นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ : The New Currents
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-01-08 18:00:03
เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: ทีปกร กาหลง
“ผมมองว่าภาพยนตร์ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่อง แต่เป็นภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบไหนก็ได้
คุณต้องรู้ว่าจุดแข็งของคุณคืออะไร”
แม้จะว่ายอยู่ในกระแสของคนทำหนังมาตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กลับเป็นที่รู้จักจากผลงานการเขียนบทภาพยนตร์ รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ตามด้วยหนังทำเงินอย่าง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน และรัก 7 ปี ดี 7 หน เขายังฝึกกระบวนท่าจากงานเขียนหนังสือและนิตยสารจนเชี่ยวชาญ เมื่อว่ายน้ำแข็งมากขึ้น นวพลลงมือเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ฟอร์มเล็กเรื่องแรก “36” ที่สร้างชื่อเสียงอย่างข้ามคืน กับรางวัลผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ยอดเยี่ยม (New Currents) ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน และ New Talent รางวัลประเภทเดียวกันจากเวทีเทศกาลภาพยนตร์เอเชีย ที่ฮ่องกง
ในวันนี้ เต๋อ นวพล ผู้ที่ชอบยิงมุกกับคนอื่นว่า “ผมไม่ใช่เต๋อ ฉันทวิทย์นะครับ” กลายเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่แห่งปีที่วงการภาพยนตร์ในเอเชียต้องจับตามอง มุกถ่อมตัวแบบเดิมของเขาคงใช้ไม่ได้เสียแล้วล่ะ
พื้นฐานการเรียนด้านอักษรศาสตร์ที่แตกต่างจากนักเขียนบทคนอื่นๆ ที่จบด้านภาพยนตร์ ได้สร้างต้นทุนอะไรให้คุณเต๋อบ้าง
ผมได้ประโยชน์มากจากการเรียนอักษรศาสตร์ ผมเรียนเอกภาษาจีน แต่สุดท้ายอาจไม่ได้ใช้เท่าไหร่ แต่การเรียนประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ปรัชญา ให้วิธีคิดที่นำมาใช้ในการเขียนบทภาพยนตร์หรือการทำหนังทั้งหมด การเขียนบทก็คือการเขียนเรื่องของมนุษย์ ความเป็นมนุษย์มีความน่าสนใจเพราะมันซับซ้อนมาก คนที่ดีอาจไม่ดีมาก คนที่เลวอาจจะไม่เลวสุด เลวอาจจะมีเหตุผล ดีอาจจะไม่มีเหตุผล การทำให้ตัวละครมีความซับซ้อน เราก็ต้องเข้าใจตัวละครนั้นๆ ที่บางทีก็ไม่ได้เหมือนกับเรา สิ่งเหล่านี้ที่เราเคยเรียนผ่านวิชาต่างๆ สามารถนำมาใช้ในการทำหนัง เขียนบทภาพยนตร์ได้ทั้งหมดเลย
มีความสนใจเรื่องของมนุษย์ทางด้านไหนมากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้นหรือหนังประเภทอื่นๆ ที่เคยทำ มีอยู่เพียงสองสามเรื่องคือมนุษย์กับสังคม มนุษย์ผู้อ่อนแอคนหนึ่งอาศัยอยู่ในสังคมและสังคมนั้นมีอิทธิพลกับเขาอย่างไร หรือบางครั้งในสถานการณ์ด้านศีลธรรม สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เจอแบบนี้ฉันจะทำอย่างไร ฉันต้องทำไม่ดีฉันถึงจะรอดใช่ไหม และเรื่องมนุษย์กับมนุษย์หรือความสัมพันธ์ของคน ถ้าเป็นหนังรัก เราจะชอบลงรายละเอียดที่อาจดูเบาบางแต่ก็สำคัญต่อความสัมพันธ์หนึ่ง
