Alumni : บีม AF10 สัตวแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-07-28 12:09:17
เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
สัตวแพทย์ หนึ่งในอาชีพในฝันของคนรักสัตว์ที่อยากช่วยชีวิตเพื่อนตัวน้อย ถึงแม้จะเป็นชีวิตน้อยๆ แต่กว่าจะเป็นสัตวแพทย์ได้ต้องผ่านการศึกษาและการปลูกฝังจรรยาบรรณแพทย์ ไม่ต่างจากการรักษาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จะเป็นอย่างไรนั้นต้องให้หนุ่มหน้าตี๋จากบ้าน AF10 บีม-กรธัช สมบุญธรรม ปี 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง
มีคุณพ่อเป็นไอดอล
คุณพ่อเป็นสัตวแพทย์ ทุกเช้าเห็นคุณพ่อไปทำงานมีคนมาเรียกว่าหมอ เราก็อยากเป็นหมอเหมือนกัน ผมสอบแบบโควตานักกีฬาปิงปองครับ เป็นนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ ด้วยดีกรีและเกรดของเราเลยสามารถเลือกคณะที่คะแนนสูงๆ ได้ คุณพ่อก็อยากให้ผมเรียนครับ
หลักสูตรคุณหมอรัก(ษา)สัตว์
ความรู้สึกแรกที่เข้าไปคิดว่าทำไมคณะนี้ง่ายจัง อ่านหนังสือแค่สัปดาห์เดียวแต่เกรดสามกว่า พอขึ้น ปีสอง เท่านั้นแหละชีวิตมันเริ่มมา ผมต้องไปเรียนกับคณะแพทย์ ตัดเกรดกับแพทย์และทันตะ เท่านี้ยังไม่พอ เริ่มมีวิชาเฉพาะของคณะเข้ามา ผมก็เริ่มรู้สึกว่าจะถอนตัวทันไหม เกรดออกมาต่างกันลิบลับเลย ปีสาม ยิ่งมีแต่วิชาของคณะแพทย์และสัตวแพทย์อย่างเดียวเลย พอเรียนไปแล้วรู้สึกว่ามันหนักเกินไปหรือเปล่า บางทีผมก็คิดว่าเราเรียนหนักกว่าหมอหรือเปล่า เพราะสัตว์มีหลายประเภท หมู หมา กา ไก่ อวัยวะภายในไม่เหมือนกันเลย ปีสี่ ผมก็คิดว่า เฮ้ย หนึ่ง สอง สาม เป็นทฤษฎีหมด ปีสี่น่าจะสบายแล้วล่ะ พอขึ้นปีสี่เท่านั้นแหละ มันโหดร้ายมาก ก่อนปฏิบัติเขาจะถามทฤษฎีที่เราเรียนมาทั้งหมด คือถ้าคุณจะผ่าตัดตรงนี้ ความรู้ที่คุณมีมาต้องตอบคำถามได้หมด ปีห้า เป็นคลินิกปฏิบัติเวียน ไปเข้าโรงพยาบาลของสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ สัตว์น้ำ ให้เราไปดูแลเคสจริงๆ มีอาจารย์คอยช่วย เราต้องวางแผนการรักษาทุกอย่าง เป็นหมอกลายๆ ส่วน ปีหก คล้ายๆ ปีห้าแต่ต่างกันตรงที่จะไม่มีอาจารย์ไกด์เลย เขาจะโยนมาเลย เช่น ช้างอุจจาระหยาบ คุณจะรักษาอย่างไร คุณจะตรวจอย่างไร คุณจะให้ยาอย่างไร ทำไมคุณถึงทำแบบนี้
ชอบวิชาปฏิบัติ
