www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

สมเถา สุจริตกุล : ท่วงทำนองอัจฉริยะสู่อัจฉริยะ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-10-04 11:37:57

สมเถา สุจริตกุล
ท่วงทำนองอัจฉริยะสู่อัจฉริยะ

สัมภาษณ์: ศภิสรา เข็มทอง 
เรียบเรียง: ศรินทร เอี่ยมแฟง และ ถลัชนันท์ โสตถิโสภา 

“สิ่งที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับอัจฉริยภาพ คือคนที่เป็นอัจฉริยะไม่มีวันโต เขาต้องเป็นเด็กตลอดเวลา ทุกอย่างเล่นได้ เป็นของเล่น”

อาจารย์สมเถา สุจริตกุล นักเรียนเก่าวิทยาลัยอีตันและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เริ่มเป็นที่รู้จักจากความสามารถในการประพันธ์ดนตรี ก่อนขึ้นสู่เวทีระดับสากลในฐานะวาทยกรและนักแต่งมหาอุปากร พรสวรรค์ด้านการประพันธ์ของอาจารย์ก้าวข้ามเขตแดนไปสู่งานวรรณกรรม นามปากกา S.P. Somtow ผลิตนวนิยายยอดนิยมในสหรัฐอเมริกาถึง 53 เรื่องและถูกพิมพ์จำหน่ายทั่วโลกกว่าสองล้านเล่ม ภายหลังประสบความสำเร็จสูงสุดทางอาชีพ อาจารย์สมเถากลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วยพลังสร้างสรรค์ที่ยังล้นเหลือ เขาก่อตั้งคณะมหาอุปรากร บางกอก โอเปร่า และวงดนตรีคลาสสิกเยาวชนไทยฝีมือระดับโลก Siam Sinfonietta (สยาม ซินโฟนิเอตต้า) นับเป็นครูผู้ปิดทองหลังพระ ถ่ายทอดความเป็นอัจฉริยะแบบ “สมเถา Method” สร้างอัจฉริยะด้านดนตรีที่ซ่อนตัวอยู่ไม่น้อยในเมืองไทย

เมล็ดพันธุ์ของการเป็นนักดนตรีงอกงามขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่
ตอบยากนะครับ นักดนตรีหลายคนอาจจะจำไม่ได้ว่าดนตรีเข้ามาในชีวิตเมื่อไหร่เพราะบางทีเริ่มเมื่อเด็กมาก เช่น ตอนที่ผมอายุ 4 ขวบ ผมเรียนเปียโนอยู่แล้วทะเลาะกับครู แล้วครูก็ร้องไห้วิ่งไปแล้วก็ไม่กลับมาอีก (หัวเราะ) เรื่องนี้เป็นเรื่องเพราะครูบอกว่าน่าจะแต่งเพลงสักเพลง ผมก็เลยแต่งเพลงส่งแต่ครูไม่เชื่อว่าแต่งเอง ตอนเป็นเด็กผมควบคุมอารมณ์ลำบากตามประสาศิลปิน ก็อาจจะมีฉากอาละวาด นี่เป็นสิ่งที่จำได้เกี่ยวกับดนตรีครั้งแรกในชีวิตคือการทะเลาะกับคนๆ หนึ่ง หลังจากนั้นผมเลิกเล่นเปียโนไปนานมาก แล้วค่อยกลับมาสอนตัวเองทีละนิดๆ โดยการฟังเพียงอย่างเดียว ผมจึงไม่สามารถเป็นนักเปียโนได้ เพราะไม่ได้เทคนิคเบื้องต้น พอมาเรียนเปียโนทีหลังปรากฏว่าสายไปแล้ว เพราะนักเปียโนจะต้องฝึกกล้ามเนื้อต้องออกกำลัง มันเป็นแนวทางแนวหนึ่ง

