Alumni : เหนือ เข็มทิศ สถาปัตยกรรมไทย ศิลปากร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-06-05 19:14:19
เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
สถาปัตยกรรมไทย หลักสูตรที่มีการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมเพื่อการออกแบบอาคารที่มีความเป็นไทย นักศึกษาจึงต้องศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงประเพณีไทย ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย ลายไทย ตลอดจนศิลปะไทยต่าง ๆ ถึงอย่างนั้นก็อาจมีคนเข้าใจว่า เรียนสถาปัตย์ไทยไปออกแบบวัดหรือสร้างโบสถ์อย่างนั้นหรือ ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถนำไปประยุกต์กับการออกแบบอาคารสมัยใหม่ในเมืองไทยได้ เหนือ-เข็มทิศ บำรุงราษฎร์ รุ่นพี่ปี 4 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร พร้อมจะขยายความให้น้อง ๆ #AdGang58 ฟัง
เริ่มจากจุดเปลี่ยน
ตอน ม.ปลาย ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ผมตกหมดเลย เริ่มคิดแล้วว่าเราจะเรียนอะไรดีในมหาวิทยาลัย เลยลองเปลี่ยนแนวจากสายวิทย์ดีกว่า ติวศิลปะก็ได้นะ สนุกดี ผมวาดรูปไม่เป็นเลยนะ ไม่เคยชอบวาดรูปแต่ลองดู ปรากฏว่าพี่ที่เขาติวผมก็เรียนที่สถาปัตยกรรมไทย ก็เลยได้เห็นว่ามีคณะนี้ด้วย น่าสนใจดี และสถาปัตยกรรมไทยก็เป็นสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อคนไทยมากที่สุดแล้ว
หลักสูตรสถาปัตยกรรมไทย
ปีหนึ่ง เรียนรวมกันระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมหลัก ศึกษาพื้นฐานการออกแบบก่อน ส่วนใหญ่ก็จะปรับพื้นฐานเราใหม่ เราต้องมาเขียนเส้นในการเขียนแบบเพื่อให้อ่านแล้วเข้าใจ ลายมือยังต้องปรับเลย เขาจะให้เราคัดลายมือลงกระดาษ A2 แผ่นเท่าโต๊ะเกือบสิบแผ่น เนื่องจากการเขียนแบบต้องมีการสเปคแบบ ต้องมีการเขียนเพื่อที่จะให้เข้าใจได้ว่าลายมือต้องชัดเจน มีแบบแผน มีระบบของมัน แบบก็เหมือนกัน เราต้องเขียนแบบแล้วทุกคนเข้าใจได้ เป็นภาพลักษณ์ของคณะเราด้วยที่ทุกคนจะลายมือเหมือนกันหมด
ขึ้นปีสอง เริ่มศึกษาสถาปัตยกรรมไทยมากขึ้น ปีสาม เข้าสู่สถาปัตยกรรมไทยเต็มตัว ได้ออกแบบวัด ออกแบบบ้านทรงไทย เริ่มจริงจังมากขึ้น งานก็เยอะขึ้น บางคนอาจจะคิดว่าเรียนเฉพาะทำบ้าน ทำวัด วังหรือเปล่า แต่จริง ๆ ไม่ใช่แค่นั้นนะ เรามุ่งเน้นที่จะสอนให้เข้าไปถึงแก่นแท้ของสถาปัตยกรรมไทย ที่มาว่าทำไมมันถึงออกมาเป็นแบบนี้ เพื่อที่เราจะสามารถบูรณาการและสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบสนองกับวิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบัน หรือที่เราเรียกว่าสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ผมว่าอันนี้สำคัญและขายได้
ปีสี่ ค่อนข้างเป็นวิชาที่นำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานจริงในอนาคต อย่างวิชาเลือกก็จะมีการประเมินราคา วิชาการคุมตรวจงาน การดีไซน์เป็นแบบไทยร่วมสมัยแล้ว ซึ่งย้อนไปตอนปีสามเป็นไทยประเพณี เริ่มเปลี่ยนเป็นไทยร่วมสมัยคือได้ออกแบบรีสอร์ท เริ่มเห็นภาพมากขึ้นเพื่อที่จะเตรียมตัวในปีห้า ในการทำธีสิสของเราเอง
