เคล็ดลับความสำเร็จ เปอร์ สุวิกรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-04-24 12:01:13
เราเริ่มรู้จัก เปอร์-สุวิกรม อัมระนันท์ จากภาพยนตร์ “FINAL SCORE 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์” ซึ่งในตอนนั้นเปอร์อาจไม่ฉายแววความเป็นดารามากนัก แต่เขามีความคิดที่น่าสนใจและแตกต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน ความโดดเด่นของเปอร์ทำให้เขาได้รับโอกาสในการเป็นพิธีกรเคียงคู่พิธีกรมืออาชีพอย่าง สัญญา คุณากร และยิ่งชัดเจนเมื่อเปอร์รับบทพิธีกรเดี่ยว ที่เขาแสดงความสามารถในการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ได้ไม่แพ้รุ่นพี่ ล่าสุดที่เพิ่งจบไปในฐานะผู้ดำเนินรายการ ทรู อคาเดมี่ แฟนเทเชีย ซีซั่น 9 พร้อมอีกหนึ่งบทบาทกับงานดีเจที่คลื่นแฟตเรดิโอ ถึงวันนี้อาจกล่าวได้ว่า เด็กหนุ่มจากรั้วสวนกุหลาบคนนี้ขึ้นชั้นเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพทั้งหัวคิดและผลงาน
เหนือความคาดฝัน
สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำคืออาชีพพิธีกรครับ ผมไม่เคยคิดว่าจะได้มาเป็นพิธีกร แต่พอได้ทำแล้วมันเจ๋งมาก มันทำให้ผมมีโอกาสได้รับความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา และก็ได้ทำในหลายๆ สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำมาก่อน ได้เรียนรู้ชีวิตไปเรื่อยๆ
พิธีกร กับดีเจ เหมือนและแตกต่าง
ทั้งสองงานเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะในการสื่อสารทั้งคู่ มีความเหมือนกันตรงที่เราได้สื่อสาร แต่แตกต่างตรงที่วิธีการที่เราสื่อสารครับ การสื่อสารบางอย่างต้องสร้างมโนภาพให้เกิดจากการบอกเล่าหรือการพูดให้ฟัง แต่บางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องใช้เรื่องการสื่อสารที่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป เพราะมีภาพมาประกอบ ผู้ชมได้มองเห็นภาพเดียวกันกับที่เราจะสื่อสาร เมื่อผมได้ทำงานที่เกี่ยวกับการสื่อสารทั้งสองอย่างมันก็เลยเกื้อหนุนกัน เช่น การทำดีเจก็ทำให้ผมชำนาญและคล่องแคล่วในการสื่อสารด้วยคำพูดที่นำไปใช้กับการเป็นพิธีกรได้ ในขณะเดียวกันการเป็นพิธีกร ได้ออกไปสัมภาษณ์พบเจอผู้คน ก็ทำให้ผมได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น พอนำภาพเหล่านั้นมาเล่าต่อทางวิทยุก็ช่วยทำให้ผมสื่อสารเรื่องภาพออกไปได้ดีขึ้น
คนที่อยากจะเป็น
บุคคลที่ชื่นชอบและอยากจะเป็นเหมือนเขาคือคุณพ่อของผม ท่านเป็นฮีโร่ในดวงใจมาตั้งเด็ก เพราะมีความรับผิดชอบและเก่งในทักษะที่ท่านทำ รู้สึกภูมิใจและอยากมีทักษะแบบท่าน แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่า เพราะเราก็มีทักษะที่แตกต่างออกไป อีกอย่างหนึ่งคือผมเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบอะไรบางอย่าง ยังจัดการตัวเองได้ไม่ดีเหมือนท่าน
เวลาส่วนตัว เวลาส่วนรวม
ผมเป็นคนที่จัดการเรื่องเวลาส่วนตัวได้แย่มาก เวลาที่เจอปัญหาอะไรมาก็ต้องค่อยๆ แก้ ค่อยๆ จัดการไป ว่ากันทีละเรื่องเรื่องไหนสำคัญมากที่สุด ไม่ใช่กับตัวเอง แต่เป็นกับส่วนรวมมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องงาน ผมจะนึกเสมอว่าถ้าผมไม่ทำสิ่งนี้ผลเสียจะเกิดขึ้นกับใครบ้าง ถ้าเกิดกับผมคนเดียว ผมอาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าบางเรื่องที่ผมไม่ทำแล้วมันจะมีผลเสียเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ผมก็จำเป็นจะต้องทำ
ปัญหามา ปัญญามี
ปัญหามีหลายแบบและก็มีวิธีการจัดการแตกต่างกันไป มีหลายครั้งที่เราไม่พยายามที่จะแก้หรือไม่นึกถึงมัน แล้วทางแก้ของปัญหานั้นๆ ก็จะออกมาเอง มองเห็นได้เอง เพราะบางทีถ้าเรามัวจดจ่อกับอะไรจนเกินไปอาจทำให้เรามองไม่เห็นทางออก เพราะเรามองแค่จุดๆ เดียว ก็ต้องหยุดเพื่อมองภาพที่กว้างขึ้น ก็จะเห็นวิธีแก้ปัญหา