www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

เดชา ศิริภัทร ลูกศิษย์ของข้าว ครูของชาวนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-07-17 16:11:28

เดชา ศิริภัทร
ลูกศิษย์ของข้าว ครูของชาวนา

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: กรกช นาวานุเคราะห์


“งานอะไรก็ตามเริ่มต้นโดยไม่เบียดเบียนทั้งตนเองทั้งคนอื่นก่อน แต่ที่ดีกว่านั้นคือต้องเป็นประโยชน์ทั้งตัวเองและคนอื่นด้วย”

บัณฑิตจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลูกชายเจ้าของโรงสีและเจ้าของที่ดินผู้มีฐานะในจังหวัดสุพรรณบุรี หันหลังจากธุรกิจฟาร์มเกษตรที่สร้างกำไรไม่น้อย เพื่อทุ่มเทชีวิตให้กับการพัฒนาเกษตรกรรมแบบยั่งยืน เพียงเพราะอยากใช้หนี้บุญคุณข้าวและชาวนา เขาเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนชาวนาที่มุ่งปลูกจิตสำนึกให้ชาวนาประกอบอาชีพอย่างมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เห็นถูกต้องตามทำนองครองธรรม อันหมายถึงการไม่ใช้สารเคมีที่ทำลายระบบธรรมชาติที่ตนเองพึ่งพาอยู่ สร้างผลผลิตโดยไม่ยึดเพียงผลกำไร ใช้ชีวิตบนวิถีแห่งความพอเพียง

20 กว่าปีที่ผ่านมาในฐานะชาวนา นักพัฒนา และนักวิจัยข้าว อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ องค์กรอิสระที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุ์ข้าวและพืชพื้นบ้าน และค้นคว้าวิจัยเพื่อหาทางเลือกทดแทนสารเคมี ไม่เพียงเป็นผู้สร้างเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกที่เข้มแข็ง แต่ยังเป็นต้นแบบของบุคคลผู้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและมีความสุขอย่างแท้จริง

ทราบมาว่าจุดเปลี่ยนในชีวิตและเป็นจุดเริ่มต้นของการหันมาทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เกิดจากการบวชทดแทนบุญคุณคุณแม่
ผมไปบวชเพราะแม่เสีย ผมเป็นลูกที่ยังไม่ได้บวช แม่อยากให้บวชตั้งแต่ท่านยังอยู่ ผมคิดว่าการจะบวชให้แม่ต้องบวชสักพรรษาหนึ่งถึงจะได้บุญ ไม่ใช่บวชแค่ 2-3 วัน และก็ต้องหาอาจารย์ที่ดีๆ ด้วย ก็เลยไปเลือกสวนโมกข์ซึ่งต้องรอหนึ่งปีเพราะปีนั้น พ.ศ. 2519 มันเต็มแล้ว ผมจึงต้องบวชที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ก่อนจนได้ไปอยู่ที่นั่น เลยทำเต็มที่ ซึ่งการทำเต็มที่ในฐานะพระจึงเปลี่ยนชีวิตไปเลย เพราะชีวิตพระมีศีลต้องระวังเยอะ ฉันมื้อเดียว นอนหมอนไม้ เดินเท้าเปล่า วิถีชีวิตแบบนี้ทำให้เห็นว่าแม้จะกินน้อยใช้น้อยเราก็ไม่ลำบากเท่าไหร่ เราก็มีความสุขและมีเวลาเหลือด้วย ผมคิดว่าเราเบา เราโปร่ง ไม่อยากได้มากมายอะไรไม่เหมือนตอนก่อนบวช พอสึกมาแล้วก็คิดว่าถ้าเรามีชีวิตแบบเบาๆ ก็น่าจะดี และถ้าอยากได้บุญมากต้องไม่ใช่แค่บวช แต่ต้องไปช่วยคนด้อยโอกาสหรือมีทุกข์เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมไปด้วย ท่านพุทธทาสสอนไว้ว่าการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว ให้ทำเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านไปพร้อมกัน

