Alumni : แกะกล่องคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-08-22 14:35:12
เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
ในโลกทุนนิยม การเกษตรเหมือนเป็นเรื่องล้าสมัย แต่หารู้ไม่ว่าผลผลิตทางเกษตรเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ วิชาเกษตรศาสตร์จึงมีการปรับปรุงและพัฒนาโดยเน้นหนักด้านการจัดการเกษตรมากขึ้น ทำให้การเกษตรเป็นเรื่องทันสมัย สร้างนักธุรกิจการเกษตรรุ่นใหม่ให้ทันต่อเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับที่นี่ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเรียนภาคปฏิบัติ มาฟังอาจารย์และศิษย์ อ.อุ๊-ดร.มลฤดี หมุนขำ และ ตั้ม-ชัชวีร์ นามวัฒน์ แนะนำให้รู้จักกับคณะนี้มากยิ่งขึ้น
เพราะอะไรถึงสนใจเรียนด้านการเกษตร
ตั้ม: ผมรู้จักคณะนี้จากคุณแม่ครับ คุณแม่ทำงานอยู่ที่กระทรวงเกษตรแล้วคุณแม่มีโอกาสเจอคนที่อยู่ในซีพี เขามาบรรยายเกี่ยวกับคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรให้ฟัง พอคุณแม่มาบอกผมก็สนใจเลยมาสมัครเรียน ผมไม่เคยสัมผัสกับเกษตรกรรมมาก่อน การเกษตรเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว เป็นรายได้หลักของประเทศ แล้วก็แน่นอนอาหารคือสิ่งที่เราต้องกินทุกวัน ต่อไปมันอาจจะไม่พอ ต้องจัดการสิ่งที่เรียกว่าทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่เพียงพอ แต่ทำอย่างไรให้เพียงพอครับ เลยเป็นวิชาที่ท้าทายและน่าสนใจ
นวัตกรรมการจัดการเกษตรคืออะไร
อ.อุ๊: คณะเราเน้นการสอนในศาสตร์การเกษตร แต่เพิ่มในส่วนของนวัตกรรมซึ่งหมายถึงเทคโนโลยี รวมถึงการจัดการเศรษฐศาสตร์ การเงิน นักศึกษาที่จบจากคณะนี้จะเป็นนักจัดการเกษตร ทำหน้าที่ดูแลการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มผลกำไร ลดต้นทุน ซึ่งจะต่างกับนักการเกษตรทั่วไป เราจะมีความรู้ในเรื่องการเกษตรบวกกับการจัดการเศรษฐศาสตร์การเงิน ซึ่งความรู้ที่นักศึกษาได้ไปจะต้องไปบูรณาการในส่วนของระดับผู้จัดการ ผู้จัดการฟาร์ม หรือเข้าไปในองค์กรเพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เรียนรู้ทฤษฎีควบคู่ฝึกปฏิบัติงานจริง
อ.อุ๊: ปีหนึ่งมีเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป เช่น ภาษาไทย สังคม และเนื่องจากว่าคณะนี้จบออกไป นักศึกษาจะได้วิทยาศาสตรบัณฑิต เพราะฉะนั้นจะต้องเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ในปีแรกนักเรียนจะเรียนแค่เคมีกับชีวะ ปีสองเรียนวิชาทั่วไปและฟิสิกส์ ปีสาม-ปีสี่เรียนวิชาหลักๆ ด้านการเกษตร เรียนรู้เรื่องพืช เรื่องสัตว์ เรื่องการปราบศัตรูพืช ปีสี่เน้นการจัดการ
ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ การเรียนการสอนจะเป็นแบบ work-based learning เพราะฉะนั้นนักศึกษาจะมีการฝึกงานตั้งแต่ปีหนึ่ง ในหนึ่งปีจะแบ่งเป็นสี่เทอมย่อย สามเทอมแรกมีการเรียนการสอนอยู่ในสถาบัน และเทอมสุดท้ายต้องไปฝึกงานที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เพราะร้านเป็นองค์กรย่อยๆ ที่เราสามารถเรียนรู้ระบบการจัดการได้อย่างครบวงจร ถึงแม้เราเป็นผู้ผลิตผลผลิตทางการเกษตร ถ้าเราผลิตผักมาอย่างหนึ่งแล้วไม่สามารถดูแลการขนส่งที่ดี การเก็บสินค้าที่ดี ลูกค้าก็ไม่เลือกซื้อสินค้า อีกอย่างจะได้รู้ความต้องการของลูกค้าด้วยว่าปัจจุบันผลไม้ประเภทไหนที่คนจะซื้อเยอะ หรือข้าวหอมมะลิหรือข้าวพันธุ์ไหนที่คนชอบกิน
