จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์ The Editor on Street
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-04-02 11:47:30
เรื่องและภาพ: ศรินทร เอี่ยมแฟง
หนังสือเป็นศิลปะด้วยนะ หนังสือบังเอิญเรียกว่าหนังสือ แต่ตามความคิดผมมันคือสื่อ เราอ่านด้วยภาพได้ แล้วกลายเป็นคำพูดที่ดูหน้าเดียวกันแล้วตีความได้คนละเรื่องก็ได้
ว่ากันว่า ภาพลักษณ์ของบรรณาธิการสามารถสะท้อนรูปแบบของนิตยสารเล่มที่เขาทำได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ พี่ปู-จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์ จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Cheeze นิตยสารสตรีทแฟชั่นเล่มแรกในเมืองไทย ถึงแม้ บก.สุดฮิปคนนี้จะถ่อมตัวว่าเขาเป็นเพียงคนทำหนังสือคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นกูรูด้านสตรีทแฟชั่นอย่างที่ใครๆ ตั้งฉายาให้ แต่นิตยสารที่เขาเป็นคนวางคอนเซ็ปต์ทั้งหมดก็มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางบนถนนสายแฟชั่นของวัยรุ่นไทยมาไม่น้อยกว่า 8 ปีแล้ว
ก่อนจะมาเป็น บก. Cheeze พี่ปูทำหนังสือมาก่อนหรือเปล่า
ผมเรียนจบที่ครุศิลป์ (คณะครุศาสตร์ ภาควิชาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ตอนที่เรียนจบ คอมพิวเตอร์กราฟิกกำลังบูมเลยไปทำเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ให้เบเกอรี่มิวสิค ทำนิตยสาร Katch เมื่อ 10 กว่าปี เริ่มจากดีไซเนอร์ อาร์ตไดเร็กเตอร์ บก.แฟชั่น จนได้เป็นบรรณาธิการบริหาร หลังจากนั้นก็ได้ทำนิตยสารเรื่อยมา แล้วก็เริ่มมาฟอร์ม Cheeze ของตัวเอง
จากนิตยสาร Katch ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์และมังงะ กลายมาเป็นนิตยสารแฟชั่นได้อย่างไร
ความชอบส่วนตัว แฟชั่นเริ่มมาตั้งแต่เด็กๆ เราเป็นเด็กสมุย สมัยนั้นสื่อมันน้อย ดูทีวีเห็นนักร้องแต่งตัวหรืออ่านแมกกาซีนเราก็จะไปหาซื้อมาใส่ตาม แต่พอมาเรียนที่กรุงเทพฯ เริ่มไปเดินจตุจักร สนามหลวง สยาม มีอะไรให้เล่นเยอะ ได้เรียนรู้มาเรื่อยๆ ตอนเริ่มทำหนังสือเราเป็นดีไซเนอร์เฉยๆ แต่ด้วยความชอบเลยขอเขาทำเรื่องแฟชั่น ช้อปปิ้ง
การเป็นบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นต้องมีส่วนประกอบหรือความสามารถอะไรบ้าง
ตอนได้รับโอกาสครั้งแรกก็ไม่รู้หรอกว่าการเป็น บก.เป็นอย่างไร การทำหนังสือทำอย่างไร เพียงแต่เราชอบอ่านหนังสือ เราเลยทำหนังสือที่อยากอ่านจากมุมมองคนอ่าน เรียนรู้พฤติกรรมคนอ่าน เอามาผนวกกับสิ่งที่เราอยากเสนอ เพราะหนังสือที่ดีไม่มีคนอ่านก็ไม่มีประโยชน์ เราต้องรู้จัก identity หรือตัวตนของหนังสือ กลุ่มเป้าหมาย อย่าง Cheeze เรากำหนดคนอ่าน 18-25 ปี มันเยอะมากทั่วประเทศ มีพฤติกรรมแบบไหน ไลฟ์สไตล์แบบไหน เรียนอะไร รายได้เท่าไหร่ เราก็จะรู้ว่าควรใส่เนื้อหาอะไรในหนังสือ แต่เราต้องรู้จริงต้องถนัดด้วย