งานที่ถึงประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านและช่วยเหลือสังคมสำหรับสุพรรณบุรีก็คือชาวนา ครอบครัวผมมีโรงสีมาตั้งแต่สมัยปู่และที่บ้านมีนาเยอะ พ่อมีนา 8,000 ไร่ให้เขาเช่า เพราะฉะนั้นเราจึงเกี่ยวข้องกับชาวนามาตั้งแต่รุ่นปู่ ก็เลยตัดสินใจทำเรื่องข้าวกับชาวนาเพราะเรารู้จักดีแล้วปัญหามันก็เยอะด้วย เป็นสิ่งที่เรามีพื้นฐานอยู่แล้วแม้จะไม่ได้เรียนเรื่องข้าวมาแต่เรียนเกษตรก็ปรับกันได้

การทำงานพัฒนาเรื่องข้าวกับชาวนาเน้นประเด็นเรื่องใดเป็นหลัก
มูลนิธิข้าวขวัญเน้นการทำงานแบบแก้ปัญหา ก็เหมือนอริยสัจ 4 นั่นแหละ ทุกข์ ต้นเหตุแห่งทุกข์ เป้าหมายที่จะพ้นทุกข์ และทางพ้นทุกข์ การทำงานเพื่อจะแก้ทุกข์ของชาวนาก็ต้องดูว่าชาวนามีทุกข์อะไรบ้าง เช่น เขามีหนี้สิน เขาไม่มีที่ดิน หรือว่าเขาทำนาต้นทุนสูง เขาใช้สารเคมีอันตราย เราเห็นสาเหตุแห่งทุกข์ส่วนหนึ่งคือการทำนาไม่เป็น ใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานโรคจึงต้องใช้ปุ๋ยเยอะ ต้นทุนก็สูง คุณภาพข้าวก็ไม่ดี ขายได้ราคาถูก เราหาวิธีแก้คือการพัฒนาเทคนิคเกษตรอินทรีย์และทดสอบจนได้ผล แล้วเอาไปเผยแพร่ ต้องใช้เวลาหน่อยแต่แก้ปัญหาได้จริงที่ต้นเหตุ

เทคนิคเกษตรอินทรีย์คืออะไร และมีการถ่ายทอดความรู้อย่างไรคะ
อธิบายง่ายที่สุดคือใช้แต่สารอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี เกษตรอินทรีย์เน้นเรื่องการบำรุงดินและให้พืชหรือสัตว์อุดมสมบูรณ์โดยผ่านดิน คือให้ดินดีก่อนแล้วทุกอย่างดีหมด จริงๆ โรงเรียนชาวนาไม่ได้สอนเรื่องเทคนิคหรอก เพราะเทคนิคเราอบรมแค่ 2-3 วันก็ได้แล้ว มันไม่ได้ยาก แต่เราต้องการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนทิฐิ หรือสมัยนี้เขาเรียกว่ากระบวนทัศน์ เราก็เอาเทคนิคที่ได้มาเป็นหลักสูตรให้ชาวนาลงมือทำในนาตัวเอง เปรียบเทียบวิธีเดิมของเขา แล้วเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่าแบบไหนดี แล้วเขาจะสรุปกับเพื่อนชาวนาด้วยกัน กระบวนการนี้เรียกว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาจะทำให้ทิฐิกลายเป็นสัมมาทิฐิ การเปลี่ยนความคิดจึงใช้เวลาเยอะ ตั้งแต่ปลูกจนเก็บเกี่ยว แต่จะเห็นอะไรดีไม่ดีทั้งหมด

