ฝน-ปยุต สองนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง บอกเล่าเส้นทางสู่นักเรียนทุน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-02-20 10:57:32
“ทุนเล่าเรียนหลวง” ทุนการศึกษาแบบให้เปล่าแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายในการศึกษาปริญญาตรีต่อต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นทุนที่บ่งบอกถึงความสำเร็จทางการศึกษาที่สุดของนักเรียนไทย ฝน-วรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ และ ปยุต-ปยุต พันธวงศ์เดชา ตัวแทนรุ่นพี่สองนักเรียนมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตั้งแต่การเตรียมตัวสอบชิงทุน จนกระทั่งได้เข้าเรียนให้เราได้ฟังกัน
ก่อนที่จะได้รับทุนเล่าเรียนหลวง
ฝน: เรียนอนุบาลและประถมที่ฉะเชิงเทราแล้วเพิ่งเข้ากรุงเทพตอน ม.1 โรงเรียนสาธิตปทุมวันแล้ว ม.ปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คือทุนเล่าเรียนหลวงสมัยนี้เด็กนักเรียนเขาเตรียมตัวตั้งแต่ ป.6 แต่ว่าสมัยฝนถือว่าเตรียมช้า คือกลุ่มเด็กนักเรียนเตรียมอุดมเขาจะพูดกันเอง สมาคมคุณแม่ที่ไปรอรับลูกๆ ก็จะคุยกันว่าเดี๋ยว ม.6 จะมีสอบอะไรพวกนี้นะ เป็นทุนที่ให้ฟรีให้เปล่าไม่บังคับว่าจะต้องไปเรียนอะไรตามใจที่เด็กชอบเลย ก็มองว่าดีเนอะเป็นโครงการที่ดีเป็นทุนเล่าเรียนหลวงหรืออีกชื่อหนึ่งคือทุนคิงเป็นทุนที่เริ่มตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 5 แต่ว่าก็คือเงินจะออกมาทางรัฐบาลโดยท่านเป็นคนสนับสนุน ตอนนี้ก็มี 9 คน เป็นสายวิทย์ 5 คน เป็นสายศิลป์คำนวณ 2 แล้วก็สายศิลป์ภาษา 2 ที่ฝนได้ก็คือได้1 ใน5คนของสายวิทย์ค่ะ
ถามว่าตอนเด็กๆ อยากเป็นอะไร คุณแม่จะสนับสนุนเต็มคือที่บ้านคุณแม่คุณพ่อจะเลี้ยงให้มีความคิดเป็นของตัวเอง ตอนนั้นเรียนสายวิทย์มา อ่านเลขชอบภาษาอังกฤษชอบอะไรอย่างนี้ด้วยก็ไปประจวบเหมาะว่าถ้าเราเอาทุนไปเรียนต่างประเทศเราก็จะได้ภาษาอังกฤษมาด้วย แล้วก็เศรษฐศาสตร์เป็นอะไรที่กว้าง แล้วก็ใช้ได้กับทุกอย่างเลยเลือกเอาตรงนี้ก่อนดีกว่าเพราะเราอยากค้นพบตัวเอง ขอไปค้นพบตัวเองที่ต่างประเทศดีกว่าก็หักเหไปทางทิศนั้นนะค่ะ แต่ถามว่าอยากเป็นแนวคนทำงานเรื่องคนมาตั้งแต่เด็กรึเปล่าตอนนั้นเราก็คงไม่รู้หรอกว่ามันมีอะไรพวกนี้แต่รู้ว่าเราชอบทำงานกับคน และชอบเรียนรู้เกี่ยวกับคน แต่ว่าก็ยังไม่มีอยู่ในหัวหรอกค่ะว่าจะเรียนเกี่ยวกับคน
