พิเชษฐ กลั่นชื่น : ศิลปินนักรำไทยร่วมสมัย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-05-15 09:20:42
“ศิลปินจะดำรงอยู่ได้ งานโบราณจะดำรงอยู่ได้ หนึ่ง...ต้องใช้ได้ สอง...ต้องมีคุณค่า สาม...ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนในสังคม”
พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินนักรำไทยร่วมสมัย
ด้วยคำถามว่าทำอย่างไรนักนาฏศิลป์ไทยจึงจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน สามารถหาเลี้ยงอาชีพได้ จุดประกายให้ คุณพิเชษฐ กลั่นชื่น สร้างสรรค์การแสดงศิลปะรำไทยร่วมสมัยในรูปแบบที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะ
นักเต้นโขนที่ได้รับการตอบรับโด่งดังไกลในต่างแดนเชื่อว่าวิถีทางที่จะช่วยให้นาฏศิลป์ไทยกลับมาเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง คือการค้นหาองค์ความรู้เก่าแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับสร้างองค์ความรู้ใหม่จากเดิม เพื่อให้รำไทยสามารถเดินทางต่อไป
“ทำอย่างไรให้ศิลปินมีเงินกินให้ได้ ถ้าศิลปินยังคงทำสิ่งที่เหมือนเดิมใครจะซื้อของที่มันเหมือนเดิมล่ะครับ ผมก็ต้องหาแนวทางและรูปแบบของผมเองด้วยการสร้างรูปแบบและวิธีการเต้นของผมเองโดยการใช้หลักการเดิมแบบนาฏศิลป์ไทยแบบโบราณ
ศิลปะแบบโบราณคือมีไว้เพื่อหนึ่ง...เป็นวัฒนธรรม สอง...เพื่อไว้เชิดชูเกียรติชนชั้นผู้นำ แต่ศิลปะของผมมันเป็นศิลปะของโลกปัจจุบัน เป็นศิลปะที่ทำให้คนที่ต่างชนชาติ ต่างภาษา ต่างเผ่าพันธุ์ เข้าใจได้ มันจึงเป็นการแสดงที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยเป็นอยู่”
การแสดงของคุณพิเชษฐ์เป็นการสร้างสรรค์งานโดยพัฒนาจากแก่นของรำไทยซึ่งมีการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องเป็นระบบ ส่งพลังงานออกไปแล้วดึงกลับมาเข้ามาสู่จุดศูนย์กลาง เขามองว่านาฏศิลป์ไทยไม่ได้เป็นเพียงแค่วัฒนธรรมอย่างเดียว แต่ยังเป็นศิลปะการเต้นอย่างหนึ่งซึ่งมีทั้งหลักการและทฤษฎีของการเต้นแบบต้นฉบับนาฏศิลป์ไทย เพียงแต่คนไทยเราไม่เคยเจาะเข้าไป
“นาฏศิลป์ไทยจะมีแม่บทใหญ่ทั้งหมด 40 กว่าท่า ถ้าเอาท่ารำทั้งหมดนี้มาวางเรียงซ้อนกันให้หมด จะเห็นว่ากระบวนการของทุกท่าจะเป็นวงโค้งๆทั้งหมดเลย พอนำทฤษฎีทีได้ออกมาแล้วถอดออกมาให้เป็นกราฟฟิกดีไซน์โดยไม่มีตัวคน แต่เป็นโครงสร้างของท่า เราจะได้เส้นโค้งออกมาทั้งหมด 6 เส้น ด้วยความที่เรามีพื้นฐานเรียนสายวิทย์มาก็มาลองนำมาใช้ จากหนึ่งไปสู่อีกหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวลาและการเคลื่อนที่มีสัดส่วนเท่าไร อัตราส่วนเท่าไหร่แล้วก็นำมาใช้
