www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

Alumni : กิมเล้ง นักออกแบบของเล่น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-03-27 11:49:37

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก

ของเล่นเป็นมากกว่าความสนุกสนาน ของเล่นเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็ก แต่ละชิ้นไม่ง่ายเลยในการออกแบบขึ้นมา เป็นหน้าที่ของนักออกแบบของเล่นที่ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการของเด็ก กิมเล้ง-กัญญา อดิศรพันธ์กุล นักออกแบบผลิตภัณฑ์แห่งบริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด (แปลนทอยส์) ศิษย์เก่าสถาปัตย์ลาดกระบัง แม้จะเป็นนักออกแบบของเล่นรุ่นใหม่ แต่ผลงาน Hand Sign Alphabet ของเธอก็สามารถคว้ารางวัล Twenty Favorite Toys จากนิตยสาร Family Fun ของสหรัฐอเมริกามาแล้ว


ชอบเล่นกับเด็ก ทำของเล่นเด็ก

เรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม ลาดกระบัง ด้วยความที่ชอบเล่นกับเด็ก พอฝึกงานอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับเด็ก ปรึกษาอาจารย์ก็บอกว่านี่ลองส่งแฮนด์เมดพอร์ตไปที่สตูดิโอทางที่ฝรั่งเศสเขาออกแบบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเด็กอยู่ ตอนนั้นคิดว่าพอร์ตควรจะเล่นได้ก็ทำเป็นเหมือนหนังสือทำมือที่เล่นได้ก็ส่งไป ทั้งๆ ที่พูดฝรั่งเศสไม่ได้เลย แต่ก็คิดว่าไม่มีอะไรเสียหายก็ลองดู เหมือนโชคดีเขาก็รับ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขารับคนข้ามประเทศไปฝึกงาน ช่วงที่ฝึกงานเขาใจดีตรงที่ว่าไม่ได้ให้เราทำงานข้างใน เขาให้เราทำงานจริงที่ได้รับมาจากลูกค้า แปลนทอยส์ออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่ว่าบริษัทที่ฝรั่งเศสจะเป็นสตูดิโอออกแบบรับงานนอกเข้ามาจะเป็นใครก็ได้ยี่ห้อไหนก็ได้ และเขาก็ให้เราจับงานจริงเลย ขั้นแรกเขาจะให้เริ่มเกี่ยวกับแมตช์สีต่างๆ ก่อน ฝึกดูเรื่องภาพลักษณ์ความงามว่า สีไหนอะไรน่ารัก ต่อมาเริ่มทำพวกแพ็คเกจ และขั้นสุดท้ายเดือนที่สามก็คือให้ออกแบบผลิตภัณฑ์จากโจทย์คอนเซปต์ของลูกค้า แต่ว่าเดือนที่สี่หนูกลับมาแล้วหลังจากนั้นเขาค่อยเอาตัวนั้นที่เราสเกตซ์ไปเสนอลูกค้าจริงๆ มีลูกค้าเลือกด้วย เราก็เฮ้ย ดีใจ แต่เขาก็ไปพัฒนาอีกทีค่ะ พอกลับมาทำธีสิส คือทำธีสิสเกี่ยวกับเด็กเหมือนกันค่ะ พอจบแล้วก็ลองมาสมัครเข้าที่นี่ค่ะ

 

