เคล็ดลับความสำเร็จ โอ zylostudio
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-08-27 14:01:12
“Tidlom” (ติดลม) สติ๊กเกอร์ไลน์ควายหนุ่มบ้านนอก ปลายหางเป็นรูปหัวใจที่มีความฝันอยากจะบินได้ ด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทยบวกกับความน่ารักทำให้เจ้า “ติดลม” ฮอตฮิตติดลมสมชื่อ คว้าอันดับหนึ่งบนชาร์ต Sticker Shop ของไทยตั้งแต่เริ่มขายวันแรก เจ้าของคาแรคเตอร์นี้คือ โอ-สัญญา เลิศประเสริฐภากร นักออกแบบคาแรคเตอร์ที่ชื่อในวงการว่า “zylostudio”
ก่อนจะเป็นนักออกแบบคาแรคเตอร์
ผมจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาวิทยุโทรทัศน์ ไม่เกี่ยวกับการออกแบบสักเท่าไร จบมาก็ทำงานอยู่ที่ช่องโทรทัศน์ดนตรีช่องหนึ่ง เป็นฝ่ายโปรโมชั่น ก็คือฝ่ายที่ทำสปอตโฆษณาและกราฟิก ผสมผสานเป็นครีเอทีฟด้วย
แรงบันดาลใจ
คาแรคเตอร์ดีไซน์เป็นอีกสาขาหนึ่งของนักวาด เหมือนเด็กไทยทั่วไปที่ชอบดูการ์ตูน ชอบอ่านหนังสือการ์ตูนและชอบวาดรูป เพราะฉะนั้นเรื่องคาแรคเตอร์ดีไซน์จริงๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าความชอบส่วนตัวที่ทำมาตั้งแต่เด็ก ถามว่าเรื่องเรียนวิทยุโทรทัศน์ วารสารศาสตร์มันจะได้เรื่องโปรแกรม เรื่องครีเอทีฟ เรื่องหลักการคิดมา แต่เรื่องสกิล การวาดเป็นเรื่องของความชอบ
นักออกแบบคาแรคเตอร์
คือการออกแบบตัวคาแรคเตอร์หรือตัวการ์ตูนอะไรบางอย่าง จริงๆ แล้วคนทั่วไปก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าคาแรคเตอร์ดีไซน์คืออะไร เพราะว่าคนไทยชินกับนักวาด คือนักวาดการ์ตูน มังกะ อาร์ททิสต์ illustrator artist เขาจะมีสกิลเรื่องการวาดก็จะวาดสวยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา แต่ว่าคาแรคเตอร์ดีไซน์จะเป็นสาขาที่แบ่งออกมาคือเน้นที่การออกแบบตัวละครที่ไม่เหมือนกัน ตามแนวคิดหรือตามคอนเซปต์ หรือตามหัวข้อที่ถูกกำหนดมา ว่ากลุ่มเป้าหมายคืออะไร บุคลิกลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร ควรจะสื่อสารอะไร ฉะนั้นเวลาเราดูผลงานของนักวาดหลายๆ คน เราจะสังเกตง่ายๆ ว่านักวาดคนไหนที่วาดตัวละครหลายๆ ตัว แล้วไม่ค่อยเหมือนกัน มีลักษณะโดดเด่นแตกต่างกันนั่นแหละคือคาแรคเตอร์ดีไซน์
สิ่งสำคัญของการออกแบบ