ระหว่างคนที่รู้เรื่องแฟชั่นกับคนที่เขียนได้ พี่ปูเลือกทีมแบบไหน
เราเชื่อว่าใครๆ ก็เก่งกันได้ ฝึกแป๊บเดียว สิ่งที่ผมเน้นคือทัศนคติ คนเราคอเดียวกันมาอยู่ด้วยกันมันจะคุยกันรู้เรื่อง ต้องดูตากันแล้วรู้ว่ามีทัศนคติที่ดี ต้องมีเซ้นส์เรื่องแฟชั่นนิดหนึ่ง ถ้าแฟชั่นเป็นไลฟ์สไตล์หรือสิ่งที่เขาชอบจริงๆ การทำงานก็เหมือนการพักผ่อนเลยล่ะ
เนื้อหาหลักของ Cheeze คือการถ่ายรูปคนแต่งตัวตามท้องถนน มีวิธีการเลือกอย่างไรว่าคนนี้สมควรลง
จริงๆ แฟชั่นดีหมด ทุกคนแต่งตัวดีของเขา เราไม่ได้บอกว่าคนที่เราไม่ถ่ายแต่งตัวไม่ดี เราแค่กำหนดเป้าหมายของหนังสือเรา มีการเทรนนิ่งพนักงานช่างภาพทุกคนว่าแฟชั่นของเราคือประมาณนี้ มันพูดเป็นรูปเป็นร่างไม่ได้ แต่ถ้ากาง Cheeze กับเล่มอื่นๆ ดูก็จะไม่เหมือนกัน
“on street” จริงๆ คือชีวิตจริงๆ เราไม่สามารถแต่งตัวทั้งตัวเป็นแบรนด์เดียวกัน เราไม่ได้จับใครมาแต่งตัว ในแต่ละคนมีความน่าสนใจซ่อนอยู่ รองเท้าอาจจะแพงเวอร์ เสื้อเป็นของน้องของแม่ กางเกงตลาดนัด แต่แว่นแพง มือหนึ่งมือสอง Cheezeไม่ได้ถ่ายคนแต่งตัวดีนะครับ แต่ถ่ายคนที่แต่งตัวเหมาะสม มีกาลเทศะ เราสอนให้คนรู้จักแต่งตัวแบบดูสิ่งแวดล้อมด้วย
เมื่อแฟชั่นวนเวียนไปมา จะมีวันที่คิดธีมเล่มไม่ออกไหม
แฟชั่นหมุนเวียนก็จริงแต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปรูปแบบจะเปลี่ยนไป สมัยหนึ่งยีนส์ฮิตขาบาน วันหนึ่งเปลี่ยนเป็นเสื้อยีนส์ อีกวันหนึ่งเป็นแอสเซสซอรี่ส์ เราไม่ได้ตั้งธีมแบบครอบจักรวาล เราดูจากสิ่งที่สัมผัสได้อยู่ว่าตอนนี้น่าจะทำกระแสอะไร มันจะไม่ตันเพราะเราเห็นว่ามันเกิดขึ้น เริ่มมี เราไม่ได้คิดล่วงหน้าเพื่อให้เขามาแต่งตามเรา อันนี้อาจจะตันได้ สังคมเป็นคนกำหนดหนังสือ เราไม่ได้กำหนด หนังสือพี่เป็นหนังสือข่าว แต่เป็นข่าวแฟชั่น เป็นหนังสือที่บันทึกวัฒนธรรมการแต่งตัวของสังคมไว้เป็นยุคสมัย เป็นปีๆ เป็นเดือนๆ มันคือประวัติศาสตร์การแต่งตัวของคนไทย เวลาผ่านไป 50 ปีก็สามารถเอาหนังสือเล่มนี้มาเปิดดูว่าแฟชั่นเปลี่ยนไปอย่างไร
Cheeze กำลังก้าวสู่ปีที่ 9 และ Cheeze LOOKER เปิดตัวเป็นนิตยสารผู้ชายแนวสตรีทเล่มแรก พี่ปูคิดว่าทำไมทั้งสองเล่มถึงถูกใจวัยรุ่น
เราแค่อยากทำงานที่เราชอบให้ดีที่สุด ก็กึ่งๆ ทำธุรกิจ ทำวิจัยหนังสือ คนอยากอ่านอะไร ประเทศนี้ยังไม่มีหนังสือแบบนี้ หนึ่ง พี่มองว่าเป็นความแปลกใหม่ สอง จังหวะเวลามันได้ กระแสของสตรีทแฟชั่นเริ่มเข้ามา ถือว่าเราโชคดี ที่ทำก่อนใคร แล้วคนอ่านอิน ชอบ เอาด้วย กลายเป็นโปรไฟล์ที่ดีของบริษัท ต่อยอดจนออก Cheeze LOOKER มาอีกเล่ม ซึ่งการออกเล่มนี้ก็ไม่อยากทำหนังสือผู้ชายแบบใครๆ อีกเหมือนกัน เรามองว่าผู้ชายอายุตั้งแต่ 25-60 ปีก็มีสิทธิ์ดูแลตัวเองนะ ใครบอกผู้ชายไม่ช้อปปิ้ง การแต่งตัวดีก็ไม่ได้ผิดตรงไหน เราไม่ได้ส่งเสริมให้คนดีแต่แต่งตัว ทำมาหากินแต่ก็แต่งตัวให้มันดูดีนิดหน่อย ผู้ชายที่แต่งตัวดีผู้หญิงก็รู้สึกปลอดภัย Cheeze LOOKER กระแสตอบรับดีมากๆ โตเร็วกว่าที่คิดเยอะ เราต้องยอมรับว่าคนเราไลฟ์สไตล์แต่ละวันแต่ละช่วงมีหลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งเขาทำงานออฟฟิศ เวลาพักผ่อนก็เป็นอีกแบบ หนังสือผมก็ตอบอารมณ์อีกแบบหนึ่ง คนๆ หนึ่งไม่ได้อ่านแมกกาซีนเล่มเดียวแน่นอน ชอบรถก็ไปอ่านหนังสือรถ
ทิศทางของ Cheeze จะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อคนอ่านหนังสือน้อยลง
จริงๆ Cheeze ไม่ใช่หนังสือแต่เป็นอะไรก็ได้ เป็นผลงานชิ้นหนึ่ง วันนี้เรามีทีวี กิจกรรม เตรียมทำโรงแรม อะไรก็ได้ที่อยู่ร่วมกับคนปัจจุบัน เป็นแฟชั่นหน่อยๆ ผมอยากให้ Cheeze อยู่ไปถึง 40-50 ปี หรือ 100 ปี ตอนนั้นอาจจะเป็นโปรดักส์อะไรก็ได้เพราะคนอาจจะไม่ได้อ่านหนังสือแล้ว เคยตั้งเป้าไว้ว่าถ้าคนนึกถึงแฟชั่นหรือไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อยากให้นึกถึงกลุ่มของ Cheeze
บางคนมอง Cheeze ว่าเป็นหนังสือภาพ ไม่ได้ให้คอนเทนต์อะไร
หนังสือเป็นศิลปะด้วยนะ หนังสือบังเอิญเรียกว่าหนังสือ แต่ตามความคิดผมมันคือสื่อ เราอ่านด้วยภาพได้ แล้วกลายเป็นคำพูดที่ดูหน้าเดียวกันแล้วตีความได้คนละเรื่องก็ได้ ดีไม่ดีดูนานกว่าบทความ และสร้างแรงบันดาลใจได้เยอะกว่า บางคนเกิดแรงบันดาลใจเรื่องเสื้อผ้า สี แว่น บางคนเอาไปทำมาหากินเรื่องตัดเย็บเสื้อผ้า ผมมองว่าภาพเป็นภาษาสากล จุดอ่อนของหนังสือไทยส่วนหนึ่งคือดูกันเองในประเทศ ยอดพิมพ์ถึงต่ำ ต้องพึ่งโฆษณาเยอะ เพราะคนไทยอ่านหนังสือน้อย หนังสือผมขายต่างประเทศได้เพราะเป็นภาพ ผมว่าได้เปรียบ
คุณค่าของแฟชั่นอยู่ที่ไหน
แล้วแต่คน พี่ทำหนังสือพี่อยากให้ความรู้เรื่องแฟชั่นคนก็จริง แต่แต่ละคนก็ได้คุณค่าไม่เหมือนกันแล้วแต่ว่าเขาต้องการอะไร บางคนคุณค่าอยู่ที่การแต่งตัวให้ดีขึ้น บางคนเป็นสไตลิสต์คุณค่าก็อีกแบบ บางคนไม่ได้ดูอะไรนอกจากกราฟิก คุณค่าก็อยู่ที่กราฟิก บางคนดูเฉยๆ คุณค่าคือความบันเทิง ดูแล้วยิ้ม หลั่งสารความสุขออกมาก็เป็นคุณค่า
สตรีทแฟชั่นจะเป็นแค่กระแสที่ผ่านมาแล้วผ่านไปหรือเปล่า
หนังสือเรานำเสนอวัฒนธรรมการแต่งตัวทางสังคม ถามว่าจะหายไปไหม ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่หายแน่นอน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มคือปัจจัยสี่ เป็นการแต่งตัวทั่วไปที่ไม่ได้มีสไตลิสต์มาจับแต่ง มันไม่หายไปหรอก
กับคำถามที่ว่า “เทรนด์ปีนี้อะไร in/out”
