Alumni : แพทตี้-พัทธกานต์ กฤตภาธร ล่ามภาษามือไทย วิทยาลัยราชสุดา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-12-02 13:20:47
เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก ภาพ: ภูวดล ชินจอหอ
ภาษามือคือภาษาที่ใช้ในการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาศัยการเคลื่อนไหวมือแทนการออกเสียงในภาษาพูด การสื่อสารด้วยภาษามือมีระบบเฉพาะและไม่ได้เป็นภาษาสากลอย่างที่เราคิด จำต้องมีผู้เชี่ยวชาญคือล่ามภาษามือ เป็นแมสเซ็นเจอร์สื่อความหมาย นับเป็นความก้าวหน้าของหลักสูตรการศึกษาในประเทศไทย ที่มีการเปิดสาขาวิชาล่ามภาษามือไทยในระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีพี่ซีเนียร์ แพทตี้-พัทธกานต์ กฤตภาธร ขวัญใจช่างภาพ Miss Utip Freshy Idol 2011 เป็นตัวแทนสถาบันมาเล่าถึงหลักสูตรนี้
เรียนเพราะรู้สึกสนุกกับภาษามือ
เริ่มแรกแพทไม่รู้จักคณะนี้ อาจารย์โรงเรียนเก่าเป็นคนแนะนำให้ลองยื่นคะแนน เริ่มเรียนตอนแรกมีรุ่นพี่มาสอนภาษามือท่าง่ายๆ แพทก็รู้สึกสนุก พอเข้ามาเรียนก็ได้รู้จักกับคนหูหนวก รู้สึกว่าเขาน่ารักมาก มีมุมที่ไม่เหมือนเรา เลยทำให้รู้สึกอยากจะเรียนค่ะ ตอนแรกเราคิดว่าภาษามือเป็นอะไรที่สนุก จำง่าย แต่จริงๆ ที่เราเรียนมานิดเดียว ยังไม่ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ของที่ต้องเรียนจริงๆ เราต้องเข้าใจว่าเขาคิดอย่างไร ห้ามทำแบบนั้นแบบนี้ มันยากกว่าที่เราคิดไว้เยอะมากค่ะ
สาขาวิชาล่ามภาษามือไทย
เราจะเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์คนหูหนวก วัฒนธรรมคนหูหนวกเป็นอย่างไร อย่างเช่นเวลาเราคุยกันถ้าเราหันไปมองหน้าเขา เขาก็อาจจะคิดว่าเราพูดถึงเขาหรือเปล่า พยายามใช้ภาษามือให้ได้มากที่สุด แล้วพอขยับชั้นขึ้นมาก็จะเริ่มเรียนภาษามือในระดับที่ยากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นก็จะเริ่มเรียนเกี่ยวกับแพทย์ กฎหมายของผู้พิการทางการได้ยิน อย่างน้อยเราก็ต้องรู้ว่ากฎหมายนี้เป็นอย่างไร เพื่อที่จะรู้คำศัพท์เอามาอธิบายให้คนหูหนวก หรือว่าโรคนี้เป็นอย่างไร เกิดขึ้นจากตรงไหนของร่างกาย เพื่ออธิบายให้คนหูหนวกเข้าใจได้อย่างชัดเจนค่ะ
ตอนปีสามนักศึกษาต้องเรียนวิชาแปลมือเป็นพูด แปลพูดเป็นมือ เป็นวิชาที่เรียนสนุกอีกวิชาหนึ่ง ตอนแรกแพทไม่ค่อยเก่งภาษามือเลย วิชานี้ทำให้ได้ฝึกฝนภาษามือจริงๆ อาจารย์จะให้นักศึกษาไปถ่ายวิดีโอภาษามือของคนหูหนวกแล้วเอามาแปลพูดในเวลาเรียนทุกอาทิตย์ ทำให้เราได้ภาษามือจริงๆ ค่ะ ส่วนการสอบก็มีข้อสอบเขียนเหมือนทั่วไป แต่ถ้าสอบภาษามืออาจารย์จะให้ถ่ายวิดีโอทีละคน เลยเป็นข้อสอบที่ลอกกันไม่ได้ การให้คะแนนอยู่ที่อาจารย์และพี่ล่ามช่วยตัดสิน เกณฑ์จากความถูกต้อง ความเข้าใจว่าเราทำภาษามือแล้วเห็นภาพมากแค่ไหนค่ะ
เรื่องละเอียดอ่อนสำหรับคนหูหนวก
