Alumni : หมอก้อง สรวิชญ์ หมอทหารแห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-04-03 11:03:30
เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
“ผมจะเป็นหมอไปจนวันตาย ไม่ว่าผมจะไปทำอะไรก็ตามแต่ผมจะยังเป็นหมออยู่” หมอก้อง-ร้อยเอกนายแพทย์ สรวิชญ์ สุบุญ ตั้งปฏิญาณหนักแน่นที่จะใช้วิชาชีพเพื่อช่วยเหลือสังคม ซึ่งเขาได้รับการบ่มเพาะมาเมื่อครั้งเป็นนักเรียนแพทย์ในวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (วพม.) การศึกษาวิชาแพทยศาสตร์และการฝึกฝนวิชาทหารให้อะไรกับชีวิตผู้ชายคนนี้บ้าง มาฟังจากปากของหมอก้องกันเลย
จุดเปลี่ยนจากครูสู่แพทย์ทหาร
ตอนแรกไม่ได้อยู่ในความคิดที่จะเรียนหมอเลย อยากเป็นครู แต่พ่อแม่อยากให้เราเป็นหมอ สมัยนั้นเอนทรานซ์จะใช้คะแนนที่ดีที่สุด คะแนนตัวนี้สามารถนำไปยื่นตรงได้ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้เลยตั้งแต่แรก ผมไม่ได้อยากไปยื่นแต่พ่อขอไว้ ปรากฏว่าสอบผ่าน เราก็คิดว่าไม่เอา จนพ่อขอร้องด้วยความที่เขาเป็นทหารด้วย ก็ได้มีโอกาสไปคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่เตรียมอุดมศึกษา เขาบอกว่าแกมันบ้า สถาบันก็ตั้งของมันอยู่แบบนี้ คนต่างหากที่เดินเข้าไปเอาวิชาความรู้ หลังจากนั้นเราทำได้ดีแค่ไหน ถ้าคิดว่าเราตั้งใจจะทำให้ได้ เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน แล้วแกจะไม่สามารถเป็นลูกกตัญญูทำความดีให้พ่อให้แม่ได้เลยหรอ ผมก็โอ้ ใช่เลย จริงๆ แล้วมันไม่ได้ยากที่จะคิดได้แต่ว่าค่านิยมว่าต้องเรียนที่นั่นที่นี่มันเยอะ
เรียนทั้งหมอทั้งทหารคู่กันไป
แพทยศาสตร์ พระมงกุฎฯ เป็นโรงเรียนทหาร หมายความว่าชีวิตความเป็นอยู่เป็นทหารอยู่ในค่าย แล้วเอาทหารมาเรียนหมอ วิชาชีพแพทย์ต้องได้ตามหลักเกณฑ์แพทยสภา วิชาทหารต้องได้ตามหลัก จปร. เพราะฉะนั้นต้องเรียนหนักมาก ปีหนึ่งมีการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่เกษตรศาสตร์ เรียกว่าเตรียมแพทย์ครับ พอขึ้นปีสองจนถึงปีหกจะไปเรียนที่ วพม. อนุสาวรีย์ชัยฯ เป็นการเรียนวิชาแพทย์เหมือนกับที่อื่น แต่ก่อนที่จะขึ้นปีสอง มีช่วงว่างตอนซัมเมอร์ ผมต้องเข้าไปฝึกทหารอย่างเดียวประมาณเกือบสองเดือนครับ ซึ่งถ้าถามว่าฝึกทหารหนักไหม อย่ามองภาพการเรียน รด. เพราะเทียบไม่ได้ ให้มองภาพของการเป็นนักเรียนนายร้อย จปร. และถ้าถามว่ามีความลดเหลื่อมกันไหม