เกี่ยวพันกับการแบ่งประเภท คือ มังกะ อาร์ตติสก์ใช้สกิลในการวาด วาดสวยแล้วก็อาจจะเล่าเรื่องไป ส่วน illustrator artistหรือนักวาดภาพประกอบก็จะมีความลื่นไหล มีจินตนาการระหว่างที่เขาวาด แต่นักออกแบบตัวการ์ตูนคาแรคเตอร์ดีไซน์ สเตปแรกตอนเริ่มงานจะยังไม่ได้วาด ต้องคิดก่อนว่าจะทำอะไร คอนเซปต์คืออะไร คอนเซปต์หนึ่งแตกไปเป็นสอง สาม สี่มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ฉะนั้นผมอยากจะบอกจริงๆ ว่านักวาดมีเยอะ เด็กที่มีสกิลในการวาดมีเยอะ แต่ถ้าอยากจะทำเป็นคาแรคเตอร์ดีไซน์ต้องเพิ่มสกิลของความคิดสร้างสรรค์ เรื่องของครีเอทีฟและเรื่องของการคิดเป็นขั้นเป็นตอน
ศึกษาความรู้เพิ่มเติม
ผมว่าเราดูผลงานอื่นๆ เป็นตัวอย่างได้ แต่เราต้องรู้ว่าเราจะดูอะไร เพราะว่าคาแรคเตอร์ดีไซน์ที่สำคัญเลยเราดูการ์ตูน โดยทั่วไปจะไม่ค่อยเด่นชัดเท่าไร ซึ่งก็มีผสมอยู่ทั้งหนังทั้งการ์ตูน อย่าง Transformers โดราเอมอน พวกนี้ก็เป็นคาแรคเตอร์ดีไซน์ทั้งนั้น แต่จะเน้นที่การเล่าเรื่อง ฉะนั้นคนที่อยากเป็นคาแรคเตอร์ดีไซน์ถามว่าจะต้องดูอะไร ดูมาสคอตของสินค้าต่างๆ แล้วพยายามวิเคราะห์ว่าทำไมเขาใช้ตัวนี้ ทำไมถึงต้องเป็นแมว แมวสื่อสารอะไร แมวเน้นเรื่องความน่ารัก หรือว่าลิงเน้นความฉลาด หรือทำไมต้องเป็นสีเขียว ลองวิเคราะห์ดูแล้วเราจะรู้ว่ากระบวนการคิดของเขามีสเตปการคิดหนึ่งสองสามเป็นอย่างไร เราก็จะสามารถออกแบบคาแรคเตอร์ ตามโจทย์ที่เราอยากจะทำหรือตามโจทย์ที่มีลูกค้าอยากให้เราทำได้
เสน่ห์ของอาชีพนี้
คือหัวใจหลักของมันนั่นแหละ เวลาเราออกแบบคาแรคเตอร์ทุกครั้งโจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้ไม่เหมือนเดิม เพราะถ้าบอกว่าเราเป็นคาแรคเตอร์ดีไซน์แต่เราออกแบบมาแล้วเหมือนเดิมๆ ตลอด ใช้คอนเซปต์เดิม ใช้สีเดิม สมมติออกแบบมาสคอตทุกแบรนด์ออกมาหน้าตาเหมือนกันหรือเปล่า โจทย์ความสนุกของมันคือคิดอย่างไรให้มันหนีจากคราวที่แล้ว คิดอย่างไรให้หนีไปจากที่คนอื่นทำไปแล้ว ทำให้เราต้องคิดสเตปที่หนึ่ง เบสิคคิดเหมือนคนอื่นเขาออกแบบปุปฆ่าทิ้ง ไปสเตปที่สองหนีจากสเตปหนึ่งไปหน่อย ออกแบบปุปฆ่าทิ้งไปสเตปที่สาม เมื่อเราได้สเตปสาม สเตปสี่นั่นแหล่ะมันคือความสนุกของการออกแบบ
Tidlom ติดลม
ติดลมเป็นตัวละครที่มีอยู่แล้วในสตูดิโอตั้งนานแล้ว พอดีว่ามีงาน Thailand Animation and Multimedia ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปส่งคาแรคเตอร์เข้าประกวดได้ทุกปี เราก็อยากจะส่งเข้าไป ทีนี้ตัวละครขอ zylostudio เกือบทุกเรื่องจะมีเรื่องความเป็นไทยอยู่ละ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่จดเอาไว้ แต่ไม่ได้ทำซะที เรื่องว่าวไทย ว่าวจุฬากับปักเป้า