ผมคิดว่าการที่ผมศึกษาเองอยู่ถึง 6 ปีจนอายุประมาณ 10 ขวบ ทำให้ผมคล้ายๆ ว่าได้ผจญภัยในโลกโดยไม่มีไกด์ ดูอะไรเอง แอบดูอะไรที่อาจจะยังไม่ควรเห็นเยอะมาก ตอนอายุประมาณ 7-8 ขวบ คุณแม่ซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใช้แบตเตอรี่มาให้เป็นของขวัญ เขาบอกว่าเล่นแผ่นเสียงได้ทุกแผ่นในบ้านยกเว้นแผ่นที่อยู่บนหิ้งสูงๆ วันหนึ่งพ่อแม่ก็ไม่อยู่ก็เลยเอาเก้าอี้ปีนขึ้นไปหยิบแผ่นพวกนี้ลงมา มี ชูเบิร์ท เบโทเฟน เป็นดนตรีคลาสสิกแผ่นแรกทีได้ยินในชีวิต ไม่กี่แผ่นนะครับ แต่ว่าตอนที่เล่นดนตรีพวกนี้มันมีความรู้สึกว่าระลึกชาติ เพราะเป็นดนตรีที่ผมรู้จักดีทั้งๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เหมือนมีแสงเข้ามาในชีวิต ประตูเปิดทุกบาน

อาจารย์เริ่มเรียนดนตรีกับครูดนตรีอย่างจริงจังได้อย่างไร
พอผมไปเรียนที่อังกฤษ ประตูเปิดเยอะมากไง เพราะอีตันเป็นโรงเรียนที่วิชาดนตรีค่อนข้างแข็งแรงมาก และตอนนั้นเขากำลังเริ่มเปลี่ยนจากโรงเรียนที่หนักไปทางวิชาการมาเน้นแผนกศิลปะมากขึ้น จริงๆ แล้วอีตันมีชื่อเสียงมากในทางศิลปะการแสดง แต่ตอนนี้แผนกดนตรีที่โรงเรียนอีตันใหญ่กว่าแผนกดนตรีในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในโลกแล้ว

สมัยที่ผมเรียน ครูที่มาสอนเป็นคนดังเยอะ เขาสนับสนุนให้ผมแต่งโอเปร่าเรื่องแรกตอนอายุ 15 แล้วโรงเรียนก็เอาโอเปร่านี้ไปยื่นตามคณะโอเปร่าใหญ่ๆ เพื่อรับฟีดแบค แทนที่เขาจะบอกว่ารออีกสิบปี เขาผลักดันให้ทำเลย อันนี้ถือเป็นการริเริ่มของ “สมเถา Method” หลายคนถามว่าทำไมเด็กที่มาอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ (อีตัน) เป็นอัจฉริยะเยอะ ก็เพราะมันมีระเบียบวิธีแบบนี้

สมเถา Method” คืออะไร
ถ้าคุณถามว่ามีเทคนิคที่จะดัดแปลงเด็กทุกคนเป็นอัจฉริยะไหม ไม่มีนะครับ ผมมีลูกศิษย์แค่ 5-6 คนเท่านั้นและผมไม่ใช่ครูเพราะไม่เคยเก็บเงินค่าสอน เด็กพวกนี้ ยกตัวอย่าง ทฤษฎี ณ พัทลุง (วาทยกรระดับโลกวัย 27 ปี) มักจะผลิตผลงานที่เป็นระดับโลกเร็วมาก เป็นเพราะผมสามารถเห็นได้ว่าเขาคืออะไรก่อนที่คนอื่นจะเห็น นี่คือสิ่งแรก สิ่งที่สองคือผมไม่แยกแยะงานกับชีวิต ดนตรีกับงานกับการบ้าน ทุกอย่างเป็นสิ่งเดียวกันหมดเลย “สมเถา method” ไม่มีวันสอนกันในโรงเรียน เพราะเด็กที่จะได้ผลประโยชน์มีจำนวนน้อย คือไม่ใช่จะบอกว่าบ้านนี้เป็นศูนย์กลางของ X-MEN สิ่งแรกที่ผมจะทำคือเปิดประตูทุกบาน แล้วดูสิว่าเขาจะก้าวไปเองไหม ถ้าเขากล้าที่จะก้าวก็โอเค ไม่ดันไม่ผลัก แต่ว่าเปิดประตูจริงๆ ผมคิดว่ามีครูหลายคนที่หวงวิชา แต่ผมไม่หวง อีกอย่างที่ผมสอนลูกศิษย์คือ วิชา ความรู้ ข้อมูลทุกอย่างที่เขาเรียนมันเชื่อมกันหมดเลย จิตวิทยากับดนตรีกับเลขคณิตไม่ได้เป็นสิ่งที่แยกกัน และทุกอย่างที่เรียนรู้ไม่ได้แยกออกจากชีวิต ความรัก ความเกลียด ความอิจฉา ผมพยายามจะสอนบริบทแวดล้อมตลอดเวลา ซิมโฟนีเบอร์นี้ทำไมเป็นอย่างนี้ ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ใครครองโลกตอนนั้น แล้วเอามาเชื่อมกับความรู้สึกส่วนตัวด้วย ความรัก ความหึงอะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของมนุษย์และเป็นแรงบันดาลที่ทำให้ศิลปะเกิดขึ้น ศิลปะไม่ได้เกิดจากสิ่งที่ดีงามตลอดเวลา ศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบางทีเกิดขึ้นจากอะไรที่น่าเกลียด เกิดขึ้นจากความมืดในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งศิลปินทุกคนต้องยอมเผชิญหน้ากับความมืดอยู่ตลอดเวลา บางทีเราต้องเผชิญแทนคนอื่นที่ไม่กล้าเผชิญ อธิบายลำบากเพราะว่า method อันนี้ไม่ได้เป็นข้อๆ จะไม่มีวันมีหนังสือหรือตำรา คุณพิซซ่า (ทฤษฎี ณ พัทลุง) น้องเจ (ณัฐพงษ์ ยุทธนาสิริกุล หัวหน้าวงสยามซินโฟนิเอตต้า) น้องท๊อป (ธนายุส จันทร์สิริวรกุล นักไวโอลินวงสยามซินโฟนิเอตต้า) พวกเขามาอยู่ที่นี่เป็นปี พ่อแม่ทิ้งไว้เลย เป็นทางเดียวที่จะซึมเข้าไปได้หมด

