Alumni : มิว นิษฐา ออกแบบแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-10-10 13:14:36
เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
แฟชั่นแบบเดิมยังไม่ทันจางหาย ดีไซเนอร์ก็ขยันคิดเทรนด์ใหม่ๆ มาให้วิ่งตามอีกแล้ว ฟังดูเหมือนจะง่ายแค่ขีดๆ วาดๆ กำหนดเทรนด์ แต่ใครจะรู้ว่า 4 ปีในหลักสูตรออกแบบแฟชั่น มีศาสตร์หลายแขนงที่ต้องเรียนรู้ มิว-นิษฐา จิรยั่งยืน ที่แฟนๆ ชื่นชอบในบทบาท “หญิงแต้ว” หรือหม่อมเจ้าหญิงวรรณรสา ในละคร “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอน คุณชายปวรรุจ” ว่าที่บัณฑิตเอกออกแบบแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยืนยันว่าดีไซเนอร์ไม่ได้ง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป
เรียนเพราะชอบแฟชั่น
มิวชอบแฟชั่นชอบศิลปะตั้งแต่เด็กแล้ว ได้ไปดูแฟชั่นโชว์ ดูหลายๆ โชว์ของหลายๆ ดีไซเนอร์ ก็เลยรู้สึกว่าแต่ละดีไซเนอร์เขามีความเป็นตัวตน มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละแบรนด์ค่ะ มันน่าสนใจ และจริงๆ เสื้อผ้าเหมือนเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ดีไซเนอร์ออกแบบถ่ายทอดบนเสื้อผ้าแทนที่จะเป็นบนภาพวาด
พอได้เข้ามาเรียนมิวว่ายากกว่าที่เราคิดไว้เยอะเลย ก่อนเข้าเราเห็นเบื้องหน้าที่สำเร็จแล้ว สวยงามแล้ว แต่พอเราได้มาเรียนเบื้องหลัง เริ่มตั้งแต่หาแรงบันดาลใจว่าคอลเลกชั่นนี้อยากทำเกี่ยวกับอะไร ไปหาว่าเทรนด์อะไรกำลังมา และต้องติดตามดูแบรนด์ระดับไฮเอนด์เพื่อให้รู้ว่าอะไรกำลังมา เขากำลังคิดอะไรอยู่ หรือมีแรงบันดาลใจเรื่องอะไรค่ะ
หลักสูตรแฟชั่นดีไซน์
บรรยากาศในการเรียนปีหนึ่ง จะเรียนรวมๆ เรียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เรียนลากเส้น เรียนวาดรูปเพอร์สเปกทีฟ(การเขียนภาพให้ออกมาเหมือนการมองเห็นจริง) และมีเรียนสีน้ำ วาดดรออิ้งค่ะ ปีสองจะหนักสุดเพราะว่าเริ่มเรียนแฟชั่น คือต้องเรียนแพทเทิร์น เรียนการเดรพปิ้งขึ้นหุ่น (drapping) เป็นเทคนิคหนึ่งในการสร้างโครงสร้างใหม่ของเสื้อผ้า เรียนเรื่องสี ชนิดของผ้า ต้องลองเอาผ้าแต่ละชนิดมาเผา เช่น ผ้าที่เป็นโพลี ผ้าฝ้าย เผาแล้วดูว่าขี้เถ้าแตกต่างกันอย่างไร กลิ่นและรอยไหม้เป็นอย่างไร เรียนทำลายผ้าโดยต้องเรียนวางออบเจ็กต์บนผ้า จัดองค์ประกอบอย่างไรให้ผ้าดูสวยและสีดูกลมกลืนค่ะ