รู้สึกว่าว่าวไทยมันเป็นเอกลักษณ์ที่ค่อนข้างชัดเจนของคนไทยนะ และก็ไม่ค่อยมีใครเอามาเล่นเท่าไร เสียดายกลัวมันจะหายไป เราก็คิดว่าใช้คอนเซปต์นี้แหละ แต่ว่าวมันต้องมีตัวละครที่จับต้องได้บวกผสมเข้าไป เราก็เลยรู้สึกว่าต้องหาอะไรเป็นไทยอีกสักอย่างหนึ่ง มีตัวหนึ่งที่คิดว่าถ้าอยู่กับว่าวต้องน่ารักแน่ๆ เลย ก็คือควายนี่แหละ ควายไทย หน้าตาซื่อๆ คาดผ้าขาวม้า ก็เลยจับมาผสมกัน ใส่คอนเซปต์เพิ่มเข้ามาว่าติดลมเป็นควายนักประดิษฐ์โอทอป คือเป็นควายที่อยู่ตามพื้นบ้านเรา แต่ว่าเขาเปิดรับรู้สิ่งใหม่ๆ จากต่างประเทศ จากในเมืองหรือว่าวิทยาการใหม่ๆ แล้วเอามาผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นเพื่อจะออกมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีเอกลักษณ์ของเราเอง ฉะนั้นถ้าติดลมจะบิน ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างเครื่องบินหรือว่าเครื่องร่อนแบบฝรั่ง ก็ทำเป็นว่าวไหม โดยวัสดุในท้องถิ่นไม้ไผ่ กระดาษสา ออกมาเป็นคอนเซปต์นักประดิษฐ์โอทอป
คำว่าติดลม รากศัพท์มาจากว่าว เวลาว่าวลอยอยู่นานๆ จะเรียกว่าติดลมบน ชื่อพวกนี้มีการรีเซิร์จมาก่อนอยู่แล้วเพื่อให้เป็นกลุ่มก้อนค่อนข้างแข็งแรง อย่างเช่น ควายชื่อติดลม เพื่อนที่เป็นนกเอี้ยงชื่อเฉวียน มีเพื่อนในแก๊งค์ที่เป็นหมาวิ่งเล่นอยู่ตามท้องนาก็ชื่อว่ากระถิน ต้อยติ่ง ตำลึง เพราะว่าเขาชื่อว่าแก๊งค์ริมรั้ว เป็นเด็กที่ชอบอยู่รั้วอะไรที่อยู่ข้างรั้วที่อยู่บ้านนอกก็เป็นพวกพืชที่เราเห็นกันนี่แหละ กระถิน ต้อยติ่ง ตำลึง
ถ้าพูดถึงสติ๊กเกอร์ไลน์ เข้าครีเอเตอร์สติ๊กเกอร์ผมมีพาร์ทเนอร์ด้วย บริษัทไทยดิจิ คือทางเราเป็นคาแรคเตอร์ดีไซน์อยู่แล้ว ทางไทยดิจิก็เห็นช่องทางที่ว่ามีตลาดที่น่าจะพอทำธุรกิจได้ ไทยดิจิช่วยดูโปรโมชั่น ช่วยดูโฆษณา กับเรื่องการตลาด ของผมก็มีคาแรคเตอร์อยู่แล้ว ทีนี้คนมักจะถามว่า zylostudio มีคาแรคเตอร์ตั้งหลายตัวทำไมส่งสติ๊กเกอร์เป็นติดลม เพราะว่าเราไม่ได้ส่งเพื่อความสนุก เห็นว่าเป็นการตลาดที่พอจะมีรายได้ได้ด้วยเพราะฉะนั้น ถ้ามีโอกาสครั้งเดียว ผมว่าไลน์น่าจะเปิดโอกาสช่วงสั้นๆ ปิดตลาดไปเราก็ไม่รู้ เราก็ต้องเลือกกันหน่อยว่าเราจะเอาอะไรดี แน่นอนสติ๊กเกอร์ต้องน่ารักอยู่แล้วคนถึงอยากใช้ ต้องเข้าใจง่าย ทีนี้เราก็คิดว่าสัตว์น่าจะเข้าใจง่ายสุด เราก็ต้องไปดูตลาดเดิม เอาสัตว์อีกตัวหนึ่งดีกว่าที่ยังไม่มีใครทำเลย ก็คือควายนี่แหละ เลือกสิ่งที่ตลาดยังไม่ค่อยมี
ความยากของอาชีพนี้