สำหรับนักเรียนภาษา เราถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า “Content is King” ในฐานะที่เป็นทั้งนักเขียนบทและคนที่ใช้ภาพเล่าเรื่อง คิดอย่างไร
สำหรับผม content ก็คือ king จริงๆ ในแง่คนเขียนบทเราจะรู้สึกว่าถ้าคอนเทนต์โอเค เนื้อเรื่องดี มันจะรอดไปแล้วครึ่งทาง ในการออกไปถ่ายหนัง เราจะโดนสกัดดาวรุ่งอยู่ตลอดเวลา สมมติเราคิดไปร้อย มันจะไม่เป็นไปตามที่คิดร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เช่น พอถ่ายจริงแสงไม่สวย วันนี้ฝนตก วันนี้นักแสดงเล่นไม่ได้ แต่ถ้าเราถ่ายวันนั้นไม่ค่อยสวยมาก แต่คอนเทนต์ที่จะพูดถึงมันแรง มันดีจริง ผมก็คิดว่าอย่างไรก็รอด สุดท้ายแล้วต่อให้หนังภาพสวยมาก ผ่านไปสัก 10-15 นาที คนดูจะเริ่มถามแล้วว่าหนังเกี่ยวกับอะไรวะ ไม่ว่าหนังจะมีสไตล์ที่หวือหวา สไตล์จะอยู่ได้ 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมงเท่านั้น เพราะคนจะกลับมาหาคอนเทนต์เองว่าฉันนั่งดูอะไรอยู่ อย่าง Transformers หุ่นยนต์ยิงกันกระหน่ำ สุดท้ายคนดูก็ถามตัวเองว่าเราดูหุ่นยนต์สู้กันไปทำไม
แต่ถ้าพูดกันในเชิงภาพยนตร์ บางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องเป็น content narrative (ใช้เนื้อหาเป็นตัวเล่าเรื่อง) อย่างเดียว อาจเป็นเรื่องความงาม เพียงแต่คุณต้องทำสิ่งนั้นออกมาให้งามจริงๆ ตรึงคนดูให้อยู่กับหนังชั่วโมงครึ่งได้จริงๆ แบบนั้นมันก็รอด ผมมองว่าภาพยนตร์ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่อง แต่เป็นภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบไหนก็ได้ คุณต้องรู้ว่าจุดแข็งของคุณคืออะไร
ย้อนไปเมื่อตอนเริ่มทำหนังสั้นเรื่องแรกมีความท้าทายอะไรบ้าง
ตอนนั้นเรียนอยู่ปีสอง ถือเป็นหนังสั้นหัดทำเสียมากกว่า ชื่อเรื่องว่า “บ้านหด” มีที่มาจากนิทานเซน แล้วเราก็นำมาดัดแปลงให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เป็นหนังที่ถ่ายวันเดียวเสร็จ กองถ่ายมีสามคน น้องมาช่วยทำคนหนึ่ง นักแสดงคนหนึ่ง ได้ทดลองว่าการเล่าเป็นภาพเป็นแบบไหน อยากได้มุมไหนก็ไปถ่ายมุมนั้น ไม่คิดถึงว่าตรงนี้แสงน้อยหรือไม่สวย เพราะมีความเชื่อว่าถ้าบทรอดอะไรก็รอด โปรดักชั่นไม่ดีก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยต้องเล่าเรื่องในสิ่งที่เราต้องการได้ครบถ้วน ต้องยอมรับว่ายังไม่รู้จักการทำหนังมากนัก แต่ก็ลองส่งไปประกวดของคณะนิเทศศาสตร์แล้วได้รางวัลชมเชยมา หลังจากนั้นก็ลองผิดลองถูก ทำให้เราอยากทำตรงนี้ต่อ
เลยเลือกทำงานที่ GTH?
