเอง ข้อดีของการทำ Exteen.com คือทำให้เรารู้จักบรรณาธิการเยอะ เพราะเขาชอบมาค้นหาต้นฉบับในเว็บไซต์ของเรา แล้วก็เข้ามาอ่านบล็อกของเราจนเห็นว่าพอเขียนได้ เขาเลยให้โอกาสหลายๆ อย่างในการเขียนงานชิ้นเล็กชิ้นน้อย เลยเป็นการแสดงออกอย่างสม่ำเสมอ พอเราทำอะไรอย่างสม่ำเสมอก็ทำให้เราเก่งขึ้น เช่น การเขียนและเรียบเรียงประเด็นหรือเรียบเรียงประโยคได้กระชับขึ้น สนุกมากขึ้น จากนั้นเราก็ไปถาม aday ว่าอยากมีคอลัมน์อินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสังคมไหม เขาก็ต้องการ นิตยสาร GM ก็เหมือนกัน เร็วๆ นี้ผมจะเริ่มเขียนที่เนชั่น สุดสัปดาห์ เป็นเรื่องจิกกัดสังคมเล็กๆ เพราะว่าเนื้อหาของเนชั่น สุดสัปดาห์ ส่วนใหญ่จะหนัก เครียด การเมือง ข่าว เราอยากไปเพิ่มสีสันใหม่ๆ เป็นงานเขียนที่มีอินโฟกราฟิกประกอบ

             

คุณยังเป็นเบื้องหลังเพจจิกกัดสังคมอย่าง “รอบหน้าจริงกว่านี้อีก” และ “พูดอะไรไม่ได้ให้หมีเขี่ย” ต้องการสะท้อนอะไรต่อสังคมคะ
เฟซบุ๊คทำให้คนธรรมดาคนหนึ่ง ถ้าเขามีสิ่งที่จะพูด แล้วสิ่งที่พูดโดนใจคนหมู่มาก ก็จะมีคนพร้อมรับฟังเขาตลอดเวลา ซึ่งเพจที่ทำทั้งสองเพจไม่ได้คิดว่าจะมีคนชอบมากมาย ผมทำเพราะรู้สึกว่าถ้าผมบ่นเป็นตัวหนังสือมันมีโอกาสที่ฟังแล้วน่าเบื่อ แล้วสักพักก็จะหายไป คนก็แค่รู้สึกว่าคนนี้ขี้บ่นจัง แต่ถ้าทำเป็นการ์ตูนเหมือนเอาน้ำตาลมาเคลือบสิ่งที่เราบ่น “พูดอะไรไม่ได้ให้หมีเขี่ย” เป็นหมีสองตัวที่คุยกันเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมืองต่างๆ และเป็นการคุยกันในเชิงเสียดสี จิกกัด การเอาคาแร็คเตอร์มาพูดแทนทำให้คนอ่านไม่ยึดติดกับคนทำแต่สนใจสารที่หมีคุยกันมากกว่า สมมติถ้าผมพูดเขาก็จะมีอคติหรือมีความคิดบางอย่างเกี่ยวกับผมเป็นพื้นฐาน อีกอย่างหมีมันก็น่ารักดีด้วย อีกเพจหนึ่ง “รอบหน้าจริงกว่าอีก” เราเอารูปแบบอินโฟกราฟิกมาสื่อสารความคิดเห็นต่อเรื่องราวในสังคม ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

คิดว่าพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์สมัยนี้เป็นอย่างไร
พูดไปผมดูแก่มากเลย ตอนที่ผมใช้อินเทอร์เน็ตนั้นโมเด็มยังเป็นเสียงหมุนโทรศัพท์อยู่เลยครับ เมื่อก่อนจะเขียนอะไรออนไลน์ต้องมีความรู้ด้านโค้ดและโปรแกรม ต่อมาก็เริ่มมีบล็อกที่ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นเหมือนเขียนในไมโครซอฟท์ เวิร์ด ตอนนี้ง่ายกว่านั้นคือมีโซเชียลเน็ตเวิร์ก การให้ทุกคนมาแสดงออกก็ดี แต่เรารู้สึกว่ายิ่งอุปสรรคในการแสดงออกน้อยลงเท่าไหร่ สารที่สื่อออกมาก็ถูกกลั่นกรองน้อยลงเท่านั้น ทำให้บางครั้งคนมีหัวสมองเชื่อมกับนิ้ว ไม่ผ่านการกลั่นกรอง อาจเกิดความขัดแย้ง เนื่องจากว่าเรามีหน้าจอเป็นเกราะกั้น ถ้าพูดต่อหน้าเราไม่พูดแบบนี้ แต่ถ้าพิมพ์ผ่านจอเราเห็นเขาเป็นตัวหนังสือ เป็นวัตถุมากขึ้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่อันตราย

