www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

Alumni : สายป่าน ภาพยนตร์ ม.รังสิต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-04-02 14:59:15

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก

 

สายป่าน ภาพยนตร์ ม.รังสิต
 

สายป่าน อภิญญา


ขอแสดงความยินดีกับ สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับสองหมาด ๆ และอีกหนึ่งรางวัลที่การันตีความเป็นนักแสดงคุณภาพ รางวัลสุพรรณหงส์ สาขาผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง “ภวังค์รัก”

 

อะไรเป็นเบื้องหลังความสำเร็จในการแสดงของสาวคนนี้ การเรียน สาขาวิชาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต หรือMPV ช่วยให้เธอตีบทแตกได้ขนาดไหน ชาว #AdGang58 ที่อยากเรียนรั้วเดียวกับสายป่านต้องอ่าน


 

คลุกคลีกับวงการภาพยนตร์ไทย 

ก่อนหน้านี้ป่านเคยเรียน cinema วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว มาก่อนค่ะ แล้วโอนย้ายมาที่ ม.รังสิต เพราะว่าตัวน้องสาวป่านอยู่ที่นี่แล้วป่านเองสนิทกับเพื่อน ๆ ที่รังสิตมากกว่า ที่เลือกเรียนภาพยนตร์มาตั้งแต่แรกเพราะว่าตัวป่านเองค่อนข้างคลุกคลีกับวงการภาพยนตร์ไทย เหมือนกับเราชอบและเราสนใจในด้านการผลิตภาพยนตร์มากกว่าค่ะ
 

สายป่าน อภิญญา 

หลักสูตรภาพยนตร์และวีดิทัศน์

ปีหนึ่ง เรียนพวก pre-production พื้นฐานเกี่ยวกับภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เรียนตระกูลภาพยนตร์ว่ามีอะไรบ้าง และเรียนที่มาของการถ่ายทำภาพยนตร์ เรียนเรื่องเบสิคกล้อง แสง ไฟ องค์ประกอบศิลป์ และการทำงานของหนังอินดี้กับหนังสตูดิโอต่างกันยังไง เพื่อให้เรามีความเข้าใจค่อนข้างชัดเจนกับภาพยนตร์ก่อนนะคะ ส่วนชั้นปีสอง production ก็จะมาเรียนปฏิบัติค่อนข้างเยอะ ที่ม.รังสิตจะเรียนเป็นพวกจัดไฟในสตูดิโอ การถ่ายทำเป็นพวกภาพยนตร์ประกอบเพลง เราจะไม่เรียกว่า MV นะคะเพราะว่าต้องมี story มีเรื่องเล่าว่าเราฟังเพลงนี้รู้สึกยังไง แล้วก็เอามาทำเป็นภาพยนตร์สั้นประกอบเพลงเพลงหนึ่งมากกว่าและมีเกี่ยวกับการเขียนบท ทฤษฎีการเขียนบทเบื้องต้น มีการกำกับเบื้องต้น กำกับภาพเบื้องต้น

 

ปีสาม มาเรียนลึกเรื่อง post-production เน้นเรื่องของการตัดต่อ การทำเสียง ทำสี และสำหรับใครหลาย ๆ คน ที่เลือกเรียนวิชาโท ก็จะลงลึกไปอย่างตัวป่านเอง ป่านเรียนกำกับการแสดงขั้นสูง เขียนบทภาพยนตร์ขั้นสูงและเรียนกำกับภาพ เพราะว่าจริง ๆ แล้วจะมีเรื่ององค์ประกอบอื่น ๆ อีกนะคะในภาพยนตร์
 

สายป่าน อภิญญา 

ฝึกงานด้านโฆษณา

แต่ป่านฝึกโฆษณาที่บริษัทไทรทันค่ะเพราะอยากรู้ว่าใน process ของการทำโฆษณา เข้าไปดูรายละเอียดของการทำโฆษณา และอย่างที่รู้ว่าเงินทุนค่อนข้างเยอะกว่าการทำหนัง เลยอยากรู้ว่าโฆษณาเขาเป็นยังไงการทำ post เขาส่งทำ post แบบไหน จากการถ่ายธรรมดาไม่มีอะไรเลย สุดท้ายแล้วออกมาเป็นแบบนักกีฬา นักฟุตบอล แล้วมีคนดูเป็นหมื่น ๆ คน รายละเอียดพวกนี้มันไปอยู่ในขั้นตอนไหนของการทำโฆษณา ก็เลยลองเข้าไปฝึกเป็นความรู้ ประสบการณ์ มันเป็นเหมือนของแถม
 

สายป่าน อภิญญา 

ปริญญานิพนธ์ “โปสการ์ด” 