ทฤษฎีผมไม่ค่อยแน่นแต่ชอบปฏิบัติ คือมีความสุขทุกครั้งที่เข้าแล็บครับ ได้วางยาสลบสัตว์จริง ได้ฉีดยาสัตว์จริง แล้วได้ผ่าตัดสัตว์จริงๆ บางทีเขาจะบอกว่าเหนื่อยกัน เข้าแล็บตั้งแต่บ่ายเลิกสี่ทุ่มเที่ยงคืน เพราะว่าพอวางยาสัตว์เสร็จแล้วต้องรอให้สัตว์ฟื้น ตอนผ่าตัดเสร็จแล้วใครๆ ก็อยากกลับไปพักผ่อน แต่ผมคิดอีกแง่หนึ่งว่า มันจะฟื้นขึ้นมาหรือเปล่า มันจะรอดหรือเปล่า
ฝึกลงสนามจริง
เริ่มฝึกตั้งแต่ ปีสอง คุณจะฝึกอะไรก็ได้ หมู วัว ไก่ ต้องฝึกอย่างละเดือน พอปีสามขึ้นมาก็ฝึกสัตว์น้ำ สัตว์ป่า พอปีสี่จะเป็นฝึกสัตว์เล็กก็ได้ เกี่ยวกับสาธารณสุข เกี่ยวกับห้องแล็บ แล้วพอปีห้าจะเริ่มฝึกสัตว์เล็กจริงๆ เข้าโรงพยาบาล จะเป็นสเต็ปขึ้นเรื่อยๆ
ที่ประทับใจที่สุด ฝึกที่เชียงใหม่นี่แหละครับ ผมอยู่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ได้ความรู้เยอะเลย คือผมไปเข้าห้องแล็บ พอเข้าห้องแล็บปุปจะมีโรคอะไรที่เกี่ยวข้องแบบเกิดกับสัตว์ได้บ้าง ส่วนใหญ่ที่เกิดบ่อยๆ และก็มีอีกที่หนึ่ง หมู เพราะคุณพ่อมาทางหมูด้วย และคุณพ่อแนะนำมาว่าที่นี่ดี คือ เราได้รู้ทุกการผลิตหรือขั้นตอนทุกอย่างการที่จะมีฟาร์มๆ หนึ่งต้องทำอย่างไร ที่เชียงรายจะเป็นฟาร์มใหญ่มาก ได้รู้ขั้นตอนทุกอย่าง ตั้งแต่ฉีดยาต้องใช้ยาอะไร คือเขาให้เราจดทุกวันเลยว่าเราทำอะไรบ้าง แล้วมาพรีเซนต์ให้เขาฟัง เลยทำให้เรารู้ทุกอย่างเลย แต่ที่อื่นเขาไม่ได้ให้เราจดทุกวัน ไม่เคร่ง
กิจกรรมสานสัมพันธ์รุ่นพี่-รุ่นน้อง
รับน้องรถไฟ เป็นกิจกรรมที่รุ่นพี่ทั้งมหาลัยแต่ละคณะมารับน้องที่หัวลำโพง มีกิจกรรมที่ค่อนข้างสนุกมากเพราะว่านั่งจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ มีกิจกรรมตลอดเวลา เต้นนู้นนี่นั่นให้กินปะแป้งเป็นการรับน้องแบบชิลล์ๆ
ต่อมารับน้อง 9 วัน แต่ละคณะจะไม่เหมือนกัน คณะผมจะเป็นพี่ปีสองมารับน้องปีหนึ่งเป็นกิจกรรมให้น้องๆมาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้รู้จักกันก่อนที่มหาวิทยาลัยจะเปิด มีโมเมนต์ที่ปีสองจะให้รุ่นปีหนึ่ง เหมือนได้รับการยอมรับรุ่นจากปีสอง
หลังจากรับน้อง 9 วันก็จะเป็นกิจกรรมห้องเชียร์ จะมีกิจกรรมเปิดห้องเชียร์และฝ่ายวินัย ห้องเชียร์เกี่ยวกับร้องเพลงมหาวิทยาลัย วินัยก็คือแต่งตัวต้องเรียบร้อย แบบมีความรักสามัคคีในรุ่นจะได้ช่วยกันเรียนต่อไปจนจบปีหก
ต่อไปกิจกรรมขึ้นดอย เป็นช่วงเวลาที่รุ่นพี่อยากให้รุ่นน้องรักกันจริงๆ เพราะว่าขึ้นดอยกว่าจะไปถึงยอดดอยมันไกลมาก และที่ทำกิจกรรมรับน้องกันมา วิ่งตอนเช้านู่นนี่ เพื่อให้เราขึ้นถึงดอยสุเทพได้จริงๆ ตอนแปดโมงเช้าจะเป็นการบูมครับ คณะผมจะเป็นบูมฟ้าหม่นคนดี ก็จะบูมเดินขึ้นไปเรื่อยๆ สลับวิ่ง โค้งสุดท้ายเป็นโค้งสปิริตจะบูมเป็นครั้งสุดท้าย แล้วให้รุ่นน้องวิ่งขึ้นไป โดยมีรุ่นพี่แต่ละชั้นปีช่วยดันน้องขึ้นไป แบบไม่หยุดเดินเลยจนกว่าจะถึง
มีขันโตกจะติดกับขึ้นดอยเลย ขันโตกจะเป็นในคณะแต่ละรุ่น แต่ละชั้นปีมากินเป็นสายรหัสกัน นั่งล้อมวงมีตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีหกเลย วันนั้นจะมีอาจารย์และบุคลากรเต็มไปหมดเลยเพราะว่าพอรับน้องขึ้นดอยแล้วเหมือนรุ่นพี่ให้รุ่นเรียบร้อย แล้วมาสังสรรค์กันมาพบปะกันรุ่นพี่รุ่นน้อง และมีคัดเลือกดาว-เดือนของคณะด้วย เพื่อไปประกวดดาว-เดือนของมหาวิทยาลัย
สุดท้ายจะเป็นคืนสู่เหย้าฟ้าหม่นคนดี จะเป็นคืนสู่เหย้าคือเป็นการกลับมาของรุ่นพี่รับปริญญาที่จบไปแล้ว จะเป็นช่วงเดือนมกราเพราะจะเป็นก่อนรับปริญญาหนึ่งอาทิตย์ จะเป็นแบบให้รุ่นพี่ปีที่จบแล้วมาให้คำแนะนำน้องมากินข้าวกับน้องๆ ว่าพี่ไปทำงานที่นี่นะเป็นอย่างไรบ้าง พี่ไปเจอคนแบบนี้ แบบให้รุ่นน้องมาถามรุ่นพี่ว่าทำงานบริษัทนี้ดีหรือเปล่าเป็นอย่างไรบ้าง ก็มากินข้าว ถ่ายรูป จัดซุ้มไว้เรียบร้อย อันนี้ก็เป็นกิจกรรมของสัตวแพทย์ครับ
รักเรียน รักสัตว์ และอดทน
ไม่ว่าจะเป็นสาขาไหนเราต้องรักที่จะเรียนมันจริงๆ บางครั้งผมก็ท้อเหมือนกันว่ามันเหนื่อย แต่ถ้าเรารักสิ่งที่เรียน ต่อให้เหนื่อยขนาดไหนหรือว่าท้อขนาดไหน เราก็ยังกลับไปเรียนอยู่ดีครับ อย่างที่สอง เป็นสัตวแพทย์ไม่ได้รวยแต่ก็ไม่ได้จน คือพอกินพอใช้ ที่สำคัญการเรียนคณะนี้เราได้บุญ เราได้รักษาสัตว์ สัตว์ไม่สามารถพูดกับเราได้ ไม่สามารถบอกได้ว่าเจ็บตรงนี้ ปวดตรงนี้ ไม่สบายตรงนี้ แต่เราสามารถรักษาเขาให้หาย นี่เป็นสิ่งที่ดีมากที่สุดในชีวิตเรา อีกอย่างหนึ่งคือต้องไม่ห่วงสวยห่วงหล่อ และไม่กลัวดำด้วย พอเราไปออกฟิลด์แล้วต้องเจอแดดเจอฝุ่นทุกวัน ผมก็เลยคิดว่าการเป็นสัตวแพทย์ต้องอดทน อดกลั้น
มีมากกว่าคลินิกรักษาสัตว์