หน้าที่ของนักออกแบบของเล่น

นักออกแบบของแต่ละองค์กร แต่ละสาขามีหน้าที่แตกต่างกัน ก่อนหน้านี้เราคิดว่าออกแบบผลิตภัณฑ์มันเป็นการครีเอทสิ่งใหม่ๆ เฮ้ย เราสร้างสรรค์ เฮ้ย เราเจ๋ง อยากทำอะไรใหม่ๆ แต่พอได้มาอยู่ที่นี่เรารู้สึกว่ามีเรื่องให้แคร์มากขึ้นกว่านั้น อย่างวิสัยทัศน์ของพี่วิฑูรย์ (เจ้าของบริษัทแปลนทอยส์) เขาสอนให้ดีไซน์เนอร์ที่นี่ทุกคนแคร์มากกว่าคำว่าออกแบบของเล่น แต่มันคือการออกแบบอนาคต ออกแบบเพื่อความยั่งยืนในเมื่อสิ่งที่เราออกแบบไป เราสเกตซ์ใช้กระดาษเยอะแยะ เราใช้พลังงาน ใช้อะไรเยอะแยะ การออกแบบเป็นการขายไอเดียมันไม่เหมือนอาชีพอื่นที่ออกมาเป็นชิ้นๆ เราจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่เราเสียไปมันคุ้มค่ากับไอเดียนั้นที่เราสเกตซ์ และก็ทำออกมา มันควรจะแคร์ถึงสิ่งใดบ้างอย่างของเล่นที่หนูทำ มันไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ค่ะแต่มันคือการสร้างประสบการณ์ให้กับเด็กคนหนึ่งที่เขาจะมาจับของเล่นเราไปเล่น มันจะเป็นเพื่อนเขา เป็นประสบการณ์ เป็นความทรงจำของเขา เราจะสามารถ สอดแทรกหรือว่าสอนอะไรให้กับเขาในผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นได้บ้าง คิดว่าตรงนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่นักออกแบบทุกคนคำนึงถึงไม่ว่าคุณจะทำผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์ เสื้อผ้า หรืออะไรก็ตามสิ่งที่คุณให้กับผู้บริโภคมากกว่าแค่ชิ้นงาน มันคือคุณค่าทางความรู้สึกหรือว่าจิตใจที่คุณควรจะมอบให้เขา เพราะว่าการออกแบบมันเป็นคุณค่าของทั้งฟังก์ชั่นที่เราใช้งาน ฟีเจอร์ต่างๆ และสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคืออารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ที่เขาได้รับควบคู่ไปด้วย

 

ความรู้ด้านพัฒนาการเด็กและความปลอดภัย

ที่นี่พอนักออกแบบใหม่เข้าจะให้เราเปิดแคตตาล็อกดู ศึกษาด้วยตัวเองก่อนในขั้นแรกนะคะว่าเด็กอายุประมาณไหนใช้ของเล่นประเภทไหน เด็กเล็กต้องฝึกประสาทสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ หรือว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ แล้วจะมีการอบรมเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก และมีเรื่องความปลอดภัยสำหรับเด็กซึ่งสำคัญมาก เพราะว่าเราทำให้เด็กเล็ก คือถ้าเล่นสนุกอย่างเดียวแต่อันตรายอย่างนี้ตกรอบ หลังจากนั้นก็จะเป็นพวกอบรมด้านอื่นๆ เช่น โปรแกรมสำหรับการออกแบบ หรือว่าการใช้ไม้ ซึ่งที่นี่จะแตกต่างจากที่อื่นอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของวัสดุ แปลนทอยส์เน้นเกี่ยวกับความยั่งยืนของธรรมชาติ เขาก็จะมีการพาเราไปอบรมว่าจะใช้ไม้อย่างไรให้คุ้มรู้สึกว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สนใจมาทำที่นี่ด้วย

 

