Alumni : เซ้ง ณัฐวัตร วิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.มหิดล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-03-02 15:53:30
เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
หมอก็อยากเป็น วิศวะก็อยากเรียน เลือกไม่ถูกทำไงดี นี่มันปัญหาของเด็กเรียนเก่งชัด ๆ เรามีคณะมานำเสนอชาว #AdGang58 คณะที่เรียนแบบทูอินวัน เรียนทั้งแพทยศาสตร์ เรียนทั้งวิศวกรรมศาสตร์ แต่จบมาแล้วเป็นเอ็นจิเนียร์สุดเท่ เซ้ง-ณัฐวัตร โชคสมงาม รุ่นพี่ซีเนียร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เปิดสอนหลักสูตรนี้ในระดับปริญญาตรี มีคำตอบให้หมด
สองศาสตร์ในคณะเดียว
สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์นี้เป็นสาขาที่เปิดใหม่มาไม่กี่ปีครับ และมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่เปิดสาขาวิชา ยังรวมทั้งสองศาสตร์ไว้ด้วยกัน ก็คือวิศวกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมว่าน่าสนใจมาก ตอนแรกที่เข้ามาเรียนก็คิดว่าจะง่าย แต่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะจะต้องเรียนทุกวิชาคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์และวิศวะ ทั้งเยอะและก็ยากด้วย พูดได้ว่าเรียนทุกอย่างเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เลยครับ
ตอนปีหนึ่งเรียนวิชาทั่ว ๆ ไปของสายวิทย์ พอปีสองก็จะเรียนเกี่ยวกับทางการแพทย์ เรียนกายวิภาคศาสตร์พื้นฐาน (Basic Anatomy) สรีรวิทยาพื้นฐาน (Basic Physiology) และเคมี ปีสามเรียนวิชาเฉพาะในคณะเกี่ยวกับวิศวกรรม เรียนไฟฟ้า วัสดุวิศวกรรม (Engineering Materials) และอุณหพลศาสตร์ทางชีวการแพทย์ (Biomedical Thermodynamics) ส่วนปีสี่เหมือนเป็นการรวมทั้งสองศาสตร์มาไว้ด้วยกัน เน้นการทำโปรเจ็คต์จบครับ
ผมชอบวิชา Anatomy และ Physiology เพราะเรียนสนุกและสามารถนำสิ่งที่เรียนมาใช้จริง เช่น กล้ามเนื้อ หรือระบบต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ มันเป็นสิ่งที่ได้ใช้จากที่เราได้เรียนมา
เรียนแพทย์ขนาดไหน
การเรียนแพทย์จะเรียนในช่วงปีหนึ่งและปีสอง เรียกว่าเรียนทั่วไปเหมือนกับคณะแพทย์ครับ พอขึ้นปีสามจะเริ่มเน้นการเรียนเพื่อใช้ทำเครื่องมือแพทย์หรือประดิษฐ์เครื่องมือใหม่ ๆ ขึ้นมา ก็เลยจำเป็นต้องรู้ในเรื่องของระบบร่างกายของคนเราด้วยครับ แต่จะให้ความสำคัญกับวิศวกรรม เช่น ระบบเครื่องมือ การใช้วงจรต่าง ๆ เพื่อที่จะนำมาประดิษฐ์เครื่องมือครับ
นอกจากนี้ในส่วนของภาควิชาก็จะแบ่งคลาสในช่วงปีสามเทอมสอง เราสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนแล็บไหน เช่น แล็บการผลิตหุ่นยนต์ที่สามารถใช้ร่วมกับเครื่องมือการแพทย์ ต่อมาก็จะเป็นแล็บเกี่ยวกับสมอง การใช้คลื่นสมองที่สามารถนำมาประยุกต์ทางการแพทย์ และในส่วนของผมจะเรียนอยู่ในแล็บเกี่ยวกับหัวใจ ก็จะเน้นด้านหัวใจ การวัดคลื่นหัวใจ และนำคลื่นหัวใจต่าง ๆ มาใช้ครับ
ตัวปั้มเลือด ของเครื่องฟอกไต เรียกว่า Peristaltic Pump
ฝึกงานและโปรเจ็คต์จบ
ผมฝึกงานอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ในส่วน Service Engineering เป็นเกี่ยวกับ specialist และรอซ่อมเครื่องมือ calibrate เครื่องมือ ส่วนใหญ่ก็จะเน้นหนักไปทางเครื่องมือการแพทย์ทั้งหมด สำหรับโปรเจ็คต์ของผม “การสร้างหลอดเลือดเทียมจากไหม” โดยการเอาไหมมาทำให้เป็น solution โดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติสร้างเป็นหลอดเลือดหัวใจขึ้นมาครับ
เรียนหนัก เล่นหนัก
กิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมรับน้อง กีฬาสี และ “BME GAME” ชีวการแพทย์สัมพันธ์ เป็นงานที่รวมคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ของแต่ละมหาวิทยาลัยมารู้จักกัน และกิจกรรมของคณะวิศวกรรมศาสตร์เองจะมีการจัดงาน i, MedBot เป็นการประกวดทำหุ่นยนต์ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศมารวมตัวกันที่มหิดลครับ
ไอเดียเป็นเรื่องสำคัญ
สำหรับคนที่จะเรียนคณะนี้จะต้องมีความอดทน และจะต้องมีแรงกระตุ้น มีความมุ่งมั่น สำคัญที่สุดต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะคณะนี้ต้องคิดอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
ตลาดงานค่อนข้างกว้าง
ไม่ว่าจะเป็น specialist เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์นั้น ๆ หรือจะเป็น sale engineer นอกจากนี้ยังสามารถเป็นได้ทั้งนักวิจัยและอาจารย์ได้ด้วยครับ