งามที่ผมสร้างจะมีวิธีการด้วยรูปแบบของผมเอง เช่น ผมมีนักเต้น 4 คนอยู่บนเวที ผมจะให้นักเต้นเป็นหนึ่งเส้น สองเส้น สามเส้น เป็นสี่เส้น แล้วเคลื่อนที่ เต้นหาจูดศูนย์กลางทั้งหมด ไม่ว่าคุณจะออกไปไหน คุณจะต้องกลับมาที่ศูนย์กลาง เหมือนกับเวลาที่เรารำไทย มือเราที่เราม้วน พอเราม้วนเสร็จเราก็จะปัดมันกลับเข้าหาตัว นี่คือทฤษฎีของมัน”
ย้อนไปจุดเริ่มต้นเส้นทางนักเต้นของคุณพิเชษฐ เขาเป็นลูกชาวประมงที่ย้ายเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯตั้งแต่อายุ 13 ก่อนจะเลือกเรียนต่อสายวิทย์-คณิตในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่โชคชะตานำพาให้เขามีโอกาสเป็นลูกศิษย์อาจารย์ไชยยศ คุ้มมณี พ่อครูโขนที่เก่งที่สุดท่านหนึ่งของเมืองไทย พิเชษฐจึงเบนเข็มชีวิตสอบเข้าเรียนต่อที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขานาฏศิลป์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“หลักสูตรในมหาวิทยาลัย ผมเรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับพื้นฐานนาฏศิลป์ไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพลงช้า เพลงเร็ว เรียนระบำ เรียนประวัติศาสตร์ เรียนละครเป็นเรื่องๆ ละครนอก ละครใน ละครทาง ละครร้อง ละครพูดคือทั้งหมดที่เกี่ยวกัน”
หลังเรียนจบ คุณพิเชษฐสนุกกับการทำงานละครเวทีกับอาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง อยู่ราว 3 ปี ก่อนจะไปเป็นอาจารย์สอนวิชานาฏศิลป์ในมหาวิทยาลัย แต่เขารู้สึกเหมือนถูกตีกรอบรวมถึงการเรียนการสอนที่ต้องยึดตามหลักสูตรที่วางเอาไว้ หลังจากเป็นอาจารย์ได้ 5 ปีเขาจึงตัดสินใจลาออก ขอทุนเพื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
“ผมตัดสินใจลาออกเพราะว่าสิ่งที่ผมคิดว่าชอบมันไม่ใช่สิ่งที่ผมเป็น การเป็นอาจารย์ในระบบราชการจะต้องไปเซ็นชื่อเช้าเย็น ต้องเขียนผลงานทางวิชาการ ต้องเขียนแผนการสอน และต้องสอนตามวิธีการที่หลักสูตรวางเอาไว้ ต้องแต่งตัวเรียบร้อย ผมเลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่ผม ผมคิดว่าเราควรจะต้องมองไปที่ความจริงมากกว่าที่จะมองไปที่เปลือก ผมเชื่อในการที่สอนคนให้เคารพกฎและมีระเบียบด้วยตัวเองมากกว่าจะเอากติกาทางสังคมมาเป็นข้อกำหนด ดังนั้นผมจึงใช้ชีวิตแบบนั้นไม่ได้”
ที่นิวยอร์ค คุณพิเชษฐศึกษาทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะการเต้น มีโอกาสเรียนทั้งโมเดิร์นแดนซ์ แท็ปแด๊นซ์ สเต็ปแดนซ์ อเมริกันแดนซ์
“ผมเชื่อในการที่สอนคนให้เคารพกฎและมีระเบียบด้วยตัวเอง มากกว่าจะเอากติกาทางสังคมเป็นข้อกำหนด”