เป็นแพทย์ 100% และเป็นทหาร 100% เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหนักทั้งสองอย่าง เพียงแต่ว่ามีการแบ่งเวลาที่ชัดเจน เข้ามาตอนแรกต้องปรับทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ ที่สำคัญคือระเบียบวินัย พอผ่านช่วงนี้ไปได้แล้ว สิ่งที่อยู่ติดตัวเราไปโดยอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามคือระเบียบวินัยและวินัยทหาร ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมด
“วิ่งรุ่น ซื้อชุด ขุดกระบี่”
พวกผมต้องใส่เครื่องแบบทหารในการเรียน เครื่องแบบทหารมีชุดขาวใหญ่ที่เห็นกันตามงาน ซึ่งนานๆ จะใช้สักที เรียกว่า ชุด ก. ชุดเขียวเรียกว่า ชุด ข. มีเครื่องแบบ ชุด ค. และชุดนักเรียนทหาร ทั้งหมด 4 ชุด “วิ่งรุ่น” เป็นประเพณีทางทหาร หมายความว่าเวลาเราเข้าไปที่ใหม่เขาจะมีการนับรุ่นใช่ไหมครับ วพม. รุ่น 28 ของผมไม่ได้มาด้วยความง่ายดายแต่แลกด้วยเหงื่อและหยดน้ำตา เราวิ่งรอบโรงพยาบาลโดยใส่ชุดฝึก รองเท้าคอมแบทจัดเต็ม แล้ววิ่งแถว 10 รอบ ระหว่างทางวิ่งๆ อยู่โดนพี่สั่งหมอบ วิดพื้น พอวิ่งรุ่นจนได้รุ่นแล้ว ภายในคืนนั้นประมาณตีสี่เราจะถูกปลุกขึ้นมาเพื่อ “ซื้อชุด” ทั้ง 4 ชุด อย่างเช่น ชุด ก. เป็นชุดใหญ่สุด ขอแลกด้วย 300 ยก อาจจะวิดพื้น 10 ยก 10 ยก คือ 20 ครั้ง จนกว่าจะครบ 300 ยกครับ พอผ่านช่วงนั้นมาได้แล้วทำให้เรามีความรักกันหมู่เพื่อนพ้อง รุ่นพี่รุ่นน้อง รักในสถาบัน ที่สำคัญทำให้เรามีความรักในการเป็นทหาร หลังจากที่เราได้รุ่น ซื้อชุด กระบี่ครบแล้ว จะมีการจัดฉลองให้เราด้วยพิธีลอดซุ้มกระบี่ รุ่นพี่ทุกคนที่ซ่อมเราจะใส่เครื่องแบบเต็มและถือซุ้มกระบี่ให้เดินลอดออกมา วันนี้ยังเป็นวันแรกที่เราจะได้เจอพ่อแม่หลังจากไม่ได้เจอสองเดือน เลยมีความประทับใจและภูมิใจว่า ไอ้ที่เราว่าเหนื่อยว่าหนักในการฝึกทหารก็ผ่านมาแล้วอย่างไม่ยากเลย
ออกค่ายลงชุมชน
กิจกรรมเวชศาสตร์ทหารและชุมชน เป็นการลงชุมชนเพื่อทำวิจัย เพราะว่าการจะจบแพทย์ต้องมีการวิจัยและศึกษาชุมชน ลงไปเพื่อตรวจคนไข้ตั้งแต่ปีสองถึงปีหก แต่ว่าหลักสูตรเปลี่ยนไป อย่างเช่นปีสองลงไปวิจัยชุมชนขั้นต้น ปีสามไปวิจัยต่อยอด ต้องคลุกคลีกับชุมชนเป็นอาทิตย์ ผมไปที่ จ.ฉะเชิงเทรา และปีสี่-ปีห้าเป็นการลงชุมชนภายใต้วิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ลักษณะการทำงานใกล้เคียงกัน