ผมได้ไปคุยกับครูโต ที่เป็นนักวาดภาพประกอบ ครูโตบอกว่างานศิลปะ ครูดังแล้วคงคิดว่าครูคงจะได้เงินเยอะมาก ครูขอบอกเลยว่าครูไส้แห้งมาก งานคาแรคเตอร์ดีไซน์ก็ใกล้เคียงกับงานพวก fine art คือเป็นงานที่คนทำต้องใช้ สกิลและต้องใช้รสนิยมในการเสพ ปัญหาของการทำอาชีพนี้ในเมืองไทยคือคนยังไม่ได้ให้คุณค่ากับงานศิลปะ ถึงแม้ผมจะทำติดลม หรือคาแรคเตอร์ของ zylo มันดูไม่ใช่ fine art เท่าไร มันคือแขนงหนึ่งของงานศิลปะ คือคนไม่ค่อยให้คุณค่า คนชอบแต่ไม่คิดว่ามันมีมูลค่า สิ่งนี้มันเกี่ยวพันไปกับเรื่องของวงการธุรกิจ ค่านิยมของวงการธุรกิจในเมืองไทย ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับตัวการ์ตูน ซึ่งญี่ปุ่นก็มีมานานแล้วแหละ ไปดูได้ทุกร้าน ร้านก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอยมีมาสคอตหมด ของเมืองไทยโลโก้ยังสำคัญแน่นอน แต่คนยังไม่คิดว่าเอ๊ะ การทำธุรกิจต้องมีตัวละคร มาผสมผสานมีพรีเซนเตอร์ที่เป็นตัวการ์ตูนที่ไม่ใช่ดารา ซึ่งจริงๆ แล้วมันดีกว่า เพราะว่ามันไม่แก่และไม่ตายทำทุกอย่างที่เราอยากให้มันทำด้วย ฉะนั้นเป็นค่านิยมของการทำธุรกิจครับในเมืองไทยค่อนข้างยาก ถามว่าจริงๆ แล้วผมทำคาแรคเตอร์ดีไซน์เต็มตัวปริมาณงานต่อปีก็ไม่ได้เยอะเท่าไร ก็พอแค่พอมีเฉยๆ แต่ว่าหลังๆ ระบบธุรกิจก็เริ่มปรับตัวละ เริ่มมองคุณค่าของพวกตัวละครหรือพวกตัวการ์ตูนที่จะเอามาเป็นเครื่องมือทางการตลาด และก็ค่อยเพิ่มขึ้นๆ
รักในการวาด ช่างสังเกต ช่างคิดครีเอทีฟ
นอกจากความรักในการวาด ต้องช่างสังเกต และช่างคิด เพราะผมบอกไปแล้วว่าคาแรคเตอร์ดีไซน์ต้องเพิ่มสกิลเรื่องครีเอทีฟ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์คุณจะเกิดไม่ได้ถ้าคุณไม่ช่างสังเกต เพราะจะไม่มีการอินพุท หรือรับรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติม จริงๆ ผมชอบทำงานนอกสถานที่คือไปนั่งร้านกาแฟคนชอบคิดว่าติสก์แตก ชอบไปนั่งร้านกาแฟ นั่งเงียบๆ บิ้วอารมณ์ บิ้วบรรยากาศ ซึ่งมันไม่ใช่นะ ผมไม่ไปร้านเงียบๆ ผมต้องไปร้านที่มีคนเดินไปเดินมาเยอะๆ ถามว่ามีสมาธิเหรอ มีสมาธิอย่างยิ่งเลย เพราะผมชอบมองว่าเขาทำอะไรกัน เขาใส่อะไร เขาคุยอะไร บุคลิกลักษณะของคนเป็นอย่างไร พวกนี้เป็นอินพุทหมดเลย รวมทั้งสื่อต่างๆ หนังสือ ทีวี สิ่งที่ผมชอบดูที่สุดคือสารคดีสัตว์โลก บางทีมีอะไรที่เราไม่เคยรู้มาก่อนพวกนี้เป็นอินพุท มาผสมผสานกัน ฉะนั้นถามว่าบุคลิกอะไร ที่ต้องมาทำอาชีพนี้ ช่างคิด ช่างสังเกต เรื่องวาดไม่ต้องพูดถึงทุกคนน่าจะมีสกิลการวาดอยู่แล้ว ถ้าคนรักการวาด