สถาปัตยกรรมไทยต่างกับสถาปัตยกรรมหลัก
สถาปัตยกรรมหลักค่อนข้างกว้าง สามารถที่จะออกแบบอะไรใหญ่ ๆ ได้มากกว่า เขาได้เรียนออกแบบโรงพยาบาล อาคารสูง แต่หลักสูตรสถาปัตยกรรมไทยยังไม่เรียนอาคารสูง เรายังไม่ค่อยรู้งานระบบ ท่อแอร์ สายไฟ แต่ว่าหลักสูตรใหม่มีแล้วนะ เพราะว่าสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยอาจมีอาคารสูง
อาจจะพูดว่าถ้าเป็นสถาปัตยกรรมหลักก็เหมือนจะกว้าง ๆ ไม่ลึกมาก แต่สถาปัตยกรรมไทยคือจะลึก แต่อาจจะไม่กว้างมาก ซึ่งมีข้อดีต่างกัน สถาปัตยกรรมหลักมีความรู้มากกว่า สามารถไปทำงานที่ต่างประเทศได้ แต่สถาปัตยกรรมไทยก็จะรู้เรื่องสถาปัตยกรรมไทยเยอะ เดี๋ยวนี้เราเรียนในระบบ AEC ใหม่ที่นักศึกษาในเอเชียจบพร้อมกันหมดเลย เราก็ต้องแข่งขันมากขึ้น เพราะฉะนั้นผมว่าถ้าเป็นสถาปัตยกรรมไทยน่าจะมีสไตล์เป็นของตัวเองที่ชัดเจน และดึงดูดความสนใจต่างชาติได้ ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป
ใจต้องพร้อม
อย่างแรกมีใจครับ สถาปัตยกรรมไทยเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ในโรงเรียนอาจจะยังไม่มีสอน อาจจะไม่เคยเรียนเรื่องพวกนี้มาก่อน แต่อย่างน้อยคนที่พยายามอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่คนที่ประสบความสำเร็จทุกคนคือคนที่พยายาม หมายความว่าถ้าคุณพยายามคุณก็ไม่แพ้แล้ว ถึงจะไม่ชนะ
สิ่งสำคัญของงานออกแบบ
ผมว่าคือชีวิตคนไทย คนไทยเราค่อนข้างที่จะไม่เหมือนใคร เคยได้ยินหนังสือหรือเฟซบุ๊คเพจ That so Thai โคตรไทยไหม คือมันไม่เหมือนที่อื่น อัตลักษณ์ของไทยทำให้เกิดสถาปัตยกรรมไทยขึ้นมา สมัยก่อนห้องน้ำอยู่ข้างนอก ครัวต้องอยู่ทิศนั้นทิศนี้ สาเหตุเพราะคนไทยกินอาหารกลิ่นฉุนมาก มันก็เป็นอัตลักษณ์ที่ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมไทย ก็คือชีวิตคนไทยนี่แหละ
เส้นทางอาชีพและใบประกอบวิชาชีพ
สำหรับคนที่จะเป็นสถาปนิกในอนาคตก็ต้องสอบนะ บางคนไม่เป็นก็มีนะ อาชีพเราค่อนข้างกว้าง สิ่งที่มันกว้างคือกระบวนการออกแบบซึ่งสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกอย่าง ผมว่างานสถาปัตยกรรมไทยกำลังมานะ อย่างสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลของไทยเราเอง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ล่าสุดงาน EXPO ที่เมืองนอก เขาเอาวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมารวมกันแล้วไทยเราก็ได้รับรางวัล ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุดหนึ่งในสาม ผลตอบรับจากต่างชาติดี มีคนสนใจค่อนข้างมาก เพราะเดี๋ยวนี้สถาปัตยกรรมทั่วไปก็ค่อนข้างคล้าย ๆ กันคือเป็นหลังคาแบน ๆ แต่หลังคาแบบไทยมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนครับ