www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

ในความร่วมสมัย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-10-25 16:56:24

ในความร่วมสมัย
วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง

มันไม่จำเป็นหรอกว่าศิลปะที่อยู่ในเมืองทำให้คนกลายเป็นศิลปินทุกคน ศิลปะสร้างนักฟิสิกส์อย่าง “ไอน์สไตน์” เขามีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์

พี่ติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553 ในฐานะทายาท “เถ้าฮงไถ่” โรงงานโอ่งมังกรแห่งแรกของจังหวัดราชบุรี เขาสืบทอดกิจการโดยยึดถือต้นทุนทางความคิดของบรรพบุรุษ ผนวกกระบวนการศิลปะแบบร่วมสมัย สร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาในรูปแบบและสีสันสะดุดตา จากภาชนะเครื่องใช้ในบ้านจึงกลายเป็นชิ้นงานศิลปะที่มีคุณค่าและมูลค่า

ในฐานะลูกหลานชาวราชบุรี พี่ติ้วก่อตั้ง “หอศิลป์ร่วมสมัย Tao Hong Tai d Kunst” ขึ้นกลางเมืองราชบุรี เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะทางศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ เขาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้ศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการดำเนินชีวิตของชาวราชบุรี โดยใช้กระบวนทัศน์เรื่องความร่วมสมัยเช่นเดียวกับธุรกิจของตน โดยหวังจะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่มีจุดขายเรื่องการท่องเที่ยว เห็นความสำคัญของการสร้างบรรยากาศทางศิลปะเพื่อพัฒนาคนและชุมชน

จุดเริ่มต้นของความชอบศิลปะเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่คะ
จริงๆ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะชอบศิลปะ ที่เคยเล่าให้ฟังอยู่เสมอๆ คือเป็นคนที่เกลียดศิลปะด้วยซ้ำไป จำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อตอน ป.5 ครูศิลปะให้โจทย์ว่าให้วาดอะไรก็ได้ การศึกษาไทยในสมัยก่อนมักจะจับเอาครูจากวิชาอื่นที่ว่างๆ มาสอนศิลปะ สำหรับเด็กที่ไม่เคยมีพื้นฐานทางด้านศิลปะเลย คำว่าอะไรก็ได้เป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ วันนั้นก็เลยวาดรูปพื้นฐานเลย คือรูปเรือใบ ดวงอาทิตย์ แล้วก็นกที่เป็นขีดๆ พื้นน้ำเรียบๆ แค่นั้นได้ศูนย์คะแนน เพื่อนทั้งห้องหัวเราะเยาะกันใหญ่ เลยกลายเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ คิดว่าศิลปะไม่เข้ากับตัวเอง แต่ว่าสิ่งที่เคยคิดมาตั้งแต่เด็กๆ คือแม่อยากให้เรียนต่อทางด้านหมอ วิศวะ เรามีความรู้สึกว่าเรียนอะไรก็ได้ ไม่เคยรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ชอบอะไร แต่เรารู้ว่าอยากจะทำสิ่งที่อากงกับคุณพ่อทำ มีความตั้งใจที่จะสานต่อกิจการของครอบครัว ถึงจะจบนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือบัญชี ก็ต้องกลับมาทำโรงงานแน่ๆ

สำหรับตัวผม ศิลปะเกิดจากความบังเอิญ เมื่อคุณพ่อถามผมว่าจะไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนีไหม ก็เลยบอกโอเค สำหรับเด็กตอนนั้นเป็นโอกาสที่ดี กะว่าไปถึงเยอรมนีเราอาจจะเจอตัวตนของเราก็ได้ ซึ่งเป็นจุดที่ล่อแหลมระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นความสนุกที่ได้เสี่ยง ถามว่าระแวงไหมกลัวไหมก็หวั่น แต่เราต้องพยายามหาตัวตน บางครั้งเราไปเร่งรีบว่าเราจะต้องเจอตัวตนตอนนี้เพื่อจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะโอกาสดี อย่าไปตามกระแส อย่าไปกังวลเมื่อสิ่งที่เราทำในปัจจุบันยังไม่เป็นตัวเรา หรือยังไม่ใช่สิ่งที่ชอบที่สุด ใช้เวลานิ่งๆ คิดกับตัวเองว่าชอบอะไร ต้องการอะไร