ผมเข้าไปฝึกงานเรื่องตัดต่อครับ ถือเป็นความโชคดีเพราะวันที่ถือพอร์ตเข้าไปสมัครกับพี่เดียว (วิชชพัชร์ โกจิ๋ว) พี่วันฤดี ผู้ช่วยพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) มานั่งดูพอดี เขาจำงานผมได้ว่าเคยประกวดโครงการ Fat Film พี่เก้งก็จำได้ฮะ เขาเลยชวนมาเขียนบท ซึ่งผมชอบงานเขียนบทมากกว่าตัดต่อนิดหนึ่ง ผมก็เลยฝึกตัดต่ออยู่ 2-3 เดือนแล้วย้ายไปเขียนบทครับ ช่วงแรกๆ เขาจะให้ลองแก้ทรีตเมนต์ของพี่เก้งเรื่องอื่นดูก่อน แล้วพี่ๆ จะตรวจงานเราเหมือนเรียนปริญญาโทด้านการเขียนบทเลยครับ (หัวเราะ)
คุณเต๋อเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะมือเขียนบทเรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ ซึ่งประสบความสำเร็จมาก
ผมไม่ค่อยกล้ารับเครดิตอะไรมากนะ เพราะถือเป็นช่วงเริ่มต้นของเรา ความสำเร็จมีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น พี่ปิ๊ง (อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม) กำกับดี พี่อมราพร (อมราพร แผ่นดินทอง) ที่เขียนบทอีกคนหนึ่งก็เต็มที่ เราก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ประสบความสำเร็จ เพราะใช้เวลาสองปีกว่าจะเสร็จ ทาง GTH เขาใจดีนะครับ เขาช่วยสร้างคนขึ้นมา
มาถึงภาพยนตร์เรื่อง 36 มีดีอย่างไรจึงตัดสินใจส่งไปประกวดที่ปูซาน
มันไม่ได้ถึงขั้นว่าหนังเราประสบความสำเร็จแล้วส่งไปเลยดีกว่า เพราะเรามีความรู้สึกว่าภารกิจของหนังเสร็จสิ้นตั้งแต่ในเมืองไทยแล้ว คือฉายหนังแล้วมีคนมาดู หลังจากนี้คือโบนัส เป็นการลองส่งดูมากกว่า สามร้อยบาทเอง มันไม่ถึงขั้นมั่นใจแล้วส่งไปเลยดีกว่า หนังเราเล็กมาก เวลาพูดถึงปูซาน เราจะรู้สึกว่ามันเป็นหนังใหญ่อลังการหกล้านอะไรแบบนี้ เราไม่เคยคิดคาดหวังอยู่แล้วครับ
ฟังดูแทบนึกไม่ออกว่าคุณเต๋อคือนักเขียนบทหนังกระแสหลัก เราแบ่งภาคหรือแบ่งสมองได้อย่างไรกรรมการที่ปูซานให้ความเห็นว่าเรื่อง 36 “สามารถสร้างสรรค์ภาษาทางภาพยนตร์เป็นของตนเอง โดยเฉพาะบทซึ่งมีความน่าตื่นตะลึงและมีศิลปะ ไม่ฟุ่มเฟือย และไม่จำเป็นต้องมีการบอกเล่าที่เกินความจำเป็น” แล้วคนที่ดูหนังของคุณเต๋อไม่รู้เรื่อง เราให้เหตุผลว่าอะไร
เราก็โอเคตามนั้นครับ (หัวเราะ) เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าหนังทุกเรื่องย่อมมีคนชอบไม่ชอบปะปนกันไป ต่อให้เป็นหนังระดับออสการ์ก็ต้องมีคนที่ไม่ชอบเช่นกัน หนังที่ดูไม่รู้เรื่องในวันนี้ แต่อีกสองปีข้างหน้ากลับมาดูใหม่อาจจะรู้เรื่องก็ได้ หรือเขาไม่รู้เรื่องเพราะอาจไม่ใช่แนวทางของเขา เขาอาจเหมาะกับหนังเรื่องอื่นมากกว่า ซึ่งเราจะไปดูถูกเขาไม่ได้ ถ้าเขาเดินมาบอกว่าดูไม่รู้เรื่องก็ขอโทษเขาไปเถอะ เพราะอุตส่าห์เสียเงินมาดูแล้ว การฟังคำวิจารณ์เป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนทำหนังและต้องรับฟังคนดูทุกประเภท บางอย่างอาจเป็นสิ่งที่เราเลือก แต่บางอย่างอาจไม่ดีจริงๆ ก็ได้ ต้องรู้จักเลือกว่าอันไหนคือแนวทางของเรา พิจารณาว่าจะเอาคำวิจารณ์ไหนไปแก้ไขปรับปรุงต่อ