ป่านได้รับโจทย์มาว่าต้องทำหนังสั้นเกี่ยวกับจังหวัดน่าน เลยต้องไปน่านเพื่อรีเสิร์ชข้อมูลในช่วง pre-production ป่านรับหน้าที่เป็นคนเขียนบทและกำกับด้วยก็จะอยู่ใน process ของงานตั้งแต่สเกาท์โลเคชั่น รีเสิร์ชข้อมูลจนกระทั่งนำมาพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ สุดท้ายแล้ว พอเรากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เราก็เลยต้องอยู่ใน process ของการทำ post-production และการฉายด้วย จนถึงทำเพลงด้วยค่ะ

 

โครงเรื่องมาจากตัวจริงของป่าน คือเค้าโครงเรื่องมาจากผู้หญิงก่อนค่ะ การจะทำหนังให้คนรู้สึกเป็น positive กับจังหวัด ๆ หนึ่ง ต้องมีเรื่องรักมาเกี่ยวข้อง มีพระเอกนางเอก และส่วนตัวป่านเองเป็นคนชอบส่งโปสการ์ด ชอบระยะเวลาการรอ คือเวลาทุกวันนี้ที่เรามันเร็วมันง่าย เรารักกันง่ายเพราะเราส่งไลน์คุยกัน เราเข้าไปค้นหาข้อมูลเขาจาก instagram และเราก็ชอบในสิ่งที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมา แล้วเราลืมไปว่าก่อนที่เราจะพิมพ์ข้อความหาใครสักคนหนึ่ง มันตื่นเต้นก่อนที่เราจะกด send พอเรากด send ส่งไปแล้ว จังหวะที่เรารอเขาตอบพอมันขึ้น read ใจเราเต้นนานมาก ใจเราเต้นแรงมาก พอเขาส่งกลับมาเราก็ตื่นเต้นกับคำตอบของเขา และมันต้องครุ่นคิดกับคำถามใหม่ของเรา หนูเป็นคนชอบแก๊ปตรงนี้มาก กว่าใครจะมารักกันได้ ใช้การสื่อสารตรงนี้ แต่ว่าป่านไม่อยากให้มันจบเร็ว ป่านชอบให้มันนาน ๆ เลยกลายเป็นการส่งไปรษณีย์ ส่งโปสการ์ดเพราะป่านรู้สึกว่ามันห้าวันเจ็ดวันกว่ามันจะได้ และมันจากเหนือกับใต้มันเป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างภูเขากับทะเล คือเหนือนางเอกของป่านจะอยู่น่าน พระเอกป่านในเรื่องจะอยู่กระบี่ ทั้งสองคนจะแลกเปลี่ยนกันระหว่างทะเลกับภูเขา ซึ่งรูปทั้งสองรูปนี้ที่เขาส่งไปมามันเกิดจากกล้องตัวเดียวกัน เป็นภาพในอดีตที่พ่อนางเอกได้ถ่ายเอาไว้ กับเป็นกล้องตัวเดียวกันที่พระเอกได้ซื้อไปและถ่าย ณ ปัจจุบัน เขาส่งแลกกัน หนังเรื่องนี้เป็นหนังรักที่ไม่ได้บอกถึงว่าคู่รักคู่นี้เขารักกันยังไง มันเล่าก่อนที่เขาจะมารักกัน

 

ได้นักแสดงเป็นเพื่อนกันค่ะ จะมีณเดชน์ คูกิมิยะกับน้ำตาล พิจักขณา (แบบนี้ก็สบายชิลๆ) ชิลไหมก็ยากนะคะ การที่จะให้ณเดชน์ไปเป็นเด็กที่อ่านเขียนไม่ได้ มีปมมีแบ็กกราวน์ให้เปลี่ยนลุคเขาจากณเดชน์ คูกิมิยะ เป็นนทีในเรื่องที่เป็นลูกชาวประมง ทำร้านอาหารง่ายๆ ไว้หนวดไว้เครา แต่งตัวโทรมๆ คือมันค่อนข้างยากและท้าทายเหมือนกันสำหรับการกำกับให้คนดูเชื่อว่าเขาเป็นแบบนั้นจริง ๆ เพราะว่าทุกคนจะติดภาพณเดช
 

สายป่าน อภิญญา 

โครงการ “ภาพยนตร์ต้นแบบ”