พอจบม. 6 ก็สอบได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อต่างประเทศเลือกไปประเทศอเมริกาค่ะ ซึ่งทุนเล่าเรียนหลวง จะให้ทุนจบแค่ปริญญาตรี ยกเว้นเรียนหมอหรือทนายพวกสายวิชาชีพเขาก็จะให้ต่อ แต่ตัวฝนเลือกเรียนปริญญาตรีได้เรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรียนเศรษฐศาสตร์ โทจิตวิทยา psychology หลังจากนั้นจบ 4 ปีแล้ว ตัวฝนเองก็สอบเข้าปริญญาเอกเลยที่ฮาร์วาร์ดเช่นกัน แล้วก็เริ่มเรียนปริญญาเอกตั้งแต่ปี 2010 เป็นโปรแกรม 5 ปีกระโดดข้ามปริญญาโทไปเลยคือจบตรีแล้วไปเอกเลยโปรแกรมชื่อ Organizational Behavior คือพฤติกรรมองค์กร เนื่องจากเป็นปริญญาเอกของฮาร์วาร์ด เขาจะให้ค่าเล่าเรียนแล้วก็ให้เป็นรายเดือนด้วย ดูแลดีมากค่ะ
ปยุต: สมัยประถมผมเป็นเด็กที่ธรรมดามากครับ จนกระทั่งตอนอยู่ ป.6 ไปแข่งเลข สสวท. โครงการอัจฉริยะภาพทางคณิตศาสตร์ ตอนไปแข่งก็ไม่ได้รางวัล แต่ทำให้ผมรู้ว่าสนใจคณิตศาสตร์แล้วก็เวลาทำโจทย์คณิตศาสตร์มันรู้สึกสนุกเหมือนเราแก้ puzzle อะไรอย่างนี้ เสร็จแล้วทีนี้ก็คือค่อยๆ ฝึกทำโจทย์ มีไปเรียนพิเศษบ้าง พอเข้า ม.1 ม.2 โรงเรียนก็ส่งไปแข่งตามรายการ เพราะโรงเรียนสาธิตปทุมวันก็สนับสนุน คือตอนไปแข่งผมก็ไม่ได้อะไรสนุกก็ทำไปเรื่อยๆ คือผมได้ใช่จริงตอนอยู่ ม.2 แข่งสมาคมคณิตศาสตร์ก็ได้ที่ 1 แล้วตอนนั้นก็เข้าค่าย สสวท. ซึ่งเขาจะคัดตัวแทนแข่งโอลิมปิกซึ่งมันยากมากก็ใช้เวลาอยู่ประมาน 2 ปี จน ม.4 ได้เป็นหนึ่งในหกคนไปแข่งที่ประเทศสเปนปี 2008 ได้เหรียญเงินกลับมาครับ แล้วสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ไปอยู่ที่อเมริกา ไปเรียน high school ปี1 ก็เรียนที่ Phillips academy high school ที่เดียวกัน แล้วก็ต่อมาก็เข้ามหาลัย เลือกจะเข้า MIT (Massachusetts Institute of Technology) เพราะว่าอยากศึกษาด้านคอมพิวเตอร์และด้านคณิตศาสตร์ซึ่ง MIT เป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังมากในเรื่องนี้
การที่ผมชอบคณิตศาสตร์เหมือนคณิตศาสตร์สอนให้คิดเป็นเหตุเป็นผล พอเรียนวิชาอื่นก็เข้าใจได้ง่าย อย่างเช่นตอนสอบชิงทุนก็มีวิชาสังคม ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์เท่าไร แต่ว่าเวลาสอบชิงทุนจะมีสังคมให้โจทย์มาแล้วก็ให้เขียนเป็นบทความยาวๆ ผมว่าคณิตศาสตร์ทำให้มีส่วนร่วมก็คือ คิดว่ามันต้องเป็นแบบนี้เรารู้สึกว่าเราตอบโจทย์ได้
เศรษฐศาสตร์คือการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ให้ใช้ให้ได้ผลประโยชน์ประสิทธิภาพมากที่สุด
