Alumni : โซซีน Dance FOFA SWU
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-02-05 18:08:02
เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
“พี่คะ หนูชอบเต้น cover หนูควรเรียนต่อคณะอะไรดี” อาจจะมีน้อง ๆ #AdGang58 ตั้งคำถามแบบนี้ขึ้นมา เพราะการเต้นก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง และถ้าเราจะเอาจริงเอาจังกับการเต้น ที่ใคร ๆ ว่าเป็นงานอดิเรกก็ทำได้ใช่ไหม
โซซีน-ปัณณ์ญาณัช จิรโรจน์ธนเกษม พูดชื่อก็อาจจะไม่คุ้น แต่ถ้าบอกว่าโซซีนคือ “พยาบาลสมหญิง” ในซิทคอม “ระเบิดเที่ยงแถวตรง” ใคร ๆ ก็ต้องอ๋อ โซซีนเป็นซีเนียร์ เอกศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์สากล) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ซึ่งเธอเป็นตัวอย่างของคนที่หลงใหลในการเต้นและตัดสินใจเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบจริง ๆ
รักแดนซ์...เลือกสอบตรง
ซีนเป็นคนที่ชอบเต้นมากตั้งแต่เด็ก ๆ คุณแม่ก็เลยเห็นแววให้ไปเรียนเต้นและเรียนรำ ทีนี้คณะนี้เปิดสอบตรง ซีนคิดว่าไม่ต้องเรียนจบเทอมสอง ลองไปสอบตรงก่อนดีกว่า แล้วก็ได้ค่ะ ดีใจมาก เพราะว่าสอบติดก่อนเพื่อน แล้วก็มีรุ่นพี่เรียนอยู่คณะนี้ด้วย ได้เห็นว่าชีวิตเค้าก็ได้ทำตามสิ่งที่ตัวเองชอบค่ะ
ตอนที่สอบเข้าเราต้องเตรียมการแสดงสไตล์การเต้นของเรา ประมาณ 2 นาที แล้วรุ่นพี่ก็ต่อท่าให้เราลองเต้นเอง เหมือนว่าจะดูทักษะไหวพริบของเรา อาจารย์จะเปิดเพลงโซโล่ เช่น เสียงเปียโน ดูว่าเราจะโซโล่ประมาณไหนค่ะ และมีสอบข้อสอบเขียนด้วย ต้องเตรียมพื้นฐานในเรื่องประวัติบัลเลต์ ต้องเตรียมมาให้แน่นเลย เพราะว่าแต่ละปีก็จะถามไม่เหมือนกัน
เรียนไม่ง่ายอย่างที่คิด
โดยส่วนตัวซีนไม่เคยเทคคลาสบัลเลต์มาก่อน พอเข้ามาปีหนึ่ง เราก็ต้องเรียนบัลเลต์ เหมือนกับว่าต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หมดเลย ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนที่ชอบเต้นก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าสไตล์การเต้นแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ซึ่งเราตัดสินใจที่จะเข้ามาเรียนในคณะนี้แล้ว เราก็ต้องสนุกกับมัน
เจาะลึกนาฏศิลป์สากล
ปีหนึ่ง จะชิลก็ไม่ชิล ส่วนใหญ่จะเรียนวิชาทฤษฎี ประวัติศาสตร์ ศิลปะเกี่ยวกับสถาปัตย์ การปั้น หรือกราฟิก เรียนรวมกับเพื่อน ๆ สาขาออกแบบแฟชั่น และสาขาออกแบบการแสดง เทอมสองเริ่มมีเรียนปฏิบัติ เรียนเต้นแจ๊ส รำไทย ต้องให้เด็กสากลซึมซับความรู้พื้นฐานส่วนหนึ่ง เพื่อที่ปีสี่จะได้มีทักษะในการทำธีสิส ปีสอง หนักไปทางเต้น เราก็มีเรียนเต้นบัลเลต์ แจ๊ส คอนเทม (Contemporary Dance) ด้วย เริ่มหนักขึ้น แต่ก็ยังมีเรียนภาษาอังกฤษ ปีสาม หนักมาก ปีหนึ่งปีสองเราจะได้ช่วยพี่ ๆ ในการทำธีสิส แต่ปีสามเราจะต้องทำโปรดักชั่นของรุ่นเอง คือทำการแสดงหนึ่งขึ้นมา ความยาวประมาณ 30-45 นาที รุ่นซีนทำเกี่ยวกับ “Humanimal” คือ human กับ animal สะท้อนสังคมว่าจะกลับไปเป็นสัตว์เหมือนเดิมหรือเปล่า คนจากเดิมที่เป็นลิงแล้วก็วิวัฒนาการเป็นคน ก็นำมาเปลี่ยนเป็นท่าเต้น เรียกได้ว่าเหนื่อย
