พระพุทธศาสนากับการศึกษา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2011-11-02 07:59:32
พระพุทธศาสนากับการศึกษา
เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างการศึกษาแนวพุทธกับการศึกษาที่เป็นกระแสใหญ่ในปัจจุบัน จึงขอกล่าวถึงปัญหาของการศึกษาในปัจจุบัน ในประเด็นหลัก การศึกษาที่เป็นทางการทั่วโลกเป็นส่วนใหญ่ ศึกษาโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เราอาจจะคุ้นเคยกับเรื่องนี้จนเห็นเป็นธรรมดาหรือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อเอาวิชาหรือ ศาสตร์ ต่างๆ เป็นตัวตั้ง แต่ไม่เอาความจริงของชีวิต เป็นตังตั้ง ก็ไม่เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ในความเป็นจริงของชีวิต ประกอบด้วยตัวเราเอง ซึ่งมีกายกับใจ และมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม และสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมละเอียดอ่อน มีหลายมิติ เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง และซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมนุษย์เรียนรู้ โดยเอาวิชาหรือศาสตร์เป็นตัวตั้ง ก็ไม่เข้าใจตัวเอง และความเป็นจริงที่ซับซ้อน เมื่อไม่เข้าใจความเป็นจริง ก็ไม่สามารถจัดระบบชีวิต และการอยู่ร่วมกัน ให้เกิดสันติสุขได้ ตรงข้ามคนที่เรียนแต่ศาสตร์โดยไม่เข้าใจความเป็นจริงของทั้งหมด ศาสตร์ก็กลายเป็นเพียงเครื่องมือหรืออาวุธ หรือเป็น ศาสตรา ที่เอาไปใช้ในการแย่งชิงเท่านั้น ดังที่มักพูดเรื่อง แข่งขัน ซึ่งที่แท้ก็คือการแย่งชิง โลกทั้งโลกจึงเต็มไปด้วยการแย่งชิงในรูปแบบต่างๆ มนุษย์ที่ถืออาวุธคนละอย่าง บางคนถือมีด บางคนถือแหลน บางคนถือหลาว โดยไม่เข้าใจตัวเองและเข้าใจทั้งหมดแล้วเข้าแย่งชิงกัน คือคนป่าเถื่อน
การศึกษาในปัจจุบันนำมนุษย์ไปสู่ความป่าเถื่อนหรือไม่ เป็นคำถามที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ก็อยากจะตั้งเป็นคำถามไว้ ความรู้เป็นสิ่งที่ควรเรียน ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม ความรู้ทางโลกใช้ประกอบอาชีพได้ ส่วนความรู้ทางธรรมใช้เป็นเครื่องนำทางชีวิต สำหรับพระควรเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม ก็เพราะพระในฐานะเป็นผู้สอนพระพุทธศาสนา ท่านมีความรู้ทางธรรมเป็นฐานอยู่แล้ว ควรเรียนทางโลกเพิ่มเติม ก็เพื่อจะได้นำความรู้ทางโลกไปประยุกต์เข้ากับความรู้ทางธรรม แล้วนำออกมาเผยแพร่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสอนธรรมะมาก พูดแล้วคนจะเข้าใจง่าย พระสมัยโบราณท่านไม่ต้องเรียนทางโลก ก็เพราะสมัยโบราณนั้นวิชาการทางโลกยังไม่แพร่หลาย อีกทั้งสถาบันการศึกษาสมัยโบราณก็อยู่ในวัด พระเป็นครูสอน เมื่อคนเข้ามาเรียนโดยมีพระเป็นครู ก็เรียนกันเรื่องศาสนา
ส่วนสมัยปัจจุบัน สถาบันการศึกษาออกไปอยู่นอกวัด บางแห่งแม้จะอยู่ในวัด แต่ระบบก็จัดตามการศึกษาที่ทางโลกเขาจัด วิชาการสมัยใหม่ก็มีมากขึ้น คนรุ่นใหม่ก็เรียนเอาแต่วิชาการสมัยใหม่ เลยเหินห่างเรื่องของศาสนา พระจะไปสอนเขา ก็จะพูดแต่ธรรมะอย่างก็เป็นเรื่องแปลกสำหรับเขาไป เลยมีความจำเป็นที่พระจะต้องรู้ทางโลกบ้าง เพื่อจะได้พูดธรรมะให้เป็นของร่วมสมัย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงทราบปัญหานี้ดี พระองค์จึงสนับสนุนให้พระเรียนทางโลก จะเห็นได้จากการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งขึ้น คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ และสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู ทุกวันนี้ ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่า พระควรเรียนทางโลกหรือไม่? แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า พระท่านจะเรียนแต่วิชาการโลกอย่างเดียว ไม่เรียนทางธรรม อันนี้สิน่าเป็นห่วงมากกว่า.