ของเล่นเด็กจะมีตั้งแต่อายุกี่ขวบ

ปกติแปลนทอยส์จะเริ่มตั้งแต่สามเดือนถึงสามวัยบวก ก็คือสามขวบขึ้น จะเรียกว่าเป็นกลุ่มเด็กเล็กค่ะ แต่ว่าของเด็กพิเศษจะไม่สามารถวัดเป็นอายุอย่างชัดเจนได้ เพราะว่าพัฒนาการของเขา บางคนสามขวบแล้วแต่พัฒนาการเขาอาจขึ้นอยู่เท่าแค่เด็กสามเดือน หกเดือน แล้วแต่กลุ่มอาการ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเด็กพิเศษเราจะแบ่งเป็นความสามารถของเขาว่าตอนนี้เขาถึงระดับขั้นไหนแล้ว พัฒนาการประมาณไหน จริงๆ ถ้ามีใครอยากทำงานเพื่อเด็กพิเศษอาจจะคิดว่ามันเฮ้ย ยาก แต่ถ้าไปลงมือทำ จะมีกลุ่มคน กลุ่มองค์กร อาจารย์ดอกเตอร์ต่างๆ ที่เราสามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือไปปรึกษากับเขาได้ เพียงแต่ว่าต้องกล้าที่จะแบบ อาจารย์คะขอถามหน่อย คอยโทรคอยไปหา

 

ของเล่นสำหรับเด็กวัยไหนยากที่สุด

สำหรับกิมเล้งนะคิดว่าของเด็กเล็กค่ะ ยิ่งเล็กยิ่งยาก เรื่องแรกที่มันยากเลยคือเรื่องของความปลอดภัย ความปลอดภัยของเด็กเล็กจะมีเยอะมาก ขนาดเอยห้ามเล็กกว่าปาก คือเล็กไปก็ไม่ได้ ใหญ่ไปก็หนักไปเล่นไม่ได้อีก หรือว่ารูต่างๆ ที่เด็กอาจจะนิ้วก้อยเข้าไปติดหรือว่าการดรอปเทสต์ คือเป็นการทดสอบความแข็งแรง เขาจะต้องเอาของเล่นปล่อยลงพื้น สุ่มปล่อยสามครั้งห้าครั้งแล้วแต่ประเภทของเพื่อดูว่ามันมีความคงทนก่อนที่จะแตกหักมากแค่ไหน ซึ่งตอนแรกแต่ก่อนที่ยังไม่เคยจับวงการของเล่น คิดว่าดรอปเทสต์ของเด็กเล็กมันก็คือเตี้ยๆ เพราะว่าเด็กตัวเตี้ย ป่าวจ้า ของเด็กก็คือต้องสูงมากเพราะว่าเป็นลักษณะของแม่เขาอุ้มไว้ แม่อุ้มเด็กเขย่า ปา กลายเป็นว่ายิ่งเล็กยิ่งต้องสูงเกิน 150 เซนติเมตร เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างไรให้มันน่ารักแต่แข็งแรงและปลอดภัยอีก

 

เสน่ห์ของงานออกแบบของเล่น

ในหลักการออกแบบต้องเริ่มจากการหาข้อมูล สเกตซ์ ทำโมเดล และพัฒนา พอเป็นของที่นี่อย่างหาข้อมูลก็คือเราไปเล่นกับเด็ก รักโมเมนต์ที่อยู่กับเด็ก มันรู้สึกว่าเพลินๆ ก็สนุกไปแล้ว แล้วพอมาขั้นสเกตซ์ก็คือคนเรียนออกแบบสนุกกับการได้ขีด ได้เขียน ได้วาด มันดีตรงที่ว่าสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่จำเป็นว่าคุณต้องวาดรูปสวยมากแต่คุณต้องสื่อไอเดียของคุณออกมาให้ได้ หลังจากนั้นก็คือเอาไอเดียไปทำโมเดล และอย่างที่นี่จะได้ทำโมเดลจริง เหมือนตอนเรียนก็เหมือนกัน เหมือนเราได้เล่นตลอดเวลา แต่พอช่วงที่ซีเรียสจะเริ่ม ก็ช่วงคิดไม่ออก กับช่วงพัฒนา เพราะว่าบางครั้งเราทำออกมาสวยมาก น่ารักมาก แต่พอต้องไปเทสต์เรื่องความปลอดภัยมันไม่ผ่านคือมันเครียด แต่มันก็ท้าทาย เรื่องความปลอดภัยมีหน่วยงานมาตรฐานค่ะ แบ่งออกเป็นเชิงฟิสิกส์ อย่างการดรอปเทส(การขว้าง โยน) หรือว่าไซส์ กับเชิงที่เป็นเคมีว่าสีที่คุณใช้ กาวที่คุณใช้มันปลอดภัยมากแค่ไหน ซึ่งถ้าเป็นข้อมูลเริ่มลึก เชิงเคมีอะไรแบบนี้เราจะต้องมีฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ วิศวกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยตรงจุดนี้ เราก็รู้ข้อมูลไว้คร่าวๆ