ส่วนปีสี่ก็จะได้ทำโปรดักชั่นส่วนตัว เอาสิ่งที่เรียนมาช่วงปีสามมาใช้หมดทุกอย่างค่ะ ธีสิสของเราต้องรีเสิร์ชให้ทุกอย่างมีเหตุและผล ของซีนเป็นงาน Choreography (การออกแบบท่าเต้น) ท่าเต้นมีความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ มีกลิ่นอายของเขมร ผสมผสานการเต้นสไตล์สตรีท เป็นงานละเอียดต้องออกแบบไฟ ออกแบบท่าเต้น โคโรกราฟหมดทุกอย่าง
ทำไมธีสิสเลือกการจับปลาแบบ “ล้อมเยาะ”
ซีนเป็นคนสุรินทร์เห็นชีวิตที่เรียบง่าย แล้วก็ได้ไปเห็นวิธีการจับปลาแบบที่เขาทำกันมาตั้งนานแล้ว ใกล้จะสูญหายไปก็เลยนำโครงเรื่องการจับปลาแบบ “ล้อมเยาะ” มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยออกแบบท่าเต้นสตรีท แจ็ส มาผสมผสานกับความเป็นล้อมเยาะ ความเป็นสุรินทร์ ความเป็นเขมร คนดูจะได้เห็นหัวใจหลักของล้อมเยาะคือความสามัคคี การจับปลาทำคนเดียวไม่ได้แน่ๆ ต้องช่วยๆ กันเพื่อที่จะได้ปลาเยอะๆ แล้วปลาก็ไม่เจ็บตัวด้วย คือปลาจะว่ายเข้ามาเองโดยเข้ามาในไม้ที่เราเอามาสุ่มวางเอาไว้เพราะเขาจะคิดว่าเป็นที่อยู่ของธรรมชาติ และพอเวลาผ่านไปเราก็จะเอาตาข่ายมาล้อม ซึ่งเราก็จะมีโครงเรื่องแบบนี้ ว่าเราจับปลายังไงเริ่มตั้งแต่ต้น คนดูก็จะได้เห็นความแปลกใหม่ของท่าเต้นและเห็นความเป็นกลุ่มเป็นก้อนความสามัคคีกัน แล้วหนูไม่สามารถที่จะเต้นให้กับงานของตัวเองได้ค่ะ แต่ว่าเป็นคนคิดทุกอย่างเองแล้วก็สอน
Contemporary Dance คือวิชาโปรด
คอนเทม ปี4 ของครูเจน เพราะว่าครูเขาเปลี่ยนมุมมองจากคอนเทมที่อยู่ในหัวของเราให้มันกว้างขึ้น เพราะเราคิดว่า คอนเทมก็คือการเต้นตามอารมณ์ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ คอนเทมคือสไตล์ที่ไม่ตายตัวแล้วแต่โคโรกราฟจะสอนหรือแล้วแต่เราจะอิมโพรไวส์โดยที่เบสออนของคนสอนก็คือเป็นเหมือนเต้นไปตามเพลง โดยที่มีอารมณ์เข้ามาช่วยและการใช้ทฤษฎีอย่างที่เรียนมา โดยครูเจนจะมาละลายความคิดในหัวเราว่าคุณทำอะไรคุณก็ไม่ผิด คุณทำอะไรก็ได้ให้เป็นสไตล์ของตัวเอง คอนเทมจะไม่ใช่การฝืนหรือการบังคับร่างกาย แต่เป็นปล่อยไปตามท่าที่จะเป็น ทำให้รู้สึกสนุกและทำให้คิดว่าเราน่าจะพัฒนาทางด้านนี้ไปได้อีก
รักเต้นและต้องเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว
สิ่งสำคัญของการเต้นไม่ใช่เต้นเก่ง คือต้องมีใจรักและความขยันหมั่นเพียรในการฝึกซ้อมแค่นั้นเอง ตอนปีสองครูบัลเลต์ถามว่ามีคนที่ยังไม่แน่ใจตัวเองไหม เพราะเรียนปีสองปีสามจะหนักและเสี่ยงมากที่จะไม่จบ คือสู้มาจนถึงปีสองแล้วก็ต้องเป็นคนมีความอดทน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย เรียกได้ว่าต้องใจล้วน ๆ ส่วนเรื่องของเบสิคการเต้นไม่เกี่ยวเลย ใคร ๆ ก็สามารถที่จะมาเรียนคณะนี้ได้ เพียงแค่ว่าคุณต้องเปิดรับสิ่งใหม่ที่จะเข้ามา ต้องไม่เป็นน้ำที่เต็มแก้ว ต้องรับทุกอย่าง เพราะว่าแต่ละคนมีพื้นฐานมาไม่เหมือนกันเลย เราก็ต้องมาแชร์กัน
ตลาดงานกว้าง
งานหลากหลายมากค่ะ หลัก ๆ มีโคโรกราฟออกแบบท่าเต้น เป็นครูสอนเต้น เปิดธุรกิจเป็นสถาบันหรือว่าฟรีแลนซ์ก็ได้ ทำคอนเสิร์ต ทำโฆษณา ที่ซีนเห็นบ่อย ๆ ตอนนี้คือมีโฆษณาที่ใช้ movement หรือการเต้น ส่วนของซีนเองก็นำไปใช้ในเรื่องของการแสดง เราสามารถที่ต่อยอดไปได้หลากหลายมาก
“ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนที่ชอบเต้นก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าสไตล์การเต้นแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ซึ่งเราตัดสินใจที่จะเข้ามาเรียนในคณะนี้แล้ว เราก็ต้องสนุกกับมัน”