www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

Alumni : มาร์ช ฮอร์โมน Entrepreneurial Management CU
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-06-25 10:53:52

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก

มาร์ช จุฑาวุฒิ


หนึ่งหนุ่มที่ฮอตที่สุดนาทีนี้ มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล กับบทบาทของ “ภู” ในซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ซึ่งกลับมาอีกครั้งในซีซั่น 2 พร้อมๆ กับภาพยนตร์เรื่อง “ฝากไว้...ในกายเธอ (The Swimmer)” รอจ่อคิวฉายตอกย้ำความดังอย่างต่อเนื่อง นอกจากงานด้านการแสดงแล้ว หลายคนไม่ทราบว่าหนุ่มมาร์ชนั้นเรียนเก่งระดับเด็กบัญชีจุฬาฯ เลยทีเดียว มาฟังเขาพูดถึงสาขาวิชาการจัดการเพื่อเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่ำเรียนอยู่


มาร์ช จุฑาวุฒิสนใจทั้งนิเทศและบริหาร
ผมอยากเข้านิเทศมากแต่คุณแม่อยากให้เข้าบัญชีมากกว่า คุณแม่ให้เหตุผลว่านิเทศมาไขว่คว้าเอานอกห้องเรียนได้ เรามาเจอประสบการณ์แบบนี้ออกกองจริงๆ ได้เห็นการทำงาน ส่วนบัญชีเหมือนเป็นวิชาชีพของเรามากกว่า ซึ่งเราก็ไม่ติดเพราะเราก็สนใจเหมือนกัน ตอนแอดมิชชั่นเลยเลือกบัญชีบริหาร จุฬาฯ อันดับหนึ่ง ที่เหลือเป็นนิเทศ จุฬาฯ หมดเลยสามอันดับ สุดท้ายก็ติดบัญชี พอได้เข้ามาเรียนจริงๆ ก็รู้สึกว่าคิดไม่ผิด การเรียนบัญชีช่วยเสริมสร้างทักษะที่หาไม่ได้จากนอกห้องเรียน บางอย่างเป็นทฤษฎีที่สำคัญในการจัดการ เช่น จัดการองค์กร จัดการธุรกิจ หรือว่าจัดการชีวิตตัวเองด้วย

 

หลักสูตรการจัดการเพื่อเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมีภาควิชาบัญชี ภาควิชาบริหาร ภาควิชาสถิติ และ BBA ซึ่งบัญชีจะมีแบบเดียว ส่วนบริหารจะแบ่งเป็น การจัดการเพื่อเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ การจัดการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ระบบสารสนเทศทางการจัดการ การธนาคารและการเงิน และการตลาด สถิติก็จะมีแยกไปอีก

ปีหนึ่งเข้ามายากครับ ผมต้องปรับตัวเยอะ เพราะว่ามัธยมเราอ่านหนังสือวันเดียวจบเลย แต่มหาวิทยาลัยมันไม่ใช่ ทุกๆ การสอบเหมือนการแอดมิชชั่นใหม่ ด้วยเนื้อหาที่เรียนและด้วยบางวิชาที่ต้องคิดคะแนนอิงกลุ่ม ถ้าเพื่อนอ่านมากกว่าเราก็ต้องขยันให้เท่าเพื่อน เลยต้องขวนขวายและตั้งใจมากขึ้นกว่าเดิม ปีหนึ่งจะยากในการปรับตัวนิดหนึ่ง ขึ้นปีสองเราเริ่มจูนติดและเริ่มซี้กับเพื่อนมากขึ้นด้วย เต็มที่กับกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย

พอปีสามเริ่มเรียนยากมากๆ เพราะเราต้องทำงานในวงการด้วย เรามีเวลาอยู่กับเพื่อนที่มหาวิทยาลัยน้อยลง และบางช่วงตามเพื่อนไม่ค่อยทัน เพื่อนก็ใจดีช่วยเหลือเราจนผ่านไปได้ แล้วก็ได้เรียนวิชาเกี่ยวกับเล่นหุ้นสนุกมาก มีเทคนิคการดูกราฟ ผมคิดว่าหุ้นอาจจะแค่เลือกบริษัทที่ดี แต่มันจะต้องดูกราฟเทคนิคมาวิเคราะห์กัน ซึ่งอาจจะวิเคราะห์ผิดพลาด โดยจะมีห้องหนึ่งของไฟแนนซ์ที่จำลองตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมา มีเงินให้เราจริงๆ เขาจะเก็บคะแนนจากเงินที่เราเล่น ซึ่งเขาจะให้เงินมาคนละสิบล้านและลงทุนให้งอกเงยมากที่สุด บางคนก็เจ๊งเหลือหมื่นเดียวก็มี ซึ่งเด็กก็สนุกแหละ ไปเทรดหุ้นกันทุกวัน แล้วราคาอิงตามตลาดหุ้นจริงๆ ด้วย แต่พวกผมท้าทายกว่าตรงที่หันมาเล่นจริงๆ เองด้วย คือเงินจริงๆ เลย สนุกกว่า ลุ้นกว่า เจ็บกว่าด้วย

มาร์ช จุฑาวุฒิ

 

