www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

Alumni : แม็กซ์ เจนมานะ เศรษฐศาสตร์ อินเตอร์ ม.ธรรมศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-02-20 11:26:52

เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก ภาพ:วันวิสาข์ หนองภิวงค์ และ ภูวดล ชินจอหอ

“เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เป็นศิลปะในการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในการใช้สิ่งที่ตนเองไม่มี” นักร้องเสียงทุ้มกับกีต้าร์ตัวโปรดจากเวทีประกวด The Voice Thailand และดีเจคลื่น Cool Celsius 91.5 แม็กซ์-ณัฐวุฒิ เจนมานะ หรือ แม็กซ์ The Voice Season 1 พูดถึงเศรษฐศาสตร์ ในฐานะศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากรั้วธรรมศาสตร์

 

 

ศาสตร์ที่เหมือนศิลปะ

ตอนแรกผมไม่รู้ว่าผมชอบอะไร แต่พ่อแม่จะรู้ว่าผมเป็นคนอย่างไร เขาจะถามตลอดก่อนเข้ามัธยมปลายว่าไปเรียนดนตรีเรียนดุริยางคศิลป์ไหม ผมไม่เอาเพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ผมเลยเลือกเรียนสายวิทย์-คณิตเพราะว่ากว้างดี เลือกเรียนได้หลายอย่าง ตอนนั้นก็อยากเป็นสถาปนิกด้วย พอจะเข้ามหาวิทยาลัยสุดท้ายเราเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เพราะมันกว้างที่สุดและสามารถใช้งานได้ ที่บ้านก็มีธุรกิจก็อาจจะช่วยงานที่บ้านได้ ซึ่งตอนนั้นก่อนจะเข้าเรียนพ่อถามย้ำว่าไม่เรียนดนตรีแน่เหรอ ผมดีใจมากที่ผมจบเศรษฐศาสตร์มาเพราะเป็นศาสตร์ที่เป็นศิลปะในการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ ในการใช้สิ่งที่มีอยู่แลกกับสิ่งที่ตนเองไม่มี ซึ่งมีอะไรที่นำมาใช้กับงานเพลงได้ด้วย ผมภูมิใจมากที่จบเศรษฐศาสตร์มา

หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ อินเตอร์

หลักสูตรที่ผมเรียนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษที่ถือว่าเข้มข้น ผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์เป็นคณะที่เรียนยากมาก ขนาดเด็กแลกเปลี่ยนยังบอกว่ายากมาก เพราะอาจารย์สอนจริงจังมาก

ในส่วนวิชาเรียนผมคิดว่าคล้ายๆ กันทุกคณะ คือตอนแรกจะเรียนพื้นฐานหมด จากนั้นก็เลือกกันว่าจะไปทางไหน สำหรับวิชาเศรษฐศาสตร์เหมือนกับมีสองฝ่ายใหญ่ๆ คือการเงินซึ่งเกี่ยวกับการใช้เลข อีกฝ่ายจะเป็นสายของการวิเคราะห์ ผมจะเป็นสายของการวิเคราะห์มากกว่า และวิชาเลือกการตลาดซึ่งจะเข้าทางมากกว่า เรียนการเมือง การเงิน เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มีคณิตศาสตร์ด้วย

การเลือกวิชาเรียนขึ้นอยู่กับว่าเราจะเก็บอะไรมาตั้งแต่ต้น จึงต้องวางแผนดีๆ ตั้งแต่ปีหนึ่ง หลายคนพลาดตรงนี้เพราะไม่สามารถเรียนในสิ่งที่อยากเรียนได้ตั้งแต่ต้น วิชาเอกตัวสุดท้ายหรือจะเป็นวิชาเลือกก็ตามแต่ เราจะต้องดูก่อนว่าชอบอะไร บางครั้งอาจไม่ชอบก็ต้องรีบเปลี่ยน ต้องถามตัวเองต้องคำนวณตลอดเหมือนเก็บเลเวล สุดท้ายแล้วก็เลือกปิดด้วยสัมมนาคือธีสิสเตรียมจบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเวลาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะการวางแผนล่วงหน้า การวิเคราะห์ตัวเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่คณะนี้สอนผมมาด้วย

 

เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างแดน

ทุกคนมีสิทธิที่จะได้ไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศถ้าเกรดถึง คะแนน TOEFL ผ่าน และสัมภาษณ์ผ่าน เราก็ต้องพยายามเก็บคะแนนให้ได้เยอะที่สุดเพื่อที่ปีสามเราจะได้ไปเรียนและเที่ยวด้วย พอเราได้คะแนนตามเป้าก็ต้องสอบ TOELF ผมเลือกไปแคนาดา คะแนน TOELF ต้องมากกว่า 95-100 เจออาจารย์สัมภาษณ์อีกสามสี่คน รุ่นผมไปกันไม่ถึงครึ่ง บางคนก็ไปยุโรป ญี่ปุ่น จีน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา แคนาดา อังกฤษ 

ส่วนวิชาเรียนเราเลือกเองแต่ต้องโอนกลับมาได้ด้วย ก็ต้องคำนวณเองว่าโอนมาแล้วเราจะจบไหม ผมเลยเลือกวิชาที่อยากจะเรียนจริงๆ และสามารถโอนมาใช้ได้หมด ที่แคนาดาเรียนไม่ยากเลย ประเทศไทยเรียนยากกว่ามาก

เศรษฐศาสตร์แห่งความรัก

ผมเลือกทำธีสิสเรื่อง “Economics of Love” หรือเศรษฐศาสตร์แห่งความรัก สนใจเรื่องนี้มานานแล้ว รู้สึกว่าความรักเกี่ยวเนื่องกับทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเวลาผมแต่งเพลงก็จะเกี่ยวข้องกับความรัก แล้วเราก็รู้สึกว่ามันคู่ควรกับการทำโปรเจ็คต์เป็นครั้งหนึ่งในชีวิต เราเลยอยากผนวกสิ่งที่เราเรียนกับความรักเข้าด้วยกัน

 

 

ทำไมเศรษฐศาสตร์กับความรักถึงเกี่ยวกัน ผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราไม่มี เป็นสิ่งที่เราขาด อย่างเช่นเราเป็นมนุษย์หิน A กับมนุษย์หิน B ผมทำปลาได้แต่ผมไม่มีผักกิน ผมไม่มีที่ปลูกผัก ไม่มีความรู้เลย เขาทำผักได้ ผมมีปลาแลกเท่าไหร่ดีก็มาต่อรอง ปลาหนึ่งตัวแลกกับกะหล่ำปลีสามหัวหรือสี่หัวดีกว่า ไม่ได้ เอาเป็นปลาสองตัวกับกะหล่ำปลีเจ็ดหัวละกัน มันคือการแลกเปลี่ยนการแบ่งปัน แต่เศรษฐศาสตร์อาจจะซับซ้อนมากขึ้นเมื่อมีเรื่องของการเมือง เรื่องระหว่างประเทศเข้ามาทำให้เกิดความขัดแย้งต่างๆ ถ้าย้อนกลับไปยุคดั้งเดิม เราใช้ความรักในการไกล่เกลี่ย บางครั้งถ้าเรายอม เราไม่ต้องเอาตัวเองมาก เราคำนึงถึงความเป็นจริงและคำนึงถึงเขา มันอาจจะทำให้เกิดเศรษฐศาสตร์ในอุดมคติก็ได้ อาจจะทำให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในโลกใบนี้ เวลาที่เราให้ได้มากกว่าที่เรารับ เขาจะได้รับมากกว่าเราและเราก็ได้รับด้วย เป็นความรู้สึกบางอย่างที่จับต้องไม่ได้แต่ผมอธิบายเป็นโมเดลได้ว่าสามารถประยุกต์ได้ในเศรษฐกิจจริงๆ

 

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องมี

พื้นฐานต้องเป็นคนที่มีโครงสร้างอยู่ในหัว วางระบบได้ดี รู้ว่าเมื่อสิ่งนี้เกิดย่อมกระทบกับสิ่งนี้ ยิ่งเรียนๆ ไปจะวาดกราฟเยอะมาก ผมวาดจนมือหงิกเลย มีอยู่ครั้งหนึ่งวาดกราฟหกเจ็ดชิ้นต่อกัน อันนี้ขยับนิดเดียวมันจะกระทบหมด เราจะรู้หมดเลยว่าอันนี้ต้องขยับอุปสงค์ขึ้น อุปทานขยับ อรรถประโยชน์เพิ่ม (Marginal Utility) ของบริษัทนี้ตก สินค้าส่งออกประเทศนี้ขึ้น ต้องวิเคราะห์เก่ง

