Alumni : วี-รวีโรจน์ จิตวิทยา CU
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-12-26 14:13:45
เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
น้องๆ ม.ปลายที่ติดตามรายการ Admissions Gang และรายการ A-Pop คงคุ้นเคยกับดีเจหนุ่มหน้าใสคนนี้ วี-รวีโรจน์ เลิศพิภพเมธา ผู้รับหน้าที่เป็นพิธีกรและสวมวิญญาณรุ่นพี่ ชี้ทางสวรรค์ให้น้องๆ สอบติดแอดมิชชั่นกัน พี่วีเองเพิ่งเป็นบัณฑิตหมาดๆ จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะยอดฮิตแอดมิชชั่นด้วย มาเก็บข้อมูลกันว่า “จิตวิทยา” วิชาที่ดูเหมือนเข้าถึงยาก ต้องเกี่ยวข้องกับคนวิกลจริตไหม เรียนแล้วจะเป็นบ้าหรือเปล่า เฮ้ย! ไม่ใช่มั้ง
จากนิเทศมาชอบจิตวิทยา
ตอนแรกตั้งใจว่าจะเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ให้ได้ แต่เผอิญว่าคะแนนผมพยายามอย่างไรก็ไม่ถึงครับ คะแนนมาอยู่ที่คณะจิตวิทยา เลยหาข้อมูล ก็พบว่าคณะจิตวิทยามีวิชาโทนิเทศด้วย สามารถเรียนพ่วงไปด้วยกันได้ ก็เลยลองเรียนคณะนี้ดู
พอเข้ามาเรียนความคิดเปลี่ยนไปเลย กลายเป็นว่าเราชอบจิตวิทยา เราอยากจะศึกษา คือยอมรับว่าไม่ได้เป็นคนตั้งใจเรียนมาก และเป็นคนที่ไม่ได้มุ่งมั่นอะไร แต่พอมาเรียนแล้วกลายเป็นว่าเราอยากจะตื่นเช้าเพื่อไปเรียน เพื่อไปรู้จักคนให้มากขึ้น รู้จักจิตวิทยาให้มากขึ้น กลายเป็นว่าสนุกไปกับมัน
หลักสูตรจิตวิทยา
มีสี่สาขาด้วยกัน คือ จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ จิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาการปรึกษาครับ สมมติว่าคนที่อยากจะเป็นนักจิตเวช ก็จะเลือกเรียนจิตวิทยาการปรึกษา เป็นการให้คำปรึกษาและพูดคุยเป็นการบำบัด แต่ว่านักจิตเวชไม่สามารถจ่ายยาให้คนไข้ได้ นั่นคือข้อแตกต่างเดียวระหว่างนักจิตเวชและนักจิตแพทย์ นักจิตวิทยาสังคมจะเรียนรู้เกี่ยวกับคน ไปรู้จักคน สามารถโน้มน้าวคนได้ จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การจะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของคน พัฒนาศักยภาพคนในองค์กรให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และสุดท้ายก็คือจิตวิทยาพัฒนาการ ส่วนใหญ่จะเป็นนักบำบัดหรือว่านักพัฒนาการเด็ก พัฒนาไอคิวอีคิวต่างๆ ให้เป็นไปตามวัยที่เหมาะสม
เจาะลึกการเรียนการสอน
ปีหนึ่งจะเรียนพื้นฐานทั้งหมด มีจิตวิทยาขั้นพื้นฐาน เคมี ชีววิทยา แต่ไม่มีฟิสิกส์ ก็จะได้เรียนรู้อะไรต่างๆ ปีสองก็จะเรียนพื้นฐานของจิตวิทยาสังคม จิตวิทยาอุตสาหกรรม จิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาการปรึกษา ทำให้นิสิต มีข้อมูลในการเลือกว่าอยากจะไปเรียนในสายไหนอย่างชัดเจนขึ้น ปีสามก็เรียนสาขาที่เลือกแล้วยาวจนถึงปีสี่ครับ
ด้วยความที่จิตวิทยาสร้างนิสิตขึ้นมาเพื่อให้เป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นนักปฏิบัติ นักวิชาการเพื่อค้นหาค้นคว้าข้อมูลดีๆ ที่ยังไม่มีใครได้คำตอบ เพราะฉะนั้น ปีสี่ก็จะเป็นการทำธีสิสในรูปแบบของการแจกแบบสอบถาม การพิสูจน์สมมติฐานของบุคคลที่เคยได้สร้างทฤษฎีต่างๆ ไว้มาพิสูจน์กับบุคลากรต่างๆ แล้วแต่เรา บางคนก็ไปศึกษากับผู้ป่วย บางคนก็ไปศึกษากับนิสิตด้วยกันเอง บางคนไปศึกษากับบุคคลวัยทำงาน เป็นการทดสอบสมมติฐานด้วย และสร้างสมมติฐานใหม่ๆ ขึ้นมาครับ
ค่ายเจาะจิต
ค่ายที่เปิดโอกาสให้กับนักเรียนได้ทำความรู้จักคณะจิตวิทยา รู้จักกับศาสตร์ของจิตวิทยา และรู้จักกับประวัติของจิตวิทยา เผื่อว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งให้กับคณะที่น้องได้เลือกกัน และก็มาให้ข้อมูลกับเขากับค่ายเจาะจิตครับ ปีนี้เป็นปีที่ 12 แล้วครับ
จิตใจคือสิ่งสำคัญ
ถ้าเกิดว่าจิตใจของเราสามารถรับเรื่องราวของคนอื่นได้ เราก็ช่วยเหลือคนอื่นต่อได้ ถ้าเกิดว่าเราสามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ เราก็จะแก้ปัญหาให้คนอื่นได้ แล้วจิตใจของเราเป็นสิ่งที่อ่อนไหว ยิ่งเรามาเรียนจิตใจของผู้อื่น สะท้อนกลับมาที่จิตใจของเรา มันก็กลับไปที่เรื่องของดาร์กไซด์ เพราะถ้าเกิดเราค้นพบว่าจิตใจของเรามีปมนี้เราอยากแก้ไขปมนี้ เราอยากจะเป็นคนใหม่ที่ดีกว่า มันจะนำพาเราไปในสิ่งที่เราไม่ควรทำ
Admissions Unlocked เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับว่าที่นักจิตวิทยา - จิตวิทยาเป็นพื้นฐานของทุกคน ทุกอาชีพ - สามารถนำเนื้อหาในจิตวิทยาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ - เรียนแล้วช่วยเหลือคนอื่นได้ ไม่จำเป็นว่าเรียนมาแล้วประกอบอาชีพอะไร - สามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพอื่นๆ ในสายจิตวิทยาได้ - คนที่ไม่ควรเรียนจิตวิทยา คือคนที่มีความอ่อนไหวมากจนเกินไป |