www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

พระไตรปิฎก กับ การธำรงพระพุทธศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2011-11-22 08:52:54

 

พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองก่อนปรินิพพาน ซึ่งเราจำกันแม่นทีเดียวว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานล่วงลับไป ไม่ได้ทรงตั้งพระภิกษุองค์ใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่พระองค์ได้ทรงมอบหมายให้ชาวพุทธได้รู้กันว่า พระธรรมวินัยนั้นแหละเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ ชาวพุทธจำนวนมาก
ถึงกับจำพุทธพจน์ภาษาบาลีได้ว่า

“โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา”

แปลว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายโดยกาลที่เราล่วงลับไป

นี้คือพุทธพจน์ที่ให้เห็นว่า พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยนี้ก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเอง พระธรรมวินัยจึงเท่ากับเป็นองค์พระศาสดา และเป็นตัวพระพุทธศาสนา

ธำรงพระพุทธศาสนาได้
เมื่อพระไตรปิฎกอยู่คู่พุทธบริษัท ๔

องค์ประกอบใหญ่ๆ ในการรักษาพระพุทธศาสนา มี ๒ อย่าง คือ
๑. ผู้ที่จะรักษาพระพุทธศาสนา ก็คือพุทธบริษัท ๔ การที่จะรักษาก็ต้องมีคนที่จะรักษา ไม่อย่างนั้นจะไปรักษาได้อย่างไร คนที่จะรักษาพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า ได้แก่ พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เวลานี้ภิกษุณีไม่มีแล้ว ก็ไม่เป็นไร พุทธบริษัทที่อยู่นี่เราก็ถือว่าเหมือนกับบริษัท ๔ ยังทำหน้าที่กันอยู่ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นบรรพชิต กับคฤหัสถ์ หรือชาววัด กับชาวบ้าน หรือพระสงฆ์ กับญาติโยม พุทธบริษัท ๔ เป็นผู้รักษาพระพุทธศาสนา
๒. เนื้อตัวของพระพุทธศาสนาที่เราจะรักษานั้น ก็อยู่ที่พระไตรปิฎก เนื้อตัวของพระไตรปิฎก หรือตัวพระพุทธ-ศาสนาแท้ๆ ที่อยู่ในพระไตรปิฎกนั้น เราเรียกว่าพระธรรมวินัย พระธรรมวินัยเป็นตัวหลักการ
เป็นอันว่ามี ๒ ฝ่าย คือ
๑. ตัวคนที่จะรักษาพระพุทธศาสนา ได้แก่พุทธบริษัท ๔
๒. ตัวพระพุทธศาสนาอันเป็นหลักการที่เราจะต้องรักษา ได้แก่พระธรรมวินัยที่อยู่ในพระไตรปิฎก

สองอย่างนี้อาศัยซึ่งกันและกัน พระธรรมวินัยที่เป็นหลักของพระศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะดำรงอยู่ และจะเกิดผลเป็นประโยชน์ ก็ต้องมาปรากฎที่ตัวพุทธบริษัท ๔ ต้องอาศัยพุทธบริษัท ๔ เป็นทั้งที่รักษาไว้ และเป็นที่ปรากฏผล หรือเป็นที่จะนำไปใช้ประโยชน์

พร้อมกันนั้นในเวลาเดียวกัน พุทธบริษัท ๔ จะมีความหมายเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้ และจะได้ประโยชน์เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา ก็เพราะมีธรรมวินัยที่รักษาไว้ในพระไตรปิฎกเป็นหลักอยู่

