www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

ความเข้าใจผิดของชาวบ้าน เกี่ยวกับการธุดงค์ของพระสงฆ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-01-30 11:08:33

 

ความเข้าใจผิดของชาวบ้าน เกี่ยวกับการธุดงค์ของพระสงฆ์ 
(หลักสูตรปฏิสัมภิทาญาณฉบับพิเศษ)

นโมตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส นโมตสฺส
ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
นโมตสฺส ภควโต 
อรหโต สมฺมา 
สมฺพุทฺธสฺส 

ขอนอบน้อมแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ข้าพระพุทธเจ้าขอชี้แจงพระธรรมวินัย
เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนเป็นอันมากพระพุทธเจ้าข้า

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)


"ธุดงค์" ของจริง มี ๑๓ ข้อ ตามพระธรรมวินัย   แต่เดิมนั้นไม่มีธุดงค์ครับ คนที่ปฏิบัติคนแรกก็คือ พระมหากัสสปเถระ ท่านเป็นพระเถระที่ชอบอยู่ป่ามาก สรรเสริญการอยู่ป่าอยู่โคนไม้เป็นประจำ สรรเสริญการบิณฑบาตรไม่รับกิจนิมนต์ของญาติโยม ขนาดบ้านที่เขานิมนต์พระพุทธเจ้าไปแล้ว ท่านยังเดินไปบิณบาตรเฉยเลยไม่นั่งฉันในที่นิมนต์ด้วย ไปป่าหาที่นั่งฉันองค์เดียวอาสนะเดียวตามวัตรของท่าน ท่านปฏิบัติปกติของท่านหรือจะเรียกว่าต้นแบบพระป่าเลยก็ว่าได้ จนพระพุทธเจ้าเรียกท่านว่าผู้ทรงธุดงควัตร ท่านก็พยายามให้มีการบัญญัติให้สงฆ์ทั้งหมดเอาอย่าง แต่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติตายตัว ท่านบอกว่าเป็น มาตรการขูด ขัด เกลากิเลสได้อย่างดี ใครตั้งใจปฏิบัติก็ไม่ห้าม แต่ให้บังคับให้ทุกรูปทำตามนั้นไม่ได้ คือจะปฏิบัติเข้มข้นแบบนั้นก็ได้ไม่ทำก็ได้ท่านไม่ห้าม ไม่บัญญัติเป็นสิกขาบทไว้ครับ แต่พระมหากัสสปเถระ ท่านบอกว่าจะปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้ และบอกต่อไว้เพื่อเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติขั้นยิ่งยวดของผู้ต้องการพ้นทุกข์(ปฏิบัติขั้นอุกฤษณ์)  ต่อไปภายหน้า จึงมีมาแต่นั้นนับได้ ๑๓ ข้อครับ

ก็จะอธิบายเป็นข้อ ๆ ต่อไป คือ

 

...............๑. ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 
บาลีว่า คะหะปะติจีวะรัง ปะฏิกขิปามิ ปังสุกูลิกังคัง สะมาทิยามิ 
แปลว่า เรางดคหบดีจีวรเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 

หมายถึงไม่รับไม่ใช้ผ้าที่โยมถวายให้ ไม่ว่าจะราคาขนาดไหนก็ตาม ใช้แต่ผ้าเก่าที่เขาใช้แล้ว ทิ้งแล้ว จีวรเก่าหมองแล้ว ไม่มีเจ้าของแล้วทิ้งไว้ในวัดก็ใช้ได้ เอามาเย็บมาซักมาย้อมใช้เอาเอง หรือผ้าที่ชักบังสุกุลมาจากศพเท่านั้น พระพุทธเจ้าอนุญาตให้เก็บไว้ได้ตลอดไม่ผิดวินัยเกี่ยวกับจีวร รอดวินัยไปหลายข้อเลยครับ ข้าน้อยรอดเป็นพระมาได้ทุกวันนี้ ก็เพราะไปเอาผ้าเช็ดเท้าเณรนั่นแหละมาซักแล้วห่ม มันเย็นดี ห่มจีวรใหม่ ๆ แล้วมันร้อน อิอิ พรรษาแรกพอรู้ว่านี่คือธุดงค์นะครับ เคร่งมาก ใครเอาจีวรมาเช็ดเท้าเราไปเก็บเอามาซักไว้ใช้หมด ภาคใต้ชาวบ้านเขาถือนะครับ ไม่ให้เอาผ้าพระ(จีวรผ้าเหลือง)มาเช็ดเท้า แต่เณรยังเด็กยังไม่รู้ความ เห็นจีวรเก่าเลยเอามาพับวางไว้เช็ดเท้าหน้ากุฏิ หลวงพี่เลยขอละกัน จะเอาไปซักห่ม รอดมาได้ตั้งสองสามพรรษาแหละครับ หลังจากนั้นเก็บผ้าที่พระใช้แล้วมาห่มต่อตลอด บางทีพระมาบวช ๑ เดือนใช้ผ้าซักไปไม่กี่ครั้งก็ลาสิกขาไป เราก็เอามาห่มต่อได้เลยไม่ผิดกติกา ก็ไม่มีเจ้าของแล้ว พอจีวรตัวเองเก่าเจอผ้าที่ไหนในวัดที่เขาทิ้งแล้วไม่มีเจ้าของ พอเปลี่ยนได้ก็เอามาซักห่มต่อ จนปัจจุบันก็ยังห่มจีวรเก่าอยู่ครับ ยังงี้แหละธุดงค์ อานิสงส์คือ ไม่ต้องสนใจว่าใครจะนับถือศรัทธาหรือไม่ ถวายจีวรหรือไม่ ข้าน้อยไม่สน ผ้าเก่าเยอะแยะครับ ไม่ต้องเดือดร้อนญาติโยมซื้อผ้าใหม่มาถวาย แต่ญาติโยมที่อยากได้บุญก็ตื๊อจะซื้อจีวรใหม่ให้อยู่เรื่อยเชียว ไม่รู้รึพระถือธุดงค์อยู่ ฮา(ก็เขาอยากได้บุญซื้อผ้าให้พระได้ห่มได้ใช้) ก็ต้องบอกให้ไปถวายองค์อื่นเถอะครับที่เขาอยากได้หนะ พระนักเรียนตามวัดต่าง ๆ หรือน้องสามเณรจีวรเขาขาดหมดแล้วไม่ถวายเขาละ