ตลาดงานนักออกแบบคาแรคเตอร์ดีไซน์
คาแรคเตอร์ดีไซน์เข้ามาในไทยประมาณ 7 ปี ก่อนหน้านั้นไม่มีคนรู้จักอาชีพที่ชื่อว่า คาแรคเตอร์ดีไซน์รู้จักแต่เป็นนักวาดเฉยๆ อาชีพนี้เริ่มดังในเมืองไทย เพราะมีศิลปินชื่อดัง ชื่อ โทกิโดกิ (ซิโมเน่ เลจโน่) มีผลงานเข้าเมืองไทย เอ้ ทำไมตัวการ์ตูนเขาดังทั้งๆ ที่ประเทศเขาไม่มีแอนิเมชั่นมาก่อน ไม่มีหนังสือการ์ตูนมาก่อน แต่ว่าโทกิโดกิไม่มี เป็นดีไซเนอร์จริงๆ ในขณะเดียวกันที่ปีนั้นปีเดียวกัน บังเอิญเกาหลีส่งออกวัฒนธรรม สาขาหนึ่งที่เกาหลีส่งมาก็คือแอนิเมชั่นหรือตัวการ์ตูน ทุกคนน่าจะรู้จักตัวการ์ตูนปุ๊คก้า ปุ๊คก้าเป็นตัวแรกที่เกาหลีส่งออกมา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเองหรือว่าคนอื่นในวงการรู้สึกว่ามันคืออาชีพหนึ่ง แล้วก็เริ่มเกิดคาแรคเตอร์ดีไซน์ขึ้นมา ถามว่าวงการทุกวันนี้เป็นอย่างไร มีคนมีฝีมือเยอะแต่ว่าปริมาณงานรองรับไม่พอ และต่อให้คนมีชื่อเสียงเราก็ยังไม่ค่อยเห็นงานที่โดดเด่นขึ้นมามากมายนัก โดยมากจะเป็นผลงานของคนมีชื่อเสียงด้านอื่นอยู่แล้ว เช่น เขาอาจจะเป็นคนที่มีคนรู้จักอยู่แล้ว ผลงานศิลปะของเขาก็จะมาจากตัวเขาด้วย ส่วนคนที่อยู่อาชีพนี้ที่เหลือยังไม่ค่อยโดดเด่นขึ้นมามากมาย แต่ถามว่าอยู่ได้ไหมมันอยู่ได้ ถ้ามีงานแวดล้อมอื่นๆ ด้วย เช่น คนที่เป็นคาแรคเตอร์ดีไซน์อาจจะไม่ทำอย่างเดียว อาจจะทำแอนิเมชั่นด้วย อาจจะทำอินโฟกราฟิกด้วยแบบนี้ก็จะอยู่ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วเราอย่าไปตีว่าการ์ตูนต้องมาสคอตเท่านั้น คาแรคเตอร์ดีไซน์ต้องใช้มาสคอตเท่านั้น คาแรคเตอร์ดีไซน์จริงๆ ใช้ได้กับหลายอย่าง ใช้กับทั้งหนังทั้งเกม ทั้งวิดีโอพรีเซนต์ได้หมด อาชีพนี้ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่ถามว่าถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ประเทศอื่นน่าจะเฮฮามากกว่า ก็จะมีปริมาณที่คาแรคเตอร์ดีไซน์จะทำออกมาได้เยอะกว่า
โอกาสหรือช่องทางในการเผยแพร่ผลงาน
ในวงการยังมีนักวาดรวมๆกันนะ มีเยอะนะในเมืองไทย ฝีมือดีๆ ทั้งนั้นเลยแต่คนไม่ค่อยรู้จัก เขาก็จะซ่อนตัวอยู่วาดรูปลงบล็อกบ้าง ลงเฟซบุ๊คบ้าง ทีนี้ช่องทางทั่วๆ ไปในกลุ่มนักวาดด้วยกัน เขาอาจจะมีกิจกรรมของเขา อันดับแรกถ้าเราเป็นนักวาดเราก็ควรลงสมาคมกับเขาสักอย่างหนึ่ง เพื่อจะทำกิจกรรมร่วมกัน อันดับสองคือเมื่อใครเปิดโอกาสให้เรา