ในปีสองนักศึกษาจะได้ไปฝึกงานด้านการส่งเสริมการเกษตร เรียนรู้เรื่องการบริการการเกษตร ปีสามจะได้ฝึกงานในส่วนที่ลึกขึ้น เนื่องจากเราเน้นให้นักศึกษาศึกษาพืชเศรษฐกิจหลัก 5 อย่างคือ ปาล์ม ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และข้าว พันธมิตรที่เราสามารถไปฝึกงานได้คือโรงงานน้ำตาลมิตรผลและโรงสีข้าว และทางคณะเองก็มีศูนย์ฝึกงานที่กำแพงเพชร ให้เรียนรู้แปลงข้าว โรงสีข้าว แปลงปลูกปาล์ม ปลูกยางพารา มีโรงงานแปรรูปยางพารา โรงงานแปรรูปน้ำมันปาล์ม ส่วนปีสี่นักศึกษาจะเรียนแค่เทอมเดียว อีกเก้าเดือนเขาจะต้องลงไปปฏิบัติงานจริง ไปอยู่ที่ฟาร์มเลย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาสนใจด้านไหนอย่างไร
โอกาสของนักจัดการเกษตร
อ.อุ๊: การทำงานของนักจัดการเกษตรค่อนข้างจะกว้าง เขาสามารถเป็นผู้จัดการดูแลได้หมดทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นผู้จัดการฟาร์มดูแลส่วนผลิตได้ว่าจะมีการปลูกอย่างไรให้ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ ลดของเสีย หรือไปทำงานควบคุมคุณภาพการแปรรูป เพราะเรียนหลักการตลาดมาจะทราบว่าช่วงนี้ผลผลิตทางการเกษตรอันไหนที่น่าจะทำกำไรได้ หรือทำงานด้านการตลาดค้าขายในประเทศต่างประเทศ ทำงานกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชได้
รุ่นพี่แนะนำรุ่นน้อง
ตั้ม: ผมเชื่อว่าน้องๆ ยังขาดความมั่นใจอยู่ว่าจบมาจะทำได้จริงหรอ ตอนนี้ทุกคนยังไม่รู้ว่าคณะเราจะเป็นอย่างไร จบออกมาเป็นอย่างไร แต่อยากให้ทุกคนเชื่อมั่น ยิ่งถ้าน้องๆ สนใจและมองหาอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตร รักที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ๆ รักที่จะอยู่กับธรรมชาติ ก็อยากให้มาเรียนด้วยกันครับ
อ.อุ๊: สำหรับการเตรียมตัวควรมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ อาจจะศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการทำธุรกิจเกษตรว่าในกระบวนการนี้มีอะไรบ้าง “ต้นน้ำ” ก็คือในฟาร์ม การปลูกพืช การเก็บเกี่ยว จากนั้นเก็บเกี่ยวเสร็จส่งไปยัง “กลางน้ำ” ก็คือโรงงานแปรรูป มีกระบวนการรับวัตถุดิบมาแปรรูป แพ็ค หลังจากนั้นก็ไปสู่ “ปลายน้ำ” คือการขายในตลาดซึ่งมีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ถ้ามีองค์ความรู้ตรงนี้ รู้กระแสตลาดโลก และสนใจก็มาสมัครได้เลย
คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็นหลักสูตรมุ่งสร้างบัณฑิตนักจัดการเกษตร เน้นการศึกษาเกี่ยวกับพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม เป็นวิชาพื้นฐานทางการเกษตร เรียนรู้นวัตกรรมทันสมัยที่มีการใช้เครื่องมือและห้องปฏิบัติการ เรียนรู้การรวบรวม การจัดซื้อ การจัดการวัตถุดิบ บัญชี การเงินและการวางแผนธุรกิจ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่ดี การคัดเลือกเข้าศึกษาผ่านระบบรับตรง มีทุนการศึกษา 2 ประเภท คือ ทุนเจียระไนเพชร ผู้สมัครต้องมีเกรดเฉลี่ย 2.75 ขึ้นไป รับสิทธิชำระค่าเล่าเรียนต่อเทอม 2500 บาท และทุนเพชร ผู้สมัครต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.00 ไม่เสียใช้จ่ายในการเรียน |