 

 


..........๒. ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร 
บาลีว่า จะตุตถะจีวะรัง ปะฏิกขิปามิ เตจีวะริกังคัง สะมาทิยามิ
แปลว่า เรางดจีวรผืนที่สี่เสีย สมาทานองค์ของผู้ถือซึ่งไตรจีวรเป็นวัตร

ข้อนี้หมายถึงใช้ผ้าแค่สามผืนครับ(คำว่า "ผ้า ๓ ผืน" ได้แก่ จีวร สังฆาฏิ สบง ส่วน อังสะ รัดประคต ถือว่าเป็นผ้าเกิน ผ้าอาบน้ำก็ใช้ได้ ผ้าในที่นี้มีตั้งแต่กว้าง ๑ คืบ ยาว ๑ คืบ ขึ้นไป) ไม่มีผ้าปูนอน ไม่มีผ้านุ่งเปลี่ยน ใช้สับไปสับมาอยู่ในสามผืนนั่นแหละครับ จุดประสงค์เพื่อให้มักน้อยในจีวรครับ ไม่ต้องการให้ใช้ผ้ามากจะได้เอาไปแบ่งให้พระรูปอื่นมั่ง เพราะสมัยก่อนผ้าไตรจีวรหายากมาก อีกอย่างพอใช้สามผืนแล้วไม่ต้องกังวลวินัยอีกหลายข้อเกี่ยวกับจีวรครับ ไปไหนก็สะดวกมีผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าซ้อนไปแค่นั้นพอเบาดีด้วย เวลาซักก็เปลี่ยนเอาสังฆาฏิมานุ่งแทนสบง เอาสบงซัก สบงแห้งเอามานุ่ง เอาจีวรซัก เอาสังฆาฏิห่มแทนจีวรสลับกันไป ตอนไปอยู่ในที่อากาศหนาวก็ต้องมีสังฆาฏิหนา ๆ หน่อย จะได้ห่มทับจีวรให้อุ่นเพราะนอกจากสามผืนนี้แล้วไม่ใช้ผ้าอื่นอีกแล้วนะครับ จีวรบางสังฆาฏิบางก็หนักใจหน่อยละ ฝึกความอดทนทางอ้อม อีกอย่างฝึกไม่ให้สะสมผ้าไว้ใช้มากด้วยครับ เอาแค่สามผืนพอ

 

..........๓. ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 
บาลีว่า
 อะติเรกะลาภัง ปะฏิกขิปามิ ปิณฑะปาติกังคัง สะมาทิยามิ 
แปลว่า เรางดอติเรกลาภเสีย สมาทาน

องค์ของผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร
 หมายถึงไม่รับกิจนิมนต์ไปฉันอาหารที่ไหนนะครับ รับแต่อาหารที่เขาใส่บาตรตอนบิณฑบาตรเท่านั้น และตอนเดินบิณฑบาตรเท่านั้น พอนั่งลงแล้วไม่รับอาหารที่เขาเอามาถวายภายหลังครับ บิณฑบาตรได้แค่ไหนก็ฉันแค่นั้น ใครถวายอะไรภายหลังก็ไม่รับครับ รับตอนบิณฑบาตรอยู่เท่านั้น จะทำบุญกะพระแบบนี้โยมต้องเตรียมให้พร้อมนะครับเล็งดี ๆ ตอนท่านบิณฑบาตรอยู่เท่านั้นนอกเวลานั้นแล้วท่านไม่รับแล้วครับ เพื่อลดความติดใจในลาภลักการะครับ พอใจเท่าที่บิณฑบาตรได้และรับบาตรพอประมาณเท่านั้นครับ