นี่คือคำถามที่ทุกคนชอบถามแล้วพี่ไม่เคยตอบได้ พี่รู้สึกว่าพี่ไม่ใช่คนกำหนด แล้วเราอย่าไปกำหนดเลย มันมีสิทธิ์ผิดและถูก แฟชั่นแต่ละยุคมีเยอะมาก วันนี้อาจจะมีอินอยู่ 20 สไตล์ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งหยิบมาพูดแค่สองสามอย่าง พอพูดพร้อมกันมันเลยบูม ผมอยากปล่อยให้แฟชั่นเป็นไปของมัน คนจะได้ไม่ต้องแห่ไปแต่งเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นแฟชั่นก็ไม่หลากหลาย ความสนุกก็ไม่เกิด อยากแต่งอะไรแต่งไปเถอะ แต่งแบบที่เหมาะกับเรา ศึกษาให้ดูดีหรือเท่ เอากลิ่นมานิดหน่อย อยากให้คนแต่งตัวเป็นนะ ไม่ต้องถามชาวบ้านอะไรกำลังมากำลังไป ทุกคนหาที่มาของมันได้
รู้สึกกดดันไหมเวลาแต่งตัว เพราะคนมองว่าพี่ปูเป็น “สตรีทแฟชั่นไอคอน”
พี่เป็นคนไม่กดดันเรื่องการแต่งตัวไง เพราะพี่ไม่ได้แต่งตัว คนมองว่าพี่แต่งตัว พี่ใส่เสื้อกล้ามกางเกงวอร์ม แค่ให้เหมาะสมกับกาลเทศะ จริงๆ แล้วคนรู้จักผมน้อย ผมเป็นคนโลว์โปรไฟล์ คนชอบบอกว่านี่คือกูรูทางด้านสตรีทแฟชั่น แต่เรารู้น้อยกว่าคนบางคนเยอะ
แฟชั่นไอคอน เยอะ แฟชั่นไอคอนเป็นยุค มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว สมัยก่อน 18 กะรัต ฟรุ้ตตี้ สุชาติ ชวางกูร ถัดมา ไมโคร พงษ์พัฒน์ พี่เอ็ม-สุรศักดิ์ ถัดมา พี่รอง-จิตต์สิงห์ สมบุญ บางทีผ่านยุคมาแล้วพวกเขาก็ไม่ได้แล้ว คงไม่มีแฟชั่นไอคอนที่ชัดเจนแล้วล่ะ แต่ไม่ได้บอกว่าไม่ศรัทธาใครนะ แมกกาซีนแฟชั่นที่อ่าน The Face, DAZED, NYLON, FRUiTS, ELLE ก็อ่าน VOGUE ก็อ่าน เดี๋ยวนี้แมกกาซีนแทรกสตรีทแฟชั่นไว้หมด พี่อ่านหนังสือเยอะมาก แต่ละเดือนหมดไปกับหนังสือ หนังสือพิมพ์ หนังสืออะไรก็ได้ อ่านทุกอย่าง กล่องยาสีฟันยังอ่าน ชีวิตหนึ่งเราเดินทางท่องเที่ยวได้ไม่มาก หนังสือหรืออินเทอร์เน็ตช่วยเปิดโลกให้กับเรา กล่องยาสีฟันยังให้ความรู้เลย เคล็ดลับสร้างความมั่นใจในการแต่งตัว พี่ไม่ถือว่าเป็นเคล็ดลับ เรามีกระจก 2 บานคือ กระจกจริงๆ ที่บ้าน ดูว่าเหมาะสมก็ออกจากบ้าน อีกบานก็คือสายตาของคนรอบข้าง ฟังแล้วปรับปรุง พอเริ่มแต่งตัวเป็นก็คงมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ ไอเท็มหนึ่งชิ้นที่ “เอาอยู่” สำหรับชายหญิง ผู้หญิง รองเท้าช่วยให้คุณเปลี่ยนสถานะได้ มีรองเท้า 2 คู่ รองเท้าส้นสูงที่ดูเป็นการเป็นงาน คุณอาจจะใส่กางเกงขาดๆ ใส่เสื้อยืดธรรมดา แต่เอารองเท้าให้เนี้ยบ สวยงาม คุณไปงานได้เลย ส่วนผู้ชายผมว่าหมวก เปลี่ยนบุคลิก เปลี่ยนสถานะ กาลเทศะ ชอบหมวกแบบไหนก็ติดตัวเอาไว้ พ็อคเก็ตบุ๊ก “มะนุด” จุดเริ่มต้นมาจากบทบรรณาธิการของทั้งสองเล่ม ปกติพี่ไม่ใช่นักเขียนแต่เป็นนักเล่าเรื่องเป็นภาษาของตัวเอง ไม่อยากเขียนว่าเล่มนี้เอาใครมาขึ้นปก หรือหน้าฝนดูแลตัวเองกันหน่อย พี่รู้สึกว่ามนุษย์ทุกวันนี้มีสิ่งยั่วยุ มีอารมณ์เยอะ เราจบครูมาเลยชอบแชร์ประสบการณ์ อยากสอนให้เข้าใจชีวิตรัก โลภ โกรธ หลง เสียใจ อกหัก ทั่วๆ ไป พอมีคนติดตามเลยรวบรวมเป็นเล่ม ปีนี้มีสามเล่ม ออกมาแล้วหนึ่งเล่ม ปลายปีจะออกอีกเล่มหนึ่ง |