ฝน: เดิมฝนมองว่าการเรียนเศรษฐศาสตร์ ทำให้เรารู้จักระบบเศรษฐกิจ แล้วเศรษฐศาสตร์พื้นฐานของมันจริงๆ ก็คือ การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ให้ได้ผลประโยชน์ประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินแค่อะไรก็ตามที่ไม่ได้มีเหลือเฟือ เอามาบริหารให้มันได้ประโยชน์สูงสุดซึ่งพื้นฐานตรงนี้คือเราจะเรียนทั้งพื้นฐานพวกทักษะความรู้ทางการคิดวิเคราะห์ ทักษะเชิงคำนวณ แต่ต่อยอดก็คือ ฝนจะสนใจทางด้านคนและก็การบริหารจัดการองค์กร เลยเลือกที่จะเรียนปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ด แต่ว่ามันจะเป็นโปรแกรมที่จอย์กันระหว่างตัวฮาร์วาร์ดเอง คือจิตวิทยากับ Harvard business school H.B.S เกี่ยวกับธุรกิจ ซึ่งโปรแกรมปริญญาเอกนี้มันจะแตกต่างจากปริญญาเอกอื่นๆ เพราะว่าจะได้ทั้งทฤษฎีด้วยแต่เนื่องจากมีโรงเรียน H.B.S เข้ามาซึ่งเน้นปฏิบัติ เลยผสมผสานกันระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติ ดังนั้นจะไม่ใช่แค่นักวิชาการใส่แว่นนั่งอ่านหนังสือ คือเราเรียนเพื่อจะเอาหลักการเพื่อนำไปใช้ในองค์กรเพราะฉะนั้นความสนใจทางด้านคน คือมีมาตั้งแต่สมัยเรียนเศรษฐศาสตร์แล้ว เราก็จะเลือกเรียนเกี่ยวกับคน หรือว่าการมองสมองคนที่เอาหลักเศรษฐศาสตร์เข้าไปจับค่ะ
เสน่ห์ของคณิตศาสตร์
ปยุต: ถ้าถามว่าจะต้องเรียนคณิตศาสตร์เพื่อเก่งคณิตศาสตร์ไหมก็ไม่ใช่ เพราะว่าคนที่เรียนคณิตศาสตร์แต่ว่าเป็นเลขอย่างเดียวก็มีเหมือนกันครับ
ปัญหาคือการมองเห็น application ของคณิตศาสตร์ยากพอสมควร นอกจากจะเป็นคณิตศาสตร์ประยุกต์ที่ไปทำด้านบริษัทประกันภัยหรือที่เขานิยมกัน แต่ที่ผมเลือกมาเรียนคอมพิวเตอร์เพราะมันใกล้เคียงคณิตศาสตร์มาก อย่างเช่นพวกอัลกอริทึม คอมพิวเตอร์ วิธีการคิดก็คล้ายๆ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ก็เป็นสาขาที่กำลังคนนิยมมากในตอนนี้ แล้วก็เหมือนใครๆ ก็อยากได้คนที่ทำคอมพิวเตอร์กัน
จริงๆ แล้ววิชาคอมพิวเตอร์ถ้าแบ่งตาม MIT ก็มี 4 สาขา อย่างแรกก็คือ AI หุ่นยนต์ หรือไม่ก็อะไรที่ทำให้คอมพิวเตอร์มันคิดอะไรเองได้ อันที่ 2 ค่อนข้างใกล้เคียงกับคณิตศาสตร์แบบทฤษฎีมากก็คือคิดอะไรที่แปลกๆ อันที่ 3 คือ systems การสร้างการส่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตสร้างโปรเซสเซอร์ ส่วนอันที่ 4 ก็คือหน้าจะประมาณพวก ซอฟต์แวร์เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ก็คือพวกทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ
ที่นี้ก็ถ้าเกิดว่าระดับมัธยมผมไม่รู้ว่าจะมีตรงไหนบ้างแต่ที่ผมเห็นเพื่อนเขาทำก็คือเพื่อนผมจะมีคนที่ไปแข่งคอมพิวเตอร์โอลิมปิก คอมพิวเตอร์โอลิมปิกมันก็จะเน้นไปทางพวกทฤษฎีและพวกอัลกอริทึมก็คือจะให้โจทย์มาว่าต้องการ input แบบนี้ output แบบนี้มีการเอาไปทำอะไรอย่างเช่น input ก็เป็น board site หนึ่ง ถามว่าจุดนี้จะเดินไปจุดไหนก็ได้บ้างโดยที่มีเงื่อนไข ก็อันนั้นจะเป็นทางทฤษฎี เราต้องแบบคิดว่าจะทำอะไร แต่ว่าที่มันยากคือมันจะมีเงื่อนไขกำหนดว่าต้องรันในเวลาเท่านี้ ใช้เมมโมรี่ไม่เกินเท่านี้ ต้องใช้วิธีที่เร็วที่สุดไม่ใช่แบบลองเดินไปมั่วๆทุกจุดอะไรแบบนี้นะครับนี่คือการศึกษาที่ศึกษาได้เอง เพราะมีเว็บไซต์ที่ทำเกี่ยวกับการศึกษาโจทย์พวกนี้โดยตรงค่าย สอวน. และ สสวท. ก็มี ยิ่ง สอวน. มีการทำเป็นหนังสือ สอวน. จะเป็นระดับก่อน สสวท. สสวท. เขาทำหนังสือที่ใช้สอนในค่ายเอามาวางขายบ้าง ซึ่งสมัยผมก็ไปกวาดมาสามารถศึกษาพวกนี้ได้หรือว่าข้อมูลด้านทางคอมพิวเตอร์มีอยู่เยอะมากครับ ค้นหาตามอินเทอร์เน็ตก็เจอเพราะว่าไม่เหมือนความรู้สาขาอื่น
ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนคิง ทุนอานันทมหิดล
ฝน: ถ้าเวลาที่พูดว่าทุนคิงเล่าเรียนหลวง มักจะหมายถึงเด็กจบ ม.6 แล้วสอบไปเรียนปริญญาตรี แต่ถ้าทุนอานันทมหิดลคือเรียนปริญญาตรีที่ไทยแล้วไปเรียนปริญญาโทที่ต่างประเทศ แต่ก็เป็นทุนของในหลวงเหมือนกัน ส่วนใหญ่คำว่าทุนคิงจะหมายถึงทุนเล่าเรียนหลวงคือปริญญาตรีหรือว่าตรีให้ครบ หรือว่าถ้าเรียนหมอหรือเป็นกฎหมายอะไรอย่างนี้ เขาก็จะจ่ายให้ 3ปี 4ปี แรกที่เรียนพวกนั้นด้วยค่ะ พูดถึงอาชีพจะพูดอีกนัยหนึ่งคือสัญญาใจที่เราให้ประเทศให้กับในหลวงเอาไว้ จริงๆ แล้วฝนก็เคยเข้าพบสมเด็จพระเทพฯ ท่านก็ถามว่าจะไปเรียนอะไรแล้วก็อยากให้กลับมาช่วยประเทศ แต่ในเงื่อนไขของกฎหมายเราไม่มีบังคับอยู่แล้ว แค่ว่าเราใช้เวลาทุนไปกี่ปีก็ขอกลับมาอยู่ที่เมืองไทยตามจำนวนนั้นเมื่อไรก็ได้ กลับมาทำอะไรก็ได้ค่ะ แต่นักเรียนหลายๆ คนก็ไปหาประสบการณ์หรือว่าไปอยู่ต่างประเทศแต่สำหรับตัวฝนก็คือปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่ายังไงก็ต้องอยากจะกลับมาช่วยประเทศอยู่แล้วทางใดทางหนึ่ง
เคล็ดลับความสำเร็จ
