www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > พี่แนะน้อง

ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ : ยอดนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-05-15 11:18:43

 

“หลายๆคนอาจจะเข้าใจว่าต่ายเป็นคนเรียนเก่งแล้วเกิดมาคงฉลาด แต่จริงๆ ต่ายไม่ได้คิดว่าตัวเองเรียนเก่งไปกว่าคนอื่น จริงๆแล้ว ทุกคนมีศักยภาพในตัวทุกคนอยู่แล้ว ขอแค่ทุกคนมีความตั้งใจ”

ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ ยอดนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่

    หนึ่งในแบบอย่างของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่ไม่ต้องพึ่งพาโรงเรียนกวดวิชา แต่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองจนได้รับทุนรัฐบาลไทยไปเรียนต่อระดับด็อกเตอร์ถึงเมืองนอก ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ หรือ “ดร.ต่าย” อีกหนึ่งแรงสำคัญของการขับเคลื่อนวงการวิทยาศาสตร์ไทยที่ได้รับการจับตามอง

    พื้นฐานวัยเด็กของดร.นิศราเป็นเด็กนครสวรรค์ เติบโตมาในครอบครัวของนักการศีกษา คุณพ่อสอนวิทยาศาสตร์ คุณแม่เป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ทั้งคู่จึงเห็นความสำคัญของการศึกษา ปลูกฝังลูกๆผ่านการเลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังเด็ก

                ดร.ต่ายเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมอีกด้วย อยากทำกิจกรรม พ่อแม่ของดร.ต่าย ก็สนับสนุบ แต่การเรียนนั้นห้ามเสีย  “เป็นคนที่ใช้เวลาค่อนข้างคุ้ม เวลาว่างจะรีบทำการบ้านจะได้มีเวลาว่างในการทำกิจกรรมได้ การทำกิจกรรมจะช่วยให้การสื่อสารและเข้าคนอื่นได้ดีขึ้น มีเพื่อนเยอะขึ้น

   “วิชาหนึ่งที่ชอบเรียนคือคณิตศาสตร์ เพราะว่าคุณแม่สอนเลข เรารู้สึกว่ามันใกล้กับตัวเราตลอดเวลา วิธีการที่คุณแม่สอนคือจะไปซื้อขนมให้เงินไปเท่านี้จะต้องทอนเท่าไหร่ เรารู้สึกว่ามันท้ายทายเราตอบถูกมันสนุก เรียกว่าง่ายๆ ว่าโตมาด้วยตัวเลข แม้กระทั่งตอนเด็กๆ ตอนปิดเทอมเราอยากจะได้อะไร คุณพ่อคุณแม่ก็บอกว่าเราจะต้องหาเงินเอง ก็ไปขายกิมจ๊อ ถุงละบาทสองบาท แล้วคุณลุงให้มายี่สิบซื้อสองถุงทอนเท่าไหร่ พอสนุกปุ๊บก็อยากจะทำอีก”

   พื้นฐานความชอบเรียนคณิตศาสตร์ทำให้ดร.นิศราเลือกเรียนต่อสายวิทย์ในชั้นมัธยมปลาย หลังจากนั้นสามารถสอบเทียบเอนทรานซ์เข้าคณะแพทย์ศาสตร์ รวมทั้งสอบชิงทุนรัฐบาลได้ทั้งทุนสาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และวิศวะเคมี จึงเป็นเหมือนทางสามแพร่งที่ต้องตัดสินใจ ในที่สุดจึงขอเลือกเรียนวิศวะเคมีเพราะได้เรียนต่อสายวิทยาศาสตร์ ได้ใช้ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาและคณิตศาสตร์อย่างที่ใจชอบ

   ดร.นิศรา ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง 16 ปีและได้รับทุนจากรัฐบาลแล้ว ต้องเก็บกระเป๋าหอบสัมภาระเพื่อเดินทางไปเรียนต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ยังไม่เก่งภาษาอังกฤษ จึงมีปัญหาในการปรับตัวช่วงปีแรกอย่างมาก แม้เธอจะตั้งใจเรียนในห้องและพยายามฝึกฝนภาษา แต่การเตรียมตัวสอบวัดผลต่างๆเพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอย่างหักโหม ทำให้เธอถึงกับเอ่ยว่าปีนั้นเป็นปีที่หนักที่สุดในชีวิต

