www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

Alumni : ฝน ศนันธฉัตร เอกภาษาอังกฤษ มหิดล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-06-06 19:33:57

เรื่อง: วรรณวิสา สุภีโส ภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก


 ฝน ศนันธฉัตร 
 เอกภาษาอังกฤษ ศิลปศาสตร์ มหิดล 


ฝน ศนันธฉัตร 

หากน้อง ๆ ชาว #AdGang60 มีใจรักด้านภาษาเป็นชีวิตจิตใจ แบบรุ่นพี่สาวหมวยหน้าใส แถมเรียนเก่งขวัญใจวัยทีน ฝน-ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล จากคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ม.มหิดล กับผลงานล่าสุดที่เพิ่งจบไปอย่าง Love Song Love Series ตอน ฤดูร้อน และ U-Prince Series ตอน คิรัน พร้อมเล่าเส้นทางของคนรักภาษา จะเหมือนหรือต่างกับคณะอักษรฯ แค่ไหนตามไปดูกัน


เรียนเพราะชอบภาษา
บางคนถามว่าศิลปศาสตร์เป็นการแสดงเหมือนนิเทศฯ หรือเปล่า แต่จริง ๆ ให้คำจำกัดความคล้ายคณะอักษรฯ มากกว่าค่ะ เน้นเรื่องภาษา ส่วนตัวชอบภาษาอังกฤษมาตั้งนานแล้ว ตอน ม.ปลายเรียนศิลป์จีน ซึ่งก็จะเน้นทั้งภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ก็เลยรู้ตัวว่าชอบด้านนี้ค่ะ

หลักสูตรเอกอังกฤษ
เราสามารถเลือกวิชาเอกได้ตั้งแต่ปีหนึ่งค่ะ ที่นี่จะมีเอกไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งก็จะมีวิชาเลือกเป็นภาษาจีน เยอรมัน ฝรั่งเศส ไม่บังคับสามารถเลือกเรียนเองได้ในปีสูง ๆ ค่ะ ในปีหนึ่ง เรียนวิชาพื้นฐาน มีวิชาที่สอนเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ การใช้ชีวิต สังคม หรือว่าประวัติศาสตร์ เรียนรวมกับคณะอื่นทั้งมหาวิทยาลัยให้เราได้มีสังคมใหม่ เพื่อนใหม่
ปีสอง มีปรับพื้นฐานวิชาภาษาอังกฤษหลาย ๆ ระดับ มีวิชาเลือกได้มากขึ้น เราสนใจด้านไหนมีทั้งปรัชญา วิชาแปล วิชาล่าม หรือว่าสายภาษาไปเลยว่ารากภาษาคืออะไร phonetics การออกเสียงแบบตัวในพจนานุกรม เรียนแล้วก็ท่องเขียน essay (เรียงความภาษาอังกฤษ) ด้วยตัวเหล่านั้นได้ แทนตัวอักษรธรรมดาเพื่อการออกเสียงที่ถูก เรียนเรื่อง sound system เกี่ยวกับระบบเสียงภาษาอังกฤษ และเจาะลงลึกไปในรากภาษา
ปีสาม มีเรื่องสังคมวิทยาเข้ามา จริง ๆ หัวใจหลักของมหาวิทยาลัยเขาไม่ได้อยากให้ตัวเราเป็นแค่นักศึกษาหรือเป็นมนุษย์ แต่เราเป็น Humanities หรือมนุษยศาสตร์ ก็คือใส่ใจกับสิ่งรอบตัว กับสังคม ดังนั้นเราเรียนประวัติศาสตร์โลก การอยู่ร่วมกับผู้อื่น คือเขาบอกว่าเราไม่ได้อยู่ด้วยกันแบบต่างคนต่างอยู่ เราอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย แล้วก็เรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ค่ะ มีวิชาปรัชญาทำให้เราเข้าใจอะไรได้อีกระดับหนึ่ง
ปีสี่ เลือกด้านที่อยากเรียน บางคนไปเรียนแปลขั้นสูง เป็นล่าม เป็นนักภาษาศาสตร์ ล่ามก็จะมีหลายระดับ ล่ามพูดพร้อมคือพูดจบปั๊บเราก็พูดต่อ หรือล่ามการประชุม ล่ามวิชาการ ก็จะมีเทคนิคที่ต่างกันไป ซึ่งเราจะได้เรียนทุกอย่างแต่ว่าเป็นขั้นพื้นฐานค่ะ
 