 

..........๔. ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร 
บาลีว่า
 โลลุปปะจารัง ปะฏิกขิปามิ สะปะทานะจาริกกังคัง สะมาทิยามิ 
แปลว่า เรางดการเที่ยวโลเลเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ 
ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไป

ข้อนี้หนักกว่าข้อสามนะครับ เพราะนอกจากจะบิณฑบาตรอย่างเดียวแล้ว บางรูปท่านยังเดินไปแถวเดียวอีกต่างหาก นั่นคือเคยเดินแค่ไหนก็เดินแค่นั้นประจำทุกวัน เส้นทางเดิมทุกวัน ใครใส่ไม่ใส่ได้มากได้น้อยก็พอใจเท่าที่ได้ครับ ไม่ออกนอกแถวไม่ไปมากกว่าที่เคยไปทุกวัน แม้เขาจะนิมนต์ก็ไม่รับ แม้จะมีอาหารของชอบก็ไม่ออกนอกเส้นทางครับ ถ้าจะใส่ก็มาในเส้นที่ท่านเดินสิครับ ฮา แต่พระผู้ถือข้อนี้บางรูปท่านรับกิจนิมนต์ตอนเพลนะครับ แบบถือข้อนี้ข้อเดียวไม่ถือข้ออื่นยังงี้ก็มี
 จุดประสงค์เพื่อฝึกให้พอใจในบิณฑบาตรเท่าที่ได้ครับ แต่เชื่อเถอะครับพระที่ฝึกถึงขั้นแล้วเขาบิณฑบาตรตามกิจครับไม่ต้องถือเขาก็ไม่อยากได้มากอยู่แล้ว แค่เท่าที่พอฉันแค่นั้นก็แบกกลับไม่ไหวแล้ว ฮา 

ถ้าได้มากเกินไปตามวินัยต้องแบ่งอีกครับ ให้พระอาพาธ(ป่วย)บ้าง พระดูแลคนป่วยบ้าง พระสูงวัยบ้าง ถ้าไม่แบ่งผิดวินัยอีกครับ รับเยอะรับน้อยก็หวงไว้คนเดียวไม่ได้อยู่ดีละครับจะไปอยากได้ทำไม แต่พระบางรูปเขาปฏิบัติไม่พอก็ต้องฝึกไปละครับถือข้อนี้ก็ดี

บางรูปทำอย่างนี้เลยครับคือถือว่าได้มากได้น้อยไม่เกี่ยงแต่ได้มาต้องแบ่งพระสูงวัย หรือพระอื่นก่อนจึงจะฉัน เรียกว่าถ้าไม่ได้ทำบุญก่อนฉันข้าวไม่ลงว่างั้นเถอะครับ ยังงี้ก็มีครับ เป็นเรื่องด้วยครับได้ทำบุญต่อทุกเช้า

 

..........๕. ถือนั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร 
นานาสะนะโภชะนัง ปะฏิกขิปามิ เอกาสะนิกังคัง สะมาทิยามิ 
แปลว่า เรางดฉันต่างอาสนะเสีย

สมาทานองค์ของผู้ถือนั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร
 หมายถึง ฉันมื้อเดียวครับ เมื่อนั่งฉันลงแล้วใครจะเอาอาหารมาถวายทีหลังบางรูปก็ถือข้ออื่นด้วยก็ไม่รับบางรูปก็รับ แต่พอลุกจากอาสนะแล้วห้ามภัตรแล้ว ท่านไม่ฉันอีกแล้ว ไม่ว่าโยมจะเอาอาหารวิเศษอร่อยแค่ไหนมาก็ตาม โยมจะต้องเสียดายกันละ ข้อนี้ถ้าเป็นนิกายธรรมยุติ เขาบังคับเลยครับ หายห่วงฉันมื้อเดียวทุกองค์ จะว่าไปเมื่อก่อนพระก็ฉันมื้อเดียวครับ เพราะกว่าจะบิณฑบาตรได้กว่าจะได้ฉันก็เกือบเที่ยงเข้าไปแล้ว แต่โยมสมัยก่อนเห็นพระไม่มีแรงเดินไปบิณฑบาตรไกล ๆ เพราะบางเมืองพระเยอะต้องออกไปบิณฑบาตรบ้านโยมไกล ๆ ไปโปรดโยมด้วย พระบางรูปอายุมากแล้ว พระไม่มีแรงเดินโยมสงสารก็เลยขอถวายข้าวยาคู(น้ำข้าวต้มนี่แหละครับ ต้มเหลวจนเป็นน้ำใสเลย) เหยาะเหยาะเกลือนิดหน่อย พอได้เรี่ยวแรงมีกำลัง ตักถวายเลยครับตอนเช้าตรู่ ก่อนพระออกบิณฑบาตรก็รับยาคูคนละจวัก บางคนก็ดักที่หน้าประตูวัดกันเลยจ้วงใส่คนละจวัก ท่านก็ไปหาที่นั่งซดแล้วก็มีแรงลุกไปบิณบาตรได้ นานไปโยมยกเอาอาหารหนักมาแต่เช้าเลย พระเลยถือว่าเป็นอาหารเช้ากันไปเลย เลยกลายเป็นสองมื้อขึ้นมาสิครับ แต่ถ้ารับข้าวยาคูไม่ได้เคี้ยว นับแค่มื้อเดียวครับ