โครงการที่ให้พี่ ๆ ที่ไปฝึกงานกันมาทั้งหมดแล้ว มาทำภาพยนตร์ด้นแบบ คือได้ไปออกกองได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากข้างนอกมาแล้ว ดังนั้นเอาประสบการณ์ที่เราเก็บจากข้างนอกมา บวกกับประสบการณ์ที่เราเรียนมาตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีสามมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง แล้วเอารุ่นน้องปีหนึ่งปีสองเข้ามาช่วยงานในกองถ่าย มันเป็นรุ่นสู่รุ่นของภาพยนตร์รังสิตค่ะ


การเรียนช่วยในการทำงาน หรือ การทำงานช่วยในการเรียน

จริงๆ แล้วทั้งสองอย่างซัพพอร์ทกันหมดนะคะ อย่างเรื่องที่ทำงานเราเห็น เรามีประสบการณ์ เราก็ได้เอามาใช้ในชั้นเรียนด้วย ส่วนเรื่องที่เราเรียนในชั้นเรียนก็ได้เอามาใช้ในวิชาชีพด้วยเหมือนกัน ทั้งสองอย่างซัพพอร์ทกัน

ด้วยความที่ป่านทำงานมาตั้งแต่เด็ก ความกดดันมันก็จะค่อนข้างเยอะเวลาเรามาเรียน เหมือนกับเพื่อน ๆ อาจารย์ก็จับตามองว่าเรามีของอะไรบ้าง อาจารย์ก็จะค่อนข้างกดดันว่าแบบไหนเธอมีประสบการณ์เยอะ สิ่งที่เธอได้ไปเรียนรู้มานอกชั้นเรียนมีอะไรบ้าง บางทีก็ต้องเอามาแชร์กับเพื่อน ๆ ในห้อง เหมือนกับว่าเราเป็นฟันเฟืองชิ้นใหญ่ในชั้นเรียนมากกว่า ที่ต้องคอยขับเคลื่อนเพื่อน ๆ มีอะไรก็ต้องมาบอกเพื่อน ๆ ว่าตอนนี้นวัตกรรมใหม่ ๆ รูปแบบใหม่ ๆ อย่างกล้อง 3D การถ่ายทำภาพยนตร์แบบ 3D ในมหาวิทยาลัยก็ยังไม่มีกล้องให้นักศึกษาได้ใช้ แต่ว่าตัวเราเองเคยทำงานเป็น 3D มาแล้ว เราก็ต้องมาอธิบายมาให้เพื่อนว่าวิธีการทำงานแบบ 3D มันเป็นยังไง การจะถ่ายทำแต่ละฉากเป็นยังไง ก็คือแชร์กันไปแชร์กันมากับเพื่อน ๆ และอาจารย์ด้วยค่ะ
 

สายป่าน อภิญญา


สิ่งสำคัญของการทำหนัง

คนดูค่ะ ทำหนังออกมาแล้วไม่มีคนดูมันเสียใจ แต่ทำหนังออกมาแล้วมีคนดูมันดีใจ ดูไม่เข้าใจหรือเข้าใจ ชอบหรือไม่ชอบ อย่างน้อยขอให้ดู มาคุยกันกับคนทำว่าไม่ชอบตรงไหนเราจะได้ปรับปรุง เราจะได้รู้ว่าทำไมถึงไม่ชอบ ถ้าคุณชอบมันจะเป็นกำลังใจในการทำงานชิ้นต่อไปของเรา
 

สำหรับคนอยาก(เรียนทำหนัง)

ดูหนัง ดูหนัง ดูหนังเยอะ ๆ ค่ะ มันได้เปรียบมาก ป่านไม่เคยดูหนังที่ชอบต่ำกว่าเรื่องละสองรอบ เก็บรายละเอียด คือดูไม่เข้าใจป่านดูอีก เนิร์ดมากเพราะอยากรู้มันไม่มีเหตุผลคนทำที่ทำออกมาแบบนี้ไม่มีทาง ถ้าเราไม่เข้าใจแล้วเราหาสัมภาษณ์เขาอ่านไม่ได้ เราต้องดูมันอีกรอบหนึ่งเพื่อจะได้เข้าใจเขา แต่ถ้าเกิดเราดูไม่เข้าใจแล้วเราหาสัมภาษณ์เขาอ่านได้ เราต้อง make sure อีกทีว่ามันเป็นไปตามที่เขาสัมภาษณ์หรือเปล่า มันท้าทายระบบสมองมาก มันเป็นเรื่องที่ดีมาก การที่คน ๆ หนึ่งจะเอาระยะเวลาสี่ห้าปีที่เขาเตรียมงานหนังเรื่องนี้มาถ่ายทอดให้เราเห็นชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นเราโคตรได้เปรียบเลยที่จะได้รู้สมองเขาฟรี ๆ คนดูได้กำไรอยู่แล้ว ดูแล้วฉลาดขึ้น
 

สายป่าน อภิญญา