ฝน ศนันธฉัตร
คณะที่ฝันกับเรียนจริง
คือหนึ่งรู้สึกว่าเรียนคณะที่ใช่มันไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป ถามว่าชอบคณะนี้มากเลยแต่ว่าต้องตื่นตีห้าไปเรียน อยู่หอก็ไม่ไหว แต่ใจอยากเรียนมหา’ลัยในเมือง คำนวณแล้วต้องตื่นตีห้า เสร็จงานเที่ยงคืน กลับบ้านตีสองไม่ได้นอนแน่ มีหลายปัจจัยที่ทำให้เราตัดสินใจ แล้วก็อาจจะเป็นสภาพแวดล้อมสังคมคุณอาจจะชอบเพื่อน ๆ มีระเบียบค่อนข้างเฟรนลี่ แต่จริงจังหน่อย หรือแบบฟรีเลยสนุกมาก กิจกรรมเยอะ ก่อนตัดสินใจเราก็ถามรุ่นพี่แต่ละโค้ช เราชอบสังคมแบบไหนมากกว่า บางคนอาจจะดูชื่อสถาบันก็พอ โอเคสถาบันน่าไว้ใจหลักสูตรดีจริง แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันก็คือการใช้ชีวิตในช่วงหนึ่ง ถ้าเราไม่อยากอยู่แบบไหนก็อย่าไปอยู่แบบนั้นเลยค่ะ ไม่ใช่เพราะว่าแบบนั้นไม่ดี แค่ไม่ใช่แบบที่ชอบค่ะ


สไตล์ไหนเหมาะกับสาขานี้
ต้องมีความรับผิดชอบสูงที่สุด แค่เข้ามหิดลก็ต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก เรียนคือเรียน แล้วก็ต้องเป็นคนที่ตรงต่อเวลา ใจรักด้านภาษา ถ้าไม่รักไม่รอดค่ะ เรียนด้านนี้ต้องใช้ใจเรียน แล้วก็ค่อนข้างเป็นคนที่ต้องเปิดรับอะไร ใหม่ ๆ เพราะว่าคณะไม่ได้สอนแบบวิชาการอย่างเดียว ดีตรงที่ให้เราเห็นความหลากหลายของวัฒนธรรม สอนให้เราเข้าใจมนุษย์ เพื่อนร่วมโลก เข้าใจความต่างมากขึ้น มีประโยชน์เพราะเวลาเราเข้าสังคมเราไม่ต้องปรับตัวใหม่เอง
 

ฝน ศนันธฉัตร
ติวเตอร์เฉพาะกิจ
เป็นธีสิสกลุ่มสามคน เรียกว่า Independent Study คิดโปรเจ็กต์แล้วมีอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อนในกลุ่มสนใจเรื่อง ELT หมายถึงเน้นด้านการสอนภาษา โปรเจ็กต์ของเราคือสอนภาษาไทยให้คนต่างชาติแล้วก็สอนคนไทยให้พูดภาษาอังกฤษ โดยทั้งสองกรุ๊ปต้องเริ่มเบสิกที่ศูนย์ไม่มีพื้นฐานเลย จัดเป็นคอร์สสี่ครั้งแปดชั่วโมง แล้วก็มาวิเคราะห์ว่าเทคนิคไหนใช้ได้ผล ใช้ในการวิจัยปรับระบบการศึกษาหรือการเรียนการสอนได้มากน้อยแค่ไหนค่ะ ที่เลือกเรื่องนี้เพราะเห็นจุดอ่อนในด้านการเรียนการสอน เห็นในฐานะนักเรียนนักศึกษา ว่าเวลาเราเรียนภาษาไทยภาษาอังกฤษ ทำไมถึงไม่ได้ผล มีจุดบกพร่องอะไรอยู่ ซึ่งผลที่ออกมาชาวต่างชาติสามารถพูดภาษาไทยได้ มีโจ๊กเล็ก ๆ เหมือนกันเวลาสอนเขาจะออกเสียงสระไม่ได้บางตัว เราก็จะสอนเสียงที่ใกล้เคียงเช่น แม่ หมา หมอ บางทีเขาจะพูดว่าพาหมาไปหาหมอ ทั้ง ๆ ที่เขาจะพูดว่าพาแม่ไปหาหมอ ก็ได้ปรับความเข้าใจเขาไป (ฮา)