“ผมเรียนแบบเข้าคอร์สไปเรื่อยๆ พร้อมกับคำถามว่าแดนซ์มันคืออะไร ผมแยกครูสอนนาฏศิลป์ไทยกับศิลปินออกจากกัน ครูคือคนที่ต้องสอนตามรูปแบบที่มีอยู่เดิม งานหลักๆก็คือการสอนไม่ใช่การคิด ไม่ใช่การฝึก ไม่ใช่การปฏิบัติ แต่ศิลปินก็คือคนที่คิดสร้าง ฝึกปฏิบัติ ใช้เวลาทำสิ่งเหล่านี้มากกว่า เช่น ศิลปะการเต้น ภายในเวลาหนึ่งวันคุณต้องให้เวลากับการเต้น กับการฝึกร่างกาย และการทำความเข้าใจกับร่างกาย มากกว่าการอ่านหนังสือ มันเป็นวิชาปฏิบัติ ผมถึงมองว่าในเมืองไทยเราไม่มีศิลปินที่เป็นนาฏศิลป์นะครับ เรามีที่เป็นข้าราชการทั้งหมด ก็คือครูที่สิ้นเดือนได้เงินเดือน แต่ไม่มีศิลปิน”
หลังกลับมาจากนิวยอร์ค คุณพิเชษฐเริ่มสร้างสรรค์งานเองด้วยการเริ่มต้นตั้งคำถามถามตัวเองว่าเราเป็นใคร เราจะสร้างงานเองได้อย่างไร จะประกอบอาชีพได้อย่างไร นำมาสู่แนวคิดที่ต้องมองอะไรใหม่ๆ มองนาฏศิลป์ไทยในมุมมองใหม่ๆ
“ผมเริ่มจากสร้างงานที่เป็นโซโล่ก่อนประมาณ 15 นาที แล้วก็ค่อยๆเพิ่มลูกเล่น 5 ปีแรกไม่มีใครดูเลย มีน้อยมากถ้าก็มีหนึ่งคนหรือสองคน ไม่มีคนดูไม่เท่าไหร่ แต่มีคนด่าเราด้วยนี่สิ เราต้องอดทนและสร้างสิ่งที่มันเป็นไปได้ ค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเราทำเป็นอาชีพได้ รักในสิ่งนี้เราควรจะเชื่อและศรัทธาในสิ่งนี้แล้วก็ทำต่อไป สิ่งที่สำคัญคือถ้าเราหยุดปุ๊ปเนี่ย เท่ากับเราบอกทุกคนว่าสิ่งที่เราเชื่อและคิดเป็นสิ่งที่ผิด เพราะฉะนั้นต้องเดินต่อเพื่อพิสูจน์ให้เห็น
“จริงๆแล้วมีคนที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอยู่มาก เพียงแต่ไม่มีอะไรให้เขาเสพ ไม่มีอะไรให้เขาดูในสิ่งที่ใหม่ เขาก็เก็บตัวนิ่งๆอยู่เฉยๆ ไม่ออกเสียง”
จุดเปลี่ยนของผมไม่มีอะไรที่เป็นชัดๆ ค่อยเป็นค่อยไป มีคนสามคนชอบแล้วก็ชวนมาดูกัน ผมเคยนั่งวิเคราะห์ว่าในสังคมไทยเป็นสังคมแบบจารีต มีกลุ่มคนที่เป็นแบบกลุ่มประเพณีแล้วก็มีคนที่ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมากวว่าคนที่อยากให้เปลี่ยนแปลง แต่จริงๆแล้วมีคนที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอยู่มาก เพียงแต่ไม่มีอะไรให้เขาเสพ ไม่มีอะไรให้เขาดูในสิ่งที่ใหม่ เราได้เห็นว่าคนเราเหล่านี้มีอยู่นี่ในเมืองไทย เป็นคนที่อยากเห็นสิ่งใหม่ เป็นคนที่หัวก้าวหน้า หรือเป็นคนที่อยากให้นาฏศิลป์ไทยมันพัฒนา โดยไม่ได้มีทัศนคติแบบโบราณ คือถ้าเป็นของเก่าแล้วห้ามแตะ”