ฝน: คือสมองเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่เรื่องทั้งหมด ในมุมมองของฝนมองว่าความใฝ่รู้ใฝ่เรียน คือถูกสอนมาตั้งแต่เด็กแล้วเราก็มาจากต่างจังหวัดด้วยเพราะฉะนั้นแต่ละก้าวที่ก้าวไปยิ่งก้าวต้นๆ มันก็ลำบากกว่าเด็กที่มาจากกรุงเทพ แต่ก็จะมีคุณแม่ที่ท่านเสียสละออกจากงานมาดูแลฝน คือได้กำลังใจได้การปลูกฝังทุกอย่างทั้งบู๊ทั้งบุ๋น ทั้งศีลธรรมจรรยาและวิธีการใฝ่เรียนรู้คุณแม่จะสอนมาตั้งแต่เด็กคือปลูกฝังสังคม ความกตัญญู การใฝ่รู้เรียน เราต้องมีเป้าหมาย ไม่ใช่เป้าหมายว่าจะได้เกรดอย่างเดียวแต่เรียนแล้วเราอยากกลับมาช่วยคนอื่น เรียนแล้วจะให้มาสอนคนอื่นเพราะฉะนั้นตั้งแต่เด็กก็คือ เวลาเรียนจะเป็นติวเตอร์ด้วยคือติวให้เพื่อนในห้อง เขียนชีท ทำอะไรฟรีไม่เก็บเงินอยู่แล้วเพราะฉะนั้นคนที่จะทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องเข้าใจลึกซึ้งถูกไหมคะ ไม่ใช่แค่เรียนแล้วสอบได้ เรียนแล้วคุณต้องสอนได้เพราะฉะนั้นความคิดเราก็จะเป็นระบบถูกไหมค่ะ
เราก็ได้ทบทวนความรู้เพราะฉะนั้นใกล้สอบแล้วเราไม่ต้องไปนั่งอ่านอาทิตย์สุดท้ายแล้วอีกอย่างหนึ่งเราก็มีความสุขที่เพื่อนเฮฮาปาร์ตี้ ได้สังคม แล้วเราก็รู้สึกว่าความรู้เราแน่นเพราะฉะนั้นข้อสอบจะมามุขไหนก็เราเข้าใจทุกระบบแล้ว ดังนั้นก็เป็นอะไรที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยค่ะ ต้องยกให้คุณแม่จริงๆ แนวความคิดพวกนี้ทั้งเรื่องการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีจุดหมายในการเรียนและทางโลกและทางธรรมก็คือได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากคุณแม่มีเวลาให้เต็มที่มากเต็มที่จริงๆค่ะ
และไม่เข้มงวดเลย ผู้ปกครองบางคนที่อยากให้ลูกเรียนเก่งจะใช้วิธีการวางตารางบางทีให้ลงชื่อท่องไม่ได้ให้อยู่บ้านให้พี่เลี้ยงดูลงชื่อว่าเล่นเกมได้ชั่วโมงเดียวไม่ค่ะ แม่ฝนแค่เขาจะใช้วิธีการเป็น soft skill คือใช้แรงจูงใจให้เราอยากทำเอง เช่นเวลากินผักเขาก็จะขับถ่ายดี อยากสุขภาพดี อยากสวย เห็นนางสาวไทยนางแบบอยากเป็นใช่ไหมต้องกินผักกิน เพราะฉะนั้นฝนก็จะชอบกินผักมาตั้งแต่เด็ก คือจะใช่มุขนี้ทั้งการเรียนด้วย อย่างภาษาอังกฤษ คุณแม่ก็จะให้กำลังใจแล้วเหมือนกับว่าถ้าเราอยากเป็นที่ยอมรับเราก็ต้องขยันเรียนมากกว่าคนอื่นหน่อยเพราะว่าเขาเริ่มมาก่อนเราบางคนเค้าเริ่มตั้งแต่อนุบาลเราเพิ่งมา A B C ตอน ป.4 ป.5 คือเหมือนกับเป็นแรงจูงใจที่มันมาจากตัวเราข้างในจริงๆ คือไม่ใช่มีเงินมาล่อมีรางวัลมาล่อ คือเวิร์คเหมือนกันแต่ในผลระยะยาวควรจะมาจากภายในค่ะ