นอกจากความรู้ อาจารย์ยังเน้นเรื่องการปรับทัศนคติชาวนาด้วย
ถ้ามองแบบสมัยใหม่ ข้าวก็คืออาหารชนิดหนึ่ง ถ้ามองแบบนักเศรษฐศาสตร์ก็คือสินค้าชนิดหนึ่ง ถ้ามองแบบนักมนุษยวิทยาก็คือตัวแทนของเทพชั้นสูงที่มีความเมตตาต่อมนุษย์อย่างสูง เทพของคนไทยก็มีสามแม่ แม่ธรณี แม่คงคา และแม่โพสพ ถ้าเราเห็นว่าข้าวเป็นแม่เราจะปฏิบัติต่อท่านอีกแบบหนึ่ง เราต้องกตัญญู ไม่ทำร้าย ทอดทิ้งท่าน แต่ชาวนาปัจจุบันเห็นข้าวเป็นสินค้า หวังจะเอาเงินอย่างเดียว จึงใช้สารพิษและเทคนิคที่ทำลายทั้งน้ำ ดิน และข้าวอย่างไม่มีจิตสำนึก ตัวเขาเองก็ไม่กินข้าวที่ตัวเองปลูก สุดท้ายก็ยากจนเอง ความจริงคือเขาอกตัญญูและถูกลงโทษนั่นแหละ ลูกหลานก็ดูถูกไม่อยากเป็นชาวนา คำที่เคยยกย่องว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ คนก็ไม่ยกย่องแล้ว เขาเรียกว่ารากหญ้าไปหมดแล้ว วิธีกู้ศักดิ์ศรีคืนมาคือต้องบำรุงรักษาแม่ให้ดีเหมือนเดิม

เด็กรุ่นใหม่ยังคงมองว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เงินน้อย
เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น แต่จริงๆ เกษตรกรที่ทำได้ดีก็จะมีฐานะ อย่างลูกศิษย์เราบางคนทำกำไรได้ปีละเป็นล้าน อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพกลางๆ อยู่ที่เกษตรกรเองว่าจะทำอาชีพอย่างถูกต้องหรือชำนาญหรือเปล่า แต่อาชีพเกษตรกรมีความพิเศษคือเป็นอาชีพที่สร้างอาหาร ซึ่งอาหารเป็นปัจจัยสี่ของมนุษย์และเป็นปัจจัยแรกที่มีความสำคัญ ดังนั้นเกษตรกรจึงเป็นอาชีพที่จำเป็นมาก แล้วเกษตรกรนี่เป็นอาชีพอิสระ พึ่งตัวเองได้มากที่สุด เพราะอาชีพอื่นเอาเงินมาแล้วไปซื้ออาหารกินใช่ไหม แต่เกษตรกรเก็บไว้กินได้เอง จะขายหรือไม่ขายก็ได้ หรือถ้าทำแค่พออยู่พอกิน เราสามารถทำอาชีพอื่นควบคู่ไปได้ด้วย

จากโรงเรียนชาวนา เราควรจะพัฒนาการเรียนการสอนวิชาเกษตรศาสตร์ไปในรูปแบบไหน
เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการไม่ทำลายของเดิม แต่ต้องทำให้ของเดิมดีขึ้นแล้วใช้เป็นฐาน อยู่ในโลกที่เป็นหนึ่งเดียวแต่มีความเป็นเอกลักษณ์ รักษาจุดแข็งเราไว้ เราส่งออกข้าวเป็นที่หนึ่ง ส่งออกมัน ยางพารา เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่ส่งออกอาหารมากที่สุดในโลกทั้งที่เป็นประเทศเล็กๆ ออสเตรเลีย แคนาดา อเมริกา บราซิล ส่งออกมากเป็นเรื่องธรรมดา แสดงว่าเราเก่งเรื่องเกษตรกรรม สามารถพัฒนาโดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่หรือแรงงานมากมาย ในอนาคตเราไม่ต้องส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งก็ได้ แต่ทำอย่างไรให้ข้าวของเรามีคุณภาพที่สุดในราคาต่ำสุด การเรียนการสอนสมัยใหม่ต้องตั้งเป้าให้ชัดเจนก่อน เพราะเรื่องพวกนี้ไม่ได้ยากเลยแค่หาตัวอย่างที่ดี