เหมือนเราเตะกันคนละสนาม เรารู้ว่าสนามนี้อย่าเตะแบบนี้เลย ถ้าลงสนาม ก. เราก็ควรเล่นเกมในแบบ ก. ผมว่าการทำหนังกระแสหลักให้ดีมันก็ยาก ผมไม่ได้แยกว่าฉันอินดี้ ฉันไม่ทำเมนสตรีม ฉันต้องเกลียดเมนสตรีมอะไรแบบนี้ มันเป็นแค่โหมดว่าวันนี้เราจะเล่นเกมไหน (ไม่ไหลมารวมกัน?) มันไหลมารวมกันด้วยครับ นั่นคือสิ่งที่ผมชอบว่าไอเดียถ่ายเทกันได้ด้วย ในการทำ 36 หลายๆ อย่างผมก็ได้มาจากหนังกระแสหลัก คือฉากนี้จะต้องเล่าให้ชัด ถ้าบางไปคนดูจะจับอะไรไม่ได้ การทำ 36 จึงเป็นการผสมระหว่างสองข้าง เราไม่อยากทำแบบอาร์ตสุดขีดหรือเมนสตรีมสุดขีด หนังที่ผมชอบดูก็เป็นแบบนี้ ยังเล่าเรื่องอยู่ มีประเด็นอยู่ แต่วิธีการเล่าอาจไม่ปกติมาก จะท้าทายเรา
วงการหนังบ้านเราให้โอกาสคนรุ่นใหม่มากน้อยแค่ไหน
ดีขึ้นเรื่อยๆ นะครับ ตั้งแต่เริ่มมีพี่ๆ แฟนฉันก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี สมัยก่อนผมคิดว่าการเป็นผู้กำกับได้ ต้องเป็นผู้ช่วยผู้กำกับมาแล้วสิบปีหรือทำโฆษณามาแล้วสิบปี แต่ยุคพี่ๆ แฟนฉันก็ให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำได้เลย แต่ก็ต้องฝึกฝนแหละ ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดก่อนผมเอ็นทรานซ์ ผมอาจเข้าคณะนิเทศศาสตร์ไปแล้วก็ได้
คำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่อยากเป็นนักเขียนบท
ผมคิดว่าถ้าเรามีความเข้าใจในด้านภาพยนตร์ แม้จะไม่ได้เรียนฟิล์มมา เราก็ยังมีโอกาสนะ เพราะว่าคนเขียนบทในประเทศนี้น้อยนะครับ ไม่เกิน 20 คน สามารถชี้ตัวได้เลย มีพี่เอ๋-โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล พี่มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล พี่เอกสิทธิ์ ไทยรัฐ พี่พิง ลำพระเพลิง ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนหนังในแต่ละปี แต่ผู้กำกับเรามีเยอะ ช่างภาพมีเพียบ
นักเขียนบทต้องใช้เวลาอย่างหนักในการเข้าใจหนัง เพราะว่าทุกครั้งที่เริ่มโปรเจ็คต์เรื่องใหม่ เราต้องเริ่มทำความเข้าใจใหม่ทุกครั้ง เพราะพล็อตเรื่องใหม่ ตัวละครใหม่ วิธีเล่าเรื่องใหม่ เราต้องเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด และรู้จักสนใจสังเกตคนเยอะๆ ผมว่าฉากที่ดีจากในหนังส่วนใหญ่ก็มาจากชีวิตคนจริงๆ ทั้งนั้น แล้วอะไรที่มาจากเรื่องจริงก็จะโดนเสมอ และต้องทำความเข้าใจคนที่แตกต่างจากเรา ไม่ใช่ว่าแกคิดไม่เหมือนฉันแกผิด ซึ่งผมคิดว่ามนุษย์อยู่ได้ด้วยความเชื่อ ไม่มีสิ่งไหนบอกได้ว่าเราเชื่อถูกหรือว่าผิด เพียงแค่ว่าความเชื่อของเขาไปทำลายคนอื่นหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ทำลายเขาก็มีสิทธิ์ที่จะเชื่อแบบนั้น มีสิทธิ์ที่จะคิดไม่เหมือนเรา
