www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

Alumni : นัท ฮอร์โมน Digital Art ม.รังสิต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-02-01 14:22:04

เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก  ภาพ: ศรัณยู บุญช่วยเจริญ
 


ในยุคที่แอนิเมชันเข้ามากลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งในทุกวงการ โดยเฉพาะวงการบันเทิง ทำให้สถาบันการศึกษาเริ่มเปิดคลาสด้านนี้โดยเฉพาะ สำหรับระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นผู้บุกเบิกเปิดสาขาด้านคอมพิวเตอร์อาร์ตเป็นแห่งแรก หนุ่มลุคแบดบอยที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาในซีรีส์ดัง “HORMONES วัยว้าวุ่น” นัท-พนัทชัย กิตติสติมา ชั้นปีที่ 3 คณะดิจิทัลอาร์ต สาขาคอมพิวเตอร์อาร์ต อาสาเป็นตัวแทนรุ่นพี่แนะนำสาขาใหม่ให้กับน้องๆ
 

ดิจิทัลอาร์ต ตอบโจทย์
ผมเลือกเรียนคณะนี้เพราะว่าผมอยากทำงานในลักษณะอินโฟกราฟิก หรือเป็นกึ่งๆ แอนิเมชัน มีสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ ไซไฟ เหมือนกับว่าจบไปเราต้องทำงานอยู่กับมันไปตลอดชีวิตอย่างมีความสุข ก็เลยตัดสินใจว่าคณะนี้นี่แหละเป็นคณะในดวงใจ เข้ามาแรกๆ ก็ยังไม่รู้ว่าคณะนี้แตกสาขาเป็นอะไรบ้าง และเราควรเรียนอะไร แต่ว่าปีหนึ่งปีสองเราก็จะได้เรียนพื้นฐานและเรียนรู้ว่าเราถนัดอะไร อะไรเหมาะสมกับเรา และเราจะสามารถใช้อะไรได้
 

หลักสูตรคอมพิวเตอร์อาร์ต
คณะดิจิทัลอาร์ตแบ่งออกเป็นสองสาขา คือ สาขาคอมพิวเตอร์อาร์ต และสาขาวิชวลเอฟเฟค สาขาคอมพิวเตอร์อาร์ตแยกย่อยออกเป็นสองสาขาคือ 2D animation และ 3D animation และยังแยกต่อตามความถนัดของนักศึกษาแต่ละคน ยกตัวอย่าง 2D ก็จะมี 2D animation กับ 2D illustration อันแรกคือการสร้างแอนิเมชันสองมิติ พวก “โคนัน” “ปิกาจู” ส่วน 2D illustration คือการทำภาพประกอบให้กับหนังสือหรือการทำบิลบอร์ด ป้ายไวนิล

ส่วน 3D มีสองลักษณะคือ 3D animation กับ 3D motion graphic โดย 3D animation เป็นแบบหนังแอนิเมชันเรื่อง “ยักษ์” “ก้านกล้วย” ส่วน 3D motion graphic เป็นสิ่งที่คณะด้านศิลปะและการออกแบบเขาเรียนอยู่แล้ว แต่ที่แตกต่างคือหลักสูตรของเราเอาโมเดล 3D เข้ามาผสมผสานกับความเป็น motion graphic อย่างเช่นการทำอินโทรเข้ารายการทีวีหรือโฆษณาที่มี 3D โมเดลขึ้นมาแต่ไม่เชิงเป็นการ์ตูนเสียทีเดียว  
 


สี่ปีสู่ความเชี่ยวชาญ

ปีหนึ่งเป็นปีปรับพื้นฐาน นักเรียนบางคนมาโดยไม่มีพื้นฐานอะไรเลย ต้องเรียนรู้การวาดภาพดรออิ้ง การใช้สีทุกประเภท องค์ประกอบศิลป์สองมิติ สามมิติ สามารถวางองค์ประกอบศิลป์ได้ คล้ายพวกวิจิตรศิลป์ด้วยความว่าต้องปั้นโมเดลสามมิติ ปั้นดินน้ำมันเป็นหน้าคน หัวคน ไม่ใช่แค่วาดอย่างเดียว