เพราะเหตุนี้แหละ นานไปจึงกลายเป็นการใส่บาตรเช้า และร่นเข้ามาจนหัวรุ่ง ฟ้ายังไม่ทันสางเลยก็มี (ฮา) ทั้ง ๆ ที่วินัยบอกไว้ให้ฟ้าสว่างมองเห็นลายมือใหญ่ก่อนจึงจะออกบิณฑบาตรได้ พระบอกก็เห็นแล้วไง เปิดไฟสว่างโร่ตลอดทาง ฮา
 

ฉะนั้นอย่าแปลกใจนะครับถ้า ๑๑ กว่าโมงแล้ว พระยังบิณฑบาตรอยู่ ให้เข้าใจว่าสมัยพุทธกาลพระองค์อนุญาตให้บิณฑบาตรหาอาหารได้จนเกือบเที่ยงนั่นแหละครับ ท่านยังไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ถ้าเลยเที่ยงแล้วยังบิณฑบาตรอยู่อันนั้นแหละน่าคิด ฮา

 

..........๖. ถือฉัน เฉพาะใน บาตรเดียวเป็นวัตร
ทุติยะภาชะนังปะฏิกขิปามิ ปัตตะปิณฑิกังคัง สะมาทิยามิ 
แปลว่า เรางดภาชนะที่สองเสีย

สมาทานองค์ของผู้ถือการฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร
 หมายถึงฉันอาหารในบาตรครับ ไม่ใช้จาน ถ้วยหรือภาชนะอื่น ทำให้ยุ่งยากเปล่า ๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้หลายวัดก็ยุ่งขิงกะจานวัดนี่แหละครับ บางวัดเลยออกกฎฉันในบาตรไปเลยได้ธุดงค์ไป ๑ ข้อ ไปไหนก็ต้องพาบาตรไปด้วย โยมจะใส่จานถวายก็ไม่รับต้องใส่บาตรเท่านั้น บาตรใครบาตรท่านครับ ฉันเอง ล้างเองดูแลกันเอง มีวินัยเกี่ยวกับบาตรไว้ให้อยู่แล้ว ไม่เดือดร้อนโยมรอล้าง บางแห่งให้พระตักใส่บาตรเท่าที่ต้องการแล้วที่เหลือโยมตักต่อได้เลยก็มี พระจะฉันเท่าไหร่ก็กะประมาณเอาเอง(จำไว้นะครับ พระปฏิบัติเขาจะตักแค่ครั้งเดียวเท่านั้นใส่บาตร จะไม่ลุกมาตักรอบสองรอบสามเด็ดขาด เดี๋ยวโยมไม่รู้จะน้อยใจว่าทำไมของเหลือเยอะ ทำไมท่านไม่วนมาตักอีกรอบ ท่านเอาไปเท่าที่ท่านฉันหมดแหละครับ เรียกว่ารู้จักประมาณในการบริโภค ตักไปแล้วต้องหมดด้วยนะครับ(อันนี้พระที่เคร่งจะรู้กัน)ในสำนักถ้าใครตักไปแล้วฉันไม่หมดเหลือทิ้งจะโดนเขม่นว่าไม่รู้จักประมาณ ตักด้วยความโลภไม่พิจารณา พออิ่มเหลือแล้วเมตตาเกิด ฮา จะโดนพระผู้ใหญ่ตำหนิให้คิดครับ 

ทีนี้ปัญหามันเกิดตรงนี้แหละ บางสำนักเขาเข้าใจผิดว่า การฉันในบาตรคือเอาข้าวแกงกับปนกันให้หมดแล้วฉัน บางคนคลุก ๆ กวน ๆ ทั้งของหวานของคาวแล้วฉัน อันนั้นเอาตามความจริงผิดนะครับ ผิดตรงไหน(บางคนอาจจะสงสัย) ก็โยมลองนึกดูถ้าไม่คิด ไม่ว่า ไม่ตำหนิ ไม่เป็นไร แต่ถ้าโยมคิดแม้แต่นิดเดียวว่า