อาจารย์สมเถาเห็นอะไรในตัวของ ทฤษฎี ณ พัทลุง
ตอนเขาอายุ 15 เขามาหาผมตอนพักครึ่งของคอนเสิร์ต บอกว่าอยากจะเป็นนักประพันธ์ดนตรีหรือคอนดักเตอร์เหมือนคุณ ผมถามว่าแต่งอะไรมาบ้าง เขาเปิดเป้ให้ผมดูหยิบโน้ตเพลงออกมา มันเป็น polonaise (เพลงพื้นเมือง) ในสไตล์ของโชแปง แต่ทำนองแต่งออกมาในสไตล์อีสาน เพราะฉะนั้นผมถึงรู้ว่าเขาเป็นอัจฉริยะ เพราะเด็กคนนี้ไม่รู้อะไรเลยแต่วัตถุดิบที่มีแค่นี้เขาเอามาเป็นของเล่นได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับอัจฉริยภาพ คือคนที่เป็นอัจฉริยะไม่มีวันโต เขาต้องเป็นเด็กตลอดเวลา ทุกอย่างเล่นได้ เป็นของเล่น เหมือนโชแปงกับอีสานเป็นเลโก้สองชิ้นที่คนบนโลกไม่คิดว่าจะต่อกันได้ แต่เขาต่อได้

เราเห็นวงดนตรีคลาสสิกหลายรูปแบบ อะไรคือความแตกต่างของซิมโฟนี ออร์เคสตร้า ฟิลฮาร์โมนิก
มันเป็นวงซิมโฟนีทั้งนั้นแหละ ฟิลฮาร์โมนิก ซิมโฟนี ซินโฟนิเอตต้า แต่ว่าคำว่าซิมโฟนีในภาษากรีกแปลว่าดังด้วยกัน คือหมายความว่าดนตรีที่หลายคนเล่นพร้อมกัน เป็นเสียงที่มาด้วยกัน วงซิมโฟนีที่เรารู้จักกันค่อยๆ ดัดแปลงขยายขึ้นจนสมัยนี้วงเต็มๆ มีประมาณ 100 คน แต่มันก็ยังเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทีนี้เมืองใหญ่ๆ จะมีวงซิมโฟนีมากกว่าหนึ่งวง เราจะตั้งชื่อว่าบางกอกซิมโฟนีทุกวงไม่ได้เท่านั้นเอง ชื่อบางชื่อตั้งตามตำนาน เช่น ฟิลฮาร์โมนิก แปลว่ารักดนตรีเฉยๆ โปรมิวสิก้า ก็แปลว่าเพื่อดนตรี ผมตั้งชื่อวง Siam Sinfonietta ให้วงเด็ก คำว่า “ซิน” ในภาษาอิตาเลียนแปลว่าซิมโฟนีน้อยๆ แต่จริงๆ แล้วมันก็ไม่น้อยเท่าไหร่ เพราะตอนนี้วงสยามซินโฟนิเอตต้าเล่นเพลงใหญ่ๆ หมดเลย

