www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

Alumni : พลอย-ปรียาภัทร์ คณิตศาสตร์ประกันภัย ม.มหิดล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-08-27 14:06:20

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก

กลายเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ เมื่อเด็กเก่งอันดับหนึ่งคะแนนแอดมิชชั่น ตัดสินใจเลือกเรียนคณิตศาสตร์ประกันภัย หลักสูตรนอกสายตาที่ยังไม่ค่อยมีสถาบันไหนเปิดสอนโดยตรง เรามาทำความรู้จักอาชีพ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือ แอคชัวรี่ (actuary) ไปกับ พลอย-ปรียาภัทร์ ผลเจริญ ศิษย์เก่าสาขาวิชาคณิตศาสตร์ประกันภัย (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ที่จะพาไปเจาะลึกว่าเรียนอย่างไร ทำงานแบบไหน

 

พลอย-ปรียาภัทร์ คณิตศาสตร์ประกันภัย ม.มหิดล

หลักสูตรใหม่มีงานรองรับ

ตอนแรกคุณแม่ไปเจอบทสัมภาษณ์ อ.ยงค์วิมล เลณบุรี นักคณิตศาสตร์ เกี่ยวกับหลักสูตรนี้ เห็นว่าน่าสนใจเพราะเกี่ยวกับคณิตศาสตร์และธุรกิจ จบมามีงานทำแน่นอน ตอนนั้นพลอยเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น ชอบเรียนเลข ชอบเรียนเกี่ยวกับธุรกิจ ภาษาอังกฤษเราก็โอเค เราก็เรียนอันนี้สิไม่ต้องไปแย่งงานกับใคร เลยกลับมาเรียนต่อที่ไทยเพราะอยากเรียนหลักสูตรนี้ โดยสอบตรงเข้ามาค่ะ มีสอบอังกฤษกับเลขสองวิชา

 

จากเน้นภาษามาเป็นหนักคำนวณ

จริงๆ เป็นคนชอบเรียนภาษา แล้วก็ไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นด้วย กลับมาพื้นฐานเลขไม่ได้แน่นมาก แต่ก็ตั้งใจเรียน ตอนปีหนึ่งนี่ทุกอย่างใหม่หมดเลย บางคนเรียน ม.6 ที่ไทยก็จะรู้สึกว่าเคยเรียนมาแล้วตอน ม.6 แต่เราไม่รู้เรื่อง พอปีสองปีสามก็เริ่มชิน ต้องขยันๆ หน่อยในช่วงแรก เรียนในห้องแล้วกลับไปทบทวนจนเข้าใจค่ะ

 

พลอย-ปรียาภัทร์ คณิตศาสตร์ประกันภัย ม.มหิดลหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัย

หลักสูตรนี้เรียนสามปีครึ่งค่ะ ปีหนึ่งจะเรียนพื้นฐานเลข สถิติ แคลคูลัสแบบพื้นฐานเหมือน ม.6 เลย อาจจะยากขึ้นมาหน่อย มีเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ชีวะ เคมี ภาษาอังกฤษ และมีวิชาเกี่ยวกับสังคม ปีแรกเรียนรวมๆ เหมือนจับฉ่าย พอปีสองเริ่มจะมี Financial Math เศรษฐศาสตร์ และวิชาที่เกี่ยวกับธุรกิจมากขึ้น ปีสาม-ปีสี่เป็นวิชาสายตรงกับประกันเลย พวกวิชาคำนวณประกันต่างๆ คิดเบี้ยประกัน เป็นสูตรที่ที่อื่นคงไม่สอน

 

จากตอนแรกคิดว่าเลขยาก แต่หลังๆ เรียนเลขเยอะมากจนรู้สึกคล่องแคล่ว วิชา OR (Operation Research) เป็นวิชาที่เรียนแล้วสนุกมาก เรียนเกี่ยวกับว่ามีสูตรมาหลายๆ สูตร แล้วบอกว่าเราจะหาคำตอบที่ดีที่สุดได้อย่างไร โดยตีความโจทย์เลขไว้เยอะๆ วิชานี้อาจารย์ท่านสอนสนุกมาก ให้ออกไปข้างหน้าห้อง ทุกคนต้องทำ ทุกคนต้องตอบ เรียนเลขไม่น่าเบื่อ เฮฮากัน

 

การสอบวัดระดับเพื่อเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

 

การเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือ แอคชัวรี่ ต้องสอบคุณวุฒิทางวิชาชีพของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ SOA (Society of Actuaries) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพ การสอบคุณวุฒิมีสองระดับ ระดับแรกเป็นแอสโซซิเอท (associate) ระดับที่สองเป็นเฟลโล่ (fellow) บางวิชาเราสามารถสอบเก็บไว้ได้ตั้งแต่ตอนเรียน เช่น Probability (ความน่าจะเป็น) ซึ่งก็เรียนอยู่แล้ว หรือว่า Financial Math คำนวณดอกเบี้ยหักมาเป็น Present Value (มูลค่าปัจจุบัน) แล้วแต่คน บางคนขยันก็จะสอบได้เยอะ พลอยเริ่มสอบตั้งแต่ปีหนึ่งเทอมสอง ที่เริ่มสอบเร็วเพราะว่าไม่อยากไปอัดตอนทำงาน เพราะตอนทำงานคงไม่มีเวลานั่งทำงานไปด้วยสอบไปด้วย ก็เลยพยายามสอบให้ได้มากที่สุดตอนเรียน และที่มหาวิทยาลัยมีอาจารย์ให้เราปรึกษาได้

ส่วนการสอบระดับเฟลโล่ ต่างกับการสอบระดับแรกมาก ยากขึ้นค่อนข้างมากเพราะเป็นกรณีศึกษา ต้องมีประสบการณ์ทำงานถึงจะตอบได้ ส่วนแรกยังเน้นการคิดเลขไม่ต้องมีประสบการณ์ก็ทำได้ สาเหตุที่จำนวนคนไทยสอบผ่านเป็นเฟลโล่มีน้อย เพราะแต่ก่อนไม่มีคณะสายตรงแบบนี้ ส่วนใหญ่จะจบวิศวะแล้วเปลี่ยนแนวมาทำ มีชาวต่างชาติเป็นหัวหน้า

 

พลอย-ปรียาภัทร์ คณิตศาสตร์ประกันภัย ม.มหิดลความสำคัญของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

แอคชัวรี่เป็นเหมือนสมองของบริษัทประกัน หน้าที่หนึ่งคือคิดคำนวณหาเงินสำรองว่าคุณขายประกันตัวนี้ คุณต้องเก็บเงินสำรองเท่าไรถึงจะเพียงพอ ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาจะมีเงินพอที่จะจ่ายผู้ทำประกัน หรือว่าคำนวณกำไร แต่ว่าการคำนวณกำไรของประกันต่างจากสินค้าอย่างอื่น สมมติผลิตน้ำ เรารู้ว่าต้นทุนเท่าไหร่ ก็บวกขึ้นมา แต่สำหรับประกัน เราจะไม่รู้ต้นทุนจนกว่าจบสัญญา เพราะว่าเป็นเรื่องในอนาคตกว่าคนจะมาเคลม ดังนั้นเลยต้องใช้แอคชัวรี่มาเดา แต่ว่าเราเดาแบบมีหลักการ อาจจะมีประสบการณ์เยอะๆ สักสิบปี ดูประสบการณ์สิบปีเป็นเท่านี้ก็เอามาใช้ไปก่อน ตั้งเป็นสมมติฐาน

 

อีกหน้าที่หนึ่งของแอคชัวรี่คือสร้างโปรดักส์ใหม่ คิดเบี้ยใหม่ ตอนนี้พลอยก็ทำด้านโปรดักส์ ต้องครีเอทีฟหน่อย ไม่ใช่เลขจ๋าขนาดนั้น ต้องใช้จินตนาการเล็กน้อยว่าจะทำฟีเจอร์แบบไหนให้ขายได้ ทำแบบไหนให้ไม่ขาดทุน บางทีมันน่าสนใจสำหรับลูกค้าแต่คำนวณแล้วประกันไม่คุ้ม และต้องรู้ว่าที่อื่นเขาทำแบบไหนบ้าง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ตั้งกฎมาว่าถ้าคุณจะผลิตโปรดักส์ตัวหนึ่ง คุณต้องมีเงื่อนไขแบบนี้ๆ คุณต้องมีเงินสำรองเท่าไร เบี้ยของคุณเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ มีขอบเขตหลายๆ ด้าน แอคชัวรี่ต้องทำงานร่วมกับทุกแผนกเลย เราอาจจะคิดโปรดักส์ขึ้นมาได้ แต่มาร์เก็ตติ้งอาจจะบอกว่าขายจริงๆ เขาขายไม่ได้นะ เพราะเราก็เหมือนอยู่แต่หลังบ้าน เขาขอมาก็พยายามทำให้ได้โดยไม่ขาดทุน

 