อย่างเช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะจัดอีเว้นท์ขึ้นมาผมก็ไปร่วมและเราก็มองหาช่องทางของตัวเองด้วย เช่น งานที่เมืองนอก งานดีไซน์ เราก็ไป และช่องทางทั่วไปทุกวันนี้ทำกันอยู่แล้วก็คือช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บ หรือเฟซบุ๊ก ซึ่งตอนนี้เฟซบุ๊กกำลังใช้ได้ดี ใครที่มีผลงานก็ควรจะเปิดเฟซบุ๊กเพราะไม่งั้นเราก็คงจะเก็บไว้กับตัวตลอดเวลาไม่มีใครได้เห็น
คาแรคเตอร์ที่ชอบที่สุดตั้งแต่ออกแบบมา
ชอบทุกตัว ผมมีคาแรกเตอร์มาหกเรื่อง ทุกเรื่องแต่มันจะมีแค่บางตัวเท่านั้น ที่วาดไปแล้วหัวเราะไป ยิ้มไป ก็คือติดลมนี่แหล่ะ คือรู้สึกว่าเรามองติดลมเหมือนเราเป็นคนอื่นแล้วเป็นตัวละครที่น่ารัก หน้าตาท่าทางน่ารัก เราวาดไปก็ยิ้มไปตลอด ผมว่าสำหรับคนที่ทำงานด้านนี้ ยกตัวอย่างโปรเจ็คต์สติ๊กเกอร์ ผมก็บอกน้องๆ หลายคนที่ส่งไป ถ้ายังไม่ได้ขาย หรือขายได้ไม่ดีก็ไม่เป็นไร จำได้ไหมว่าตอนที่วาดรูปอยู่ รู้สึกอย่างไร ผมว่าคนที่วาดรูปคาแรกเตอร์แล้วมีคาแรกเตอร์ของตัวเองที่จะปั้นขึ้นมามีความสุขตอนที่เราวาด และทุกคนก็จะบอกว่าผมยิ้มเวลาวาดนั่นแหละพอแล้ว มีความสุขแล้ว
The Idol
เป็นคนที่อยากให้ผมมาทำอาชีพนี้ด้วย คือ โทกิโดกิ กับปุ๊คก้านี่แหละ โทกิโดกิลายเส้นดี สีสันสวย ส่วนปุ๊คก้าพูดจริงๆ แล้วเป็นตัวละครธรรมดาแต่ผมรู้สึกว่าเป็นความประทับใจแรกๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากทำงานด้านนี้ เพราะว่าเขามีแอนิเมชั่นเป็นเจ้าแรกๆ ที่ส่ง ที่ฉายแอนิเมชั่นบนเว็บไซต์ คนไทยก็มีคือ bloody bunny
สำหรับคนที่อยากทำอาชีพนี้
มีหลายคนวาดรูปได้และทำอาชีพดีไซน์ แต่ผมคิดว่าถ้าเป็นแค่ความชอบเป็นแค่สกิลไม่พอ สิ่งที่น่าจะเรียนรู้เพิ่มก็คือความรู้เรื่องอื่นๆ เช่น ความรู้เรื่องการตลาด แน่นอนถ้าคุณมีโปรดักส์ที่ดี สามารถวาดรูปที่ดี แต่คุณไม่เข้าใจการตลาด คุณไม่สามารถที่จะเอารูปนี้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายคุณได้ เหมือนคุณทำของขึ้นมาเพื่อกลุ่มเป้าหมายเล็กๆ แล้วมีคนชอบอยู่แค่เล็กๆ เราก็ไม่รู้ว่าจุดประสงค์ของแต่ละคน แต่ถ้าคิดจะทำงานให้มีคนชอบมากๆ แล้วเราควรจะรู้ว่าทำงานสิ่งนี้เพื่อใคร เพื่อผู้ชาย เพื่อผู้หญิง เพื่อให้เขารู้สึกอะไร ส่วนใหญ่ศิลปินหรือว่านักวาด ก็จะวาดตามที่ตัวเองชอบมากกว่าอยากจะเสริมว่าใครที่ทำเป็นธุรกิจด้วยหรืออยากให้มีตัวตนที่โตขึ้น อาจจะต้องมีมุมมองด้านอื่นด้วย มุมมองในเรื่องการตลาดผสมผสานกันไปครับ