ในความคิดของคนทั่วไปจะคิดว่าเป็นสัตวแพทย์ต้องทำงานอยู่ตามคลินิก ตามโรงพยาบาล แค่นี้หรือเปล่า แต่จริงๆ ทำอาชีพหลากหลายมาก เช่น คุณหมอดูแลฟาร์มต่างๆ คือแต่ละฟาร์มต้องมีสัตวแพทย์หนึ่งคน ดูแลเรื่องต่างๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ ห้ามใช้ยาสารเร่งเนื้อแดง ห้ามใช้ยาเกินขนาด ก่อนเข้าโรงฆ่าฉีดยาไม่ได้จะเป็นสารตกค้างในสัตว์ ยังมีอาชีพสัตวแพทย์สาธารณสุขซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่การเริ่มเลี้ยงสัตว์จนถึงเราได้กิน ตรวจสอบขั้นตอนการผลิต สายการผลิต ทุกอย่างต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ สายนักวิชาการดูแลเรื่องโรคระบาดของสัตว์ โรคจะเข้ามาเมืองไทยไหม ถ้าเข้ามาแล้วจะมีวิธีป้องกันอย่างไร นอกจากนี้ยังมีอาชีพเกี่ยวกับผ่าซากสัตว์ด้วยนะ พอสัตว์ตายแล้วจะมีฝ่ายชันสูตรเหมือนคนที่เอาก้อนเนื้อไปตรวจว่าเป็นโรคอะไร คร่าวๆ ที่ผมพอรู้
สำหรับว่าที่สัตวแพทย์
ก่อนอื่นน้องๆ ต้องเรียนสายวิทย์-คณิต เท่าที่ผมรู้เขาจะเอาเกรดเฉลี่ยไปรวมกับคะแนนที่สอบจริง ผมว่าคะแนนในห้องเรียนได้ง่ายสุด ผมอยากให้น้องๆ ตั้งใจเรียนในห้อง ทำเกรดให้ได้เยอะๆ เพราะว่าจะได้เอาไปช่วยตอนสอบตรง แล้วพอได้คะแนนดีแล้ว เราหาเวลาว่างไปเรียนข้างนอกเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเอง ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ สะสม ตั้งแต่ ม.4 ม.5 ม.6 ความรู้จะได้แน่นๆ แล้วพอไปสอบจริงๆ จะได้ไม่ต้องรีบ บางทีพอเรารีบๆ อ่านมากๆ มันลืม ต้องเตรียมตัวอ่านแต่แรกๆ แล้วสะสมประสบการณ์ และถ้าเข้ามาได้แล้ว การเรียนสัตวแพทย์ก็อยู่ที่ความขยันเหมือน ม.ปลาย เลย
คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการบูรณาการ การเรียนรู้จากการแก้ปัญหาและเน้นการสร้างประสบการณ์วิชาชีพ โดยจัดการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีหน่วยงานและสถานบริการสุขภาพสัตว์รองรับการฝึกปฏิบัติของนักศึกษาและงานบริการทางวิชาการ และมีการจัดตั้งสถานสัตวแพทย์สาธารณสุขเอเชียแปซิฟิก เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยทางด้านสัตวแพทย์สาธารณสุขของภูมิภาค การรับสมัครนักศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ หนึ่ง โครงการพิเศษ แบ่งเป็นโครงการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนดีเด่นทางการกีฬา โครงการรับทายาทเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และการรับนักศึกษาตามโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) สอง การสอบคัดเลือกนักเรียนในเขตพัฒนาภาคเหนือ (โควตาภาคเหนือ) และสุดท้าย รับสมัครผ่านการสอบคัดเลือกในระบบกลาง (Admissions) www.vet.cmu.ac.th |