คุณพิเชษฐ เชื่อว่าศิลปะจะดำรงอยู่ได้ งานโบราณจะดำรงอยู่ได้ หนึ่ง...ต้องใช้ได้ สอง...ต้องมีคุณค่า สาม...ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนในสังคม ถ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนในสังคม ยังไงก็ตายอยู่วันยังค่ำ หลังผ่านไป 5 ปี ความพยายามของพิเชษฐเริ่มเห็นผล เริ่มมีกลุ่มคนดู เริ่มมีกลุ่มคนที่ติดตาม การแสดงเป็นกลุ่มเล็กๆ
เผอิญโชคดีมีผู้กำกับที่ทำแด๊นซ์เฟสติวัลอยู่เบลเยี่ยมเชิญไปเล่นที่นั่น พอเล่นเสร็จ ก็มีคนตาม เริ่มเป็นกระแสมาเรื่อยๆ แล้วก็เลยตอบโจทย์สังคมไทยซึ่งผมไม่ชอบเลย เพราะอะไรก็แล้วแต่ที่ฝรั่งไม่บอกว่าดีเราจะไม่ยอมรับ แต่ถ้าฝรั่งบอกว่าดีมันจะดูเวิร์คน่าสนใจมากสำหรับคนไทย เวลาที่แสดงงานในต่างประเทศในเทศกาลหนึ่งก็จะมีผู้กำกับท่านอื่นมาดูงานต่อ ทำให้ผมมีโอกาสได้ไปแสดงงานที่อื่นต่อไปในหลายๆประเทศ...
บริษัทเราจะสร้างงานปีละหนึ่งชิ้นเท่านั้น งานชิ้นหนึ่งจะเล่นได้เรื่อยๆประมาณ 3-5 ปี โดยประเด็นของงานแต่ละชิ้นมันจะมีอะไรที่เข้ามากระทบว่าเราอยากพูดเรื่องอะไร อยากสื่อสารอะไรกับคนในสังคม กระบวนการอย่างน้อยใช้เวลาหนึ่งปีในการซ้อม บางชิ้นก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลา 2-3 ปี
ต้องบอกก่อนนะครับว่าตอนซ้อม ผมไม่รู้เลยว่าผมต้องการอะไรในการสร้างงาน แต่ในหัวของผมคืออยากได้แบบนี้แล้วก็คิดว่าจะทำยังไง นักเต้นเลยต้องมาฝึกเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ผมต้องการ เป็นกระบวนการของการหาวัตถุดิบ ถ้าผมเป็นดีไซน์เนอร์ 6 เดือนนั้น ผมก็ต้องไปเดินอยู่สำเพ็ง นักเต้นก็เหมือนกันครับเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อมาก ต้องวิ่งออกไป กระโดดซิ ไหนลองจับแขนกันแล้วมุดลงไปตรงนี้ ท่าไหนโดนก็จะจดไว้ หลังจากนั้นมาดูว่าอะไรที่เราชอบแล้วมาตัดต่อใหม่เหมือนฟิล์มเลย แล้วอีกเดือนก็ซ้อมใช้เวลาทั้งหมดเกือบปีกับการทำงานอยู่ในแค่สตูดิโอต่อหนึ่งชิ้น
ตอนนี้ชื่อผมเริ่มเป็นที่ยอมรับ ถ้าเอางานผมไปแสดงที่ไหนที่หนึ่งเขาก็จะตกลงว่าฉันสนใจฉันซื้อแล้วเขาก็เงินมาให้ก้อนหนึ่งเพื่อมาทำงาน เงินที่เขาให้มาก็เป็นเงินในการซ้อม เป็นเงินในการสร้างงานทั้งหมด โรงละครเราก็เริ่มมากจากพื้นที่เล็กๆ เวลาแสดงมีคนมาดูเราก็เก็บเงินด้วย นั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะสร้าง
ก่อนหน้านี้ช่วงแรกๆ เรายังไม่มีทีมงานอย่างเป็นรูปธรรม เราเพิ่งเริ่มจะมีพนักงาน มีนักเต้นประจำ มีโรงละครแบบชัดเจนเมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นจะเป็นฟรีแลนซ์เป็นส่วนใหญ่ ถ้ามีโปรเจคหนึ่งจ้างมาพอเล่นเสร็จก็ตัวใครตัวมัน โปรดักชั่นเรามีประมาณ 10 คนก็จะมีนักเต้นมีคนทำแสง ไลท์ติ้ง ดีไซน์เนอร์ มีนักดนตรี แล้วก็มีผู้จัดการ”