ส่วนเคล็ดลับการเรียน ขอออกตัวก่อนว่าแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันนะคะ แรกสุดต้องไม่เครียดเรียนเป็นเรียนเล่นเป็นเล่นพักผ่อนเป็นพักผ่อน เพราะฉะนั้นการที่สมองเราไม่มีคอร์ติซอล สเตรท ฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่จะถูกปล่อยออกมาเมื่อเรามีความเครียด มันก็จะเรียนรู้เร็ว
อีกวิธีหนึ่งในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษคือมีปัญหาตั้งแต่เข้ามากรุงเทพเข้ามาไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร คุณแม่สนับสนุนก็ใช้วิธีการทำให้มันสนุกไปด้วย เพื่อลดความเครียด เช่น ดูหนังฟังเพลงเรียนภาษาอังกฤษจากร้องเพลงภาษาอังกฤษและดูหนัง Soundtrack เริ่มจากไม่มีซับไทยเป็นภาษาไทยก่อนตอนหลังก็เป็นภาษาอังกฤษและตัดออกไป แล้วก็เราต้องอ่านหนังสือเพิ่มเติมด้วยคือฝนจะชอบการอ่านมาตั้งแต่เด็กจะอ่านภาษไทยตอนนั้นแฮรี่พอตเตอร์กำลังดังเรียนภาษาอังกฤษจาก เจเค โรลลิ่ง นี่แหละค่ะ อย่างหนึ่งที่เด็กไทยขาดเห็นชัดเลยคือเรียนภาษาอังกฤษจากหนังสือพูดไม่เป็นคำนี้อ่านได้ตามสะกดได้นะ แต่ออกเสียงไม่เป็นเพราะฉะนั้นการเรียนที่มันเป็นมีเดีย มีการคนมาพูดให้ฟังใช้รูปประโยคบางทีพูดได้แต่ว่าวางประโยคเป็นประโยคไทยเลย แล้วที่ฝนชอบอีกอย่างหนึ่งคือชอบคุยกับคนถึงแม้เราเรียนพิเศษอย่างอาจารย์หรือรุ่นพี่ที่มาสอนพอสอนเสร็จเราเข้าไปคุยกับเขาบางทีความรู้รอบตัว ดูข่าวหนังสือพิมพ์ร่วมพูดคุยคือจะชอบคุยตั้งแต่เด็ก
ปยุต: สำหรับผมตอนอยู่ ม.1 ก็ไม่ได้หวังว่าจะไปโอลิมปิก ผมเห็นข่าวรุ่นพี่ก็รู้สึกทึ่ง ฝันไว้ว่าอยากเป็นตัวแทนของเด็กไปแข่งหรือว่าอยากได้ทุนเล่าเรียนหลวง แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำได้ครับ ด้วยความที่ตัวเองชอบก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้ใส่ใจอะไร ผมคิดว่าถ้าเกิดชอบ มันทำแล้วมีความสุข ไม่ต้องมีวินัยอะไร
ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้ผมสามารถมาถึงจุดนี้ได้เพราะว่าชอบศึกษาเพิ่มเติมและตามความชอบตัวเอง ผมจะแนะนำอย่างเดียวว่าต้องฝึกฝนเองแต่ว่าถ้ามันไม่ชอบมันก็ไม่ชอบอยู่แล้วตรงนี้ จับมานั่งฝึกอะไรอย่างนี้ก็ทรมาน
ผมก็จะเข้าเว็บไซต์หนึ่งเกี่ยวกับคณิตศาสตร์จะเป็นที่ทุกคนในโลกที่ชอบทำเลขมาโพสต์โจทย์ หรือผมจะไปนั่งทบทวน หรือไม่ช่วงนั้นผมก็จะไปที่ศูนย์หนังสือจุฬาไปหาว่ามีหนังสือคณิตศาสตร์ใหม่ๆ ไหม ส่วนกิจกรรรมผมก็ทำแต่ว่าดูไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไร เช่น กีฬาผมก็ชอบตีเทนนิส ดนตรีที่ผมเล่นก็มีตีกลองหรือว่าเล่นกีต้าร์
ไอดอลในดวงใจ