ปีสามเทอมสอง เริ่มให้ทำคอลเลกชั่น คือให้ออกแบบชุด 6 ชุด เราอยากทำเรื่องอะไรก็ค้นคว้าแล้วออกแบบมาส่งอาจารย์ ต้องไปพาหุรัดหาผ้าหาวัสดุต่างๆ ถ้าจะมีลายปริ้นท์ก็ต้องออกแบบลายปริ้นท์เอง จนสร้างแพทเทิร์น ทำจนเสร็จสมบูรณ์เป็น 6 ชุดจริงๆ ปีสี่ ก็ทำธีสิสโดยมีโจทย์ว่าให้นำภูมิปัญญาไทยมาพัฒนา ซึ่งแต่ละคนไปหามาว่าอยากเล่าเรื่องภูมิปัญญาตัวไหน ของมิวเองพัฒนาภูมิปัญญาผ้าขาวม้าของราชบุรี เอกลักษณ์ของเขาคือการทอผ้าขาวม้าแบบสี่ตะกรอ คือจะมีความหนาและมีความละเอียดกว่าผ้าขาวม้าทั่วไป เราไปดูว่าเขามีปัญหาอะไรเกี่ยวกับผ้า เช่น วัยรุ่นก็จะไม่เอาเลย ขายได้เฉพาะกับคนที่อายุเยอะ เพราะว่าลายกับสีไม่ทันสมัย เราก็เลยลองมาปรับสีและลายใหม่ให้ดูทันสมัย ดูวัยรุ่นขึ้นค่ะ
แฟชั่นนิพนธ์ แฟเชอริเทจ
นิสิตทุกคนต้องนำเสนอธีสิสของตัวเองเป็นแฟชั่นนิพนธ์คอลเลกชั่น “Out of Africa” เราทำออกมาเป็นชุดจริงๆ 10 ชุดแต่ไม่ได้ขาย แต่ละคนก็จะเอาผลงานมาจัดแสดง มีแฟชั่นโชว์เอานางแบบมาเดินเป็นจริงเป็นจังมากค่ะ ธีสิสของมิวกว่าจะผ่านขั้นดีไซน์ก็ยากแล้ว แค่เลือกภูมิปัญญาเอาไปเสนออาจารย์ใช้เวลาสามสี่รอบ เราต้องหาเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมต้องเป็นอันนี้ ทุกขั้นตอนลำบากและยากมาก ส่วนการตัดเย็บก็ทำเองส่วนหนึ่งแล้วสามารถไปจ้างช่างได้ แต่เราต้องเดรพปิ้งไปให้ก่อนแล้วค่อยให้ช่างทำให้ค่ะ
ประกวดดาวเทียม
มีกิจกรรมช่วงน้องเฟรชชี่ปี 1 เข้ามาจะมีประกวดดาว-เดือน และมีดาวเทียมด้วย ดาวเทียมคือเป็นเพศที่สาม ประกวดกันในแต่ละคณะก่อน แล้วคนไหนชนะก็มาแข่งกันทั้งมหาลัยค่ะ
กิจกรรมประจำเอกมิวก็จะเป็นช่วงทีสิสเลยค่ะต้องมีทุกปีอยู่แล้ว อย่างมิวคือรุ่นน้องพอรุ่นพี่ต้องจัดโชว์ รุ่นน้องก็คือต้องไปช่วยค่ะ ตั้งแต่เลือกนางแบบเลย เราต้องไปหาบริษัทที่เขาหานางแบบ เรียกนางแบบมาแคสติ้งเองเลย มาช่วยกันดูทั้งรุ่นและอาจารย์ให้นางแบบลองเดินดูว่าเออ คนนี้เดินสวยไหม คือว่าต้องทุกขั้นตอนเลย แล้วก็สมมติว่าจัดเวทีจะมีออปเจคอะไรบ้าง จัดไฟอย่างไร แต่งหน้าทำผม ทุกคนก็ต้องมาช่วยกันก่อนที่จะได้จัดค่ะ มันก็ยากเหมือนกันค่ะเพราะว่ามีงบประมาณด้วยต้องไปขอสปอนเซอร์ไม่งั้นจะต้องออกเองเยอะ
ส่วนของมิวจะเป็นพีอาร์เพราะว่าไปติดต่อหนังสือ หนังสือพิมพ์ ให้มาถ่ายในงาน หรือว่าเชิญแขกมาในงาน หรือว่าเอาบัตรเชิญไปให้พวกหนังสือต่างๆ ค่ะ