นอกจากโรงละครของตัวเองแล้ว อีกสิ่งที่คุณพิเชษฐพยายามทำในวันนี้ คือ การสร้างสรรค์ศิลปินที่ทำงานด้านนาฏศิลป์ระดับมืออาชีพ โดยเปิดบริษัทเอกชนด้านการเต้น Pichet Klunchun Dance Company เพื่อรองรับให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
“ในขณะคนที่เรียนจบมา ถูกสั่งสอนมาว่าให้คุณต้องรักนาฏศิลป์ไทย แต่พอมีงานอะไรที่เกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย ไม่มีใครไปดูงานเลย แสดงว่ามันไม่ได้มีอะไรที่ดูเกี่ยวข้องกันเลย คนที่เรียนเองก็ไม่ดู คนที่จบมาแล้วก็ไม่ทำด้วย”
“ในเมืองไทยมีคนเรียนนาฏศิลป์กันเยอะมาก มีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนประมาณ 12 แห่งทั่วประเทศ แต่กลับไม่มี Dance Company ในประเทศไทย ไม่มีนักเต้นอาชีพ ไม่มีใครอยู่บริษัทเต้นเลยแม้แต่คนเดียว ในไทยจบมาแล้วก็เป็นครู เป็นหางเครื่อง เป็นแบ็คอัพให้นักร้องอยู่ด้านหลัง
การที่ผมสร้างบริษัทนี้เพราะอยากให้คนที่อยากเป็นศิลปินมีที่ทำงานรองรับ คำถามคือคนเก่งของเราไปอยู่ไหนกันหมด จบมาแล้วทุกคนไปทำอะไรกัน แล้วที่มันแย่กว่านั้นคือไม่ทำไม่เท่าไหร่แต่ไม่ดูด้วยสิครับ แต่พอมีงานอะไรที่เกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย ไม่มีใครไปดูงานเลย แสดงว่ามันไม่ได้มีอะไรที่ดูเกี่ยวข้องกันเลย คนที่เรียนเองก็ไม่ดู คนที่จบมาแล้วก็ไม่ทำด้วย”
คนที่จะทำอาชีพนักเต้นนักนาฏศิลป์ได้ คุณพิเชษฐแนะนำว่าต้องถามตัวเองก่อนว่าอยู่คนเดียวได้ไหม ใช้ชีวิตโดดๆ ในห้องเดียวแล้วก็ซ้อมตลอดทั้งชีวิตได้ไหม
“อันดับหนึ่งต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน เพราะมันเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อมนาน เพราะว่าร่างกายคือสิ่งเดียวของนักเต้นที่ไม่เคยเชื่อฟัง วันใดที่เราหยุดร่างกายเราจะอ่อนแอลงทันที แต่ในขณะที่เราเต้นหรือเรารำร่างกายของเราจะมีศักยภาพที่สูงมาก จะมีร่างกายที่แข็งแรง ปอดต้องใหญ่ หายใจต้องนิ่ง ต้องใช้พลังเยอะ
สิ่งแรกเลยคือคุณสามารถจะอยู่โดดเดี่ยวได้ไหมภายในห้องซ้อม สอง...เป็นคนมีระเบียบวินัยไหม สาม...เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและศรัทธาสูงส่งหรือป่าว สี่...คุณยอมรับได้ไหมว่าคุณจะไม่ร่ำรวย ถ้าคุณยอมรับสิ่งหลักๆเหล่านี้ได้คุณก็จะประกอบอาชีพนี้ได้ อาชีพที่ผมเป็นนี่คือสายศิลปิน ไม่ใช่สายคอมเมอเชียล สายศิลปินคือการสร้างสรรค์ พัฒนา ไม่ใช่ขาย ไม่ได้ตอบโจทย์ลูกค้า ผมตอบโจทย์ตามความต้องการของตัวเองผมเองว่าผมอยากได้อะไรอยากสื่อสารอะไรกับคนในสังคม...
