www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

Alumni : ปิง-ณัฐกิตติ์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ ม.รามคำแหง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-10-30 12:05:45

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก

ปิง-ณัฐกิตติ์

คณะทัศนมาตรศาสตร์ ม.รามคำแหง

ทัศนมาตร

 

แม้จะเปิดการเรียนการสอนมาแล้วกว่าสิบปี แต่ คณะทัศนมาตรศาสตร์ ม.รามคำแหง ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทั้งที่เป็นสาขาที่กำลังขาดแคลนแรงงานในตลาด ปิง-ณัฐกิตติ์ อธิหิรัญนรภัทร์ รุ่นพี่นักทัศนมาตร “ลูกพ่อขุน” อาสาพาไปเจาะลึกให้รู้จริง

สานต่อกิจการครอบครัว

ผมเป็นคนอุบลฯ ป๊ามีร้านแว่นอยู่แล้ว เขาบอกว่าต่อไปกฎหมายจะไม่ให้เปิดร้านแว่นวัดสายตาแล้ว ถ้าไม่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ ก็เลยมาเรียนที่นี่เพื่อเอาใบ ซึ่งรุ่นผมการสอบแข่งขันยังไม่เยอะ และเขาให้สิทธิ์ลูกร้านแว่นเข้ามาเรียนที่นี่ เลยมีสอบประเมินผลแค่นั้น แต่ก็รับหมดครับช่วงนั้น แต่ช่วงนี้รุ่นน้องปีหลังๆ คนสมัครเกินจำนวนก็เลยต้องสอบแข่งขัน ซึ่งจะเอาอยู่ไม่เกิน 30 คน

หลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์

ตอนแรกผมคิดว่าเรียนง่ายๆ แค่มาเรียนเอาใบไปห้อย จบไปก็ไปดูแลกิจการที่บ้านต่อ แต่พอได้เข้าไปเรียนจริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างที่เราคิด คณะนี้เรียนหกปี ปีหนึ่ง ปีสอง จะเป็นพื้นฐานวิทยาศาสตร์ก่อน เหมือนที่เคยเรียนตอนม.ปลาย แต่ก็จะมีวิชาเสริมเข้ามาของมหาวิทยาลัย เช่น ห้องสมุด กฎหมาย แต่ว่าก็เป็นพื้นฐานหมดเลย พวกสาธารณสุข และก็ชีวะจะมีทุกปี แต่ละปีแตกต่างกันปีหนึ่งก็จะง่ายหน่อย ปีสองก็จะเจาะลึกเข้าไป ปีสาม จะเริ่มเจาะเข้าไปเกี่ยวกับวิชาที่เกี่ยวกับร่างกาย เป็นพวกสิ่งที่เราพอมองเห็นได้ เช่น หัวใจ ปอด กระเพาะ ลำไส้ เราก็จะเริ่มมาดูเกี่ยวกับการทำงานของร่างกาย แต่ว่ายังไม่ได้เน้นเรื่องตานะครับ

พอปีสี่เริ่มมาเน้นเรื่องตามากขึ้น เริ่มมีวิชาคลินิกเข้ามาบ้าง แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติอะไรเยอะ ส่วน ปีห้า ทุกอย่างที่เรียนจะเกี่ยวกับตาหมดเลย เกี่ยวกับการมองเห็น และมีปฏิบัติคลินิกเพิ่มขึ้นมา คือปีสี่จับคลินิกแค่เทอมสอง อาทิตย์ละหนึ่งวัน ส่วนปีห้าคลินิกสองเทอม อาทิตย์ละสองวัน ส่วน ปีหก เทอมแรกจะเป็นคลินิก คลินิกภายในสามวัน ส่วนเทอมสองก็จะไปคลินิกภายนอก ไปตามโรงพยาบาลครับ

ทัศนมาตร

นักทัศนมาตรกับจักษุแพทย์ต่างกัน

จักษุแพทย์จะเน้นเรื่องโรคตาและผ่าตัดเป็นหลัก ส่วนนักทัศนมาตรจะเน้นเรื่องการมองเห็นและการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นเป็นหลักด้วยการใช้สื่อใช้เลนส์ใช้ปริซึม ส่วนที่ทับกันอยู่ก็มี แต่ก็จะมีส่วนที่ชัดเจนของแต่ละสาย