เพิ่งมีข่าวว่าอินโดนีเซียขาดแคลนข้าว จะมีวันที่เราเป็นแบบนั้นไหม
ผมเคยไปอินโดนีเซีย มีตั้งเป็นหมื่นเกาะ บางเกาะก็ไม่เคยกินข้าวมาก่อน วัฒนธรรมชวาเป็นวัฒนธรรมที่แข็งกว่าจึงเผยแพร่วัฒนธรรมการกินข้าวไปให้เกาะอื่นๆ พอคนหันมากินข้าวมากขึ้น พื้นที่ปลูกข้าวก็เลยไม่พอ จริงๆ เราไม่ต้องให้ทุกคนกินข้าวก็ได้ พื้นที่นั้นเหมาะสมจะปลูกอะไรก็พัฒนาไปตามนั้น หากรณรงค์ให้ทุกคนกินข้าวกันหมดต้องมีปัญหาแน่ เพราะข้าวไม่ได้ปลูกกันได้ทุกที่ ข้าวต้องการน้ำเยอะ ผลผลิตก็จำกัด แต่พูดถึงว่าคนที่เคยกินข้าวไปแล้วจะเปลี่ยนยาก เพราะมันเป็นวัฒนธรรม

สำหรับบ้านเราคิดว่าคงไม่ขาดแคลนข้าวหรอก เพราะพบว่าสถิติคนเกิดมีน้อยลง ประชากรไม่มีทางถึง 80 ล้านคน คิดว่าไม่ถึง 50 ปีประชากรไทยจะเหลือเพียง 50 ล้านคน เพราะปกติข้าวมันเหลืออยู่แล้วประมาณ 10 ล้านตัน ปีหนึ่งเราผลิตข้าวได้ 20 ล้านตัน ในปริมาณที่ผลิตในปัจจุบันนี้เรามีข้าวพอสำหรับ 120 ล้านคน เพราะฉะนั้นโอกาสจะขาดแคลนข้าวมีน้อย เพียงแต่เราจะเอาพื้นที่นาไปทำอย่างอื่นมากกว่า

ถ้าปีนี้น้ำท่วมอีกล่ะคะ
เขาก็ต้องไปปลูกข้าวตอนหน้าน้ำไม่ท่วม ปัจจุบันภาคกลางน้ำท่วมทุกปี ต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ อย่าไปสู้ หน้าน้ำก็ปล่อยท่วม เราก็ไปทำอาชีพอื่นเสีย อย่างปลูกผัก ถ้าน้ำท่วมเราก็ปลูกบนน้ำก็ได้ ที่พม่า ทะเลสาบอินเลย์ก็มีการปลูกผักลอยน้ำกันมานานแล้ว เราจับปลา ปลูกผัก น้ำแห้งก็ปลูกข้าว เพราะน้ำท่วมทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น ธาตุอาหารก็จะเพิ่มขึ้น คือไม่ว่าอย่างไรคนไทยก็ต้องเกี่ยวพันกับข้าว เป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิต

เราบริโภคข้าวมาเป็นหมื่นๆ ปี ข้าวกลายเป็นเทพเจ้าคือพระแม่โพสพ ข้าวเกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมทุกขั้นตอน อย่างเช่นประเพณีทางอีสาน ทั้ง 12 เดือนจะมีข้าวเกี่ยวข้องทุกเดือนเลย ข้าวเป็นยิ่งกว่าอาหาร ถ้าไม่มีข้าว วัฒนธรรมเราจะเปลี่ยน ชาติก็จะสูญ เราจะขาดชาวนากับข้าวไปไม่ได้ ญี่ปุ่นก็เป็นเหมือนเรา รัฐบาลจะอุ้มชาวนาเท่าไหร่ก็ต้องอุ้ม แม้แต่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างญี่ปุ่นยังต้องรักษาข้าวไว้ เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับเรื่องความเป็นชาติด้วย

อาจารย์ยึดคติธรรมใดในการทำงาน
“ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน” นี่แหละ หมายถึงว่าทำอะไรก็ตามแต่ หากถึงพร้อมด้วยประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ถือว่าเป็นการงานที่ดี เป็นงานที่ปฏิบัติธรรมไปด้วย แต่ยังไม่เลวเท่ากับเบียดเบียนนะ ประโยชน์ตรงข้ามกับเบียดเบียน งานบางอย่างเบียดเบียนตัวเอง อย่างอบายมุขทั้ง 6 หรือการเอาเปรียบผู้อื่น ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็ไม่ดี งานอะไรก็ตามเริ่มต้นโดยไม่เบียดเบียนทั้งตนเองทั้งคนอื่นก่อน แต่ที่ดีกว่านั้นคือต้องเป็นประโยชน์ทั้งตัวเองและคนอื่นด้วย เป็นหลักธรรมเบื้องต้นเลย แล้วเราก็ไปหาว่างานที่ไม่เบียดเบียนนั้นควรจะทำอะไรได้บ้าง อันนั้นปรับได้แล้วแต่ว่าเราจะมีความสามารถแบบไหนไปให้ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน

ท่านพุทธทาสท่านบอกว่าคนต้องรู้ว่าเกิดมาทำไม แล้วท่านก็เฉลยว่าเกิดมาเพื่อจะยกระดับจิตวิญญาณของเราให้สูงขึ้น หรือทำให้ทุกข์น้อยลงจนกระทั่งความทุกข์ไม่เหลือเลย อันเดียวกันนั่นแหละ เพราะทำให้ตัวตนเราน้อยลง ซึ่งก็คือนิพพาน ชีวิตเราควรจะมีเป้าหมายให้ชัดแล้วเราก็ทำตามเป้าหมายไปเรื่อยๆ กระทั่งบรรลุนั่นแหละ ชาตินี้ชาติไหนก็แล้วแต่ เกิดมาแต่ละชาติก็ควรยกระดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันจบ ไม่ใช่อยู่กับที่หรือถอยหลัง

เราจะพัฒนาวิถีชีวิตอย่างเป็นสุขจนไปสู่เป้าหมายสุดท้ายอย่างไร
เราไม่ต้องรีบมากก็ได้ ฝรั่งบอกว่ามนุษย์มีชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40 ปี ทีแรกผมก็ยังนึกไม่ออก ก็เราเรียนจบอายุ 21 แล้วก็ทำงานแต่งงานมีลูก มันจะไม่เริ่มได้อย่างไร ความจริงไม่หรอก ผมเปลี่ยนงานตั้งสี่งานจนกระทั่งตั้งมูลนิธิข้าวขวัญ เมื่อปี 2532 ผมอายุ 41 ซึ่งยังช้าไปปีหนึ่งเลย ถ้าเกิดอายุ 20 แล้วไปตั้งหลักปักฐานไม่ใช่หรอก คุณต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวพออายุ 40 ปีคุณก็จะฉลาดเอง ถ้าไม่เปลี่ยนมันไม่ฉลาด

ชีวิตคนต้องมีประสบการณ์ตรง ไม่ต้องกลัวจะหมดโอกาส หาตัวเองให้เจอเมื่อไหร่ เราก็จะเริ่มต้นชีวิตได้ ต้องหาอะไรที่เหมาะกับเรา ทำแล้วต้องมีความสุข เหมือนกับว่าเราต้องการจะไปถึงยอดเขาซึ่งมีอยู่ลูกเดียว เรามองไม่เห็นคนอื่นหรอก เราเดินจากฝั่งเรา นึกว่าขึ้นได้ทางเดียว แต่ไม่จริงหรอก คนอื่นก็ขึ้นได้ แต่มันเหมาะกับคนอื่นไง เราไปอยู่บนยอดเขาเมื่อไหร่เราจะเห็นได้ทุกทาง แต่ตอนอยู่เชิงเขาเรามองได้แคบมาก ทีนี้เรามีพื้นฐานอะไรก็ไปทางที่จะง่ายกับเรา หรือถ้าไม่ได้ก็เปลี่ยนได้ แต่มันจะช้าหน่อย แต่ถ้าอายุ 40 ยังไม่เจอนี่โง่กว่าปกติ ถ้าอายุ 40 ปีหาตัวเองเจอแล้วเดินตามทาง ชีวิตอีกครึ่งชีวิตนี้ก็ไม่หลงแล้ว ครึ่งชีวิต 40 ปีแรก หาความรู้ เตรียมเสบียงให้พร้อม พอถึง 40 ปุ๊บออกเดินเลย จนถึงอายุ 80 ก็พอแล้ว ก็บรรลุเป้าหมายของชาตินี้ไป ถ้าเราสนุกไปวันๆ เดี๋ยวก็ 40 แล้ว เสียเวลาไปชาติหนึ่ง

อ่านเรื่อง "เมื่อแม่โพสพตาย ชาวนาก็กลายเป็นลูกกำพร้า" คลิกที่นี่