www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต : หัวแถวกรีนดีไซน์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-05-15 16:57:12


“ผมมีความเชื่อมากกว่า วิชาชีพออกแบบเป็นวิชาชีพที่พลิกแผ่นดินมาก แต่เราถ้าไม่คิดแบบนั้นจะทำไปแต่สิ่งสวยงามสิ่งตกแต่ง ถ้าเราไม่ระวังจะเป็นการทำลาย”

ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวแถวกรีนดีไซน์

      ในยุคที่ผู้คนแสวงหาความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกๆด้าน ชื่อของผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต มักปรากฏเป็นลำดับต้นๆ ในวงสนทนาเรื่องการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ในฐานะสถาปนิกผู้สร้างผลงานการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นหัวแถวของ Green designer ที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้ขึ้นไปสังคมไทย

     ดร.สิงห์ค้นพบตัวเองมาตั้งแต่วัยเด็กว่าอยากเรียนด้านสถาปัตย์ เขาเรียนจบปริญญา 3 สาขา ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ด้านการออกแบบภายใน และด้านการบริหารการจัดการการก่อสร้าง จากคณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ University of Washington ก่อนจะคว้าปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก University of Washington / Rheinish-Westfalishe Technische Hochshule, Aachen

     และปริญญาเอก ด้านสถาปัตยกรรม เทคโนโลยีการออกแบบ จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT)

     ในวัยเด็ก ดร.สิงห์ ไม่สนุกกับการเรียนหนังสือในเมืองไทยที่เต็มไปด้วยกรอบและคำสั่งสักเท่าไหร่ เขารู้สึกว่าตัวเองเรียนไม่เก่ง สู้คนอื่นไม่ได้ อายุ 15 จึงขอพ่อแม่ไปเรียนต่อไฮสคูลในต่างประเทศ อยู่แถบนอกเมือง ซีแอตเทิล วอชิงตัน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติป่าและหุบเขา

     “ตอนนั้นลืมไปว่าพูดภาษาอังกฤษไม่เป็นเลยไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ คุยกับใครก็ไม่รู้เรื่อง ก็เลยเลือกจะลงวิชาในสิ่งที่เราทำได้ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ อะไรก็แล้วแต่ที่เรียนแล้วยังไม่ต้องใช้ภาษา เพื่อเริ่มให้เราเรียนได้แล้วไม่ช้าเกินไป ขณะเดียวกันก็เรียนภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย ไปเรียนทีแรกรู้สึกได้เลยว่าทำไมเราเข้าใจ ทำไมเราเรียนรู้เรื่อง สอบมาเราก็ทำได้ ความมั่นใจเราก็เพิ่มขึ้น ตอนนั้นผมเป็นติวเตอร์ให้กับนักเรียนฝรั่งเลยล่ะครับ ผมรู้สึกว่าข้อสอบเมืองไทยออกมาไม่เห็นตรงกับสิ่งที่เขาสอนเลย เอามาจากไหนไม่รู้ แต่ของต่างประเทศเนี่ยข้อสอบคือสิ่งที่เขาสอนแล้วเอามาออก ถ้าเราตั้งใจฟังเราก็ทำได้ แต่ของเมืองไทยเป็นเทรนด์เลยว่าต้องเรียนพิเศษ แต่ที่โน่นพอหมดบ่ายสองโมงโรงเรียนเลิกจะเล่นอะไรก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ เป็นชีวิตที่มันสมดุล ไม่ใช่กลับบ้านก็เรียน เสาร์อาทิตย์ก็มาเรียนพิเศษ ตอนนั้นไม่เคยคิดว่าจะกลับเมืองไทยด้วยซ้ำ คนน่ารักมาก เมืองสวยมาก แรกๆอยู่กับโฮสต์แฟมิลี่ ทุกคนน่ารัก รถก็ไม่ติด มองภาพรวมแล้วผมว่ามันเหมาะกับที่จะเป็นสถานที่ศึกษาต่อมาก”

 

    

ดร.สิงห์ ให้เหตุผลที่เลือกใช้ชีวิตในอเมริกาเรียนจบปริญญาตรี 3 สาขา ด้านสถาปัตยกรรม บริหารการก่อสร้าง และตกแต่งภายในว่าส่วนหนึ่งเพราะใจยังไม่อยากกลับเมืองไทย และคิดว่าถ้าจะออกไปทำงานในโลกธุรกิจ ทางสายอาชีพต้องเจอกับการแข่งขันอีกมาก ถ้ามีความรู้ตั้งแต่ตกแต่งภายใน การบริหา และสถาปัตยกรรมภายนอกด้วย เราน่าจะเข้าใจภาพรวมได้มากกว่าคนอื่น มีโอกาสที่จะได้งานมากกว่า

     “เวลาผมไปสมัครงาน เขาสามารถใช้งานผมได้หลายอย่าง เพิ่มโอกาสให้ได้งานมากขึ้น จริงๆแล้วผมไม่ได้วางแผนเลย ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าตอนแรกจะเข้าเรียนสถาปัตย์ได้ ปีที่สองลองสมัครเข้าสถาปัตย์ ขณะที่เราไม่ต้องย้ายคณะไปเรียนบริหารการก่อสร้าง สามารถลงเรียนได้เก็บเครดิตได้ ไหนๆเรียน 5 ปีอยู่แล้วเราก็เรียบควบคู่กันไปเลย”

“ผมพบเพื่อนคนหนึ่งเขาบอกว่าอย่าคิดมาก อย่าคิดว่าตัวเองด้อยค่า ทุกคนในเอ็มไอทีรู้สึกเหมือนกัน ไปคุยกับคนอื่นเขาก็รู้สึกเหมือนผม”

 

     หลังจากเรียนปริญญาโท ดร.สิงห์ใช้ชีวิตทำงานอยู่ 5 ปี ทีแรกเขาไม่ได้ตั้งใจอยากเรียนต่อปริญญาเอก

     “ตอนนั้นทำงานอยู่ 5 ปี หลังจากกลับจากเยอรมันเสร็จ ผมอยากอยู่ที่เมืองนี้ต่อก็เอาความรู้ทั้งหมดกลับมาสมัครงาน ได้งานทำ ตอนเริ่มทำงานสนุกมาก แต่พอเข้าปีที่ 4 เริ่มรู้สึกว่ามันชักเริ่มซ้ำๆแล้ว ตอนนั้นผมอายุแค่ 20 กว่าเหลืออีก 40 ปี ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปคงไม่สนุก อยากจะเปลี่ยนออฟฟิศก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะเราเป็นคนต่างชาติ ต้องมีสปอนเซอร์ของออฟฟิศอื่นถึงจะเอาเราไปได้ ตอนนั้นเศรษฐกิจก็แย่มาก คนตกงานกันครึ่งเมือง เรื่องจะย้ายไปหางานใหม่ก็ยาก เราเป็นเด็กอายุ 20 กว่า เวลาเสนองานอะไรไปก็ไม่ได้เอาไปใช้ทั้งหมด ก็พยายามหาออฟฟิศเพื่อไปสมัครงาน ผมสนใจเรื่องกรีนดีไซน์มีใครสนใจบ้างไหม ในสุดก็เลยสมัครเรียนปริญญาเอกที่เอ็มไอที เพราะยังไม่อยากกลับเมืองไทย อยากจะเรียนรู้ต่อ ผมเข้าไปเรียนกระเตาะกระแตะ ด้อยกว่าคนอื่น ผมไม่รู้ว่าผมอยู่ถูกที่หรือเปล่า มันเป็นเรื่องเครียดสำหรับผมมาก ตื่นเช้ามาผมไม่สามารถทำได้ ทุกวันเป็นปีๆ จนผมต้องทำเรื่องลาออกผมพบเพื่อนคนหนึ่งเขาบอกว่าอย่าคิดมาก อย่าคิดว่าตัวเองด้อยค่า ทุกคนในเอ็มไอทีรู้สึกเหมือนกัน ไปคุยกับคนอื่นเขาก็รู้สึกเหมือนผม ผมได้เริ่มคุยกับอาจารย์หลายๆคนแล้วว่าผมอยากทำวิจัยเรื่องกระบวนการสร้างนวัตกรรมให้สามารถใช้กับอาคารได้จริงๆ ทำไมงานวิจัยดีๆ มักอยู่บนหิ้ง แต่ไม่เคยได้ใช้จริงเลย

     จนกระทั่งตอนหลังอาจารย์ที่เป็นคณบดีเก่าของเอ็มไอทีดึงผมไปอยู่กลุ่มรีเสิร์ชของเขา จากที่ผมลาออกแล้วแต่เขาดึงผมไปอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นในเอ็มไอที พอผมได้อยู่ถูกที่ถูกทางผมก็ได้รับทุนจากสมาคมสถาปนิกของสหรัฐอเมริกาและอีกหลายที่มากเพื่อไปทำงานวิจัยในยุโรป ในสหรัฐ เป็นช่วงชีวิตที่เบ่งบานจริงๆ อยู่ถูกที่แต่เหนื่อยมาก

