www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

Alumni : รุต บัณฑิตการจัดการภูมิสังคม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-04-28 14:57:28

เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก ภาพ: จักรพงษ์ พันเทศ

วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ม.ศรีนครินทรวิโรฒ มีการเรียนการสอนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาคนและชุมชนในแต่ละท้องถิ่นภายใต้ยุคของทุนนิยม และยุคแห่งการทำลายสิ่งแวดล้อม รุต-นิรุตต์ คำลำ บัณฑิตหมาดๆ จากสาขาวิชาการจัดการภูมิสังคม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว จ.สระแก้ว จะขยายความถึงการเรียนการสอนของที่นี่ว่าแตกต่างอย่างไร

 

วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย โรงเรียนของสมเด็จพระเทพฯ

แม่เล่าให้ฟังว่าโพธิวิชชาลัยมาตั้งในพื้นที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นอำเภอที่ผมอาศัยอยู่ ความเข้าใจของแม่คือเป็นโรงเรียนของสมเด็จพระเทพ อยากให้ไปลองสอบดู และมีเรื่องของทุนการศึกษาด้วย ก็เลยลองตัดสินใจไปสอบดูเพราะอยากรู้ว่าเขาทำอะไร เรียนอะไร แล้วชื่อแปลกๆ ซึ่งไม่เคยได้ยินจากที่ไหนเลย

พอได้เข้ามาก็ได้เรียนรู้เรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น โดยมีการนำหลักปรัชญามาประยุกต์เข้ากับหลักวิชาทั่วไป วิชาการจัดการป่า การจัดการน้ำ การจัดการดิน ซึ่งในแต่ละวิชาก็จะมีการลงเรียนในพื้นที่คือการดูโครงการพระราชดำริ อย่างเช่น โครงการแหลมผักเบี้ย โครงการแก้ปัญหาดินที่เขาหินซ้อน หลังจากนั้นจะมีการนำมาสอบ คือการทดสอบว่าเราจะนำหลักปรัชญานี้เข้ามาแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างไรและเราจะมีวิธีการอย่างไรในการแก้ปัญหา

สาขาการจัดการภูมิสังคม

เป็นการรวมศาสตร์เรื่องของภูมิศาสตร์ สังคม และการจัดการเข้าด้วยกัน พูดง่ายๆ คือเรื่องของการจัดการพื้นที่ตรงนั้นโดยมีการประยุกต์นำหลักสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้ามาร่วมด้วย

เรียนรู้จากธรรมชาติ

ช่วงปีหนึ่งและปีสองจะเรียนที่องค์รักษ์และไปเรียนในพื้นที่สระแก้วอีกสองปี ซึ่งจะเป็นพื้นที่ติดชายแดนประเทศเขมรหรือกัมพูชา หลังจากเรียนสองปีเสร็จก็จะลงเรียนในพื้นที่โดยปีที่สามเราจะลงเรียนการปฏิบัติจริง เช่นการจัดการภูมิสังคม ก็จะมีพื้นที่ให้มีการจัดการโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยนำหลักทฤษฎีใหม่มาใช้ เช่น ในพื้นที่หนึ่งไร่การใช้ประโยชน์อะไรบ้าง เราจะปลูกอะไรบ้างให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และเกื้อหนุนเกื้อกูลกันมากที่สุดโดยใช้วิธีธรรมชาติ

ได้สัมผัสการทำนา ในวิชากาสรกสิวิทย์คือการฝึกควายไถนาและฝึกคนด้วยที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ในมูลนิธิชัยพัฒนาด้วยนะครับ นอกจากนั้นก็จะมีการเรียน GIS ร่วมกันด้วย เรื่องของการทำแผนที่ การแปลภาพถ่ายด้วยสายตา อันนี้ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เรียนและก็มีวิชาโท คือวิชาเขมร วิชากัมพูชา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เราต้องเรียนทั้งประวัติ ทั้งภาษา เพราะว่าเราตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ติดชายแดน ซึ่งอันนี้เป็นยุทธศาสตร์หลักของคณะด้วย หลังจากนั้นปีสี่เทอมแรกเราจะมีวิชาการฝึกปฏิบัติการชุมชนคือการฝึกงาน ซึ่งจะให้เราเลือกพื้นที่ในการฝึกงาน อย่างตัวผมเองเลือกฝึกงานที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือพอช. ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการผลักดันให้ชุมชนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาตัวเอง โดยที่ผมก็ฝึกในส่วนตรงนี้และถูกส่งลงไปที่เกาะหมากไปแก้ปัญหาที่ดินที่นั่น ว่าเขามีปัญหาอะไรและไปช่วยชุมชนในการทำข้อมูลของตนเอง มีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้ามาร่วมด้วยอันนี้ก็มีครับ

 วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย

ลงพื้นที่หาประสบการณ์

ฝึกตอนปี 4 เทอม 1 ประมาณสามเดือน ผมไปฝึกที่พอช. ครึ่งแรกผมมาเรียนรู้การทำงานของพี่ๆ ในสถาบันก่อน ได้ลงพื้นที่กับพี่ๆ ทุกวัน ในต่างจังหวัด เช่น นครนายก ระยอง จันทบุรี ในการประชุม ในการสรุปงานกับชาวบ้าน และครึ่งหลังผมไปที่เกาะหมากในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน คือการโดนบุกรุกเรื่องของนายทุนไปซื้อที่ โดยหลักๆ มีองค์กรของชาวบ้าน ทีมชาวบ้านจะมีจัดตั้งทำงาน เช่น ทีมคณะแก้ไขปัญหาที่ดินชุมชน และก็จะมีทางพอช.เอาเครื่องมือมาให้ มีงบประมาณไปช่วยสนับสนุนให้จัดทำข้อมูลเพื่อที่จะขอใช้พื้นที่ ก็จะมีการสร้างความร่วมมือกับทางผู้ว่าฯ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมที่ดินครับ ก็จะมีการเชื่อมโยงด้วย ก็สนุกครับได้ไปอยู่อาศัยร่วมกับชาวบ้าน ได้เรียนรู้วิถีชีวิตไปด้วย และช่วยเขาทำงานไปด้วย ทุกวันก็จะลงพื้นที่ จัดพิกัด ดูแปลง และเก็บข้อมูลของชุมชนด้วย

การจัดการแบบคุ้มบ้าน

เป็นโปรเจ็คต์เกี่ยวกับชุมชน ว่าเขามีการบริหารจัดการภายในหมู่บ้านในระดับย่อยอย่างไร มีผลดีกว่าการจัดการระบบหมู่บ้านไหม และมีการมีส่วนร่วมในชุมชนขึ้นไหม มีกิจกรรมมากขึ้นไหม จะไปศึกษาในส่วนตรงนี้ มาวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเสริมตรงนี้หรือเพิ่มตรงไหน และในส่วนของ GIS ผมทำในเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูล หมู่บ้านที่มีการจัดการแบบพื้นบ้านในตัว อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ว่ามีกี่หมู่บ้านแล้วมีการจัดการอย่างไร และคุ้มบ้านมันเกิดขึ้นจากส่วนไหนบ้าง เกิดจากคนในชุมชนจัดตั้งขึ้นเองหรือเกิดขึ้นจากหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนให้เกิดขึ้น

คุ้มบ้านคือกลุ่มบ้านที่อาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ก่อนคนที่ย้ายหรือมาอาศัยอยู่ใหม่เขาจะจัดกลุ่มบ้านเป็นกลุ่มซึ่งเขาจะเรียกคุ้มตามพื้นที่ว่าถ้าย้ายมาอยู่กลุ่มรวมกัน เช่น ย้ายมาจากอุบล เรียกว่าคุ้มอุบล ต่อมาก็มี พ.ร.บ. ให้เป็นหมู่บ้านว่ามีจำนวนกี่หลังขึ้นไป มีจำนวนกี่คนขึ้นไปถึงจะเป็นหมู่บ้านได้ เขาก็จะเอาคุ้มบ้านแต่ละคุ้มมารวมกันเป็นหมู่บ้าน แต่เขาไม่ทิ้งคำว่าคุ้มบ้าน ยังมีการจัดกลุ่ม มีการจัดตั้งหัวหน้าประจำคุ้ม มีการจัดคณะกรรมการ วิธีการเลือกหัวหน้าคุ้มของเขาอันนี้ยังมีอยู่ซึ่งเป็นวิธีจัดการคุ้มบ้านสมัยก่อนคือการจัดการชุมชน

วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย

ความชอบ คิดต่าง และตั้งใจ

ความชอบเป็นหลักคือความคิดแตกต่าง คนที่มาส่วนมากเป็นคนที่มีความคิดแตกต่าง ว่าทำไมเราต้องไปเรียนตามระบบ ระบบที่มีงานทำอยู่แล้ว เช่น พยาบาล หมอ วิศวะ แต่เราคิดต่างว่าเรียนอะไรก็มีงานทำ ส่วนมากที่จะมาเรียนที่นี่เรียนอะไรก็มีงานทำ และเห็นว่าแปลกด้วย ก็มาลองดูว่าเขาเรียนอะไร อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือความตั้งใจ เพราะว่ามาเรียนที่นี่ต้องเจอหลายอย่างที่แตกต่างจากคณะอื่น เราไม่ได้แค่เรียนในห้องแอร์

สายงานที่รองรับ

ถ้าเล่าตามการฝึกงาน อย่างผมที่พอช. ก็พร้อมรับ เพราะเขาเห็นผลงานของเราว่าเป็นอย่างไร และเลือกตามใจชอบด้วย เช่น มูลนิธิปิดทองหลังพระ มูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งจะมีส่วนร่วมกับเราอยู่แล้ว เราสามารถเข้าทำงานได้เลย ทำงานที่เราชอบก่อน ดูว่ามันใช่หรือไม่ใช่แล้วเก็บประสบการณ์ ความรู้อาจเรียนเพิ่ม แล้วเข้าไปทำงานในพื้นที่ โดยเอาความรู้ที่เราเรียนมาไปใช้

ถ้าทำงานในชุมชนก็สายงานวิเคราะห์น่าจะได้ครับ วิเคราะห์แผนและนักพัฒนาก็น่าจะได้ เพราะตัวที่ผมเรียนน่าจะเป็นสายที่เสริมมากกว่า เสริมกลุ่มที่เรียนสายตรงมาคือเอาความรู้พวกนี้มาใช้กับชุมชน เขาจะรู้อยู่แล้วว่าสายหลักเขาพัฒนาอย่างไร เขาจะมีวิธีการอย่างไร แต่พวกผมจะเอาเรื่องของการพัฒนาที่เป็นตามหลักปรัชญาบ้าง เป็นหลักธรรมชาติบ้าง เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน

สำหรับอนาคตนักพัฒนา

น้องๆ อาจจะสงสัยอยู่ว่าโพธิวิชชาลัยคืออะไร พูดง่ายๆ คือเป็นส่วนหนึ่งของพระมหาชนก ซึ่งมีตอนหนึ่งว่าถ้าถึงเวลาอันสมควรให้ท่านตั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา เขาเรียกว่าเป็นการย้อนระบบทุนนิยม คือกลับมาเรียนเรื่องของชุมชนมากขึ้น มาดูความเป็นมาในอดีตว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร หากน้องๆ สนใจสามารถดูในเว็บไซต์หรือเข้ามาที่มศว หรือจะไปเรียนรู้ที่พื้นที่เลยก็ได้จะได้เรียนรู้บรรยากาศอีกแบบหนึ่งของการเรียนที่นั่นด้วย

สาขาวิชาการจัดการภูมิสังคม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณธรรม จริยธรรม ความรอบรู้และปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับมีความเข้าใจในปรัชญากระแสหลัก ให้เป็นผู้ที่ความรู้และเข้าใจปรัชญาและแนวคิดตามแนวพระราชดําริ มีความรู้และเข้าใจในวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และสามารถจัดการความรู้เพื่อชุมชน สังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาสอบตรงโดยวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย

http://bodhi.swu.ac.th