เหตุผลที่เลือกเรียนศิลปะที่เยอรมนีซึ่งไม่ใช่เมืองแห่งศิลปะ
เราอาจคุ้นเคยกับงานศิลปะจากอิตาลี แต่ศิลปินเยอรมันก็มีหลากหลาย “บีโธเฟน” นักเปียโนชาวเยอรมันก็เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะ นักคิดนักเขียนสมัยใหม่อย่าง “โจเซฟ บอยส์” ก็เป็นคนเยอรมัน ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และการวางรากฐานของศิลปะในยุโรปด้วยซ้ำไป แต่เรามักติดกับรูปแบบของศิลปะว่าศิลปะต้องเป็น “แวน โก๊ะ” “เบาเฮาส์ (Bauhous)” สถาปัตยกรรมที่นำความคิดมาสร้างเป็นผลงานที่มีฟังก์ชั่นก็มีต้นกำเนิดจากเยอรมนีทั้งนั้น แต่ส่วนตัวผม ทำไมต้องเยอรมนี เพราะพ่อส่งไปเยอรมนี และเยอรมนีเป็นส่วนที่คุ้มค่า ต่อให้ผมไม่ได้อะไรมาเลย สิ่งที่ได้แน่ๆ คือความรักในการทำเครื่องปั้นดินเผาและความรักในงานศิลปะ ซึ่งจุดนี้จีน เวียดนาม กรุงเทพฯ เชียงใหม่ จะเกิดขึ้นก็ได้ แต่เราต้องใช้เวลา สถานที่ โอกาสให้คุ้มค่าที่สุดเท่านั้นเอง

เมื่อตัดสินใจเรียนโดยไม่มีพื้นฐานทางศิลปะเลย มีความลำบากในการเรียนขนาดไหน
ช่วงแรกๆ ก็เรียนภาษาตามปกติ ตอนนั้นเรายังเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เพราะเยอรมนีไม่รับวุฒิการศึกษาของเรา การศึกษาของเยอรมนียังไม่แบ่งวุฒิเป็นปริญญาตรีหรือปริญญาโท เลยต้องไปสอบเข้าโรงเรียนเทคนิคเครื่องปั้นดินเผา เราอยู่ในโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผาแต่ไม่เคยปั้นดินมาก่อนเลย ก่อนจะไปสอบต้องทำ portfolio ก็ไปหัดปั้นกับพวกแม่บ้านแล้วรวบรวมผลงานไปสมัครสอบ โชคดีที่สอบเข้าได้ ช่วงแรกๆ ไม่ชอบเลยเพราะเราไม่มีพื้นฐาน แต่ว่ามันเริ่มได้อย่างไร นี่เป็นส่วนที่เราทำงานศิลปะเพื่อชุมชนด้วยเหมือนกัน เพราะสภาพแวดล้อมของเมืองต่างๆ เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ การสร้างสถาปัตยกรรมหรือการนำศิลปะมาเป็นส่วนร่วมของเมือง การเห็นความสำคัญของการมีศิลปะในชุมชน เป็นจุดที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่ชอบศิลปะ แต่มันไม่จำเป็นหรอกว่าศิลปะที่อยู่ในเมืองทำให้คนกลายเป็นศิลปินทุกคน ศิลปะทำให้คนเป็นนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงอย่าง “ไอน์สไตน์” ซึ่งเกิดที่เยอรมนี เขามีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ นำมาผลิตสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัดขึ้นมา

สิ่งแวดล้อมในโรงงานโอ่งมังกรมีส่วนหล่อหลอมความเป็นศิลปินด้วยไหม
ต้องบอกว่าไม่รู้ตัว แต่มาคิดย้อนดู ความรู้สึกผูกพัน บางอย่างที่ผ่านตาที่ไม่เคยคิดว่าสำคัญ แต่เราได้บันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้จนเอามาใช้สร้างงานบางอย่าง สร้างรูปแบบตัวตนในปัจจุบัน

จุดร่วมระหว่างงานในรูปแบบโมเดิร์นเซรามิคกับภูมิปัญญาดั้งเดิม
สมัยหนึ่งเราคิดว่าอากงทำมาเยอะ แต่พอได้ไปเห็นความหลากหลายมากขึ้น จึงรู้ว่านี่เป็นเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นของการทำงานเครื่องปั้นดินเผา เราก็เริ่มประยุกต์สิ่งที่เราได้ไปเรียนไปเห็นมา แต่สิ่งที่พ่อกับอากงทำก็ยังคงไว้ เราพยายามคงความเป็นหัตถกรรมให้ได้นานที่สุด เท่าที่จะมีแรงงานหรือช่างฝีมือที่สามารถสร้างผลงานในรูปแบบที่ต้องการได้ เทคนิคการเผา เทคนิคการปั้นยังเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือรูปแบบของงานที่มีความหลากหลายโดยนำดีไซน์และศิลปะเข้ามาใช้มากขึ้น