พอปีหกจะเรียนเวชศาสตร์ทหารในสนามรบ คือจำลองสถานการณ์ว่าอยู่ในสนามรบ รับข้อความทางวิทยุ เราจะอยู่ในที่ตั้ง ข้างหน้าเขาก็รบกันไป จะมี ว. มาบอกว่าตอนนี้มีคนเจ็บโดนระเบิดอยู่ที่ตำแหน่งนี้ให้เราไปรับ พวกเราถูกฝึกให้ไปเอง อ่านแผนที่ ดูเข็มทิศ พิกัดอยู่ตรงไหน เดินเท้า 4-5 กิโล แบกเป้สนามที่เป็นเปลผ้าแบบสองคนยกไปที่ตำแหน่งนั้นให้ได้ พอไปเจอคนไข้เราต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วแบกกลับมาที่ตั้งให้การรักษาต่อ ถ้าไม่ไหวส่งต่อเข้าโรงพยาบาลใหญ่อะไรแบบนี้ครับ
สิ่งสำคัญในการเป็นแพทย์ทหาร
ขอพูดรวมดีกว่า ไม่ใช่เฉพาะแพทย์ทหารแต่เป็นแพทย์ทั้งหมดทั่วประเทศ ผมขอน้องที่ดีก่อน ผมขอคนดีก่อน จะเก่งจากไหนผมไม่สน เพราะว่าคนดีเอามาฝึกให้เก่งทีหลังได้ แต่คนเก่งแล้วเห็นแก่ตัวทำประโยชน์ให้กับใครไม่ได้ ยิ่งพอเป็นหมอแล้วเห็นแก่ตัว ไม่รับผิดชอบ มันคือชีวิตของคนได้เลยนะ พูดจากประสบการณ์ที่เห็นรุ่นน้องดูแลคนไข้ครับ
เคสที่ประทับใจที่สุด
เยอะนะครับ แต่ว่าถ้าถามถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจที่สุด ปี2 ปี3 เขาเรียกว่าปีพรีคลินิก คือเป็นการเรียนวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ปี 4 ปี 5 จะเป็นการเรียนชั้นคลินิกคือเจอคนไข้ พอปี 6 ถือเป็นหมอย่อมๆ คนหนึ่งเรียกว่าเป็นเอสเทิร์น ก็จะมีการปฏิบัติงานละเราก็จะวนไปตามวอร์ดต่างๆ เคสที่ประทับใจที่สุดมันมากจากเคสที่ผมไม่ได้ตั้งใจอะไรมากมายเป็นเคสทำคลอดครับ ตอนนั้นอยู่เวรห้องคลอด ก็ปกติแล้วเนี่ยต้องเล่าให้ฟังว่าภาพการอยู่เวรห้องคลอดเป็นอะไรที่น่าเบื่อมาก วันทั้งวันเราก็จะอยู่ในห้องและคนที่เขาจะคลอดมันไม่ใช่เหมือนเป็นหวัดที่มาถึงหมอเป็นหวัดจ่ายยากลับบ้าน เขาก็จะมาแบบปวดท้องซึ่งคำว่าปวดแต่ละคนไม่เหมือนกันอีกนะครับ ลักษณะห้องคลอดเป็นห้องสี่เหลี่ยมธรรมดาก็จะเป็นเตียงวางกันเป็นแถบๆ อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นเคาน์เตอร์ทีเราอยู่ เตียงสมมติว่าสมัยนั้นน่าจะมีสัก 8 เตียง ก็นอนกันไป หน้าที่ของเราในลักษณะของคนที่จะคลอดคือท้องมันจะแข็ง คำว่าท้องแข็งคือมดลูกมันจะบีบตัวมากขึ้น เพื่อให้ลูกออกพูดง่ายๆ นะครับ มดลูกพอมันบีบปุปมันจะเรียกว่าเท่าไหร่ถึงจะคลอดได้ก็คือต้องดูที่ปากมดลูกถ้ามันเปิดสุดเมื่อไหร่พร้อมคลอด เปิดสุดคือ 10 ซม. บางคนมานอนปวดอยู่เป็นวันกว่ามันจะเปิดครบ แต่เคสคนไข้เคสนี้มานอนอยู่เกือบวัน