ดูสิ เราอุตส่าห์ทำของดี ๆ มาถวายท่านทั้งนั้น อันนั้นก็อร่อยอันนี้ก็อร่อย ท่านเอาไปคลุกรวมกันจนหมดรสชาติที่อุตส่าห์ทำมา เสียของหมดเลย ยังงี้จะทำอร่อยไปทำไมกัน ถ้าโยมคิดแบบนี้นิดเดียว พระรูปนั้นต้องอาบัติทันทีครับ โลกวัชชะ ทำให้โยมติเตียนเอาได้ ทำให้ความศรัทธาโยมลดลงไปด้วย แต่ถ้าโยมไม่คิด ไม่ติ ไม่เป็นไรแต่บางคนคิด แค่บางคนก็โดนแล้วครับไม่ต้องคิดหลายคน  ถ้าจะให้ละเอียดต้องละเอียดถึงขั้นนี้ครับ ของจริงเขาให้แยกข้าวแยกแกงใส่ลงในบาตรครับ ใส่รวมกันก็ได้ แต่ทำเหมือนข้าวราดแกง แยกไว้ไม่ต้องคลุกรวมกัน ก็ฉันได้ ถามว่าแล้วให้พิจารณาปฏิกูลตอนไหน ตรงนี้แหละครับพระหลายรูปยังพิจารณาผิดเลยครับ  เขามิได้ให้พิจารณาในบาตรหรือในจาน แต่ให้พิจารณาในปากครับ ดูคำแปล บท ยถาปัจจยัง.... จะรู้ แปลทำนองว่า สิ่งเหล่านี้นี่เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์.... สิ่งเหล่านี้คือบิณฑบาตร(อาหาร)และบุคคลผู้ใช้สอยบิณฑบาตรนั้น(ผู้กินอาหารนั้น)ครั้นมาถูกเข้ากับกายอันเน่าอยู่เป็นนิตย์นี้แล้ว ก็กลายเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่งไปด้วยกัน  คืออาหารกับคนกินนั้นต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างบูดเน่าไปตามกาลแต่พอเข้ามาเจอกันในปากเคี้ยวแล้วคลุกเคล้าน้ำลายแล้ว คายออกมา ส่งให้คนอื่นกินได้ไหมครับ นั่นแหละปฏิกูลชัด ๆ หน้าตายังกะอ้วกแมว อิอิ

เขาให้พิจารณาแบบนั้นแหละครับ เคี้ยวให้นานจะได้พิจารณานาน ๆ พระเดี๋ยวนี้ฉันอาหารเร็วมาก ไม่รู้จะรีบไปไหนกัน ไม่ได้พิจารณากันเลย

 

.........๗. ถือห้ามภัต อันนกถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร 
อะติริตตะ-โภชะนัง ปะฏิกขิปามิ ขะลุปัจฉาภัตติกังคัง สะมาทิยามิ 
แปลว่า เรางดโภชนะอันเหลือเฟือเสีย 


สมาทานองค์แห่งผู้ห้ามภัตอันนำถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว ตัดสินใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้มีใครนำอะไรมาถวายเพิ่มอีก ก็จะไม่รับอะไรเพิ่มอีกเลย ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตาม เมื่อบิณฑบาตรมาแล้วได้แค่ไหนก็แค่นั้น โยมมาถวายทีหลัง หลังจากนั่งลงแล้ว หรือหยุดฉันไปแล้วก็ไม่รับอีกครับ(อธิบายข้างต้นไว้บ้างแล้ว) 

ข้อนี้พระบางรูปโยมไม่เข้าใจ เสียศรัทธากันไปหลายเหมือนกันครับ ต้องประกาศให้รู้กันก่อนไม่งั้นโยมเสียใจ ตั้งใจเอามาถวายท่าน เวลาก็ยังมีอยู่ยังไม่เลยเพล แต่ท่านไม่รับซะงั้น ช่วงไหนถือช่วงไหนไม่ถือ ต้องบอกโยมครับ ถ้าไม่ถือตลอดก็ไม่บอกพระโดนด่าแน่ ฮา เพราะเอาแน่ไม่ได้พระบางองค์สมาทานถือในพรรษาเท่านั้นก็มี หรือบางสำนักถือตลอดก็มี ต้องประกาศให้โยมเข้าใจครับ ไม่งั้นโยมที่ไม่เข้าใจก็ติเตียนเอาอีกแหละ พระก็ไม่พ้นอาบัติอีกแหละครับ ขนาดธุดงค์อยู่ยังไม่พ้นหงะ คิดดู

 

.........๘. ถืออยู่ป่าเป็นวัตร 
คามันตะเสนะสะนัง ปะฏิกขิปามิ อารัญญิกังคัง สะมาทิยามิ 
แปลว่า เรางดเสนาสนะชายบ้านเสีย สมาทาน