มีแรงบันดาลใจอะไรในการสร้างวงซิมโฟนีน้อยๆ
สยามซินโฟนิเอตต้ามีมาแค่สองปี ก่อตั้งขึ้นมาเพราะว่าเด็กหลายคนบอกว่าอยากจะเล่น real music เพราะมันมีวงเยาวชนหลายวงแต่เขาไม่ค่อยเล่น real music ในที่นี้หมายความว่าซิมโฟนีทั้งอันตั้งแต่ต้นจนจบ ทุกท่อนเพลงใหญ่ๆ ที่เป็น repertoire (รายการละคร) ที่ผู้ใหญ่เขาเล่นกัน บางวงเล่นในแบบชิมลาง เล่นท่อนที่เพราะที่คนรู้จักแล้วสลับกับสุนทราภรณ์หรือเพลงป๊อปต่างๆ วงนี้จึงเป็นวงเยาวชนที่เขาอยากจะกระโดดมาเป็นวงจริงๆ ผมก็ตั้งวงที่มีความเป็นประชาธิปไตยพอสมควร เพราะว่า repertoire หลายอย่างเป็นสิ่งที่เด็กอยากเล่น เราได้เล่นเพลงยากเสียจนวงผู้ใหญ่เขาไม่กล้าเล่นกันหลายเพลง ฤดูกาลที่ผ่านมาเราก็เล่นสตราวินสกี้ซึ่งยากมาก เราเพิ่งเล่น มาห์เลอร์ ซิมโฟนีหมายเลข 10 เป็นครั้งแรกของวงที่ประกอบไปด้วยเด็กอย่างเดียวเล่นมาห์เลอร์ได้ ต้องบอกตามตรงว่าสยามซินโฟนิเอตต้าเล่นได้ดีกว่าตอนที่วงสยามฟิลฮาร์โมนิกเล่นเมื่อแปดปีมาแล้ว เพราะว่าระดับฝีมือของเด็กและระดับของความเป็นนักดนตรีสูงขึ้นมากภายในแปดปี

ชัยชนะจากการแข่งขันดนตรีคลาสสิกระดับเยาวชนโลก Summa Cum Laude 2012 ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย บอกอะไรเราได้บ้าง
คนไทยมีปมด้อย เขาคิดว่ากรุงเทพฯ ยังไม่ใช่ศูนย์กลางของดนตรีหรือศิลปะ แต่ว่าอยากจะเป็น คือหารู้ไม่ว่าเป็นแล้ว หลายคนถามว่าที่เราชนะเป็นเพราะเราเล่นเพลงไทยมีปี่อะไรหรือเปล่า แต่ไม่ใช่นะครับ เหตุผลที่ได้รางวัลที่หนึ่งเพราะเราเล่นเพลงฝรั่งดีกว่าคนอื่น หมายความว่าสิ่งที่ผมทำค่อนข้างจะท้าทายและเสี่ยงมาก เราเป็นวงเดียวในรอบสุดท้ายที่เลือกที่จะเล่นเพลงของมาห์เลอร์ มาห์เลอร์เป็นคนเวียนนาสุดๆ กรรมการมาจากเวียนนาหมด ดนตรีเป็นของออสเตรียของเขาเลย ถ้าเราไม่แสดงให้เห็นว่าเรามีมุมมองใหม่ เขาจะไม่ยอมรับ กรรมการบอกผมเองว่าวงนี้ยอมที่จะถูกท้าทายมากกว่าวงอื่น หลังจากทุกวงออกจากห้อง หัวหน้ากรรมการจะลุกขึ้นมาขอบคุณ แต่ว่าพอวงเราเล่นเสร็จ หัวหน้ากรรมการพูดไม่เหมือนกับวงอื่น เขาบอกว่า “the message to the people of Austria from the young people of Thailand is loud and clear.” หมายความว่า เรายอมรับว่ายูเป็นของแท้ สามสิบปีที่ผ่านมาเวลานักดนตรีหรือนักแสดงไทยไปแสดงเมืองนอก มันจะมีรสชาติที่เหมือนละครลิงนิดหน่อย หมายความว่า ดีจังคนพวกนี้เล่นดนตรีของเราก็ได้ น่ารักจัง อะไรอย่างนี้ แต่คราวนี้เขายอมรับว่าเราเป็นพวกเขา