ประทับใจช่วงเวลานี้เป็นพิเศษ
จริงๆ ประทับใจช่วงทีสิสนะคะ เพราะเป็นช่วงที่งานแต่ละคนมันก็หนักแล้ว แต่ว่าทุกคนต้องมาช่วยกันเพื่อทำโชว์ เพื่อทำเวทีซึ่งเหมือนแบบว่ามันก็เป็นงานส่วนตัวและส่วนรวมที่ทุกคนก็เต็มใจที่จะมาช่วยงานส่วนรวมค่ะ อย่างบางวันที่ไม่มีเรียนก็คือต่างคนต่างอยู่บ้านทำงานแต่พอหัวหน้าในรุ่นนัด ว่าเออวันนี้นัดมาคุยเรื่องเวทีทุกคนก็คือมาพร้อมใจมามาคุยกัน มาช่วยกันคุยกันหาข้อมูลค่ะ
คุณสมบัติดีไซเนอร์
ต้องมีความเป็นตัวเองค่ะ สำหรับแฟชั่น เอกลักษณ์คือดูแล้วรู้ว่าเป็นของแบรนด์อะไร ใครออกแบบ ถ้าตามแฟชั่นมากเกินไปก็จะดูไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องเอาเทรนด์มาผสมกับความเป็นตัวเรา หรือบางแบรนด์มีความเป็นเอกลักษณ์สูงยิ่งไม่สนใจเทรนด์เลย
สำหรับว่าที่ดีไซเนอร์
น้องๆ ที่สนใจแฟชั่นดีไซน์อยากให้ลองดูรันเวย์ที่เป็นของดีไซเนอร์ที่ทำออกมาแล้ว เพื่อจะดูว่าเราชอบจริงๆ หรือเปล่า และต้องไปเรียนดรออิ้งเพิ่ม ตอนแรกมิวเรียนก็จะเบื่อนิดหน่อย ต้องนั่งลากเส้น นั่งวงกลม แต่มันเป็นพื้นฐานของการดีไซน์และการสเก็ตซ์วาดตอนที่เรามาเรียนออกแบบแล้ว และอาจจะต้องเรียนสีน้ำ การใช้สี การแมทช์สี การใช้เนื้อผ้า การเลือกผ้าให้ถูกกับลักษณะเสื้อ ลองดูคอลเลกชั่นใหม่ๆ ดูงานดีไซเนอร์เมืองนอก ดูเยอะๆ จนเทสต์เราก็จะดีตามเขา แล้วเราก็จะได้ศึกษาว่าเออมันต้องใช้ผ้าแบบนี้ถึงจะสวยแบบนี้ค่ะ เหมือนเป็นการสะสมข้อมูล
สาขาวิชาการออกแบบทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มี 4 วิชาเอก คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบแฟชั่น การออกแบบการสื่อสาร และศิลปะเครื่องประดับ มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่ก้าวหน้าทันสมัย สอดคล้องกับพัฒนาการสังคมและระบบธุรกิจในปัจจุบัน บัณฑิตสามารถเลือกประกอบอาชีพงานออกแบบและผลิตในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และการประกอบอาชีพอิสระตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจของตนเอง การคัดเลือกเข้าศึกษาผ่านระบบรับตรง โดยมีการสอบคัดเลือก 5 วิชา คือ สอบทฤษฎีวิชาเอก สอบปฏิบัติวิชาเอกสอบวิชาภาษาอังกฤษ สอบวิชาความถนัดทางการเรียน หรือ SAT (Scholastic Aptitude Test) และสอบสัมภาษณ์วิชาการ |