www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

น้าโย่ง เชิญยิ้ม จำอวดหน้าม่าน ศิลปินพื้นบ้านหน้าแถว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-06-01 18:03:19

น้าโย่ง เชิญยิ้ม
จำอวดหน้าม่าน ศิลปินพื้นบ้านหน้าแถว


“น้าโย่งตื่นมามองนาฬิกาที่ปลายเท้า เข็มมันเดินฉึกๆ ผมรู้สึกว่ามันเฉือนชีวิตเราให้สั้นลงทุกวินาที แม้แต่นอนหลับก็ไม่หยุดเฉือน พอตื่นมาอายุเรามากกว่าเก่า เราต้องรีบคิดรีบทำ”

เรื่องและภาพ: ศรินทร เอี่ยมแฟง

พิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือ “น้าโย่ง เชิญยิ้ม” และผองเพื่อนคณะจำอวดหน้าม่าน จากรายการคุณพระช่วย ผู้สร้างอรรถรสใหม่ด้วยการร้องเพลงพื้นบ้านแบบเดิมๆ แต่สามารถเรียกเสียงหัวเราะและความเพลิดเพลินได้ทุกเทป สิ่งที่น่าทึ่งกว่านั้นคือความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทย ทั้งคำศัพท์ อักขระ และคำคล้องจอง รวมไปถึงไหวพริบปฏิภาณของน้าโย่ง น้านง และน้าพวง สมาชิกทั้งสามที่รับส่งเนื้อเพลงกันได้อย่างไม่ติดขัด ทำให้เพลงพื้นบ้านโดยเฉพาะเพลงฉ่อย กลับมาเป็นจุดสนใจในวงกว้าง ต่อเนื่องจนเป็นการสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

ไม่ใช่แค่ความประทับใจในรูปแบบการแสดงที่น้าโย่งเป็นผู้สร้างสรรค์และถ่ายทอด แต่ศิลปินท่านนี้ยังควรแก่การยกย่องในฐานะผู้ที่ไม่เคยหยุดเดินตามความฝัน แม้ในวัย 54 ปี ซึ่งผลักดันให้ชื่อ “น้าโย่ง เชิญยิ้ม” เป็นหนึ่งในตลกแถวหน้าของเมืองไทย

อยากให้เล่าย้อนไปถึงชีวิตในวัยเด็กของน้าโย่งที่มีความใกล้ชิดกับ ลิเก-เพลงฉ่อย
น้าโย่งอยู่พิษณุโลกกับแม่ที่ทำไร่ทำนาหาเลี้ยง เราชอบฟังเพลงลูกทุ่ง ดูลิเก ชอบนั่งใกล้วงปี่พาทย์ เวลาคนตีฉิ่งไปเข้าห้องน้ำก็แอบหยิบฉิ่งฉาบมาตีบ้าง หรือเวลามีงานศพงานบุญในหมู่บ้านจะมีวงดนตรีเครื่องสาย เล่นซอ เราก็ไปติ่งฉิ่งตีฉาบด้วย หัดเรียนรู้จังหวะ ฉิ่งก็คือครูจังหวะของเรานี่เอง ทีนี้พี่สาวพ่อเราชื่อป้านกหวีด เขาเป็นเพลงฉ่อยที่สมัยนั้นมีเป็นวงเป็นคณะทำมาหากินกันได้เลย เราก็เริ่มหัดเพลงฉ่อยกับป้านกหวีดตั้งแต่ ป.5 ร้องเพลง ปรบมือ ตีกรับ ขี่ควายก็ร้อง ปีนต้นไม้ก็ร้อง กว่าจะจับทำนองได้ก็นาน ช่วงนั้นไม่ค่อยมีงาน แต่เราก็ได้รับการปลูกฝังในท่วงทำนองของเพลงฉ่อยแล้ว