 

อิทธิพลของโซเชียลมีเดียทำให้ Exteen.com ต้องปรับตัวด้วยหรือเปล่า

ถามว่าคนเขียนบล็อกน้อยลงไหม น้อยลงแน่นอน ก็เหมือนกับการขับถ่าย จริงๆ ตัวอย่างไม่ค่อยดีนะ สมมติว่าเราเข้าห้องน้ำบ่อยๆ การถ่ายออกมาเป็นก้อนความคิดใหญ่ๆ มันก็หายไป แต่ถามว่าบล็อกมีจุดยืนอยู่ไหมก็ยังมีนะครับ ในต่างประเทศที่ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คเข้ามาก่อนประเทศไทย บล็อกก็ยังไม่ตายแต่จะเป็นการสื่อสารที่ตกผลึกมากขึ้น ในขณะที่โซเชียลมีเดียเป็นการสื่อสารแบบ instant คิดอะไรก็พิมพ์ออกมา แต่บนบล็อกมีความตั้งใจมากกว่า คิดทบทวนมากกว่า จุดยืนของเราคือ mass น้อยลงแต่มีคุณภาพของงานเขียนมากขึ้น

มีความสนใจข่าวสารในประเด็นใด
ความที่เป็นคนชอบคอมพิวเตอร์ ชอบการ์ตูน ก็จะสนใจอยู่สองเรื่องนี่แหละฮะ เมื่อก่อนเทคโนโลยีเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยมาก แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเข้าไปซึมแทรกทุกอณูของชีวิต ทำให้ความสนใจเราแผ่ขยายไปในทางเดียวกับเทคโนโลยีกับสังคม เช่น คนสื่อสารทางสังคมผ่านเทคโนโลยีอย่างไร ยกตัวอย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราจะเห็นประเด็นทางเทคโนโลยีเต็มไปหมด เฟซบุ๊คเพจ การปั่นกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำไมเทคโนโลยีจึงมีผลต่อการตัดสินใจของคนขนาดนี้ ผมสนุกมากกับประเด็นพวกนี้

คุณแชมป์เคยให้สัมภาษณ์ถึงการเริ่มสนใจเรื่องธรรมะด้วย
เมื่อก่อนผมเป็นคนที่ร้อนมากเลยครับ และมองโลกในแง่ลบไปเสียทุกอย่าง แม้แต่ในทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ค เพื่อนที่ตอนนี้สนิทกันแล้ว เขาบอกว่าตอนนั้นเขาตามผมแล้วก็กด unfollow ผม แล้วก็ตามผม แล้วก็กด unfollow อีกเพราะทนผมไม่ไหว ในขณะที่ช่วงนี้เย็นขึ้นแล้ว ก็คงเป็นเพราะว่าผมอ่านหนังสือธรรมะมาก แต่ก็ไม่ได้ธรรมะมากขนาดนั้นเพราะธรรมชาติก็ไม่ใช่แบบนั้นอยู่แล้ว แต่ว่าการได้พบกับคนที่เย็นกว่าเรา เวลาที่เรารายล้อมไปด้วยคนที่เย็นและมีสติ เราก็จะมีสติในการคิดการพูดมากขึ้น เริ่มรู้ว่าอะไรที่ไม่ต้องเอาจิตไปผูกมากก็ได้ อย่างเช่นคำวิจารณ์ที่มุ่งจะทำร้ายกัน เริ่มเลือกที่จะมองสิ่งดีๆ มากขึ้น ผมว่าธรรมะก็คือการหาความสุขแบบหนึ่ง

