Alumni : พรีน พิชญาพร เอกภาษาไทยและวรรณคดีไทย มศว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-06-27 11:15:34
เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
“หลายๆ วิชาชีพ ก็ใช้ภาษาไทยอยู่ในนั้นด้วยเพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้นึกถึง” พรีน-พิชญาพร โพธิ์สง่า ปี 3 เอกภาษาไทยและวรรณคดีไทย คณะมนุษยศาสตร์ มศว เกริ่นนำถึงภาษาไทยก่อนที่จะแนะนำถึงหลักสูตรที่ดูธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา
เพราะชอบอ่าน
ด้วยความที่เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว ผลการเรียนวิชาภาษาไทยตอนที่อยู่มัธยม ไม่ว่าจะเป็นเกรตจีพีเอ หรือว่าตอนสอบแอดมิชชั่น คะแนนที่สอบวิชาภาษาไทยโดดเด่นที่สุดแล้ว เรียกว่าเป็นสิ่งที่เราถนัดค่ะ สิ่งที่เราชอบก็มีความสำคัญแต่ว่าสิ่งที่เราถนัดสามารถทำให้เราเรียนได้อย่างราบรื่น ซึ่งพรีนก็เล็งถึงจุดนี้ก็เลยเลือกที่จะเรียนภาษาไทยค่ะ
แล้วตามความคาดหมายค่ะ พอเข้ามาเรียนต้องอ่านหนังสือเยอะมากๆ เพราะว่าอาจารย์จะเน้นให้อ่านหนังสือดูที่หลักวิชาภาษาไทยด้วย รวมถึงที่เรียนสาขาวรรณคดีด้วยใช่ไหมคะ ก็ต้องดูในเรื่องของวรรณคดี นวนิยาย วรรณกรรม ต่างๆ ด้วยค่ะ
หลักสูตรภาษาไทยและวรรณคดีไทย
ภาษาไทยมีสองสาขาค่ะ มีสาขาภาษาเพื่อการสื่อสารมวลชน และภาษาและวรรณคดีไทย เลือกสาขาตั้งแต่แอดมิชชั่นเลย แต่ว่าในปีหนึ่งเรียนรวมกันอยู่ค่ะเพราะว่ายังเป็นหลักของภาษาไทยที่ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน หรือว่าวรรณคดีไทยต้องเรียนด้วยกัน ก็เป็นหลักพื้นฐานในศาสตร์ต่างๆ ของภาษา แต่จริงๆ หลักภาษาไทยมีหลายเล่ม หลายตำรามาก ซึ่งก็ต้องเรียนในเรื่องนี้ให้ครบก่อนจากนั้น
พอขึ้นปีสองเราก็เริ่มที่จะแยกออกมาว่าสื่อจะเน้นไปที่ภาษาในสื่อสาร ในโทรทัศน์ ในวิทยุ ส่วนวรรณคดีก็จะเน้นในเรื่องของงานเขียนต่างๆ ค่ะ ในปีสามก็จะเจาะลึกเข้าไปอีกว่ามีเนื้อหาที่เน้นอย่างไร เบื้องลึกอย่างไร ประวัติศาสตร์ของภาษาเป็นอย่างไร
บางคนชอบในเรื่องของภาษา เขาเก่งเรื่องไวยากรณ์สำหรับวิชาที่เกี่ยวกับหลักภาษา วิชาที่พรีนชอบวรรณคดีเปรียบเทียบค่ะ เพราะว่าในเบื้องต้นเราเคยเรียนวิชาวรรณคดี สำหรับสมัยอดีตจนถึงปัจจุบันมาแล้ว ทำให้เรารู้ว่าเราชอบวรรณคดีเรื่องไหนบ้าง เพราะว่าได้อ่านเยอะ พอได้เรียนวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ อาจารย์ก็จะให้เรามองหาจุดร่วมกันของแต่ละเรื่องว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งวิชานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แวดวงหนังสือในประเทศไทยเท่านั้น แต่ว่ารวมไปถึงหนังสือทั่วโลกเลย หาจุดร่วมกันว่าทำไมคนทั่วโลกถึงแต่งหนังสือแบบนี้ ซึ่งเราก็พบว่าไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนๆ ก็มีจุดร่วมเหมือนกันค่ะ ซึ่งวิชานี้ทำให้เห็นว่าแม้ว่าจะเรียนภาษาไทย แต่ว่าเราก็นุ่มลึกไปด้วยจิตวิทยาของคนทั่วโลกค่ะ
หนังสือเล่มโปรด
ชอบความสุขของกะทิค่ะ เชื่อว่าเป็นหนังสือที่หาได้ง่ายและอยากให้หลายๆ คน ลองหยิบมาอ่านดู เพราะว่าไม่ใช่เรื่องที่ยาก แล้วความสุขของกะทิแฝงไปด้วยการอยู่แบบเศรษฐกิจอย่างพอเพียง ซึ่งเป็นความเข้มแข็งภายในจิตใจของตัวกะทิที่ผู้เขียนได้นำเสนอออกมาซึ่งคนในสังคมเมืองส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นในจุดนี้ ไม่ได้สัมผัสบรรยากาศต่างจังหวัด ซึ่งเรื่องนี้เขาได้ถ่ายทอดออกมาอย่างดีค่ะ อาจจะเป็นบรรยากาศที่แปลกใหม่และให้ข้อคิดที่ไม่เหมือนใครค่ะ