     ยุคนั้นที่ผมเรียนเพิ่งเป็นยุคอินเตอร์เน็ตเริ่มบูม การออกแบบในคอมพิวเตอร์คือเส้นทางของอนาคต ผมมองว่าจะทำยังไงกับกลุ่มคอมพิวเตอร์ให้ซัพพอร์ตการออกแบบ เพื่อได้อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผมต้องมานั่งเริ่มใหม่ เหมือนเริ่มปริญญาเอกใหม่อีกรอบ สรุปแล้วเริ่มปริญญาเอกใหม่สามรอบ มันเหนื่อยมาก ”

     หลังจากเรียนจบปริญญาเอก ทำงานช่วยสอนหนังสือที่เอ็มไอทีได้ไม่นาน ดร.สิงห์ตัดสินใจกลับมาเมืองไทยเป็ยอาจารย์สอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

     “ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะมาอยู่ที่เมืองไทยอย่างถาวรนัก เพราะคนที่พบผมอยู่ที่โน่นมีแต่คนบอกว่าหน้าอย่างผมอยู่เมืองไทยไม่ได้หรอก ไม่มีทาง เครียดตาย ปรับตัวไม่ได้ เมืองไทยคนไม่น่ารัก คนขี้อิจฉาตาร้อน คนไม่สนับสนุน พูดอย่างใจอย่าง อากาศร้อน รถติด มีแต่สิ่งเลวร้าย บอกว่าถ้ากลับเมืองไทยแล้วเหมือนจะลงนรก แต่ผมคิดว่าตัวผมไปเก็บข้อมูลมาหลายที่ ลำบากก็แล้ว ถ้าเก่งจริงก็ต้องอยู่ที่ไหนก็ได้สิ ก็เลยอยากจะลอง ตอนนั้นตั้งเป้าว่าจะกลับมาอยู่สองปี ผมตั้งใจว่าเวลากลับมาเมืองไทยผมจะไม่พยายามปรับตัว เพราะถ้าปรับตัวเมื่อไหร่ผมต้องเครียดกับการปรับตัวหลายอย่าง เลยคิดว่าคิดดีทำดี หาจุดยืนที่ชัดเจนไปเรื่อยก็ไม่ได้ปรับอะไร เป็นตัวเราเองเนี่ยแหละ

     หลังกลับมาใช้ชีวิตเมืองไทย ด้วยอาชีพสถาปนิก ดร.สิงห์ พบว่า ผลงานของเขาเป็นต้นสายของขยะจำนวนมหาศาลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

     เขาจึงคิดว่าวิธีพลิกเอาเศษวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้าง มาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่มีรูปลักษณ์โดดเด่นสะดุดตา และร่วมกับพาร์ทเนอร์ วีรนุช ตันชูเกียรติ ก่อตั้งบริษัท Osisu ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ทำจากเศษวัสดุเหลือทิ้งหลากหลายประเภท หลังจากคลุกคลีกับวัสดุเหลือใช้มหาศาล ดร.สิงห์ เริ่มตระหนักดีว่า ตัวเขาคนเดียวคงจัดการทั้งหมดไม่ไหว เขาจึงเปลี่ยนวิธีคิดกลับไปตั้งต้นเผยแพร่แนวคิดและจุดประกายวิธีการสร้าง Green Design จากเศษวัสดุเหลือทิ้งแก่นักธุรกิจ เจ้าของโรงงานและบุคคลที่สนใจ ควบคู่กับการทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมอาคารและการออกแบบ เพื่อสิ่งแวดล้อมแก่ลูกศิษย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

     “สิ่งที่ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าผมเป็นนักออกแบบอีโค่ดีไซน์ ผมไม่แน่ใจว่ามันเริ่มได้ยังไง ผมทราบว่าตอนที่ผมกลับมารักในงานออกแบบมากอยากออกแบบอะไรที่ดีต่อคนอื่น ช่วง 2-3 ปีแรก ผมก็ไม่ได้ออกแบบอาคารอะไรใหญ่โต สอนหนังสือ ทำวิจัยไปเรื่อย แล้วก็มารู้สึกว่ามีชิ้นส่วนอะไรที่มันขาดหายไป ผมไม่ได้ใช้สมองที่เกี่ยวกับการออกแบบสักเท่าไหร่ เลยเริ่มไปคุมงานก่อสร้างเล็กๆ ร้านกาแฟเล็กๆ มีเวลาว่างสักหน่อยก็ออกแบบเฟอร์นิเจอร์อะไรใส่ในบ้าน เก็บโน่นเก็บนี่มาออกแบบใช้งาน จนเกิดเป็นที่ต้องตาต้องใจให้ใครหลายๆคน เช่น พาร์ทเนอร์ผม คุณจ๋า วีรนุช ตันชูเกียรติ บอกว่าออกแบบจากเศษวัสดุดูเก๋ดี เลยเริ่มทำธุรกิจเล็กๆด้วยกัน จนปัจจุบันได้มีโอกาสดูแลออกแบบสถาปัตยกรรมมากขึ้น ออกแบบวิจัยช่วยเหลือบริการโรงงานหลายแห่งให้นำเศษวัสดุกลับมาใช้ ควบคู่กับทำแบรนด์ Osisu ทำผลิตภัณฑ์ ทำวัสดุใหม่ๆ ขึ้นมา