ความท้าทาย ของอาชีพนี้คืออะไร

ถ้า ณ ปัจจุบันนี้เลยนะคะ มันท้าทายด้วยศัตรูตัวฉกาจคือของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับตัวกิมเล้งนะ เพราะว่าตอนนี้เด็กเกิดมาพ่อแม่มีไอแพด ไอโฟนอยู่ในมือปุปมันหวือหวากว่าเยอะ แล้วคนเป็นพ่อเป็นแม่ เขายินดีที่จะจ่ายเงิน ซื้อไอแพดในราคาสูง แต่ว่าเขาสามารถเล่นเองได้ด้วย ให้ลูกเล่นได้ด้วย แถมเด็กจะชอบมากกว่า เพราะฉะนั้นมันคือความท้าทายตรงนี้ว่าเราจะทำอย่างไร ให้เด็กเขายังเล่นของเล่นของเราอยู่ ซึ่งเราไม่ได้ต้องการเพื่อที่จะขายมัน แต่เพราะเรารู้ว่าการที่เด็กได้มาจับของเล่นมันช่วยพัฒนาการมากกว่านั้น คือเราไม่ได้บอกว่าการเล่นไอแพดหรือว่าเทคโนโลยีมันไม่ดีนะคะ มันมีข้อดีของมันอยู่ เราจะทำอย่างไรให้เขากลับมาเล่นของของเรา นี่คือจุดที่ไม่ใช่แค่นักออกแบบของไทย ทั่วโลกวงการของเล่นเผชิญกับวิกฤตนี้ค่ะ

 

บุคลิกของนักออกแบบของเล่น

ต้องรู้จักคำว่าสนุกและรู้จักมองหลายๆ ด้าน มีเรื่องที่เราต้องคำนึงถึงหลายอย่าง เพราะฉะนั้นหัวมันต้องทำงานลิ้งก์ได้ สมมติว่ากำลังจะสเกตซ์ค้อนเด็กเล่นขึ้นมาอันหนึ่ง หัวมันก็ต้องคิดไปแล้วว่าเฮ้ย ไซส์มันเท่าไหร่เด็กจะจับได้น้ำหนักเท่าไหร่แล้วตอนผลิตล่ะ เดี๋ยวชั่งไม้จะไม้เท่าไหร่ดีที่จะแบบเปลืองไม้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้ต้นทุน และเสียทรัพยากรน้อย ขั้นตอนการทำ คือทุกอย่างต้องคิดๆ เข้ามา เพื่อให้ได้แท่งค้อนขึ้นมาหนึ่งอัน โอเคแล้วค่อยเริ่มทำเริ่มสเกตซ์ออกมา                                                                                               

 