มีแหล่งข้อมูลที่ชอบเติมความรู้เป็นพิเศษไหม
ตอนนี้ผมอ่านแมกกาซีนผ่านแท็บเล็ตเยอะมาก ผมสมัครสมาชิกประมาณ 15 เล่มโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี เช่น WIRED FAST COMPANY Newsweek BusinessWeek เหลือก็จะเป็นเว็บไซต์ เพราะผมเขียนคอลัมน์ให้ GM กับ aday ทุกเดือนเป็นความทุกข์ประมาณหนึ่งที่จะต้องอ่านบทความประมาณ 400 บทความเพื่อเขียนเป็นหนึ่งเรื่อง จริงๆ เป็นเรื่องสนุกที่เราก็ทำอยู่แล้วล่ะ แต่พอต้องเขียนคอลัมน์ เราต้องอ่านและคิดตรึกตรองด้วย บางทีอ่านหนังสือทั้งเล่มเพื่อจะเอาประโยคๆ เดียว

ทั้งที่เราก็เป็นคนเขียนหนังสือแต่ก็ชอบอ่าน “อีแมกกาซีน” ด้วย คิดว่าตอบโจทย์เราแค่ไหน
คำถามที่เกิดขึ้นคือหนังสือเล่มจะตายแล้วเหรอ จริงๆ เป็นคำถามที่ไม่สำคัญเท่ากับคนอ่านอ่านอะไร ผมเป็นคนไม่ค่อยอ่านอีบุ๊คนะครับ แต่ที่อ่านอีแมกกาซีนบนแท็บเล็ตเพราะมันถูกมากเล่มละ 1.99 เหรียญหรือ 30-60 บาท เทียบกับแมกกาซีนนำเข้าในร้านหนังสือเล่มละ 400 บาท ต่างกัน 10 เท่า อีกเหตุผลหนึ่งก็คือมันรกบ้าน แมกกาซีนถ้ามีไว้ก็สวยดี เราก็ชอบที่เปิดมาแล้วหอมมากเลย กลิ่นหมึก พิมพ์สีสวยมาก แต่พอมีเยอะๆ ก็กลายเป็นอาหารให้ปลวก

อย่างนี้หนังสือประเภทไหนที่เราจะยอมซื้อมารกบ้าน
ผมเป็นคนที่มีความสุขกับการซื้อหนังสือมากเลยครับ ชอบเทคนิคการพิมพ์ เป็นเนิร์ดด้านนี้ เวลาเห็นปั๊มนูน ยูวีสปอตต่างๆ ผมจะชอบสัมผัสมาก รู้สึกว่าหนังสือดีกว่าอีบุ๊คตรงที่เราได้สัมผัสน้ำหนักของมัน ก็เป็นมิติหนึ่งเหมือนกันนะ อีกอย่างหนึ่งคือหนังสือเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สวยสำหรับบ้าน เวลาเรามองผ่านชั้นหนังสือก็รู้ว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง ในขณะที่อีบุ๊คบางทีเราก็ลืมไป ชั้นหนังสือที่บ้านผมเต็มไปด้วยเรื่องเทคโนโลยีกับสังคม อีกส่วนที่มีเยอะคือ comic essay

             

บางมุมคุณแชมป์ก็ดูเป็นผู้ชายกุ๊กกิ๊กมากเมื่อดูจากผลงาน
มีคนบอกว่าผมดูเป็นคนซีเรียสมาก แต่จู่ๆ ก็เล่นมุกบ้าบอคอแตก ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นแบบไหนเหมือนกัน แต่ก็ชอบที่เป็นแบบนี้นะ อย่างงานวาดภาพประกอบเกี่ยวกับฟิสิกส์ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักและยาก แต่เราก็ต้องมาตีความเป็นภาพให้ง่ายขึ้น เราชอบทำอะไรที่เข้าใจยากให้คนเข้าใจ ซึ่งจะเห็นวิธีคิดแบบนี้ในเพจของเรา ส่วนหนังสือ “100 ขั้นตอนสู่ความล้มเหลว” กับ “100 ขั้นตอนสู่การเลิกรา” เป็นหนังสือแนวจิกกัดสังคมทั้งคู่ เพราะผมเบื่อ how to ประสบความสำเร็จ มีเงินล้าน ลดความอ้วน อ่านแล้วไม่เห็นทำได้แต่ขายดีจังเลย ผมว่าคนเรามีวิธีเตือนหลายแบบ สมมติว่าผมอ้วน แล้วมีคนบอกให้กินผักสิจ๊ะ วิ่งสิจ๊ะ ผมคงไม่ทำ แต่ถ้ามีคนมาด่าว่าไอ้อ้วน ผมอาจจะเชื่อ หนังสือก็จะทำวิธีแบบนั้น ภาพประกอบของแต่ละขั้นตอนจะเป็นตัวคนกับห้องหมดเลย มีนัยยะต่างๆ เช่น คนไม่กล้าเสี่ยงก็จะขังตัวเองเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คนขี้อิจฉาก็เป็นคนที่เอาแต่มองออกไปข้างนอก ผมจะชอบงานที่มีคอนเซ็ปต์จำกัดนะ เพราะเราเชื่อว่ายิ่งมีข้อจำกัด เราจะได้เห็นวิถีทางใหม่ๆ มากขึ้น