   “เป็นหนึ่งปีแห่งการกดดันมาก เราต้องไปปรับตัวแล้วภาษาก็ไม่ได้แข็งแรงมากมายนะคะ จนกระทั่งสอบเข้าได้ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ใช้ชีวิตที่นั่น 4 ปี ซึ่งจากหนึ่งปีที่เราฟันฝ่าอุปสรรคมาหนักๆ ช่วยให้เราเป็นคนแกร่งมากๆ และภายในหนึ่งปีนั้นเราได้ปรับตัวจากภาษางูๆปลาๆของเรา ต้องพูดคุยกับเขาได้” ตอนนั้นต้องบอกว่าน้ำตาไหลทุกอาทิตย์ โทรกลับบ้านขอกลับแบบโอ๊ยไม่ไหวแล้ว

     แต่ทุกอย่างก็อยู่ในความรับผิดชอบในความรู้สึกของเราว่าเรารับทุนรัฐบาลไทยซึ่งเป็นภาษีประชาชน อยู่ดีๆอุปสรรคแค่นี้จะมาท้อแล้วมาถอยคงไม่ได้ ก็ลุยจนกระทั่งเข้าโคลัมเบียได้

     เพราะฉะนั้นตอนเราอยู่ที่โคลัมเบียจะบอกกับตัวเองเลยว่า 4 ปีนี้จะเรียนให้ดีที่สุดเท่าที่จะเรียนได้เอาอุปสรรคและปัญหามาเป็นแรงผลักดัน

“การเรียนวิศวกรรมเคมีคือการนำหลักการวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ ให้ใช้งานได้จริง มีคุณภาพดีขึ้นและประหยัดต้นทุน”

   “ถ้าเป็นนักเคมีจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบสูตรใหม่ๆ แต่วิศวะกรรมเคมีคือเราจะทำยังไงให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิต เช่น สมมตินักเคมีสังเคราะสารมาแล้วได้สารตัวนี้แต่ทำได้ในสเกลมิลิกรัมเล็กๆน้อยๆมาก ถ้าเราต้องการสารอันนี้ไปใช้ในชีวิตจริงเอาไปขาย เราต้องสร้างขึ้นมาในโรงงาน วิศวะเคมีก็จะไปดูแล้วว่าจะต้องสร้างโรงงานอย่างไร ทำอย่างไรให้สาร ก.บวกสาร ข.แล้วได้สาร ค. มันเกิดขึ้นในโรงงานใหญ่ๆได้ เช่น การผลิตยาปฏิชีวนะ”

     หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ดร.นิศราเดินหน้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกด้านวิศวกรรมเคมีที่มหาวิทยาลับสแตนฟอร์ด โดยเน้นการทำวิจัย ภายใน 5 ปีก็สามารถคว้าได้ทั้งสองปริญญา

     แม้ว่าการเรียนจบมาด้วยคะแนนสูงและมีความสามารถล้นเหลือจะทำให้ได้รับการติดต่อทาบทามเพื่อให้ไปร่วมงานด้วยทั้งจากองค์กรในประเทศไทยและต่างชาติ แต่ ดร.นิศรา กลับเลือกที่จะกลับมาใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมานับ 10 ปี ด้วยเงินทุนของรัฐบาลและภาษีของประชาชนเพื่อทำงานตอบแทนประเทศชาติ เดินทางกลับมาทำงานที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)

     “ศูนย์ของเราทำงานเน้นเกี่ยวกับไบโอเทคโนโลยีซึ่งจริงๆ แล้วมีความสำคัญมากกับประเทศเรา งานวิจัยของเราพยายามตอบโจทย์ประเทศซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกข้าว กุ้งกุลาดำ มันสำปะหลัง ซึ่งประเทศไทยยังประสบปัญหาโรคติดต่อ ยกตัวอย่างเช่น การศึกษากุ้งกุลาดำซึ่งสร้างรายได้การส่งออกให้ประเทศไทยหลายร้อยล้านบาทต่อปี ซึ่งประสบปัญหาในการเพาะเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตช้า ติดโรค หรือการไม่เจริญพันธุ์ในบ่อเลี้ยง ทำให้ต้องไปเก็บเกี่ยวพ่อแม่พันธุ์ในทะเลลึกเสมอซึ่งสุดท้ายก็จะหมดไป ดังนั้นเราต้องศึกษาว่าพ่อแม่พันธุ์ในทะเลลึกกับพ่อแม่พันธุ์ที่เราเลี้ยงแตกต่างกันอย่างไร มียีนอะไรที่แตกต่างกันบ้าง คือ พยายามนำเทคโนโลยีต่างๆ มาตอบโจทย์เพื่อตอบสนองคนไทยโดยเฉพาะ”

     การนำความรู้ความสามารถมาทำงานเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศนั้นจึงนับเป็นความท้าทายของการทำงานเป็นนักวิจัย

     หลายคนอาจนึกภาพของนักวิทยาศาสตร์ที่สวมแว่นหนาเตอะนั่งทำงานอยู่แต่ในห้องแล็ป แต่ดร.นิศราเล่าว่างานของนักวิจัยมีมากกว่านั้น

     “บางวันอาจจะไปทำแล็ป บางวันอาจจะต้องบินไปต่างประเทศเพื่อไปพรีเซนต์งาน วงจรชีวิตของการทำวิจัย ต้องเริ่มจากมีโครงการวิจัยเพื่อจะได้ทุนมาทำซึ่งการขอทุนทำวิจัยก็ไม่ได้ยากอย่างที่ทุกคนคิด ถ้าเรามีจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าโครงการนี้เมื่อวิจัยแล้วจะได้องค์ความรู้อะไร เมื่อได้ทุนมาแล้วทีมวิจัยก็จะทำงานร่วมกันเอาผลมารวมกันว่าตอบโจทย์อย่างไรแล้วก็ทำแล็ปวิจัย เมื่อทำได้เสร็จปุ๊ปเราต้องตีพิมพ์ไปเผยแพร่บอกทั่วโลกว่าเราสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ใหม่นะ หรือถ้าได้เป็นโปรดักส์อาจต้องลองไปติดต่อดูว่ามีใครต้องการมาซื้อไหมหรือต้องการนำไปใช้ไหม ประชาชนของเราสามารถจะนำไปใช้ได้ไหม บางครั้งเราก็อาจนำเทคโนโลยีใหม่ๆไปสอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยบ้าง นี่ก็เป็นตัวอย่างวงจรชีวิต พอหมดโปรเจคนั้นเราก็อาจจะมีโปรเจคหนึ่งซึ่งอาจจะต่อจากโปรเจคแรกก็ได้ พูดได้ว่าทุกๆวันเป็นอะไรที่ท้าทาย น่าสนุกมาก ต้องแข่งกับตัวเองแล้วก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ต้องให้แน่ใจว่าเราจะสามารถจะไปอยู่ในเวทีโลกได้”

 

     “เสน่ห์ของการเป็นนักวิทยาศาสตร์นักวิจัย คือ ทุกวันมีอะไรใหม่ๆให้เราลองทำ มีอะไรให้เราได้คิดตลอด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรจำเจหรือทำอย่างเดียวกันทุกๆวันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราได้คิดอะไรใหม่ๆตลอด แล้วเวลาที่ทำโครงการอะไรหนึ่งโครงการสำเร็จเนี่ยมันคือกำไรของชีวิตมากๆ จะบอกว่าเหนื่อยมั๊ย ทุกอาชีพล้วนมีความเหนื่อยแต่คิดว่ามันมีความสุขและสนุกอยู่ในงานมากๆ และยังได้ช่วยเหลือสังคมด้วย ซึ่งหลายงานวิจัยมีผลกระทบในวงกว้าง เช่น ยาต้านเชื้อต่างๆ ซึ่งคนทั่วโลกได้ผลลัพธ์จากการคิดค้นใหม่ๆหรืออย่างเราทำชุดตรวจเชื้อก่อโรคในอาหารขึ้นมาใครๆ ก็นำไปใช้ได้ ซึ่งเวลาที่เราวิจัยสำเร็จแล้วเป็นอะไรที่สุดยอดมากนะคะ มันจะทำให้เรามีกำลังใจในการเดินหน้าต่อไป”

     ดร.นิศรา เล่าว่าปัจจุบันศูนย์ไบโอเทคมีนักวิจัยประมาณ 500-600 คน มีนักวิจัยที่จบปริญญาเอกประมาณ 150 คน ซึ่งแทบทุกคนได้รับทุนรัฐบาลให้ไปศึกษาต่อ แต่ประเทศไทยก็ยังขาดนักวิจัยอีกจำนวนมาก ซึ่งการจะเป็นนักวิจัยที่ดีเก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีคุณธรรมมีอุดมการณ์ในการทำงานช่วยเหลือประเทศชาติด้วย

     “ถ้าเขาเลือกในสิ่งที่เขารักจริงๆ ไม่ว่าอาชีพไหนก็ตาม ถ้าเขาเลือกในสิ่งที่เขารัก เขาจะไปได้ด้วยดี”

      สำหรับคำแนะนำในการค้นหาตัวเองให้เจอ นอกจากต้องถามตัวเองให้แน่ชัดว่าชอบอะไรแล้ว ครอบครัวยังมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเลือกของลูก

     “ต้องฝากกับพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจว่าสังคมอาจจะให้ค่านิยมบางอาชีพมากกว่าอีกอาชีพหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จกับสายอาชีพที่คุณพ่อคุณแม่เลือกให้ สิ่งที่เขาจะประสบความสำเร็จที่สุดคือสิ่งที่เขารักที่สุด สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะทำให้ได้กับลูกคือพยายามเปิดโอกาสให้ลูกเลือก แต่พยายามให้ข้อมูลเขา ไม่ใช่อยู่ดีๆ เอ้าลูกเลือกเลย เด็กเองก็ไม่รู้ข้อมูล การที่ช่วยกันหาข้อมูลจึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ดีที่ลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่ให้ความสนใจในการศึกษา เขาก็อยากจะให้พ่อแม่ภูมิใจเขาก็จะตั้งใจเรียน และถ้าเขาเลือกในสิ่งที่เจารักจริงๆไม่ว่าอาชีพไหนๆก็ตาม ถ้าเขาเลือกในสิ่งที่เขารัก เขาจะไปได้ด้วยดี”
 

 

ฝากถึงน้องๆ

     เคล็ดลับ...เรียนอย่างไรให้เก่ง

 “หลายๆคนอาจจะเข้าใจว่าต่ายเป็นคนเรียนเก่งแล้วเกิดมาคงฉลาด แต่จริงๆ ต่ายไม่ได้คิดว่าตัวเองเรียนเก่งไปกว่าคนอื่น จริงๆแล้วทุกคนมีศักยภาพในตัวทุกคนอยู่แล้ว ขอแค่ทุกคนมีความตั้งใจ ต่ายเป็นคนที่ตั้งใจในห้องเรียนมาก เน้นความเข้าใจไม่ได้เน้นการท่องจำ หากไม่เข้าใจตรงไหนจะยกมือถามคุณครูเลย โดยถามด้วยความเคารพไม่ได้ถามแบบก้าวร้าว ถ้าเราไม่พยายามทำความเข้าใจแล้วเก็บไปเรื่อยๆ มันก็จะเหมือนดินพอกหางหมู ทำให้อคติกับวิชานั้น เช่นสมมติคุณครูบวกกันแล้วทำไมได้เลขนี้นะ ถ้าบวกลบไม่เข้าใจคูณหารก็ต้องมีปัญหาไปเรื่อยจะพอกไปเรื่อยๆ ถ้าอายเพื่อนไม่อยากยกมือถามไม่เป็นไรน้องๆ อาจใช้เวลาหลังคาบเดินไปถามคุณครู จริงๆแล้วการที่ถามในห้องยังเป็นการช่วยเพื่อนๆด้วยหลายคนไม่กล้าถามเหมือนเรา ถ้าเรายกมือถามตรงที่เพื่อนไม่เข้าใจเหมือนกันก็จะได้เข้าใจ เคล็บลับคือตั้งใจเรียนในห้องมากที่สุด นอกจากนี้คือต้องนอนให้เต็มที่ คุณพ่อจะเป็นคนกำหนดเวลานอนว่าห้ามเข้านอนเกินสี่ทุ่มเพราะถ้านอนเกินสี่ทุ่มตื่นมาจะงวงเงียไปโรงเรียนเดี๋ยวก็ไปหลับในห้อง ดังนั้นตั้งแต่เรียประถมถึงมัธยมต้นจะเป็นคนทำการบ้านเสร็จตั้งแต่ที่โรงเรียนแล้ว การที่คุณพ่อจัดการเวลาให้นอนเร็ว ทำให้เราใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมาก ทุกอย่างจะเป็นคนที่ทำงานรวดเร็วไม่รอให้ถึงวันส่งแล้วจะทำ ถ้ามีการบ้านปุ๊บรีบทำทันทีเลย แล้วเวลาที่เหลือก็สามารถไปทำกิจกรรมอื่นๆได้ อย่างตอนเด็กๆ จะตีกลอง เล่นเมโลเดียน ต่ายคิดว่ามันเป็นเคล็ดลับการเรียนดีอีกอย่างหนึ่งเพราะว่าเมื่อใช้เวลาคุ้มค่า ได้พักผ่อนเต็มที่เราจะเก็บเกี่ยวได้เยอะมากในโรงเรียน สามารถเรียนได้ดีและทำกิจกรรมได้เด่นไปพร้อมๆกันได้ถ้าแบ่งเวลาถูก