พอจบ ป.7 ออกจากโรงเรียนไปทำไร่กับแม่ได้สองปีก็เริ่มหลงเสน่ห์ในลิเก เราก็ฝันต่ออีกแล้วว่าอยากเป็นลิเก เลยไปหัดลิเกเป็นตัวโจ๊กคือตัวตลกมาตลอด ชีวิตลิเกสิบกว่าปีได้อะไรมาเยอะ ได้อิ่ม ได้อด ได้หิว ได้หนาว ได้ร้อน ได้เหนื่อย เราเล่นลิเกด้วยใจรัก ไม่ได้มาด้วยความจนยาก จนได้โอกาสมาอยู่คณะ “ศักดิ์นรินทร์ดาวร้าย” ที่ดังมากของพิษณุโลก

มีจุดพลิกผันอะไรจึงหันมาเป็นตลก จนเป็น “น้าโย่ง เชิญยิ้ม” ในทุกวันนี้คะ
เราชอบทำอะไรให้คนอื่นมีความสุข การแสดงตลกมันมีเสน่ห์ อยากไปยืนเล่นแบบนั้น ยิ่งเห็นเขาออกโทรทัศน์กัน ถึงขนาดฝันว่าได้เล่นตลกกับคณะเชิญยิ้ม พอตื่นขึ้นมายกมือไหว้ครูบาอาจารย์ สาธุ ขอให้ลูกได้เป็นตลกเถอะ จนกระทั่งมาเจอ คุณสมหมาย เจริญสุข ซึ่งเป็นลิเก เขารู้จักตลกหลายคนเลยพาเข้ากรุงเทพฯ ในวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 อะไรที่มันก้าวไปสู่ความฝันเราจะจำได้ฝังใจ ไปสมัครอยู่หลายคณะ เขาก็เต็มหมดจนได้เล่นตลกวันที่ 12 กรกฎาคมกับคณะ “น่ารัก” จากนั้นก็มาอยู่คณะ “เด่นรวมดาว” กับพี่เด่น ดอกประดู่ จนได้ชื่อ “โย่ง พิษณุโลก” แล้วเปลี่ยนมาอยู่คณะ “ยาว อยุธยา” และขอแยกตัวในปี 2538 เพราะอยากเล่นอีกแนวหนึ่ง เลยตามเพื่อนมารวมตัวกัน มีน้าเตี้ย ดักแด้ น้าควง น้าอ๊อด เป็นคณะ “โย่ง พิษณุโลก”

คณะน้าโย่งได้ออกทีวีครั้งแรกในรายการ “ตะลุย ตลาด ตลก” ตอนนั้นคนยังทักผิดเป็นพี่ยาว อยุธยา อยู่เลย จนกระทั่งช่วงหนึ่งที่ตลกทั่วประเทศบวชถวายสมเด็จย่า น้าโย่งได้นั่งฉันข้าวข้างพี่โน้ต เชิญยิ้ม และพี่เป็ด เชิญยิ้ม เขาบอกว่าถ้าสึกแล้วจะให้ไปเล่นในรายการตลกที่ทำอยู่ (ก่อนบ่ายคลายเครียด) เลยได้ขอใช้นามสกุล “เชิญยิ้ม” ตั้งแต่นั้นมา เราก็เริ่มใช้ภาษาพลิกไปพลิกมาแบบที่คนอื่นเรียกว่าเล่นคำ คนดูรายการก็เริ่มจำได้ พอเล่นในห้องอาหารเราเริ่มพูดมากแบบทอล์กโชว์ จนอาจารย์พิษณุ สกุลโรมวิลาศ ชวนทำทอล์คโชว์คั่นช่วงพักโต้วาทีของนักพูดดังๆ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย คนดูสนุก เขาก็ตัดเทปช่วงนั้นออกทีวี คนก็เริ่มรู้จักจนกลายเป็นทอล์กโชว์ของตัวเอง “โย่ง ทอล์ค” ตอน “โย่งแอดวานซ์ ไร้สารเครียด” ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 จนถึงตอนนี้จัดเป็นครั้งที่ 7 แล้ว