ฝน: คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ท่านไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ท่านจะพูดเสมอไม่ว่าจะออกสื่อหรือพูดส่วนตัว คือท่านจะชอบคนเก่งและคนดีแล้วมันสอดคล้องกับสิ่งที่ฝนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กคือคุณแม่จะพูดเสมอถ้าคนไม่กตัญญูยังไงก็ไม่เจริญ แล้วการกตัญญูไม่ใช่แค่พ่อแม่ กตัญญูต่อองค์กร ต่อเพื่อนฝูง คนที่ทำดีกับเรา เราก็มีจิตที่เมตตาอยากจะตอบแทนเขาใช่ไหมค่ะ แล้วท่านก็เป็นนักปฏิบัติตัวยง เราชื่นชมนักปฏิบัติเป็นการส่วนตัวอยู่แล้วว่าบางคนไม่จำเป็นต้องเรียนสูงไม่จำเป็นต้องมีตำรา ไม่จำเป็นต้องเป็นหนอนหนังสือ แต่เขาทำงานเสร็จ เราก็ต้องเรียนรู้จากเขาว่าเขาทำยังไงถูกไหมค่ะ แล้วก็พยายามเลยเป็นหลักในตัวฝน เราเรียนมาขนาดนี้เรามีโอกาสเราโชคดีเผอิญมีช่องทาง แต่อย่าลืมว่าเวลาไปทำงานจริงแล้วสิ่งที่เราเรียนมามันใช้ไม่ได้หมด ยังไงเราก็ต้องรู้จักปรับตัวรู้จักใช้หลักยิ่งเราทำงานในเมืองไทยหรือว่าองค์กรเอเชียตะวันออก มันไม่ใช่แค่หลักการอย่างเดียว เราต้องรู้จักสร้างความเชื่อมั่นเชื่อใจกัน แล้วบางอย่างไม่ใช่แค่ลายลักษณ์อักษรที่เป็นกฎหมาย ต้องเป็นศาสตร์และศิลป์ ก็คิดว่าท่านทำได้ทั้งหมด และเหมือนความเชื่อตรงกันเรื่องคนดีคนเก่งด้วยค่ะ
ปยุต: มีรุ่นพี่ผมชื่อพี่กะพง เขาเรียนเก่งมาก เก่งทุกด้านแล้วอีกอย่างคือลายมือเขาสวยมาก ผมเห็นแล้วผมอยากได้ลายมือแบบนั้นบ้าง ที่สำคัญคือเขาประสบความสำเร็จมากด้านคอมพิวเตอร์ได้ทุนเล่าเรียนหลวงเหมือนกันครับแต่พอเป็นนักกีต้าร์ โจ แซทริอานีกับสตีฟ วาย เขาเท่ห์มากเป็นแนวกีต้าร์ฮีโร่ไม่มีนักร้องนำครับ
ทุนเล่าเรียนหลวง กำหนดให้มีทุนเล่าเรียนหลวงพระราชทานแก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งมีผลการเรียนยอดเยี่ยม จำนวน 3 หน่วย รวม 9 ทุน ดังนี้ สายวิทย์-คณิต จำนวน 5 ทุน สายศิลป์-คำนวณ จำนวน 2 ทุน และสายศิลป์-ภาษา จำนวน 2 ทุน ผู้ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงต้องไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ โดยจะเลือกเรียนวิชาใด ณ สถาบันอุดมศึกษาแห่งใดก็ได้ ซึ่ง ก.พ. จะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยพิจารณาจากความประสงค์ คุณวุฒิ คุณลักษณะของผู้ได้รับทุน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะต้องกลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทย http://scholar2.ocsc.go.th/ |