องค์แห่งผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรหมายถึงอยู่แต่ในป่าไม่เข้าบ้าน เข้าเมืองเลยครับ เพื่อไม่ให้ความพลุกพล่านวุ่นวายของเมืองรบกวนการปฏิบัติ หรือเพื่อป้องกันการพอกพูนของกิเลส  บางองค์ไม่แวะมาบิณฑบาตรในเมืองด้วยซ้ำ แต่บางรูปก็มาครับ(แล้วแต่เคร่งไม่เคร่ง) ย้ายป่าไปเรื่อย ไม่มีสิ่งก่อสร้างถาวรนะครับ ที่เขาสร้างวัดป่า สร้างโน่นสร้างนี่ สร้างหนี้ กันนั้นผิดกฎธุดงค์อยู่ป่านะครับ อยู่ป่าของจริง ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ห้ามสร้างถาวรวัตถุครับ ห้ามขอสร้างที่พักสงฆ์ด้วยครับ สร้างแล้วอยู่เลยเล็ก ๆ ไปได้ ใหญ่ ๆ ห้ามครับ ไม่งั้นบ้านจะรุกป่า ทีนี้แหละเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเล่นงานพระละ  ในพรรษาข้อนี้อยู่ได้ต้องมีที่มุงบังเรียบร้อยครับเพราะต้องอยู่ประจำที่ห้ามย้ายไปเรื่อยแม้ในป่าก็ตาม มุงบังชั่วคราวอยู่ครบสามเดือนจึงจะย้ายได้(ทำตามกติกาจำพรรษาครับ)


 

..........๙. ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร   
ฉันนัง ปะฏิกขิปามิ รุกขะมูลิกังคัง สะมาทิยามิ 
แปลว่า เรางดที่มุงที่บังเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร 

ข้อนี้คือถือนั่งโคนต้นไม้ครับ ไม่เข้านอนในกุฏิที่ใด ๆ ไม่ว่าในบ้านหรือในป่า หรือในที่มุงบังอื่น นอนใต้โคนต้นไม้อย่างเดียวครับ งดเว้นจากการอยู่ในที่มีหลังคาที่สร้างขึ้นมามุงบัง  ในพรรษาข้อนี้ห้ามถือครับ เพราะไปขัดกับกฎของการจำพรรษา ต้องหาที่มุงบังครับถือในพรรษาไม่ได้ครับ นอกพรรษาไม่ห้าม 

 

..........๑๐. ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร  
ฉันนัญจะ รุกขะมูลัญจะ 
ปะฏิกขิปามิ อัพโภกาสิกังคัง สะมาทิยามิ
แปลว่า เรางดที่มุงที่บัง
และโคนไม้เสีย

สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ข้อนี้หนักกว่าข้อ 9 ครับเพราะข้อนี้จะถือไม่อยู่ใต้ร่มเงาใด ๆ เลยแม้ร่มเงาต้นไม้นะครับ ไม่ว่าจะแดดออก ฝนตก ลมพัดอากาศหนาว ถืออยู่กลางแจ้ง ยืน เดิน นอน นั่ง แต่กลางแจ้งเท่านั้นครับ ข้อนี้ในพรรษาก็ห้ามเหมือนกันครับต้องงดเว้นสามเดือน เพราะขัดกับข้อกำหนดการจำพรรษาครับ ปัจจุบันหายากแล้วครับเพราะข้อนี้ แดดร้อนอาจทำให้ตายได้ถ้าไม่เข้าร่ม แต่ก็มีพระปฏิบัติกันบางฤดูครับเช่นฤดูหนาวเป็นต้น

 

.........๑๑. ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร  
อะสุสานัง ปะฏิกขิปามิ โสสานิกังคัง 
สะมาทิยามิ 
แปลว่า เรางดที่มิใช่ป่าช้าเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่ป่าช้า

เป็นวัตร ข้อนี้หมายถึงอยู่ป่าช้าสมัยก่อนที่เขาเอาศพดิบมาทิ้งให้เน่าเปื่อย ให้แร้งกากินนะครับ หรือให้คนรับจ้างเผา การอยู่ป้าช้าสมัยก่อนอันตรายครับ ต้องแจ้งเจ้าของที่ด้วยว่าไปอยู่ ป้องกันถูกหาว่าเป็นโจรปล้นเขาหนีมา(เพราะโจรชอบไปแอบในป่าช้าเหมือนกัน)ต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าหน้าที่ว่ามีพระอยู่จะได้มีคนยืนยันว่าพระจริงจะได้ไม่จับผิดตัว เพราะป่าช้าสมัยก่อนมันรกทึบห่างไกลบ้านคนจริง ๆ ครับ อาจถูกเข้าใจผิดได้  และไปอยู่แล้วต้องเคร่งวินัยครับ ห้ามนอนกลางวันห้ามนอนกลางคืน ต้องงดกินเนื้อสัตว์ เพราะจะมีกลิ่นล่อสัตว์ร้ายมาหา และกฏหยุมหยิมอีกหลายข้อครับ เพราะป่าช้าน่ากลัวมากสมัยก่อน อมนุษย์ก็เยอะครับ ปัจจุบันไม่ค่อยมีป่าช้าให้อยู่แล้วครับ ถึงมีก็ไม่น่ากลัวแล้ว