ออกหน่วยตรวจตา

ผมเคยออกตรวจของไลออนส์คือไปตรวจตาเด็กตามโรงเรียน ว่าตาผิดปกติอะไรไหม วัดสายตาต้องแก้ไขอะไรหรือเปล่า ต้องส่งแพทย์ไหม หรือว่าเราจ่ายแว่นไปเขาก็หมดปัญหา และมีออกตรวจเด็กออทิสติกครับ อันนี้จะตรวจยากและต้องมีวิธีตรวจที่แตกต่างกันกับเด็กธรรมดา สมมติว่าเราเคยใช้ตัวเลข แต่ว่าของเด็กออทิสติกต้องเป็นบ้าน เป็นหัวใจแบบนี้ไป จะใช้คนละแบบ และจะมีพวกออกหน่วยเราก็จะได้อะไรเยอะกว่าที่อยู่ในคลินิก เราก็จะได้เห็นปัญหาของเด็ก ว่าเป็นอะไรบ้าง พอเขาแจ้งมา โอเคเราว่างก็ไป

ขาดแคลนนักทัศนมาตร

ร้านแว่นตา บริษัทเลนส์ บริษัทคอนแทคเลนส์และก็ในโรงพยาบาลจะรับนักทัศนมาตร แต่ในโรงพยาบาลจะมีข้อจำกัดอยู่ว่าให้เราสามารถวัดสายตาให้ก่อน เขาจะเชื่อถือเราเฉพาะวัดสายตาครับ แต่สมมติว่าเราสามารถทำให้เขาเห็นได้ว่าเราไม่ได้วัดสายตาได้อย่างเดียว เราสามารถทำอย่างอื่นได้ด้วย เขาก็อาจจะพิจารณาดู

ตลาดงานยังต้องการนักทัศนมาตร คือไม่พอ และฐานเงินเดือนค่อนข้างสูง เฉพาะเริ่มต้นแม้ไม่มีใบประกอบโรคก็ตามจะสูงประมาณสามสี่หมื่นอัพครับ ยังต้องการอยู่ครับเพราะว่าตอนนี้ผมไปทำพาร์ทไทม์ด้วยที่คลินิกจักษุ ก็ได้วันละพันประมาณนี้ครับ

ทัศนมาตร

สนใจคณะทัศนมาตรศาสตร์ ต้องรักวิทยาศาสตร์
ต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คือต้องรักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ด้วย ชีววิทยากับฟิสิกส์เน้นๆ เพราะว่าเราเรียนเรื่องแสงด้วย พวกแว่นตา เลนส์เก็บแสง

ผมว่าเด็กไทยที่เรียนคณะต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ชอบแต่ก็เรียน พ่อแม่อยากให้เรียนก็ไปเรียน ผมว่าเขาก็เรียนได้ คณะนี้ก็เหมือนกัน แต่ต้องบอกก่อนว่า คณะทัศนมาตรศาสตร์ถึงจะอยู่รามคำแหงก็จริง แต่มันไม่เหมือนกับที่เราคิดไว้ครับ อย่าไปคิดว่าไม่เรียนก็ได้ ไม่ได้ครับ ไม่เรียนก็ไม่ผ่าน ไม่อ่านหนังสือก็ตกเหมือนกัน ต้องเตรียมตัวมาดีๆ ต้องขยัน ต้องสู้ด้วยนะครับ

 

คณะทัศนมาตรศาสตร์ ม.รามคำแหง เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ ความสามารถทางวิชาการระดับมาตรฐานสากล สามารถประกอบวิชาชีพทางทัศนมาตรศาสตร์ (Optometry) ทัศนศาสตร์-เลนส์สายตาและทัศนศาสตร์เชิงอุตสาหกรรม (Ophthalmic and Optical Industries) และ ทัศนวิทยาศาสตร์ (Vision Science) สามารถดูแล แก้ไขและฟื้นฟู รวมถึงการป้องกันสุขภาพทางสายตาแก่ประชาชนทั่วไป

การคัดเลือกผู้เข้าศึกษาตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย

http://www.opto.ru.ac.th/