การรู้เพลงฉ่อยและลิเกมาก่อนมีข้อได้เปรียบในการเล่นตลกหรือทอล์คโชว์บ้างไหมคะ
ลิเก เพลงฉ่อย เราไม่เคยทิ้งเลย แต่ถูกนำเสนอแบบมีอย่างอื่นมาบดบังอยู่ นำเสนอในตลก ตลกก็บังอยู่ นำเสนอในทอล์คโชว์ ทอล์คโชว์ก็บังอยู่ คนอาจไม่ได้มองเห็นความสำคัญของเพลงฉ่อยหรือเพลงพื้นบ้านที่เราพกติดอยู่ในใจ น้าโย่งไปเล่นตลกก็ร้องอยู่เรื่อยๆ แต่คนไม่รู้ว่าเพลงอะไร



อย่างนั้นน้าโย่งทำอย่างไรให้เพลงฉ่อยกลายเป็นพระเอกตัวจริงขึ้นมาได้
น้าโย่ง น้าพวง น้านง มีโอกาสไปเล่นเพลงฉ่อยในงานทอล์คโชว์ของ อาจารย์จตุพล ชมพูนิช มีคนเอาไปลงในยูทูป ทำให้ได้รับการติดต่อให้ขึ้นโชว์ใน “คอนเสิร์ตคุณพระช่วย” ไปเล่นหน้าม่าน คือเล่นคั่นระหว่างเขาเปลี่ยนฉาก ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี คนรุ่นใหม่เริ่มรู้จักเพลงฉ่อยมากขึ้น คนรุ่นเก่าก็เริ่มรื้อฟื้นความจำ จากนั้น 2-3 เดือน โปรดิวเซอร์รายการ อยากให้เราเป็นช่วงหนึ่งของ “คุณพระช่วย” น้าโย่งดีใจมากที่จะได้มีพื้นที่นำเสนอในสิ่งที่เรารัก ไม่ได้ดีใจว่าเราจะได้เงิน กระแสตอบรับดี ตามรถตู้รถทัวร์ก็เอาไปเปิดกัน

เสน่ห์ของเพลงฉ่อยคืออะไร
เพลงฉ่อยเขาเรียกว่าเพลงพื้นบ้าน จริงๆ แล้วเมื่อก่อนคนเมาร้องเพลงฉ่อยบนเรือนบ้าน ใครโต้ได้ก็ลุกขึ้นมาร้องแก้กัน จนเอาไปร้องตามงานรื่นเริงต่างๆ กลายเป็นอาชีพ เป็นเรื่องเขาก็เล่นนะ ขุนช้างขุนแผน แต่ถ้ายุคน้าโย่งก็ปรับเป็นมุกตลก ไม่จำเป็นต้องมีคู่เล่นก็ได้ ผมว่ามันเป็นกีฬาสมอง เคาะสนิมออกจากสมอง ร้องเพลินๆ จุดเด่นอีกอย่างคือใช้ปรบมือ ตีกรับ ไม่มีตะโพน อย่างลำตัดต้องใช้ตะโพน รำมะนา ประกอบจังหวะ

เพลงฉ่อยแตกต่างจากลำตัดอย่างไร
ลำก็คือร้อง ตัดคือเอาสิ่งละอันพันละน้อยมาไว้ในลำตัด ฉะนั้นลำตัดนี้ให้ร้องเพลงฉ่อยก็ร้องได้ เพลงเกี่ยวข้าวก็ร้องได้ เพลงเรือเขาก็ร้องได้ เพลงขอทานก็ร้องได้ เพลงพื้นบ้านต่างๆ จะมารวมอยู่ในลำตัด พูดถึงลำตัด น้าโย่งต้องขอบคุณพ่อหวังเต๊ะมากๆ ที่ให้คำแนะนำ น้าโย่งจะไม่อายกับเรื่องที่ไม่รู้ ถ้าไม่รู้จะถามเลย คำถามเป็นกุญแจไขลิ้นชักความรู้อย่างดีเลย แล้วเราก็รู้มาก็เอาไปสืบต่อ เราเคยเห็นพ่อหวังเต๊ะตีกรับขอทานที่เดี๋ยวนี้หาดูยาก แกเองก็ตีไม่ไหว เราเลยขอเอาไปตีให้เด็กได้รู้ว่ามันตีอย่างนี้ นอกจากพ่อหวังเต๊ะยังมีครูประทีป สุขโสภา ที่อนุรักษ์เรื่องการตีกรับขอทานอยู่ที่สุโขทัย เราก็จำมาจากท่าน