 

“คณะที่ไม่ต้องง้อใคร”

เศรษฐศาสตร์เป็นคณะที่ไม่ต้องง้อใคร สามารถประยุกต์ใช้ได้กว้างมาก ทำงานได้ทั้งการตลาด ต่อยอดเป็นนักบัญชี ได้ไปสอบ Chartered Financial Analyst (CFA) หรือจะไปทำงานด้านบันเทิง ไปบริหารก็ได้ ตอนแรกผมจะเรียน BBA เรียนการตลาด แต่จริงๆ แล้ววิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาพ่อของวิชาการตลาด ถ้าเกิดเรียนเศรษฐศาสตร์รู้เรื่องการตลาดจะง่ายมาก จริงๆ ก็เหมือนดาบสองคมคือบางคนไม่รู้จะไปทำอะไร นอกจากเขาจะจบอะไรที่จริงจังหรือทำงานมีประสบการณ์มาบ้าง ตลาดงานว่างเสมอสำหรับคนที่ขยันและเสาะหา เศรษฐศาสตร์เป็นอะไรที่กว้างมากคุณจะไปไหนได้หมดถึงแม้ว่าความต้องการแรงงานของตลาดจะน้อย ตลาดแรงงานจะล้น แต่เราก็สามารถหาแรงงานเองได้ คุณไปเล่นหุ้นก็ได้ เพื่อนผมไม่ได้ทำอะไรเล่นเกมเล่นหุ้นเขาก็อยู่ได้สบาย รวยด้วย

 

 

เทคนิคการเรียนการสอบ

ไม่มีเลยครับ ต้องอ่าน ต้องเข้าใจ ผมไม่ได้เป็นแฟนเศรษฐศาสตร์ ผมเคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์ให้บริษัทคอนซัลใหญ่ๆ เคยดูให้โฟร์โมส เซเว่น CP เราคิดว่ามันแค่ประยุกต์ใช้เท่านั้น ถ้าเราอยากจะเรียนเศรษฐศาสตร์ เราแค่ต้องทุ่มกับมัน ต้องใช้เวลากับมันหน่อยแล้วเราจะเข้าใจ เราต้องดูว่าเป้าหมายในการเรียนของเราคืออะไรก่อน ผมเรียนเพราะผมอยากจะรู้ว่าระบบในเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เวลาทำงานจริงๆ ธุรกิจจริงๆ เราจะใช้วิธีแก้ปัญหานั้นอย่างไร เพราะเราไม่อยากเป็นลูกน้องใคร อยากเป็นเจ้านายตัวเอง ผมจะมีกรอบ โฟกัสแค่นี้ ไม่เรียนแบบที่เราจะต้องรู้ประวัติของ อดัม สมิธ กราฟนู้นนี้ ผมจะไม่ได้สนใจ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้เป้าหมายตนเอง เราต้องรู้ว่าเราจะไปทางไหน เราก็จะมีพลังที่จะไป

 

คำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่สนใจ

ถ้าเป็นเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ของธรรมศาสตร์ มีสองวิชาที่เน้นคือภาษาอังกฤษกับคณิตศาสตร์ ตอนสอบตรงมีสองวิชา ส่วนวิชาอื่นก็มีบ้างแต่ไม่ได้เน้น แล้วก็ความรู้รอบตัว ทุกอย่างบนโลกนี้ต้องรู้ให้เยอะที่สุด ติดตามข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ เราต้องทันข่าวประจำวันให้มากที่สุดเพราะทุกอย่างสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐศาสตร์

 

คณะเศรษฐศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ: B.E.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่สร้างเศรษฐศาสตรบัณฑิตให้มีความรู้ภาคทฤษฎีและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในภาคปฏิบัติ มีความเข้าใจโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจไทยและสังคมเศรษฐกิจโลก เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้นักศึกษามีความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเป็นระบบ ตลอดจนสามารถบูรณาการองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์กับสาขาอื่นได้

การคัดเลือกผู้เข้าศึกษาใช้การคัดเลือกโดยตรงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการเปิดรับสมัครในช่วงเดือนพฤศจิกายน

www.be.econ.tu.ac.th