ตลาดงานที่รองรับ

ตัวบริษัทมันน้อยลง เพราะฉะนั้นแหล่งที่เราจะเข้าไปสมัครงานก็น้อยลง จะมีทางเลือกย่อย เช่น บริษัทในเมืองไทยเราจะมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่ทำงานผลิตของเล่น แต่ว่าดีไซน์อาจจะมาจากต่างประเทศแล้วมาผลิตในเมืองไทย ถ้าเกิดว่าอยากทำงานของเล่น ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องออกแบบจ๋าร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะมีแหล่งงานแบบนี้รองรับอยู่ คือเราอาจจะเป็นฝ่ายพัฒนา รับมาแล้วก็เหมือนประสานระหว่างดีไซน์จากต่างประเทศ มาปรับให้เข้ากับกระบวนการผลิตของไทยเรา ถ้าเป็นสายงานประมาณนั้นมันก็ยังโอเคพอมีเยอะอยู่ แต่ถ้าดีไซน์เนอร์เพียวๆ เลยจริงๆ ก็ค่อนข้างน้อย แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นหางานไม่ได้ หรืออีกกรณีหนึ่งอย่างที่นี่จะครบวงจรว่าออกแบบผลิตทุกอย่างภายใต้ชื่อแปลนทอยส์ แต่ในเมืองไทยที่พอมีอยู่เยอะหน่อยก็จะเป็นในลักษณะสตูดิโอออกแบบ อย่างรุ่นพี่หนูที่เขาจบแล้วไปเปิดสตูดิโอเองก็มีแต่นั่นคุณต้องมีความเก๋า มั่นใจว่าจะมีคนมาจ้างงานคุณ

        
5655 Hand Sign Numbers 1-10                             5654 Braille Numbers 1-10

ได้รับรางวัล ในปี2012 Oppenheim Toy Portfolio Gold Seal Award United State และ Oppenheim Toy Portfolio SNAP Award (Special Needs Adaptable Product) United State

5672 Hand Sign Alphabet ได้รางวัล Twenty favorite toys จาก นิตยสาร FamilyFun 2014


ตั้งแต่ออกแบบมาชอบหรือประทับใจของเล่นชิ้นไหนมากที่สุด

Hand Sign Alphabet อย่างแรกเลยเป็นชิ้นแรกที่ทำมาที่นี่เลยและก็ได้รางวัล คือตอนทำชิ้นนี้เราอยากมี innovation ใหม่ค่ะของแปลนทอยส์ ที่เขาใช้ขี้เลื่อยมาอัดเป็นโปรดักเพื่อที่จะไปสู้กับบรรดาของเล่นพลาสติก อย่างแรกคือขี้เลื่อยมันคือของที่เหลือจากขั้นตอนการทำ เขาก็คิดว่าขี้เลื่อยมันเหลือเยอะมากจะเอามาทำอะไรดี ก็เลยพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนมันกลายเป็นวัสดุใหม่ที่มาเป็นแปลนวูด มันจะเหมือนกับเป็นขี้เลื่อย แล้วแปลนวูดนี่เป็นขี้เลื่อย แล้วแปลนวูดนี่ขั้นตอนการทำคือใช้โมอัดขึ้นรูป แล้วพอเรามาคิดต่อยอดว่าการอัดขึ้นรูปมันสร้างฟอร์มสร้างรูปร่างที่ถ้าเป็นไม้ธรรมดา จะต้องมาทำเป็นร่อง เป็นปูดขึ้นมาอย่างนี้มันเสียเงินเยอะ เสียขั้นตอนเยอะ และยิ่งทำอักษรเบล ปูดขึ้นมาแบบนี้ไม้มันจะทำไม่ได้ มันจะปูดได้คือมันต้องกัดออกมันถมเข้าไม่ได้ แต่พอมาเป็นแบบนี้ปุ๊ป มันก็รู้สึกว่า เฮ้ย คุณสมบัตินี้ของมัน สามารถมาตอบโจทย์การดีไซน์เพื่อเด็กพิเศษได้ แล้วก็คุยกับทางพี่วิฑูรย์ก็รู้ว่าเบลที่เด็กเขาต้องจับอักษรเบลมันมาจากคุณสมบัติของตัวไม้ แปลนวูดอัดขึ้นรูปได้ ขั้นตอนเดียวเสร็จ ไม่เปลืองพลังงาน ลดโลกร้อน และก็ช่วยเด็กพิเศษได้ด้วย