เกือบ 24 ชม. เพราะว่าผมจำได้คือเวลาเราเข้าเวรเราเข้า 24 ชม. ก็นอนร้องปวดเดี๋ยวมันก็ปวดเยอะเดี๋ยวมันก็ปวดน้อยอะไรแบบนี้ หน้าที่ของเราคือการไปจับท้อง เขาเรียกว่า จับcontraction แปลว่าการบีบตัว ว่ามดลูกบีบตัวครั้งนี้นานกี่นาทีแล้วหายไปนานเท่าไหร่ และความแข็งของการบีบตัวเท่าไหร่ซึ่งมันสำคัญ ถ้าบีบเยอะไป บีบถี่ไปมดลูกแตกได้ หรือถ้าบีบห่างไปเราต้องเร่งยาเพิ่มเพื่อที่จะทำให้การบีบตัวดีขึ้นไม่งั้นมันไม่คลอดซะที ทุกครั้งที่มดลูกบีบตัวจะเจ็บมากฟังจากเสียงร้องแล้วเจ็บมาก ทรมานมาก แล้วก็จะได้ยินบ่อยมากเลยว่าจะไม่เอาอีกแล้ว มันก็เลยเกิดเป็นความเคยชินสำหรับตัวเราว่ามันก็ร้องแบบนี้ ก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมาย สนใจแค่ว่าเดี๋ยวเราจะไปตรวจว่าปากมดลูกเปิดเท่าไหร่ ทุกกี่ชั่วโมง ตามคำสั่ง ตามหลักการเท่านั้นเอง
สุดท้ายแล้วปากมดลูกเปิดหมดแล้วเข้าห้องคลอดได้ ผมทำคลอดเอง มันเป็นเคสทำคลอดธรรมชาติที่ไม่ต้องผ่าทำได้อยู่ละ ก็ทำคลอดปกติ ตอนที่อยู่ในห้องคลอด มันไม่ใช่ว่าจะออกได้เลยอีก คือถึงแม้ปากมดลูกเปิดหมด มันต้องมีการเบ่ง และเราก็เชียร์เบ่งกันหน้าดำหน้าแดง ซึ่งมันรูทีนทุกเคสทำมาเป็นสิบๆ เคสก็เหมือนกันหมด จนคลอดออกมาแล้วต้องบอกว่าเคสนั้นเลือดเยอะมากเลย จำภาพได้เลย พอลูกออกมาปุป เด็กออกมายังไม่ร้องนะครับ มันต้องมีการดูดก่อน และก็มีตัดสายสะดือ เราก็ทำตามรูทีนว่าพอตัดสายสะดือปุป ก็บอกว่าเดี๋ยวหมอไปดูเด็กก่อนนะ แล้วเดี๋ยวเอามาให้คุณแม่อุ้ม เราทำคลอดที่ปลายเท้าแล้วก็มาคุยกับเขาและเราก็ไปที่ตู้อบเด็ก และเราก็ไปจัดการเด็กตรงนั้น จัดการเด็กก่อนแม่ทิ้งได้แล้วค่อยๆ ให้รกมันหลุดตัวมา แต่สายตาเขามองลูกเขาตลอดเวลา มองแบบไม่ไปไหนเลย ที่ร้องมาตลอดทั้งวันเงียบกริบเลยคือไม่เจ็บแล้ว สุดท้ายเช็ดตัวเด็กเสร็จ มาให้คุณแม่อุ้มเป็นไงครับได้ลูกผู้หญิงผู้ชายนะ น้องคนนั้นลูกผู้ชาย ผมก็บอกว่าได้ลูกผู้ชายนะครับเป็นไงหน้าเหมือนพ่อเหมือนแม่หรือเปล่า เขาก็ร้องไห้ คือภาพมันชัดมาก(น้ำตาคลอ) เขาบอกว่ามันเป็นร้องไห้ที่มีรอยยิ้มและเป็นการร้องไห้ที่มีความสุขและเขาก็บอกเราว่าคุณหมอขอบคุณมากนะคะ ที่ทำให้เขาได้เจอกับเทวดาตัวน้อยของเขาที่รอมาตั้ง 9 เดือน ทีนี้เขาก็บอกว่าขออนุญาตเอาชื่อคุณหมอมาตั้งเป็นชื่อลูก โอ้โห ผมเลยแบบทำอะไรไม่ถูกอ่ะ ณ ตอนนั้นจริงกว่าตอนนี้อีก