ถ้าคุณอยากทำงานนี้ ต้องพัฒนางานหรือสิ่งที่คุณทำให้มีคุณภาพสูงที่สุด อย่าสนใจเรื่องการตลาด ทำของที่คุณทำ ทำอะไรก็แล้วแต่ให้มีคุณภาพที่ดีที่สุดและสูงที่สุด แล้วก็สื่อผ่านด้านมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุค ยูทูป มันช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับตัวคุณได้อย่างดีที่สุด อย่าเพิ่งสนใจว่ามันจะขายได้หรือไม่ได้ คือถ้ามันดีเดี๋ยวมันก็ขายได้เอง ถ้ามันไม่ดีต่อให้คุณไปขาย ใครเขาก็ไม่เอาไม่ซื้อ” คุณพิเชษฐกล่าว
ฝากถึงน้องๆ
“ผมอยากให้เด็กๆ ลองทำทุกอย่าง เรียนรู้ทุกอย่าง แล้วลองตั้งคำถามกับสิ่งที่เราทำกับสิ่งที่เราเรียนว่าเราได้อะไรจากสิ่งนั้น ไม่ใช่ชอบอะไรในสิ่งที่ทำ ไม่ใช่เรื่องชอบ ในขณะที่เราเรียนรู้แล้วเราได้อะไร คนเราต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยในชีวิต เพราะสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบอาจจะสอนอะไรบางอย่างกับเรา และสิ่งที่ได้จากการที่เราไม่ชอบนั้นจะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นไปพร้อมๆกับสิ่งที่เราชอบด้วย
ถามคำถามกับตัวเองดีๆนะครับว่าเรากำลังถูกหลอกจากสังคมแบบเอนเตอร์เทนเมนท์มากขนาดไหน สังคมแบบอะไรเข้ามาเราทำหมด ถามตัวเองดีๆว่าเราไปเสพสิ่งนี้มากไปหรือเปล่า เรากำลังไม่มีจุดยืนในชีวิตของเราเองหรือเปล่า ไม่ว่าฟิล์มหรือหนัง มันทำให้เราไม่ได้อยู่กับตัวเอง มันทำให้สมองถูกคล้อยตามไป จึงต้องมีสติกับเรื่องนี้ ต้องมีสติให้กับชีวิตเราอย่าให้หลุดลอยไป
สุดท้ายอยากจะบอกเด็กๆว่าให้รักพ่อแม่มากๆ เวลาที่เราจะคิดอะไรเวลาที่จะทำอะไรพยายามรักคนที่เป็นพ่อแม่ให้เยอะๆอันดับที่หนึ่ง อันดับที่สองพ่อแม่ของคุณไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดไป เวลาเป็นเด็กเราไม่ค่อยคิดถึงพ่อแม่ เราคิดถึงเพื่อน เพื่อนจะอยู่กับเรานาน แต่พ่อแม่จะอยู่กับเราไม่นาน เพราะฉะนั้นให้เวลากับพ่อแม่ก่อน แล้วค่อยให้เวลากับเพื่อน ผมเติบโตมาด้วยการไม่มีพ่อแม่ตั้งแต่เล็กๆผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับวันนี้”