เราจะหาไอเดียใหม่ๆ ให้เรื่องของเรามีความแตกต่างน่าสนใจได้อย่างไร
มันคือการหาไอเดียจากแหล่งของเรา ผมไม่ค่อยซีเรียสเรื่องสไตล์นะครับ สไตล์หรือวิธีการเล่าหยิบยืมกันได้ ถ้าไม่ใช่ก็อปปี้นะฮะ แต่คอนเทนต์ที่ไทยมากจะไม่มีวันเหมือนที่อื่นอยู่แล้ว ปัญหาของไทยก็ไม่เหมือนสหรัฐฯ หรือตัวอย่างเช่น เราไม่เชื่อว่าเมืองไทยมีฆาตกรต่อเนื่อง จะฆ่าคนก็ต้องดีไซน์ก่อน โอเคเรื่องราวมันเกี่ยวกับมนุษย์อยู่แล้ว ซึ่งอาจซ้ำไปซ้ำมา เพียงแต่ว่าในรายละเอียดไม่เหมือนกันหรอก มนุษย์มีความซับซ้อน โลกเปลี่ยนทุกวัน เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกก็เปลี่ยน วันหนึ่งมีเฟซบุ๊ค ความสัมพันธ์คนก็เปลี่ยนหมดเลย
นักเขียน คนเขียนบท หรือผู้กำกับที่คุณเต๋อชอบเป็นใคร
คนที่มีอิทธิพลต่อตัวเราเยอะ ผมจะนึกถึงพี่คุ่น-ปราบดา หยุ่น เพราะเราโตมาในยุคนั้น เขาทำให้เราเริ่มมองทุกอย่างในอีกมุมหนึ่ง หรือทินกร หุตางกูร “โลกของจอม” เคยคิดว่าอยากทำหนังจากหนังสือของพี่ทินกรคงจะดี ส่วนคนเขียนบทผมชอบชาลี คอฟแมน เรื่อง Being John Malkovich, Adaptation, Eternal Sunshine of the Spotless Mind หรือคนไทยผมชอบพี่ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค เขาเขียนบทเองแทบทุกเรื่องเลยครับ แต่ผมชอบงานของเขาในยุคแรกๆ มากกว่า พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ก็มีอิทธิพลในยุคของเรา ผมมองว่าทางบทเขาไม่ได้เข้มมาก แต่ทำให้เราเห็นว่าหนังเป็นโครงสร้างที่สามารถนำไปเล่นอย่างอื่นได้ เล่นภาพกับเสียงไม่ให้สัมพันธ์กัน เวลาทำหนังเราจะไม่คิดแค่เรื่องอย่างเดียวแล้ว อย่าง 36 ผมลองใช้วิธีเล่าเป็นฉากแล้วหยุด ก็ได้มาจากเขาทั้งนั้นเลยครับ
นอกจากงานทั้งหมดที่ทำมา ยังมีความฝันว่าอยากจะทำอะไรอีกไหม
เราชอบเล่าเรื่อง เราก็มีเรื่องที่อยากจะเล่า แต่ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องผ่านหนังหรือหนังสือ ตอนนี้ผมก็เริ่มขยับไปทางรูป ถ้าเข้าไปดูในเฟซบุ๊คผม (www.facebook.com/ternawapol) จะมีอัลบั้มรูปที่เราถ่ายตอนไปต่างประเทศ เป็นรูปทั่วๆ ไป แต่จะมีโปรแกรมความคิดว่าเราจะถ่ายสไตล์นี้ แล้วนำรูปนั้นมาเขียนเป็นบทอีกที แล้วแต่งเรื่องใหม่ เป็นวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ผ่านภาพนิ่ง อาจจะเป็นงานอาร์ตก็ได้หรือไม่อาร์ตก็ได้ อยู่ดีๆ ผมอาจจะทำหนังสือทำมือหรือโฟโต้บุ๊กขึ้นมาก็ได้ ผมรู้สึกว่าเราอยู่ในยุคที่เราสามารถทำเกือบทุกอย่างได้เองที่บ้าน อยากทำก็ทำออกมาเลย ถือเป็นการลองอะไรใหม่ๆ ผมค่อนข้างจะตื่นเต้นกับคนทำงานที่ค่อยๆ เปลี่ยน ไม่ได้ย่ำกับที่ ลองดูสิ เละเทะไม่เป็นไร สนุกดี