เวลาเราคุยกันแล้วหันหน้าไปมองเขาจะคิดว่าเรานินทา เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามสื่อสารให้เขารู้เรื่องโดยใช้ภาษามือ และคนหูหนวกจะมีนิสัยระแวงเพราะเขาไม่ได้ยิน เวลาที่ได้รับข่าวสารจะถึงกันได้เร็วมาก ฉะนั้นภาพลักษณ์ของล่ามต้องดูดีตลอด อย่างเช่นการตรงเวลาสำคัญมาก คนหูหนวกจะเป็นคนตรงเวลา และเราเป็นล่ามภาษามือก็ห้ามนำเรื่องของคนหูหนวกไปเล่าให้คนอื่นฟัง ถ้าเล่าก็จะทำให้คนหูหนวกมองวิชาชีพล่ามไม่ดีไปเลยค่ะ
ภาษาแสลงของภาษามือ
ภาษามือมีหมดคะ แต่ไม่เอามาสอน สำหรับคนหูหนวกวัยรุ่นก็จะมี คนหูดีมียังไงคนหูหนวกก็มีแบบนั้นค่ะ อย่างตอนปี 1แพทก็ชอบทำเล่นกับเพื่อนแต่อาจารย์บอกว่าไม่ค่อยดีนะเพราะว่าถ้าเพื่อนคณะอื่นเห็นเขาก็เอาไปเล่นด้วยแล้วภาษามือจะขยายออกไปในทิศทางที่ไม่ดี คำหยาบก็พยายามอย่าใช้ค่ะ
กิจกรรมสัมพันธ์
กีฬาหูหนวกสัมพันธ์จะจัดปีเว้นปี สร้างความสัมพันธ์ระหว่างราชสุดากับสวนดุสิต สองสถาบันภาษามือก็ต่างกัน จะคล้ายๆ กับภาษาพูดที่มีภาษาพูดประจำถิ่น ประจำชุมชน ประจำภาค นอกจากนี้ก็มีการออกค่ายลงชุมชน ไปเจอคนหูหนวกในชุมชน เจอภาษาใหม่ๆ ตอนนั้นไปที่โรงเรียนภัทรญาณวิทยา นครปฐม สนุกมากค่ะ ภาษามือของเด็กๆ เร็วมากจนดูไม่ทัน แล้วเป็นภาษามือโรงเรียน ไม่เหมือนกับภาษามือมหาวิทยาลัย ได้ภาษามือใหม่ๆ เอามาถกกับอาจารย์ว่าคำนี้เราใช้แบบนี้ แล้วคำนี้เขาใช้แบบนี้ และคนหูหนวกเวลาที่เขาเจอคนที่คุยกับเขารู้เรื่อง เขาดีใจนะ เหมือนเราไม่ได้คุยกับใครแล้วไปเจอคนที่คุยภาษาเดียวกันสื่อสารกันได้ มันจะมีความสุข เขาก็จะเล่าให้ฟังไม่หยุดเลยค่ะ
ตลาดยังขาดแคลนล่ามภาษามือ
เรียนคณะนี้มีงานแน่นอนเพราะว่ามีความต้องการมากกว่าจำนวนคนที่เรียนจบค่ะ ในประเทศไทยมีมหิดลที่เดียวที่สอน เพราะที่อื่นยังไม่จัดเป็นหลักสูตร เมื่อก่อนล่ามภาษามือจะมาจากคนในครอบครัวหรือคนที่รู้จักกับคนหูหนวก แต่ตอนนี้ล่ามภาษามือคือคนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัย แต่ล่ามที่ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยแต่เก่งภาษามือก็ยังคงมีอยู่แต่น้อย วิทยาลัยราชสุดาเลยพยายามผลิตล่ามภาษามือออกสู่ตลาดอีก แต่ก็ไม่พอต่อความต้องการ
อยากเป็นล่ามภาษามือไทย
คณะของเราเปิดโอกาสให้กับทุกคนที่อยากจะเข้ามาเรียน แค่มีความตั้งใจ มีความพยายามและสนใจที่อยากเรียนในด้านนี้จริงๆ แพทเองทักษะก็ไม่ได้เก่งอะไรเลย แต่ว่าเราต้องตั้งใจและอดทน หลายครั้งที่เราท้อ เราเรียนแต่ภาษามือ เรียนแต่วิชาที่คณะอื่นเขาไม่เรียนกัน ปรึกษาใครก็ไม่ได้ แล้วก็ไม่มีหนังสือให้อ่านด้วย เราก็ต้องพยายามอดทน ขอให้เราสนุกกับมัน ถ้าสนใจด้านภาษาที่แปลกใหม่ก็มาเรียนได้ค่ะ
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาล่ามภาษามือไทย วิทยาลัยราชสุดา เป็นการเรียนรู้การเป็นล่ามภาษามือเพื่อให้บริการอย่างเต็มใจ เมื่อสำเร็จการศึกษานักศึกษาสามารถประกอบอาชีพล่ามภาษามือของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น องค์กรด้านคนพิการ กระทรวงแรงงาน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) องค์กรระดับนานาชาติ เช่น องค์กรสังกัดองค์การสหประชาชาติ (UN) และพัฒนาเอกชน (NGO) หรือทำงานเป็นล่ามอิสระ การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อเป็นระบบกลางใช้ผลคะแนน O-NET และ GAT/PAT |