กีฬา 15 ยอด
กีฬาสานสัมพันธ์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ หรือเรียกว่ากีฬา 15 ยอด (15 สาขา) เป็นกีฬาใหญ่อย่างหนึ่งที่แต่ละเอกจะต้องทำการแสดงร่วมกันไม่ว่าจะเป็นแสตนเชียร์หรือว่าเชียร์ลีดเดอร์ ทำให้ในเอกมีความสามัคคีค่ะและนำเสนอการแสดงซึ่งการแสดงนั้นก็จะจัดแข่งร่วมกัน ทุกคนในเอกก็จะมีส่วนร่วมที่จะมองดูหรือว่าเชียร์เพื่อนๆ ร่วมกันค่ะ
มีใจรัก ใช้ภาษาไทยถูกต้อง
ถ้าคนภายนอกจะมองว่าเด็กเอกไทยดูเรียบร้อยมาก แต่จริงๆ แล้วลักษณะทางกายภาพก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องถ้าเกิดว่าคุณมีใจรักในการอ่านหนังสือ และใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง บางคนมองข้ามว่าเรียนไปทำไมเอกไทย แต่จริงๆ แล้วพอพรีนได้เรียนก็ได้รู้ว่าเอกภาษาไทยนี่ไม่ใช่ง่ายๆ เลย มีหลายๆ อย่างที่เราเองก็ยังไม่รู้แม้ว่าเราเป็นคนไทยก็ตาม เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกัน
ตลาดงานสายภาษาไทย
หลายๆ วิชาชีพ ก็ใช้ภาษาไทยอยู่ในนั้นด้วยเพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้นึกถึง ไม่ว่าจะเป็นบรรณาธิการหนังสือ นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ต่างๆ มากมายที่ใช้งานเขียนก็สามารถทำได้ หรือว่าจะเป็นพิสูจน์อักษรทำงานในสำนักพิมพ์ รวมไปถึงการเขียนสคริปต์ การเขียนหนังสือ เขียนบทความ หรือแม้แต่เขียนสุนทรพจน์ให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ในแต่ละบริษัทแล้วต้องใช้คำพูดที่มันถูกต้อง ก็จะมีเด็กเอกไทยที่สามารถใช้คำพูดที่เหมาะสมและถูกต้องตามกาลเทศะ
แนะนำน้องๆ ที่สนใจ
ต้องฝึกนิสัยของการรักการอ่าน เพราะว่าจำเป็นมากๆ ในการเรียนภาษาไทย ซึ่งถ้าไม่รักการอ่านเลยก็เหมือนไม่ใช่เด็กเอกภาษาไทย ต้องมีลักษณะนิสัยของการรักการอ่าน และสังเกต คิด วิเคราะห์ ในด้านต่างๆ เพราะว่าเอาจริงๆ แล้ว หลายๆ คนไม่ว่าจะเป็นน้องเองหรือว่าตัวนิสิตเอง ถ้าเกิดมีความสนใจสามารถสังเกตได้ว่าภาษาแต่ละที่ ภาษาต่างๆ ที่เราพูดออก ที่เราเขียนอาจมีนัยยะของมัน บางครั้งเราก็ไม่ได้พูดตรงตัว การสังเกตภาษาเหล่านี้ แล้วก็ตั้งคำถามว่าทำไมถึงพูดอย่างนี้ ทำไมถึงใช้คำแบบนี้ ก็เป็นอย่างหนึ่งค่ะที่ทำการศึกษาเรื่องภาษาไทยนุ่มลึกมากขึ้น เราเกิดคำถามและเราอยากจะค้นหาคำถามนั้นและอยากทำให้เราเรียนรู้เพิ่มเติมค่ะ
สำหรับน้องๆ อย่างแรกเลย ม.6 ก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าการขยันอ่านหนังสือ ไม่อยากซีเรียสอะไรมากแต่ว่าอยากให้น้องๆ เปิดใจสักนิดนะคะ ในช่วงที่เรากำลังก้าวไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งนั่นอาจจะเป็นก้าวสำคัญของชีวิตเลยก็ว่าได้ที่จะบอกว่าเราจะไปทางไหน ถ้าเกิดว่ายังหาสิ่งที่ชอบไม่ได้ก็มองหาสิ่งที่ถนัดก็ได้ค่ะ แล้วก็มุ่งมั่นให้อย่างเต็มที่
เอกภาษาและวรรณคดีไทย ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจศาสตร์ของภาษาไทยทั้งด้านภาษาและวรรณคดีอย่างดี สามารถอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมทางภาษาของไทย การคัดเลือกผู้เข้าศึกษาด้วยระบบแอดมิชชั่น http://cms.swu.ac.th/Default.aspx?tabid=4768 |