     ผมคิดว่ามันทำให้ทุกคนมองภาพลักษณ์โดยรวมมองว่าผมใส่ใจเรื่องนี้โดยเฉพาะ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำมันอยู่ในยุคที่คนกำลังโหยหาความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกๆด้าน”

     สิ่งหนึ่งที่เป็นความภูมิใจของดร.สิงห์ในช่วง 5 ปีที่กลับมาทำงานที่เมืองไทย คือ การทำให้ผู้คนในสังคมเห็นว่านักออกแบบสามารถเป็นผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้ ไม่ใช่เป็นพวกฟุ่มเฟือย หรูหรา แฟนซี ขับรถพอร์ช ช็อปปิ้ง กินอาหารหรู ที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ และองค์กรต่างๆ ตื่นตัวและเริ่มเอาแนวคิดอีโค่ดีไซน์มาใช้แพร่หลายมากขึ้น จนเกิดเป็นความร่วมมือโครงการต่างๆ มากมายกับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 20 บริษัทที่ทำโครงการร่วมกัน เช่น เบียร์สิงห์ สยามพิวรรธน์ สตาร์บัคส์ เนสท์เล่ ฯลฯ ขณะที่รัฐบาลเริ่มมีการออกกฎเกณฑ์ต่างๆด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากเขียว

     ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน 5 ปีนี้ทั้งนั้นเลย ผมรู้สึกว่าการทำงานมันสนุก มีอะไรให้ทำ แล้วรู้สึกว่าได้ทำเยอะจังเลย ผมตื่นขึ้นมาทุกวัน 3-4 ปีแรกผมรู้สึกว่าทำไมผมโชคดีอย่างนี้ ตื่นเต้นกับการไปออฟฟิศทำงาน”

     เป้าหมายต่อไปของดร.สิงห์ คือ อยากผลักดันให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางของการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“ผมอยากให้คนที่นึกถึงกรีนโปรดักส์ อีโค่ดีไซน์ ต้องนึกถึงประเทศไทยเป็นอันดับแรกๆ นี่คือความฝันของผมมากๆ”

อยากเป็นที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรีผลักดันเรื่องนโยบายเกี่ยวกับกรีนดีไซน์ อยากมีเครือข่ายของคนที่ทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นสังคมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว”

     ผมมีความเชื่อมากว่าวิชาชีพออกแบบเป็นวิชาชีพที่พลิกแผ่นดินมาก แต่ถ้าเราไม่คิดแบบนั้นจะไปทำแต่สิ่งสวยงาม สิ่งตกแต่ง ถ้าเราไม่ระวังจะเป็นการทำลาย เทรนด์ที่กำลังจะมาทางด้านสถาปัตย์ คือ อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาคารจะมีขนาดกระทัดรัดขึ้น จะมีการนำเสนอวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น ระบบขนส่งมวลชนจะพัฒนามากขึ้น รถยนต์จะเป็นพวกอีโค่คาร์มากขึ้นเรื่อยๆ จะมีองค์กรที่พิทักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเป็นราว และคนจะมองหาวิถีใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ไฮเทค แต่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมมากขึ้น แม้แต่ผนังดินที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ โดยใช้ของที่มีอยู่” ดร.สิงห์กล่าว

ฝากถึงน้องๆ

     ถ้าอยากเป็นอย่างดร.สิงห์ต้อง...

       “ต้องมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำ ผมรู้สึกว่าผมโชคดีมาก ผมมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำ ที่สำคัญคืออย่าเป็นคนไม่ยืดหยุ่น แต่ต้องมีจุดยืน ถ้าเรามีจุดยืนแต่ไปไม่ได้ อย่าทิ้งเป้า มีเป้าไว้ อาจจะอ้อมเหนื่อยหน่อย แต่ไปให้ถึง ผมจะมีเป้าหมายที่ไม่ใหญ่โต จะมีเป้าหมายที่ “มินิ” เสมอ และผมจะทำในสิ่งที่ผมหาที่ยืนได้โดยที่คนอื่นไม่ได้ยืน เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องแข่งอะไรกับใคร หาช่องทาง Blue Ocean ของตัวเอง”