การจัดการเพื่อเป็นผู้ประกอบการธุรกิจต่างกับบริหารธุรกิจ
เราทำธุรกิจต้องมีทักษะอะไร มีการจัดการในองค์กรอย่างไร มีการบริหารด้านบุคลากรอย่างไร ด้านสถานที่อย่างไร ด้าน operation อย่างไร ซึ่งมีแยกย่อยเยอะมากในการควบคุมบุคลากรหนึ่งคน ใช้เวลาเรียนหนึ่งเทอมในการจัดการพนักงานสักคน เราต้องวิเคราะห์ส่วนไหนของเขาบ้างในการทำให้องค์กรไปรอดและไปด้วยกันในแนวทางเดียวกัน และผมว่ามันได้ใช้ในชีวิตจริงด้วย

 

นักฟุตบอลประเพณีบัญชีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
ช่วงปีหนึ่งฟิตๆ เขาดึงไปเตะบอล มันมาก อินมาก เตะบอลทุกวัน ผมเป็นนักฟุตบอลของคณะ ที่คณะมีฟุตบอลประเพณีประจำปีระหว่างบัญชีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ต้องบอกก่อนว่าผู้ชายในคณะบัญชี จุฬาฯ น้อย ผู้ชายที่เป็นผู้ชายก็ยิ่งน้อยไปใหญ่ เลยพยายามรวมพลผู้ชายที่เป็นผู้ชายให้มากที่สุด แล้วคัดกันว่าใครเตะบอลได้ก็ดึงมาเป็นนักกีฬาคณะครับ

 

มาร์ช จุฑาวุฒิ

สิ่งสำคัญคือเรียนเพราะรัก
เรียนอะไรเรียนได้หมดถ้าเรารัก ถ้าเราสนใจและรักจริงๆ จะเกิดความสุขในการเรียนรู้สิ่งเหล่านั้น ถ้าเราเรียนหมอ แต่เราไม่อยากเป็นหมอ เวลามีอะไรเข้ามาก็ไม่ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมเอง อย่างผมเรียนบริหาร ผมชอบเรื่องหุ้น ผมหาหนังสือมาอ่านของมันเองโดยปกติที่เป็นคนไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ มันจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ของมันเอง ไม่ต้องอะไรมากแค่ตัดสินใจ รู้ใจตัวเองว่าชอบอะไรแล้วอย่าลังเล ผั๊วะไปเลย มุ่งไปให้สุดเลย เชื่อว่าทุกๆ สายอาชีพมันมีจุดสูงสุดและความประสบผลสำเร็จของมันอยู่แล้ว มีเส้นทางอยู่แล้ว แค่ยึดในเส้นทางนั้นแล้วไปให้ได้ อย่าไปถอยหลัง อย่าออกนอกเส้นทางก่อน

 

ไม่จำเป็นต้องมีธุรกิจส่วนตัว
ทุกภาคของจุฬาฯ มีพื้นฐานคล้ายกัน คือนำไปใช้ในการทำงานแต่ละภาคได้อยู่แล้ว อย่างเจ้าของธุรกิจซึ่งทุกๆ อย่างต้องใช้ต้นทุนในการสร้างธุรกิจๆ หนึ่ง บางคนอาจจะค่อยๆ ทำสายอื่นก่อน ค่อยๆ เก็บต้นทุนเก็บเงินทุนในการลงทุน ไม่จำเป็นต้องเปิดธุรกิจเป็นของตัวเองเลยแล้วจะประสบความสำเร็จ อาจเป็นไปได้แต่โอกาสน้อยมากๆ ค่อยๆ หาประสบการณ์ ไปเป็นมาร์เก็ตติ้งก่อนก็ได้ ไปอยู่บริษัทอื่นก่อนก็ได้เพื่อเรียนรู้การทำงาน

 

มาร์ช จุฑาวุฒิ

 

สำหรับว่าที่นิสิตบัญชีจุฬาฯ
เชื่อว่าน้องๆ ม.5 ม.6 ต้องเกิดความลังเลเพราะว่าเป็นการตัดสินใจครั้งเดียวในชีวิตอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมีงาน open house ของแต่ละที่อยู่แล้ว ถ้าเราสนใจอยากเข้าจุฬาฯ เข้าคณะบัญชี เข้ามาติดตามข่าวโครงการซึ่งมีการแนะนำเกี่ยวกับคณะต่างๆ รายละเอียดต่างๆ รู้หมดเลยว่าสี่ปีจะเจออะไรบ้าง จะเรียนอะไรบ้าง แล้ววันนั้นแหละเราจะรู้ว่าเราชอบอะไรจริงๆ ถ้าใครหาเส้นทางตัวเองไม่ได้ open house เป็นตัวช่วยที่ดีมากๆ ครับ

 

สาขาวิชาการจัดการเพื่อเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ความแข็งแกร่งของความร่วมมือระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กับองค์กรธุรกิจภายนอก มุ่งเน้นการเรียนการสอนคุณภาพสูงต่อนิสิต รวมถึงเตรียมความพร้อมให้นิสิตในการเข้าสู่โลกธุรกิจแห่งนวัตกรรม และก้าวสู่ความเป็นผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นสร้างสรรค์การวิจัยเชิงวิชาการในศาสตร์ด้านธุรกิจ เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนและบริการทางวิชาการคุณภาพสูงสำหรับทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทย

การคัดเลือกผู้เข้าศึกษามีทั้งระบบรับตรงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระบบแอดมิชชั่นกลาง

http://commerce.acc.chula.ac.th

มาร์ช จุฑาวุฒิ