สำหรับ “ยูนิเวอร์เศร้า” ที่เพิ่งออกสดๆ ร้อนๆ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร
เป็นผลงานลำดับที่ 5 ที่ผ่านมาเราเขียนแบบ non fiction คือเป็นเรื่องที่ไม่แต่ง แต่ยูนิเวอร์เศร้าเป็นกราฟิก ฟิกชั่น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กชายคนหนึ่งทีไม่มีความทุกข์แล้วก็ไม่มีความสุข เขาไม่เคยรู้สึกกับอะไรเลย จนต้องเดินทางตามหาความเศร้าของตัวเองในจักรวาล เพื่อที่จะเรียนรู้ว่าความสุขคืออะไร ดาวแต่ละดวงจะมีความเศร้าของตัวเอง และการที่เรารู้จักลบก็จะทำให้เรารู้จักบวก ที่ผมเล่าเรื่องนี้เพราะมีช่วงหนึ่งที่ผมเศร้ามาก ไม่สามารถทำอะไรได้เลยเป็นเดือนๆ ผมบอกเล่าความเศร้าของตัวเองผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ปรากฏว่าเรื่องความเศร้าของผมกลับมีคนที่รู้สึกแบบเดียวกันเยอะ คนเศร้าบนโลกนี้มีเยอะมากเลยนะครับ ผมสงสัยว่าทำไมตอนที่เราพูดถึงความสุข ก็มีคนร่วมสุขกับเราแต่ไม่มาก แต่ถ้าเราพูดถึงความเศร้าจะมีคนร่วมเศร้ากับเราเยอะจัง เลยคุยกับ บก.ว่าหรือมันจะเป็นความเศร้าแบบ universal ก็เลยกลายเป็นชื่อยูนิเวอร์เศร้าขึ้นมา ถ้าไม่เศร้าไม่คิดอะไรก็อ่านสนุกๆ เหมือนนิทานเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเศร้าอยู่ก็เชื่อว่าจะทำให้ดีขึ้น

โปรเจ็คต์ที่วางแผนไว้ในระยะสั้นมีอะไรบ้าง
ผมคงยังสื่อสารในแนวทางนี้ต่อไป คนครึ่งหนึ่งจะรู้จักผมในฐานะคนทำหนังสือ อีกครึ่งหนึ่งก็จะรู้จักว่าผมเป็นเว็บมาสเตอร์ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องดีเพราะคนจะรู้จักเราในหลายบทบาท เวลาคุยเราก็คุยกันหลายๆ เรื่อง ผมเป็นคนชอบเขียนชอบวาด เมื่อมีโอกาสก็อยากจะทำให้ดีที่สุด น้ำหนักคงจะไหลมาทางนี้มากขึ้น เรื่องออนไลน์ก็จะยังคงทำธุรกิจต่อไปเรื่อยๆ ตอนนี้ผมสนใจเรื่องอีบุ๊คและอีแมกกาซีน ว่าทำอย่างไรให้เป็นสื่อที่เชื่อมโยงกับหนังสือแบบเก่าได้มากขึ้น ก็พยายามหาคำตอบกันอยู่ นอกจากนี้ก็มีการคิดในเรื่องการเอาตัวการ์ตูนมาเป็นโปรดักส์ เพราะผมเป็นคนที่ชอบอะไรน่ารัก มันคือความอยากเห็นและอยากใช้ตัวการ์ตูนของเราเองนี่แหละ ดินสอ สมุด ก็มีการคุยกับเพื่อนไว้เหมือนกันว่าเราจะตั้งร้านหรือสตูดิโอที่ทำเรื่องพวกนี้ภายในปีนี้ครับ