เพลงฉ่อยที่เล่นในรายการ ช่วง “จำอวดหน้าม่าน” มีการเตรียมตัวมาก่อนหรือด้นสด
การแสดงแต่ละครั้งต้องมีการวางแผนไว้ก่อน สังคมเราเกิดอะไรขึ้น ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร เราเก็บประเด็นมาคุยกัน ทิศทางการร้องจะไปทางไหน มุกจะเล่นอย่างไร แต่เวลาร้องจริงๆ จำไม่ได้หมดหรอก พอลืมเราก็มีการด้นหรือด้นดั้นไปให้ได้

น้าโย่งคิดว่าการร้องเพลงฉ่อยจะต้องฝึกฝนทักษะอะไรบ้าง
ความหมายของภาษาไทย อักขระ ร้องให้สุดคำ รำให้สุดแขน ออกเสียงให้ชัด แต่น้าโย่งก็ไม่ได้ชัดทุกคำ บางทีการนำภาษาวิบัติมาใช้ก็เพื่อให้ถึงกลุ่มวัยรุ่น “ชิมิๆ” “อะเด่ะๆ” น้าโย่งเอาพื้นเก่ามาผสมผสานกับคำใหม่ มันสะสมจากประสบการณ์ที่ผ่านมาที่เราอยู่กับภาษาตลอด ลิเก เพลงฉ่อย บางทีก็คิดไม่ออกก็ด้นๆ ดั้นๆ ไปนั่นแหละ ตัวเราจะสนใจอ่านเยอะก็ดี ฟังเยอะก็ดี หรือคุยกับคนเยอะก็ดี บางทีต้องหาความรู้รอบตัว เพลงฉ่อยมันหยุดนิ่งไม่ได้ ส่วนใหญ่น้าโย่งจะร้องเป็นกลอนไรเพราะสะดวกกับมุก หาคำง่ายกว่า จริงๆ ร้องได้ทุกกลอน กลอนรี กลอนรู ถ้าเริ่มเดินกลอนไรก็ลงกลอนไร

น้าโย่งเป็นทั้งตลก เป็นนักแสดงพื้นบ้าน เป็นนักเดี่ยวไมโครโฟน สำหรับตัวเองแล้วคิดว่าตัวเราเป็นอะไร
ผมเป็นนักแสวงหาในสิ่งที่จะมานำเสนอ เลยไม่รู้จะเรียกตัวเองว่าอะไร เราจะไม่เรียกตัวเองว่าศิลปินเพราะศิลปินต้องถึงขั้น แต่เรารู้ตัวเองว่าเราไม่หยุดนิ่ง คิดอยู่ตลอดว่าจะทำอะไร เราทำหลายอย่าง แต่เราไม่ได้เก่งมาตั้งแต่แรกเริ่มต้น ก็มาเรียนรู้ ขวนขวายเอา สิ่งที่ทำไม่ได้ก็ฝึกฝน ถ้าเราหยุดหรือช้าไปจะไม่ทัน อาชีพนี้ก็เหมือนกัน ต้องขยันเดินเกาะกลุ่มไปกับเขา ไม่ใช่ว่าพอเป็นตลกแล้วก็เป็นตลกอย่างเดียว เป็นลิเกอย่างเดียว เพราะมันมีโอกาสที่จะหายไป
น้าโย่งตื่นมามองนาฬิกาที่ปลายเท้า เข็มมันเดินฉึกๆ ผมรู้สึกว่ามันเฉือนชีวิตเราให้สั้นลงทุกวินาที แม้แต่นอนหลับก็ไม่หยุดเฉือน พอตื่นมาอายุเรามากกว่าเก่า เราต้องรีบคิดรีบทำ เลยมีความรู้สึกว่าวันนี้จะทำอะไร รอพรุ่งนี้ไม่ได้ เพราะตื่นมาเป็นวันนี้ทุกที