คำว่า “ศิลปะร่วมสมัย” ของเถ้าฮงไถ่เป็นอย่างไร
ศิลปะร่วมสมัยไม่จำเป็นต้องกำหนดรูปแบบและทิศทางหรือวิธีการที่ชัดเจน คำว่าร่วมสมัยหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงยุคสมัยเดียวกับเรา สามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ แต่การนำเอาของเก่ากับของใหม่มาประยุกต์หรือผสมผสานกันได้อย่างไร มันอาจจะตอบได้จากคำถามที่ผ่านมา คือเราถูกปลูกฝังโดยไม่รู้ตัว ของเก่าบางครั้งคนมองว่าเชย แต่การนำของที่เป็นต้นคิดมาใช้ออกแบบรูปแบบผลิตภัณฑ์ ดีไซน์ ลวดลาย เทคนิคที่แตกต่าง มันก็ดูร่วมสมัยกลับขึ้นมาได้ ของเก่าจึงไม่จำเป็นต้องล้าสมัย

มีแรงกดดันในประเด็นเรื่องการทำธุรกิจที่ต้องมีรายได้ไหมคะ
ผมไม่เคยรู้สึกกดดันอะไรเลย เพราะเราไม่เคยเปลี่ยนเถ้าฮงไถ่ แต่เราทำเพิ่มและเสริมขึ้นมา ช่วงเวลาที่ผมกลับมา การแข่งขันทางธุรกิจค่อนข้างสูงมาก และคำว่า know-how ไม่ใช่ข้อได้เปรียบอีกต่อไป ดังนั้นเราต้องทำสิ่งที่ตัวเองถนัดและสนุกมากที่สุด ตอนนั้นเราไปฟังบรรยายเรื่องเทรนด์มากมาย ซึ่งก็มีการพูดถึงสีเอิร์ธโทน แต่ส่วนตัวของเราเกิดความสงสัยว่าสมมติทุกคนทำงานสีธรรมชาติ ตุ่นๆ ถ้าเราทำสีสดๆ อย่างสีส้ม สีแดงแปร๋นๆ มันเป็นไปได้ไหม เป็นข้อดีเมื่อเราเรียนศิลปะมันเกิดความเชื่อหรือจินตนาการ ซึ่งจินตนาการคือเราต้องทำให้เป็นจริง เราไม่ได้คำนึงถึงผลด้านการตลาด แต่เราคำนึงถึงผลที่เราคิดฝันแล้วอยากให้สิ่งนั้นเป็นจริงมากกว่า การที่มีลูกค้ามาสนใจหรือมาซื้อผลงานของเราเป็นของแถม เป็นความภูมิใจ

แหล่งกำเนิดของศิลปะและความคิดสร้างสรรค์มาจากไหนบ้าง
เกิดจากทุกที่ ผมทำเซรามิคไม่ได้จำเป็นว่ามองเซรามิคแล้วเห็นเซรามิค แล้วต้องทำออกมาเป็นชิ้นงานเซรามิค แต่ว่าความคิดสร้างสรรค์เกิดจากรอบตัวเรา บางครั้งเราต้องมองดีเทลลงลึก ใช้ความไตร่ตรองแล้วดึงสิ่งที่เราเห็นมาเป็นงานของเรา อาจจะเป็นบรรยากาศ สภาพแวดล้อม หรือสิ่งที่เราเห็นทุกวัน สิบปีที่แล้วผมกินไอศกรีมแท่งหนึ่ง ไอศกรีมเป็นขั้นๆ สีสดๆ หลายสี เอ๊ะ ทำไมเราไม่ทำสีเซรามิคเป็นขั้นๆ แบบนี้บ้าง เราก็มีสีตัวอย่างอะไรอย่างนี้ หรือสายไฟ เสาไฟ เราเอาสิ่งที่เราเห็นมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างศิลปะได้

ศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่พี่ติ้วชอบคือการถ่ายรูป
เราเคยถ่ายภาพปกติเหมือนคนทั่วไปโดยใช้กล้องคอมแพค แล้วเพื่อนเยอรมันยืมกล้องแล้วลืมหายไป วันนั้นเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างของเรา เราเลยซื้อกล้องมาตัวหนึ่งเป็น single lens ซึ่งพอถ่ายรูปแล้วมีสิ่งที่คล้ายกันระหว่างการทำเครื่องปั้นดินเผาและการถ่ายภาพ มันขึ้นอยู่กับความบังเอิญ เหมือนกับเราเดินผ่านสิ่งแวดล้อมทุกวัน แสงที่ตกมามากขึ้น แสงที่ตกมาน้อยลง จังหวะที่คนเดินผ่านไปผ่านมา เราอยากบันทึกโดยไม่ได้กำหนดขึ้น เซรามิคก็เหมือนกัน มันไม่ได้เกิดจากองค์ประกอบทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เซรามิคมีองค์ประกอบที่ห้าคือความบังเอิญ เป็นงานที่เราไม่สามารถกำหนดด้วยตัวเองทั้งหมด ขึ้นกับสภาพแวดล้อมซึ่งทำให้งานออกมาไม่เหมือนเดิมทุกครั้ง

อยากให้พูดถึงการก่อตั้งหอศิลป์ร่วมสมัย Tao Hong Tai d Kunst
ผมเคยผ่านประสบการณ์ที่ชุมชนและเมืองแต่ละเมืองมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ พอมีโอกาสได้ซื้อบ้านเก่าหลังนี้ แทนที่จะทำเป็นร้านเหล้า รีสอร์ท หรือที่พัก เราอยากให้เป็นพื้นที่จุดเริ่มต้นของคำว่าศิลปะร่วมสมัยกลางตัวเมืองราชบุรี และเป็นจุดเริ่มของการสร้างชุมชนโดยคนในชุมชนด้วยกันเอง จริงๆ ราชบุรีเป็นเมืองเล็ก การทำหอศิลป์เพียงอย่างเดียวไม่พอ เราเลยคิดว่าจะเอาศิลปะไปอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไร ก็เลยเอาศิลปะธรรมดาไว้ในร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านโชว์ห่วย ร้านทำผม เป็นจุดเริ่มง่ายๆ แต่สามารถสร้างจินตนาการให้คนที่อยู่ในชุมชนกลายเป็นนักฟิสิกส์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักดนตรีมากมาย ผมเชื่อว่าสภาพแวดล้อมของเมืองมีส่วนสร้างคนในรูปแบบต่างๆ อย่างที่เราสามารถวางรากฐานไว้ได้

จนถึงตอนนี้มีแนวโน้มที่ราชบุรีจะก้าวขึ้นเป็นเมืองแห่งศิลปะแห่งหนึ่งของประเทศไทยอย่างไร
ความรู้สึกของผมทุกจังหวัดในประเทศไทยมีพื้นฐานทางด้านศิลปะมาก่อน แต่จังหวัดราชบุรีอาจเป็นตัวอย่างในฐานะที่เรามีการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ มีความเชื่อมโยงทางศิลปะของยุคสมัยแต่ละยุค แต่ทุกจังหวัดจำเป็นต้องเอาศิลปะอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนให้ได้ ซึ่งจุดนี้คนในชุมชนต้องลงมือทำกันเอง เพราะศิลปะเหมือนเป็นลูกเมียน้อยคนที่ห้าของหน่วยงานราชการ มันเป็นเรื่องของงบประมาณการสร้างสรรค์ผลงานและความเข้าใจในการเอาศิลปะมาอยู่ในชุมชน หลายครั้งเข้าใจกันว่าการจัดซุ้มเอาเด็กมาระบายสีวาดรูปเป็นการทำศิลปะให้ชุมชนแล้ว จริงๆ แล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เรามีคนจุดพลุเยอะคือทำงานที่ฉาบฉวย ท่องเที่ยวมาแว้บเดียวแล้วคนก็หายไป แต่เราต้องวางรากฐานให้สังคมไทย การวางฐานต้องใช้เวลานานไม่ว่าเรื่องอะไร อาจเป็นร้อยๆ ปี แต่ถ้าเราไม่สร้างวันนี้เราก็จะไม่มีอะไรเลย เราจะเหมือนจุดพลุที่สวยงามเพียงวูบเดียวแล้วมันก็หายไป