เราก็รู้สึกว่าเออมันดูเหมาะสมที่จะสร้างของเล่นเพื่อเด็กพิเศษทุกอย่างมันตอบโจทย์ของมันคลิกๆ และก็อย่างเด็กพิเศษนี่เขามองไม่เห็นเขาไม่ได้อยากเรียนรู้แค่อักษรเบล บางคนเขาก็อยากจะรู้ว่าแล้วอักษรธรรมดาที่ตาเห็นเขาทำกันอย่างไร ก็ต้องมีร่อง เด็กก็จะสามารถรู้ได้ว่าอ๋อ มันเขียนแบบนี้และเด็กที่ตาไม่ถึงกับบอด แค่เกือบๆ บอด เพราะมองไม่ชัดก็จะช่วยให้เขารู้ว่า อ๋อ ชัดเจนขึ้นว่าอันนี้นะ เลขหนึ่ง เขียนแบบนี้นะและข้างหลังก็จะเป็นการนับ อย่างอันนี้เราก็ทำเป็นรูปใบไม้ ตอนแรกอาจจะดูว่าแค่สวยน่ารัก ป่าว คือเราคิดมาว่าแพทเทิร์นด้วยความที่เขาตาบอด ถ้าจุดเฉยๆ กระจายอะไรแบบนี้เขาจะคลำไม่เจอ พอเป็นแบบนี้มันเป็นแพทเทิร์นเขาจะค่อยๆไล่ไปซ้ายขวา มันจะมีลำดับช่วยให้เขาสามารถนับได้ง่ายได้ หนึ่ง สอง สาม สี่ เขาจะแบบไม่หลง อันไหนนับแล้วอันไหนยังไม่นับ ก็คือเขาจะได้ทั้งอักษรเบล อักษรธรรมดาและก็เรื่องของการนับด้วย เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นชิ้นแรกที่ท้าทายมาก และมันตอบโจทย์ได้ครบ มันคือชิ้นที่เราภูมิใจค่ะ

 

อยากเป็นนักออกแบบของเล่น

ต้องหาประสบการณ์ให้ตัวเองก่อนค่ะ อย่างของหนูครั้งแรกเลยที่ได้ไปจับ ได้ไปงานออกแบบของเล่นจริงๆ คือตอนที่ส่งพอร์ตไปฝรั่งเศสเพื่อขอฝึกงาน รู้สึกว่ามันเกิดจากความกล้า ก่อนอื่นเลยต้องไม่คิดว่าตัวเองจะทำไม่ได้ ให้รู้สึกว่าถ้าเราสนใจนะ ฉันอยากเป็นนักออกแบบของเล่นจังเลย ฉันไม่แน่ใจอย่าเพิ่ง พอเริ่มสนใจแล้วให้กล้า พอกล้าแล้วมองหาลู่ทาง พอมองหาลู่ทางแล้วขยัน ขยันที่จะทำพอร์ต พอได้ฝึกงาน ปุป ก็ยังต้องขยันอยู่ ขยันกอบโกยหาข้อมูลหาความรู้และพอคุณมีข้อมูลอยู่ในหัว สิ่งต่างๆ มันก็จะเริ่มออกมาเป็นดีไซน์ได้ น้องต้องรู้จัก สังเกต ขยัน ลงมือทำและกล้าก็จะทำได้ค่ะ

 

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อผลิตบัณฑิตในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Design) ที่มีความรู้ ความสามารถทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันประเภท ต่างๆ เพื่อให้ตอบสนองต่อการดำรงชีวิตที่ดีสะดวกสบายและมีคุณค่าทางสุนทรียภาพตามความต้องการของ มนุษย์ โดยคำนึงถึงความต้องการของชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการเลือกใช้วัสดุ โครงสร้าง กลไก สีสัน ในแนวทางการผลิตเป็นจำนวนมากโดยกรรมวิธีทาง อุตสาหกรรม (Mass Production) โดยตระหนักถึงหน้าที่และบทบาทของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม ในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพ รูปแบบของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้มีความทัดเทียมกับต่างประเทศ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก และมุ่งพัฒนาวิชาชีพออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อเป็นระบบกลางใช้ผลคะแนน O-NET และ GAT/PAT

http://www.arch.kmitl.ac.th