จากคนจบ ป.7 ปัจจุบันน้าโย่งได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานาฏศิลป์ จากรามคำแหง รู้สึกอย่างไรบ้างคะ
ดีใจเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่ได้หวัง เราทำทุกอย่างไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน แค่ทำแล้วมีความสุขเท่านั้นเอง ก็ต้องขอขอบพระคุณคณะกรรมการที่พิจารณามอบปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์



จากนี้ไปทิศทางของเพลงพื้นบ้านหรือการร้องเพลงฉ่อยจะเป็นอย่างไร
ผมก็ได้ยินคนเอามาใช้ในเพลงลูกทุ่งบ้าง ผมยังหวังอยู่ในใจลึกๆ ว่าอยากเห็นงานอำเภอ งานจังหวัด มีลำตัด มีเพลงฉ่อย มีกลิ่นไอของความเป็นไทยอยู่ด้วย จริงๆ แล้วคณะลำตัดเพลงฉ่อยยังมีอยู่แถวสุพรรณบุรี ลาดหลุมแก้วนะครับ คณะสายของพ่อหวังเต๊ะ แม่ศรีนวล แม่ขวัญจิต ก็เล่นอยู่ ตอนนี้ในกลุ่มวัยรุ่นก็อยากจะร้องเพลงฉ่อยเอง น้าโย่งเคยไปเป็นวิทยากรเพลงฉ่อยที่ ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม นักศึกษาร้องเพลงฉ่อยเป็น เขาลุกขึ้นโต้กับเรา สิ่งที่เราชื่นใจคือสำเนียงเขาได้เลย แสดงว่าเขาไม่ได้ฝึกแค่วันเดียวแล้วมาร้องกับเรา มันต้องลงลึกแล้วถึงจะได้ขนาดนั้น ดูในเฟซบุ๊คของน้าโย่งเห็นนักศึกษาโพสต์เข้ามาขอบคุณน้าโย่งที่ทำให้พวกเรารักเพลงฉ่อย จนมีผู้ใหญ่นำเสนอชื่อให้เขาเข้ารับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน น้าโย่งก็ดีใจและให้กำลังใจ ศิลปะพื้นบ้านจะไม่หายไปถ้ามีคนอย่างพวกคุณ

ฝากถึงเด็กวัยรุ่นที่อาจจะไม่กล้าเดินตามฝันของตัวเอง
วัยรุ่นที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไร ลองกำหนดทิศทางตัวเองว่าชอบอะไร บางทีชอบสิ่งนั้น ลงมือทำจริงจัง เราก็จะรุ่งโรจน์ในสิ่งที่ชอบ อาจารย์บุญชอบ คณิตารงค์ เจ้าของโรงเรียนช่างกลอุดรธานี เล่าให้ฟังว่ามีนักเรียนที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรม คล้ายๆ สายัณห์มาเรียนช่าง เขาคงจะเรียนช้ากว่าคนอื่น ทำรังผึ้งหม้อน้ำ ทำอยู่อย่างนั้นจนคล่อง จนตอนนี้เขาเป็นเจ้าของร้าน เปิดกิจการเกี่ยวกับหม้อน้ำนี่แหละ คติประจำใจของน้าโย่งคือ เดินไปล้มเอาข้างหน้า ดีกว่าตั้งท่าอยู่นิ่งๆ ที่ผ่านมาน้าโย่งมี “พะ” ดี คือ “พยายาม” นี่แหละ ใช้ความพยายามให้เปลืองแล้วจะได้มาในสิ่งที่หวังครับ