ปีสองเริ่มสอนใช้โปรแกรมพื้นฐาน “Photoshop” หรือ “Illustrator” และโปรแกรม “After Effect” เริ่มจากรีทัชภาพคน วางองค์ประกอบภาพ ซ้อนภาพจนเราสามารถใช้โปรแกรมต่างๆ อย่างชำนาญ เพราะว่าเราใช้เรื่อยๆ ในการทำฟุตเทจ จากนั้นก็สอนทำเว็บ พอเข้าปีสองเทอมสองต้องเรียนโปรแกรมการสร้างโมเดล 3D ชื่อ “Maya” อาจจะเป็นโมเดลง่ายๆ วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม เริ่มเพิ่มเส้น เริ่มเป็นตัวละคร พัฒนาตัวการ์ตูนขึ้นมาเป็นคาแร็คเตอร์ ปีสามจะเรียนโปรแกรมเฉพาะมากขึ้นอีก อย่าง “Zbrush” เอาไว้ปั้นตัวกอลั่มหรือปีศาจ

วิธีการสอนของอาจารย์คือเขาจะจี้จุดและคอยประกบว่าตรงนี้มีปัญหา ไม่ปล่อยให้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เทคนิคต่างๆ มาจากอาจารย์ล้วนๆ อาจจะมีจากอินเทอร์เน็ตบ้าง ทำให้เราได้โมเดลดีๆ องค์ประกอบสวยครับ


ลองฝีมือ

นักศึกษามีอยู่สองแบบคือเด็กทุนและที่ไม่ใช่เด็กทุน เด็กทุนคือเด็กที่คณะมองว่าเป็นหัวกะทิ เวลาฝึกงานก็ต้องฝึกแบบสหกิจ คือฝึกมากกว่าคนอื่นอีกเท่าหนึ่ง เพื่อเอาเทคนิคจากพี่ๆ โปรดักชั่นมาลงมือทำงานจริงๆ ส่วนการหาสถานที่ฝึกงานทางมหาวิทยาลัยมีบริษัทมาให้เลือก แต่ถ้าเรามีบริษัทที่ติดต่อเองได้สามารถยื่นโชว์ผลงานเอง แล้วทางคณะจะติดต่อประสานงานให้
 


Digital Art Challenge”
กิจกรรมที่ให้นักศึกษาเอาผลงานมาแข่งขันกันเองในคณะ อาจารย์จะหารางวัลให้เป็นแกดเจ็ทต่างๆ อย่าง แท็บเล็ต ไอพอด เมาส์ปากกา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักศึกษาทำงาน ทุกชั้นปีมีสิทธิมีส่วนร่วม น้องปีหนึ่งอาจมีผลงานดีกว่าพี่ปีสอง-ปีสามก็ได้ เพราะเด็กแต่ละคนมาจากแต่ละที่แต่ละทาง บางคนมีพื้นฐานไปเรียนเสริมนี่นั่น


คุณสมบัติหลัก รักศิลปะ

คอมพิวเตอร์อาร์ตอาศัยศาสตร์ของศิลปะ ถ้าคุณไม่รักศิลปะก็ไม่สามารถเรียนศิลปะได้ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา แม้เงินเดือนอาจไม่สูงแต่ตลาดกว้างมากพอที่จะรองรับทุกๆ คนที่ตั้งใจทำงาน ผมมองว่าทุกอาชีพมีตลาดรองรับหมด แต่เวลาเราทำงานไม่สุด งานเราก็มาถึงไม่สุด ไม่มีความโดดเด่น งานที่ได้ก็ชิลล์ๆ ไม่ได้เป็นโปรดักชั่นที่อัตราการแข่งขันสูง อันนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้บางคนได้งานหรือไม่ได้งาน คนที่ตั้งใจจริงๆ และชอบจริงๆ แล้วสุดจริงๆ อันนั้นไม่ต้องพูดถึงเลย อย่างไรก็มีงานรองรับชัวร์


 

คณะดิจิทัลอาร์ต สาขาคอมพิวเตอร์อาร์ตมหาวิทยาลัยรังสิต สาขาคอมพิวเตอร์อาร์ต เป็นสาขาวิชาที่มีประโยชน์และความจำเป็นอย่างยิ่งต่อวงการศึกษา วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และวงการแอนิเมชัน ด้วยงานอุตสาหกรรมบันเทิงในปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสร้างสรรค์ผลงานให้สวยงาม คอมพิวเตอร์จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นผลงานออกแบบตัวละคร งานแอนิเมชัน 2 และ 3 มิติ ตลอดจนงานเทคนิคพิเศษในภาพยนตร์ ฯลฯ

การคัดเลือกผู้เข้าศึกษาใช้การคัดเลือกโดยตรงของมหาวิทยาลัยรังสิต

www.rsu.ac.th/digital