ส่วนคนไทยเราสอนให้พูดภาษาอังกฤษให้เขาใช้ได้จริงด้วย ไม่ใช่แค่รีเสิร์ชแล้วจบโปรเจ็กต์ไป โอเคพี่ทำงานใช่ไหม ดังนั้นเราจะสอนเวลาคุณไปสัมภาษณ์คุณควรจะตอบอะไร ใช้คำศัพท์อะไรบ้าง เป็นคอร์สสนทนาเร่งรัดนิดหนึ่งค่ะ ประโยคนี้มี SVO subject-verb-object ยังไงแล้วจะให้ศัพท์เขาไปเหมือนเล่นเกมสลับคำ เลือกคำศัพท์เข้าไปในประโยค เวลาไปใช้เองมีคำศัพท์อยู่เขาก็จะสามารถโยนเข้าไปในโครงสร้างของเราได้และใช้ได้จริง
 

ฝน ศนันธฉัตร

มุมมองจากติวเตอร์เฉพาะกิจ
เรื่องการบอกเวลาค่ะ ซึ่งชาวต่างชาติไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นทุ่มเป็นโมง เราก็เลยไปศึกษาประวัติศาสตร์มาให้ เป็นเรื่องเล่าแต่ว่าใช้ได้จริง เขาบอกว่า เมื่อก่อนไม่มีนาฬิกาในการบอกเวลา จะใช้ตัวฆ้อง ใช้กลอง เขาก็มีคำถามขึ้นมาว่า ทำไมยูถึงคิดว่าไอเป็นผลไม้ ทำไมเรียกไอว่าฝรั่ง เราบอกเพราะว่า ที่เรียกว่าฝรั่งในสมัยประวัติศาสตร์ประเทศแรก ๆ ที่เข้ามาก็คือฝรั่งเศส คนก็จะเรียกว่า ฟรานซ์ ๆ ซึ่งก็ทำให้คนไทยเรียกชาวต่างชาติทุกชาติที่เข้ามาว่าฝรั่ง ไม่ว่าจะยุโรป อเมริกา เอเชีย เขาก็เลยอ่อเหรอไอเข้าใจแล้ว เข้าใจผิดว่าโดนคนไทยดูถูกมาตลอดเวลา เหมือนเราก็ได้ปรับมุมองที่ชาวต่างชาติมีต่อเราได้ด้วย


วัยรุ่นกับภาษาอังกฤษ
ภาษาอังกฤษเข้าถึงทุกคนง่ายขึ้น คุณอยากรู้ภาษาอังกฤษกูเกิลเอาก็ได้ผิด ๆ ถูก ๆ ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย หรือจะอ่านอะไรก็ตามคลิกเดียวก็ทำให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้ textbook e-book ฟรี ๆ เยอะมาก ทำให้เด็กเข้าถึงมากขึ้น แล้วเด็กก็ใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้นจากในชีวิตประจำวันหรือว่าในโลกโซเชียล เหมาะสมไหม ถูกต้องไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง การที่เขาใช้ได้แค่นั้นก็โอเคแล้วถ้าไม่ได้เอาไปใช้ในสายอาชีพค่ะ
 

ฝน ศนันธฉัตร


ฝันอีกก้าว
อยากเข้าบริษัทแมกกาซีน เพราะยังอยู่ในสายงานนี้อยู่ อาจจะไปเป็นนักเขียน คอลัมน์นิสต์ นักข่าว จริง ๆ อยากเป็นพิธีกรอ่านข่าว คอลัมน์นิสต์ไม่เคยเป็นคนเขียนเองก็มีแบบโฟโต้บุ๊กไปแจม ๆ บ้าง ก็อยากมีคอลัมน์เป็นของตัวเองนะ ยังไม่ได้เริ่มสักที


ตลาดงาน
บางคนไปเป็นฝ่ายบุคคล แอร์โฮสเตส นักการทูต นักการโรงแรมหรือว่าจะทำจัดซื้อต่างประเทศ ทนายแปลกฎหมายระหว่างประเทศ ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหรืออยากจะไปทำอะไรก็ได้จริง ๆ แล้วเปิดกว้างมาก เพราะว่าเรามีภาษาก็เหมือนมีเครื่องมือการสื่อสารติดตัวค่ะ
 

ฝน ศนันธฉัตร

ศิลปศาสตร์ มหิดล