เสน่ห์ของอาชีพนี้

มีอำนาจ คือเราสั่งได้เราเป็นคนตัดสินใจได้ เราเป็นคนเอาตัวเลขมาให้ผู้ใหญ่ตัดสินใจ มันรู้สึกว่าเอออาชีพเราสำคัญนะ แล้วหลายๆ คนต้องพึ่งพา ต้องพึ่งเรา ซึ่งบางทีก็กดดันเหมือนกัน

 

เคล็ดลับการสอบวัดระดับ

ส่วนใหญ่จะมีหนังสือที่เป็น Manual ไว้อ่านแต่ละตัว ปกติเวลาจะสอบพลอยจะอ่านทุกอย่าง อ่านหมดเลยรอบหนึ่งก่อนแล้วค่อยมาไล่ทำโจทย์ ถ้าทำไม่ได้ก็ทำใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ทำจนมันได้ แต่ว่าทำแบบนี้มันก็ใช้เวลาฝึกเยอะๆ มันไม่มีทางลัดอ่านแค่ตรงนี้ตรงนั้นมันเก็งไม่ได้ ต้องใช้ความพยายาม 80% อีก 20% อยู่ที่เทคนิคของเราว่าจุดนี้เราไม่เข้าใจเราจะทำอย่างไรให้ตัวเองจำให้ตัวเองเข้าใจได้ เพราะว่าส่วนใหญ่อ่านเอง อาจารย์ก็มีให้ถามแหละ แต่ว่าก็ต้องเข้าใจด้วยตัวเอง แล้วเวลาทำงานก็ไม่มีใครสอนหรอก ก็ต้องอ่านเองอย่างเดียว

 

ชอบตัวเลข อดทน และละเอียด

แอคชัวรี่ต้องมีความอดทน เคยบอกรุ่นน้องคนหนึ่งที่กำลังฝึกงานอยู่ เขาบอกว่าเขาไม่รู้ว่าจะชอบอาชีพนี้หรือเปล่า พลอยเลยบอกให้น้องลองฝึกงานเสร็จกลับบ้านไปอ่านหนังสือสองชั่วโมงทุกวันสิ ถ้าทำได้ก็ทำได้อาชีพนี้ เพราะมันต้องกลับบ้านอ่านหนังสือจริงๆ คือมีสอบเยอะค่ะ แล้วต้องเป็นคนละเอียดพอสมควร ไม่ต้องเก่งเลขก็ได้แต่ต้องชอบเลข อย่างพลอยก็ไม่ได้เก่งเลข แต่อยากแก้ปัญหา มีปัญหาคืออยากรู้ อยากทำให้ได้ สุดท้ายภาษาอังกฤษสำคัญมาก ข้อสอบทุกตัวภาษาอังกฤษหมดเลย ยิ่งข้อสอบหลังๆ เป็นกรณีศึกษาภาษาอังกฤษมา 30 หน้า เวลาตอบก็ต้องเขียนภาษาอังกฤษ

 

พลอย-ปรียาภัทร์ คณิตศาสตร์ประกันภัย ม.มหิดล

 

สำหรับน้องๆ ที่อยากเป็นแอคชัวรี่

ถ้าอยากสำเร็จหนึ่งมีเรื่องสอบ แต่ว่าก็อยากให้คิดด้วยว่าถึงเราสอบเราตั้งใจเรียนแค่ไหน เวลาทำงานจริงๆมันมีมากกว่านั้น มันต้องมีความกดดัน ต้องติดต่อคนเยอะแยะ คือต้องมีระเบียบระดับหนึ่ง ก็มีความอดทน และก็เรื่องเกี่ยวกับเงินเดือน ตอนแรกๆ ก็ยังไม่อยากให้ไปสนใจมาก เพราะว่าคนส่วนใหญ่ที่มาเรียนเพราะเงินเยอะ จริงๆ จุดเริ่มต้นก็เท่าๆ กันหมดแหละ คือเราก็ยังไม่มีอะไร เพิ่งจบใหม่ คืออยากให้ทำงานไปสักพักหนึ่งก่อน ให้มีประสบการณ์ค่ะ มีสอบให้ไล่ขึ้นไปพร้อมๆ กัน

 

สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประกันภัย (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล เพื่อผลิตบัณฑิตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญทางด้านการวิเคราะห์ระบบเพื่อความมั่นคง และปลอดภัยทางด้านเศรษฐกิจการเงินของสังคม โดยมีบทบาทเห็นได้ชัดในงานบริการทางการเงิน รวมถึงบริษัทประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการลงทุน และกองทุนบำนาญ

 

การคัดเลือกผู้เข้าศึกษาจะใช้วิธีสอบข้อเขียน และการสัมภาษณ์ ตามระเบียบการสอบคัดเลือกโดยวิธีพิเศษของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

www.sc.mahidol.ac.th