www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

เทคนิคพิชิต Admissions โดย ปราง คะแนนอับดับ 1 ของประเทศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-08-11 11:58:32

ปราง คะแนน Admissions อับดับ 1 ของประเทศ 

เด็กสายวิทย์หัวใจนิเทศ


ปราง-ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา


เด็กเนิร์ดสายวิทย์ ใคร ๆ ก็คาดหวังว่าจะต้องเป็นหมอ แต่ ปราง-ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา เลือกเดินตามความฝัน เลือกสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ทำแล้วมีความสุข ตัดสินใจเข้าคณะนิเทศศาสตร์ และมีคะแนน Admissions เป็นอับดับ 1 ของประเทศ หลงรักอะไรในคณะนิเทศศาสตร์ไปเจาะลึกเส้นทางการค้นหาตัวเอง และเทคนิคการทำคะแนนพุ่งปรี๊ด จากปรางกันเลย


 

ความฝันในวัยเด็ก

ตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นคนที่ดูเหมือนกับเรียนเก่ง ทุกคนจะคิดว่าต้องเป็นหมอแน่นอน เลยไม่มีคนมาถามว่าจริง ๆ แล้วอยากเป็นอะไร เราเองก็ยังไม่รู้ชัดเจนว่าอยากเป็นอะไร ชอบวิชาวิทยาศาสตร์ ชอบอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป จนตอน ม.6 เรียนวิชาสุขศึกษาครูเอารูปฟันใหญ่ ๆ มาขึ้นจอ เลยรู้สึกกลัวฟัน กลัวปาก แค่นี้เราก็ไม่ไหวแล้ว เลยตัดสินใจว่าจะไม่เป็นหมอ
 

จุดเริ่มต้นในการค้นหาตัวเอง
เป็นคนชอบการถ่ายรูปอยู่แล้ว ปรางเลือกเข้าชมรมการถ่ายภาพ ปรางคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก ๆ เพราะว่าปรางเริ่มเข้ามาอยู่ในกลุ่มคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ ชอบการทำสื่อ พอได้รู้จักการตัดต่อวิดีโอ ได้ลองทำนิตยสารโรงเรียน ทำให้ปรางชอบมันสนุกที่ได้วางแผน ได้ใช้จินตนาการ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก และความรู้ ให้กับคนอื่นพอถึง ม.ปลาย ก็ได้เป็นรองประธานของชมรม
 

ปราง-ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา


จากชมรมถ่ายภาพ สู่คณะในฝัน
งานในชมรมทำให้เรามีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เราได้เพื่อนได้สังคมใหม่ ๆ ได้รู้จักรุ่นพี่ และปรางได้พบกับพี่ที่ประสบความสำเร็จด้านการทำโฆษณา เป็นศิษย์เก่าปทุมวัน และศิษย์เก่านิเทศฯ จุฬาฯ ปรางมีความรู้สึกว่าอาชีพบนโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่หมอ วิศวะ ทันตะ มันยังมีอาชีพที่หลบซ่อนกันอยู่ ปรางคิดว่าทุกอาชีพ มันเป็นเฟืองตัวเล็ก ๆ แล้วนำมาประกอบกันกลายเป็นสังคมอันใหญ่ถ้าขาดเฟืองอันหนึ่งไป มันก็ไม่สามารถหมุนได้ เพราะฉะนั้นทุกอาชีพมีความสำคัญและทุกอาชีพสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ ปรางอาจจะสร้างหนังหรือโฆษณาหรืออะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นเพื่อให้เขาลุกขึ้นสู้ ปรางเลือกคณะที่ชอบ ปรางมีความสุขและสนุกไปกับมัน ทั้งหมดทำให้ปรางตัดสินใจเลือก คณะนิเทศศาสตร์
 

การสนับสนุนจากพ่อแม่
ปรางเป็นคนที่คุยกับพ่อแม่ตลอด ว่าปรางชอบอะไร อยากทำอะไรบ้าง การถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกมากกว่า ส่วนงานหลักของปรางคือเรียนหนังสือปรางถ่ายภาพมาเรื่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มรู้แล้วว่าเราชอบทางด้านนี้จริง ๆ ตอนแรกคุณพ่อคุณแม่คาดหวังว่าเราจะเป็นหมอ พอเรามาบอกว่าจะเข้านิเทศ ท่านก็แปลกใจนิดนึง แต่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและให้การสนับสนุน
 

ปราง-ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา


ผลงานที่โดดเด่น

ผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายงานโรงเรียน ปรางได้มามีผลงานจริง ๆ คือตอนที่ไปสมัครการประกวดมิวสิควิดีโอ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรม ปรางชวนเพื่อน ๆ ที่สนใจเหมือนกัน มาทำร่วมกัน แล้วส่งประกวด เป็นมิวสิควิดีโอเพลง สิ่งที่ฉันต้องการ และได้รางวัลชนะเลิศ
 