มีคนถามผมว่าทำไมไม่เล่นเพลงไทย ผมก็ถามเขาว่าทำไมเราทำภาพยนตร์ ภาพยนตร์ไม่ใช่ศิลปะไทย ทำไมเรามีละครโทรทัศน์ซึ่งไม่ใช่ศิลปะไทย ดนตรีคลาสสิกมีความเป็นไทยมากเท่าภาพยนตร์ มากเท่าละครเวที มากเท่าทุกอย่าง แต่ว่าภาพยนตร์เริ่มทำก่อนเท่านั้นเอง จนตอนนี้มาถึงจุดที่มีความเป็นไทยร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ดนตรีคลาสสิกเพียงแต่เป็นหีบมรดกอันใหม่ที่เราเพิ่งเปิด แต่มันเป็นมรดกของเรา ไม่ใช่เพลงฝรั่งที่คนไทยเอามาเล่นแบบผิดๆ ถูกๆ มันเป็นเพลงของเราเองที่เราเล่นแบบนี้ นี่คือสิ่งที่ต้องฝากบอก อย่าคิดว่าเป็นสิ่งแปลกจากต่างประเทศ

กับวลีที่ว่า “ดนตรีคลาสสิกต้องปีนบันไดฟัง” 
ผมจะถามคนพวกนี้ว่าเพลงเถา เพลงตับ ต้องปีนบันไดฟังหรือเปล่า ซึ่งมันก็คือ classical music ไทยที่สุดแล้ว ทุกอย่างที่มีคุณค่าต้องปีนบันไดทั้งนั้น แม้แต่ตำรับอาหารที่ทำยาก เราต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจ ก็เหมือนกัน เราจะอยู่ตลอดชีวิตโดยที่กินแต่ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นทุกวันไม่ได้ บางทีก็ต้องลองอะไรอย่างอื่นที่ต้องปีนบันไดไปกิน ถ้าคุณไม่ยอมปีนก็โอเค ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าชีวิตคุณจะไม่มีอะไรที่สวยงามหลายอย่าง จะขาดอะไรหลายอย่างถ้าคุณไม่กล้าปีน

แล้วในเรื่องของ music therapy อาจารย์คิดเห็นอย่างไร
ผมเชื่อว่าของพวกนี้ยังไม่ได้พิสูจน์จริงจัง แต่ว่าเวลาเล่ามันก็สนุกดี แล้วคนแต่งหนังสือก็เป็นมหาเศรษฐีไปหมดแล้ว (หัวเราะ) โมสาร์ท เอฟเฟ็คต์ ไอ้โน่นไอ้นี่เอฟเฟ็คต์ แต่ว่าก็ดีถ้าช่วยให้ขายดนตรีไปด้วย ผมคิดว่าอยู่ที่สิ่งแวดล้อมทั้งหมดมากกว่าการที่เอาลำโพงมาตั้งตรงท้องตอนตั้งครรภ์ มันอยู่ที่บรรยากาศทั้งหมดเลย ก็เป็นสิ่งที่ผมพูดอยู่เรื่อยว่าทุกอย่างเชื่อมกันหมด ไม่ใช่ว่าฉันท้องฉันฟังโมสาร์ทวันละชั่วโมงแล้วลูกฉันจะเป็นอัจฉริยะ

วันนี้อาจารย์ได้เปิดประตูให้กับเด็กๆ แล้ว มีความคาดหวังอะไรกับวงการดนตรีคลาสสิกบ้านเรา
ผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ช่วยเด็ก 50 กว่าคน มันช่วยทุกคนแหละครับ เพราะถ้าคนหนึ่งทำได้ คนอื่นก็ต้องทำได้ ผมอยากให้เด็กเข้าใจกันว่าประเทศเราไม่ใช่เกาะ เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก แล้วก็เรามีสิทธิที่จะไปที่ไหนก็ได้ ให้ใครก็ได้ยอมรับเรา เราไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่หลังกำแพงตลอดชีวิต