คือมันมีความรู้สึกเหมือนกับว่านึกถึงแม่ว่าแม่เราคงรักเราไม่ต่างกัน วันนั้นอยากกลับไปกอดแม่ เหมือนกับว่าเราเห็นถึงความเจ็บปวดของคนไข้เป็นเรื่องปกติมาก ไม่ได้คิดอะไร แต่เคสนี้มันทำให้เราฉุกคิดว่า ปวดแค่ไหนแต่แค่เห็นลุกมันหายปวดหมดเลย มันไม่เจ็บไม่ปวดอีกเลย แล้วก็ภูมิใจที่เขาเอาชื่อเราไปตั้งเป็นชื่อลูกเขาเลยนะ มันภูมิใจครับ เหมือนกับว่าคนเป็นหมอแค่นี้อยู่ได้ละ สำหรับผมนะแล้วตั้งแต่วันนั้นมันทำให้เรารู้สึกเลยว่าผมจะเป็นหมอไปจนวันตาย ไม่ว่าผมจะไปทำอะไรก็ตามแต่ผมก็จะยังเป็นหมออยู่ มันสุดยอด
แนะรุ่นน้องสู่ใต้ร่มอินทนิล
ถามตัวเองให้ดีๆ ก่อนดีกว่า ตอนแรกน้องจะบอก จะอยาก จะคิด จะฝัน มันได้หมด ความชอบของตัวเองมันนำมาก่อน ใช่ แต่ความสามารถของตัวเองเราได้ไหม ถ้าคิดว่าเรียนได้และมีความตั้งใจก็ไปเลยครับ ต้องมีความมุ่งมั่นและเป้าหมายว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร ผมมีความเชื่ออยู่เสมอว่าแอดมิชชั่นไม่ยาก ถ้าเรารู้จักตัวตนของเราดีและมีการเตรียมพร้อมที่ดีครับ คนเก่งแพ้คนที่เตรียมพร้อมดี
การสอบเข้าพระมงกุฎฯ คงเหมือนกับแพทย์ที่อื่นทั่วไปคือต้องสอบผ่านแอดมิชชั่น แต่แตกต่างที่น้องต้องเป็นทหารด้วย เพราะฉะนั้นใจสู้หรือเปล่า ไม่ได้ขู่นะครับ เพราะคนที่บอกว่ามันยากเหลือเกินก็คือยากเหลือเกิน แต่สำหรับคนที่บอกว่าก็แค่วิชาทหารไม่มีอะไรเลย สนุกจะตายก็คือสนุกจะตาย แต่ร่างกายต้องพร้อมนะครับ อย่าลืมว่าการเรียนแพทยศาสตร์ พระมงกุฎฯ มีหมวกสองใบ เป็นทั้งหมอเป็นทั้งทหารด้วย เพราะฉะนั้นน้องต้องเหนื่อยเป็นสองเท่าแน่นอน
วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นสถาบันผลิตแพทย์ทหารแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อจัดสรรแพทย์ทหารให้แก่เหล่าทัพต่างๆ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการทหารสูงสุด รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในการให้ความช่วยเหลือกำลังพล ครอบครัว ตลอดจนประชาชนที่อยู่ห่างไกลหรือพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งเป็นการบรรเทาการขาดแคลนแพทย์ในกองทัพ และในชนบทของประเทศได้เป็นอย่างดี การสอบคัดเลือกบุคคลผ่านระบบรับตรง แบ่งเป็นประเภททุนกองทัพบก มีสถานภาพเป็นนักเรียนแพทย์ทหาร และประเภททุนโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม มีสถานภาพเป็นนักศึกษาแพทย์ |