พฤติกรรมการเรียน
ปกติเรียนภาคไทย และก็ย้ายไปเรียน English program ตอนแรกลำบากพอสมควรในเรื่องของศัพท์ แต่สักพักก็ปรับตัวได้ปรางตั้งใจเรียนในห้อง ทำความเข้าใจไปเลยรอบเดียว พอกลับบ้านก็ทำการบ้านเลย จริง ๆ การบ้านคือการทบทวนบทเรียนที่ดีเนื้อหาที่เราเพิ่งเรียนมาตั้งใจเรียนสะสมความรู้เรื่อย ๆ แล้วสองสัปดาห์หรือสามสัปดาห์ก่อนสอบจะเอามาอ่านอีกทีหนึ่งค่ะ
 

ปราง-ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา


การหาความรู้นอกห้องเรียน
ค้นหาข้อสอบเก่า ๆ ตามเว็บไซต์ และดูคลิปวิดิโอสอนติวต่าง ๆ ตอนที่ใกล้ที่จะสอบทุกคนจะต้องตามหาข้อสอบเก่ากันอย่างแน่นอนเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าล้ำค่ามาก การทำข้อสอบเก่า ๆ จะทำให้เราได้เปรียบและลดความประหม่าในตนเอง

เตรียมตัว Admissions
พอเราค้นหาตัวเองเจอแล้ว มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเข้าคณะนิเทศศาตร์ เราก็เริ่มไปดูเกณฑ์การคัดเลือก ว่าเราต้องสอบอะไรบ้างเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในรอบ Admissions ใช้คะแนน O-NET 30% GPAX 20%  GAT 50% ปรางเรียนเต็มอยู่แล้วเกรดเลยได้ 6000 คะแนนเต็ม ส่วน O-NET เป็นเรื่องที่ครอบคลุมเยอะมากบางเรื่องอาจหลงลืมไปแล้ว ทบทวนจากที่เคยเรียน และทำข้อสอบเก่า ส่วนของ GAT คือเอาข้อสอบเก่ามาทำ หนึ่งเดือนก่อนสอบจับเวลาทำทุกวัน ๆ ตรงนี้ก็คือเป็นเคล็ดลับของปราง ทางเว็บไซน์ทรูปลูกปัญญาก็จะมีข้อสอบเก่าและเตรียมตัวตรงนี้ด้วย


สิ่งที่ทำให้ท้อ

ความรู้สึกท้อมันเกิดขึ้นตอนสอบ PAT1  เพราะว่ายากมาก ได้ 100 นี้ก็เก่งมากแล้ว เราไม่ใช้คนเทพเลขเราคงไม่มีปัญญาไปแตะถึง 200 เราก็เลยทำเท่าที่ทำได้บทไหนที่เราทำได้เราก็ทำไป บทไหนที่เราทำไม่ได้เราก็ปล่อยวาง เพราะว่าตรงนี้ก็ไม่มีใครทำได้เหมือนกัน
 

ปราง-ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา


ฝากถึงรุ่นน้องที่สนใจจะเข้าคณะนิเทศศาสตร์

สำหรับน้อง ๆ ที่รู้ตัวว่าจะเข้าคณะนิเทศศาสตร์ ปรางก็อยากจะให้น้อง ๆ ลองหาดูว่าอยากที่จะเข้ามหาวิทยาลัยอะไร อยากเรียนสาขาอะไรอย่างปราง นิเทศฯ จุฬาฯ จะมีเอกแยกย่อยออกไปอีกหลายสาขาให้ลองดูดี ๆ สิ่งสำคัญคือลองศึกษาหาข้อมูล ดูเกณฑ์การคัดเลือก แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีข้อแตกต่างกัน อย่างนิเทศฯ จุฬาฯ คะแนนค่อนข้างสูง สามารถเข้าได้หลายช่องทาง ยื่น PAT7 หรือ PAT1 หรือ GAT อย่างเดียว ลองดูว่าแบบไหนเหมาะกับตัวเรามากที่สุด
 

จุดเด่นของนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เลือกสาขาตอนปี 2 ปรางคิดว่าตัวเอง เพื่อนอีกหลาย ๆ คน ในคณะก็ยังลังเลอยู่ว่าจะไปเข้าสาขาอะไรดี ปี 1 ก็จะได้เรียนวิชาที่กว้างไว้ก่อนเปิดโอกาสให้เราค้นหาตัวเอง พอขึ้นปี 2และ 3 ถึงจะได้เลือกสาขา บรรยากาศภายในก็อบอุ่นรับน้องก็น่าจะสนุกค่ะ