 

..........๑๒. ถือการอยู่ใน เสนาสนะอันท่านจัดให้อย่างไรเป็นวัตร  
เสนาสะนะโลลุปัง ปะฏิกขิปามิ ยะถาสันถะติกังคัง สะมาทิยามิ
แปลว่า เรางดความโลเลในเสนาสนะเสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ในเสนาสนะ

อันท่านจัดให้อย่างไร ข้อนี้หมายถึงฝึกเป็นคนง่าย ๆ ครับ เขาจัดให้พักที่ไหนก็พักที่นั่น(ข้าน้อยชอบถือข้อนี้แหละ)เขาให้อยู่กุฏิไหนก็อยู่กุฏินั้น ไม่ขอเปลี่ยน ไม่เอะอะโวยวาย จะฝนตกหลังคารั่ว ร้อนหนาว สบายไม่สบาย ก็อยู่ได้ครับ (แอบนอนในห้องน้ำยังเคยมาแล้วเลยครับถ้ามันหลบร้อนได้ ฮา) โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบาย หรือถูกใจหรือไม่ และเมื่อมีใครขอให้สละที่พักที่กำลังพักอาศัยอยู่นั้น ก็พร้อมจะสละได้ทันที

 

..........๑๓. ถือการนั่งเป็นวัตร  
เสยยัง ปะฏิกขิปามิ เนสัชชิกังคัง
สะมาทิยามิ
แปลว่า เรางดการนอนเสีย

สมาทานองค์ของผู้ถือการนั่งเป็นวัตร ข้อนี้คือ ไม่นอน ไม่เอาหลังไปพิงข้างฝาครับ(ถือ ตามเวลาที่สมควร ไม่ใช่ถือกันตลอดวัน ถือเฉพาะเวลา เช่น เวลานั่งกรรมฐานเป็นต้น ถ้านั่งตัวตรงไม่เอามือยัน ...ถือเป็นขั้นอุกฤษณ์ ถ้าเอามือยัน...ขั้นธรรมดา..หย่อนไปหน่อย ถ้าหลังแตะพื้น..ก็ถือว่าขาดจากธุดงค์ข้อนี้)

 

อยู่ใน ๓ อิริยาบถเท่านั้นคือ ยืน เดิน นั่ง ตลอดเวลาที่สมาทาน กอดหมอนหลับได้ไม่ผิดกติกา หลังห้ามแตะพื้น ห้ามพิงเท่านั้น ยืนหลับได้ นั่งคู้มาข้างหน้าได้ครับ แต่ห้ามเอนหลัง ข้อนี้ยากสุดครับ กระดูกที่เอวจะร้อนมากทีเดียวครับปวดไปหมดทั้งตัวเชียว บางคนถึงกับตาบอดเพราะอดหลับอดนอนครับ

 

 ไม่แนะนำให้สมาทานติดต่อกันตลอดชีวิตถ้าไม่มีครูอาจารย์แนะนำครับ เพราะต้องมีจังหวะหลับ(ไม่นอนแต่หลับได้ เก่งมั๊ยละพระเรา) ยกเว้นมอบกายถวายชีวิตให้พระพุทธเจ้าแล้ว ใครจะทำก็ทำครับ ข้าน้อยลองแล้วได้ ๓ วัน ไข้ขึ้นเลยครับ ปวดจะตาย สมองเบลอไปหมด มันเข้มเกินไปครับ อีกอย่างถ้าไม่ฝึกสมาธิกัมมัฏฐานควบคู่ สมองจะเสื่อมเร็วมากครับแบบนี้ เพราะอดหลับอดนอน สมองจะตื้อมาก แต่ดีที่จะไม่คิดฟุ้งซ่านครับ เพราะสมองตื้อไปแล้ว แม้สติก็เลอะเลือนได้ง่าย ๆ ไม่เหมาะกับสายปัญญาหรือนักเรียนที่ยังต้องเรียนพระธรรมอยู่ เหมาะกับสายกัมมัฏฐานอย่างเดียวมากกว่าครับ ทำแบบไม่ต้องคิดอะไร หรือพระที่สมาธิเข้มแล้วต้องการฝึกให้มากขึ้นก็สามารถสมาทานได้เลยครับ เคยมีพระสมาทานไม่นอนตลอดชีวิต ทำได้ตลอดชีวิตด้วยครับ ในเมืองไทยที่นี่แหละ หลวงปู่ท่านมรณภาพไปเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๒(เขาว่าท่านได้ขั้นอรหันต์ด้วยครับ) แถมไม่เคยออกไปเดินธุดงค์ทางไกลที่ไหนนอกจากในวัดด้วยครับ เป็นพระบ้าน ๆ ขนานแท้เลยครับ

 