ฉะนั้น สองอย่างนี้จึงต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เท่ากับเป็นเครื่องเตือนใจว่า เราชาวพุทธ หรือพุทธบริษัททั้ง ๔ นี่แหละ คือผู้มีหน้าที่ที่จะรักษาพระพุทธศาสนา และการรักษาพระพุทธศาสนานั้นก็ทำได้ด้วยการรักษาพระธรรมวินัย และจะรักษาพระธรรมวินัยได้ก็ด้วยการเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติ ให้พระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเกิดประโยชน์เป็นจริงขึ้นแก่ชีวิตของตนและแก่สังคมทั้งหมด
เราจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ก็ต้องให้พระไตรปิฎกยังคงอยู่คู่กับพุทธบริษัททั้ง ๔
ที่พูดมานี้มีความหมายว่า พุทธบริษัทจะต้องรำลึกตระหนักถึงความสำคัญของพระธรรมวินัย และพุทธบริษัทนั้นจะต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ด้วยการ เล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติ ทำให้เกิดเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตน และนำไปขยายผลให้เกิดเป็นประโยชน์แก่สังคมและแก่ชาวโลก
ทั้งหมด
ทั้งนี้ ให้สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พรหมจริยะ คือพระพุทธศาสนา ควรจะอยู่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน ถ้าพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ก็คือแก่มวลชน ตลอดจนให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งหมด ตามคติที่ว่า โลกานุกัมปายะ

 

นั่นคือหน้าที่ของพุทธบริษัท โดยเฉพาะพระภิกษุ ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก
นี่แหละคือความสัมพันธ์ระหว่างพุทธบริษัท ๔ กับพระธรรมวินัย ซึ่งจะต้องระลึกตระหนักไว้ให้ดี
บัดนี้ พวกเราเหล่าพุทธบริษัท ทั้ง ๔ มาประชุมพร้อมกันแล้ว เรากำลังทำหน้าที่ของชาวพุทธ คือการรักษาพระพุทธศาสนา โดยเริ่มต้นด้วยการเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก วันนี้เราจึงพร้อมใจกันมาร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก แสดงว่าอย่างน้อยเราเห็นความสำคัญของพระ-ไตรปิฎกแล้ว แต่อย่าเอาแค่เห็นความสำคัญ
การเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกนั้น แน่นอนว่าสำคัญอย่างยิ่ง เวลานี้เรารู้จักพระไตรปิฎกกันน้อยไปหน่อยเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกกันน้อยไปหน่อย ต่อไปนี้จะต้องรู้จักพระไตรปิฎกกันให้มาก และเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกกันให้มาก
เมื่อเห็นความสำคัญแล้วก็ชวนกันรักษา ชวนกันรักษาอย่างไร ก็มาเล่าเรียน มาชวนกันอ่าน มาชวนกันเรียน มาเล่าให้กันฟัง มาอธิบายให้กันฟัง ครั้นเล่าเรียนแล้วก็เอาไปใช้ปฏิบัติ โดยนำเอาความรู้เข้าใจที่ได้ศึกษามาแล้วนั้นไปพัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา ขัดเกลาพฤติกรรม กาย วาจา ของตน พัฒนาจิตใจของตน พัฒนาปัญญาของตน ให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นใน ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะได้รับประโยชน์เสวยผลที่พึงเกิดมีจากพระพุทธศาสนา
ที่กล่าวมานี้คิดว่าเป็นคุณค่าซึ่งจะเกิดขึ้นจากการฉลองหรือสมโภชพระไตรปิฎกครั้งนี้ด้วย หมายความว่า การสมโภช ฉลองพระไตรปิฎกจะเกิดผลแท้จริง ก็ต่อเมื่อไปออกผลแก่ชีวิตและสังคมของชาวพุทธ ตลอดจนคนทั้งโลก เรียกว่านำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ชาวโลกทั้งปวง

 

ขอให้การสมโภชเฉลิมฉลองพระไตรปิฎกของมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยครั้งนี้ จงเกิดผลอำนวยประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา แก่ชีวิตของชาวพุทธทุกคน และแก่ชาวโลกทั้งมวล ให้อยู่ในความดีงามและร่มเย็นเป็นสุข ตลอดกาลยั่งยืนนานทุกเมื่อ

 
 
ที่มา : * ปาฐกถาธรรมของพระธรรมปิฎก โดยวีดิทัศน์ (ถ่ายที่วัดญาณเวศกวัน เนื่องจากพระธรรมปิฎกอาพาธ)