ใครจะถือข้อไหน หรือถือกี่ข้อก็แล้วแต่ความขยัน แล้วแต่ศรัทธาขอรับ จะถือข้อเดียวก็ไม่ว่าหลายข้อก็ไม่ว่า ทุกข้อก็ไม่ว่า ถือบางคราวหรือถือตลอดก็ไม่ว่าครับ ให้พิจารณากันเอาเอง

 

หมดแล้วธุดงค์ ๑๓ ข้อไม่เห็นข้อไหนบอกว่าให้เดิน หรือขึ้นรถลงเรือไปเหนือล่องใต้เลยครับ ฉะนั้น อยู่วัดก็สามารถถือธุดงค์ได้ครับ  ใครที่คิดดูถูกพระบ้าน หรือพระบ้าน ๆ หรือนักเรียนบาลีเรียนเปรียญธรรม ซึ่งต้องอยู่สำนักเรียนในเมืองไม่ได้ไปป่า จะได้กระจ่างแจ้งแก่ใจว่า อยู่วัดที่ไม่ใช่วัดป่าก็ถือธุดงค์ได้ครับ ในกรุงเทพมีหลายวัดพระเขาก็ถือกันอยู่ ใช่อยู่ที่สีจีวรว่าต้องสีเข้มจึงจะพระธุดงค์เท่านั้น พระธรรมดานี่แหละครับถือธุดงค์กันมาเยอะแล้ว พระมิได้สักหน้าผากหรือแขวนป้ายไว้นี่ครับว่า กำลังถือธุดงค์อยู่ เขาไว้ฝึกฝนตัวตนภายในใช่อวดโอ่ ว่า หลวงพี่ถือธุดงค์ นะจ๊ะ
 

 

ถ้ามัวดูถูกว่าเป็นพระบ้านมิใช่พระป่า หรือพระบ้าน ๆ ทำตัวไม่น่านับถือ อาจจะพลาดพลั้งปรามาสพระดีเอาได้นะครับ เพราะพระบางรูปท่านก็เชื่อไม่ได้(เคยเจอมาแล้ว) ทำตัวบ้า ๆ บอ ๆ ไม่มีอะไร แต่จิตใจฝึกฝนไปไกลแล้ว ต้องพระระดับเดียวกันเท่านั้นจึงจะรู้ครับ บางรูปถึงขั้นได้อภิญญาแล้วก็มี แต่ต้องทำตัวบ้า ๆ บอ ๆ เพราะกลัวคนเขาจะรู้ แล้วมานับถือมาเบียดเบียน จะอยู่ไม่สุขกันเพราะโยมนั่นแหละ เฮมาทำบุญจนไม่ได้พักผ่อน พระเลยต้องอยู่บ้า ๆ ไม่น่านับถือตบตาครับ บางรูปก็เป็นพระลูกวัดไม่รับตำแหน่งอะไรอยู่สบายไม่มีใครกวน เพราะโยมส่วนใหญ่เน้นไปหาเจ้าอาวาส  ดูให้ดีนะครับ บางรูป เหมือนจะถือแต่ไม่ถือเหมือนจะไม่ถือแต่ถือครับ ประเภทนี้แหละระวังให้ดี เจอพระดีเข้าไปบุญจะลดจะได้บาปมาแทนนะครับ

 

เรื่องสีจีวรนี่ พระใหม่โดนกันเยอะเลยครับ ไม่ว่าพระบ้านหรือพระป่าแหละครับ พระใหม่ ห้ามห่มจีวรสีคล้ำเข้มครับ โดยเฉพาะสีดำ สีเปลือกมังคุด หรือสีน้ำตาลออกคล้ำ(อันนี้ทั้งพระทั้งโยมไม่รู้) เพราะว่าเป็นสีของพระเถระครับ ต้อง ๑๐ พรรษาขึ้นไปเท่านั้นจึงจะห่มได้เรื่องเคยมีมาแล้วครับ พระใหม่ห่มสีเข้มไปนั่งกลางศาลาระหว่างทาง พระเถระพรรษามากผ่านมาก็ไม่ลุกรับ ทำให้พระที่พรรษาเยอะเข้าใจผิดนึกว่าเป็นพระเถระพรรษามาก ไปหลงไหว้อยู่นานจนพอถามธัมมะกลับบอกว่าไม่รู้ เพิ่งบวชพระมาใหม่ เลยโดนตำหนิเสียยกใหญ่ ตั้งแต่นั้นห้ามพระใหม่ห่มจีวรเทียบชั้นพระเถระครับ แต่ถ้าคิดว่าตนมีคุณวิเศษพอเข้าเกณฑ์พระเถระ ห่มได้ครับ ถ้าไม่มีจริงอวดอุตริมนุสธรรมทำห่มสีเข้มหวังให้ญาติโยมเข้าใจผิดหลงนับถือ หวังน้อมลาภจะโดนอีกกระทงหนึ่งครับ