www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

พื้นฐานการปฏิบัติที่คนสมัยนี้พากันละเลย จาก ธรรมะหลวงปู่ดู่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2011-05-16 12:31:55

                                      พื้นฐานการปฏิบัติที่คนสมัยนี้พากันละเลย จาก ธรรมะหลวงปู่ดู่

ในสมัยก่อนหลวงปู่จะให้ลูกศิษย์พากันหมั่นบริกรรมภาวนา ไตรสรณคมณ์คือ "พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉรามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ"
หลวงปู่เคยสอนว่า "ถ้าแกหลับไปกับคำบริกรรมภาวนา แล้วตื่นมาพร้อมกับคำบริกรรม จึงจะใช้ได้"ซึ่งช่วงนั้น หลายคนที่พยายามฝึกฝนให้ได้อย่างนั้น และบางคนก็ทำสำเร็จ คือพอตื่นนอนขึ้นมา ความรู้สึกตัวเหมือนกับว่าในใจยังท่องบริกรรมภาวนาอยู่อย่างต่อเนื่อง
สมัย นั้น ลูกศิษย์ที่รู้ (จำ)มาก ก็ตั้งข้อสงสัยว่าหลวงปู่เน้นสมถะมากเกินไปกระมัง หลวงปู่น่าจะเน้นด้านวิปัสสนาจึงจะถูกแต่แล้วประสบการณ์ในการ ปฏิบัติธรรมนานปีเข้า จึงทำให้เห็นความฉลาดหลักแหลมของผู้เป็นครูบาอาจารย์ใคร ๆ ก็บอกว่าจะฝึกสติ แต่อุบายของการฝึกสติกลับไม่ค่อยนึกถึง ซึ่งแท้จริงแล้ว การหมั่นบริกรรมภาวนานี้แหละคืออุบายการฝึกสติที่ดีมาก ๆ ฝึกให้เรารู้เนื้อรู้ตัวตลอด ไม่ให้จิตเพ่นพ่านออกไปอย่างขาดสติ บางคนก็บอกว่าต้องดูจิต หลวงปู่ก็สอนให้ดูจิต แต่ท่านก็รู้ว่าจิตเป็นของยากที่จะดู อุปมาจิตก็เหมือนลิงที่อยู่ในป่ากว้าง เราจะจับมันได้อย่างไร วิ่งไล่มันในป่าก็มีหวังหมดอายุขัยก่อนที่จะจับมันได้ ด้วยเหตุที่จิตเป็นของที่ดูยากรู้ยาก พระพุทธเจ้าจึงให้อุบายตะล่อมให้จิตมาอยู่ในขอบเขตที่แคบเข้า นั่นก็คือ กรรมฐาน ซึ่งพระองค์ก็ให้อุบายกรรมฐานมาตั้ง ๔๐ อย่าง ตามแต่อุปนิสัยของผู้ฝึก

ดังนั้น ในการที่จะดูจิตจึงต้องอาศัยกรรมฐานเพื่อให้จับตัวจิตหรือจิตได้ง่ายเข้า ถนัดเข้า ถ้าจิตเป็นของดูได้ง่าย ๆ พระพุทธเจ้าก็ไม่มีความจำเป็นต้องสอนกรรมฐาน ดังนั้น ไม่ว่าสายหลวงปู่มั่น สายหลวงพ่อวัดปากนั้น สายหลวงพ่อปาน ฯลฯ ก็ล้วนให้เพียรฝึกกรรมฐานก่อนทั้งนั้น เป็นแต่ใช้คำบริกรรมต่างกัน เช่น พุทโธบ้าง สัมมาอะระหังบ้าง นะมะพะทะบ้าง แต่สุดท้ายก็ไปสู่จุดเดียวกันคือความสงบตั้งมั่นของจิตเหมือนกัน ทีนี้ จะดูจิตดูอารมณ์ก็ดูไปให้มันถนัดจับปลาช่อน มองดูเฉย ๆ ก็จับมันไม่ได้ จับมันแรงไปมันก็ลื่นปื๊ดหลุดมือไป จับเบาไปมันก็หลุดหนีไปอีก จึงต้องจับพอดี ๆ วางใจพอดี ๆ บังคับเหมือนกัน แต่บังคับพอดี ๆ ปลาช่อนหรือจิตมันจึงจะอยู่มือ หลังจากนั้นจะนำมาดัดมาฝึกก็ค่อยเริ่มจากจุดนี้

การบริกรรมภาวนาให้ ได้ตลอดทั้งวัน อย่างที่หลวงปู่บอกไว้ว่าให้ทำทั้งหลับตา ลืมตา เดิน ยืน นั่ง นอน ขึ้นรถ ลงเรือ หุงข้าว ทำแกง ฯลฯ แต่ละคืน ๆ ให้บริกรรมไปจนหลับ ตื่นมาก็สังเกตว่ารู้สึกตัวปุ๊บก็บริกรรมต่อเนื่องไปอีกแต่แน่นอนใน ยามที่ต้องมุ่งเน้นกิจกรรมเฉพาะหน้าเช่นหน้าที่การงาน การบริกรรมก็อาจต้องผ่อนลงมา แต่พอว่างจากกิจกรรมก็ทำให้หนักขึ้น ชัดขึ้นดังเดิมอีก ยอย่างนี้จึงจะเรียกว่าทำด้วยอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ ความพอใจใครปฏิบัติ วิริยะ ความเพียรไม่ท้อถอยยอมแพ้ จิตตะ จดจ่อต่อเนื่องทุก ๆ อิริยาบท ไม่ขาดวรรคขาดตอน และวิมังสัง ใช้ปัญญาสอดส่องการวางใจหนักเบาตามควรแก่กาละเทศะ หรือสถานการณ์

ทีนี้ก็จะได้ตระหนักถึงอุบายสร้างพื้นฐานการปฏิบัติธรรมที่สำคัญยิ่งที่หลวง ปู่ท่านเมตตาให้ไว้ ซึ่งหากปฎิบัติได้ก็จะเป็นเหมือนฐานเจดีย์ที่พร้อมต่อการก่อสร้างหรือต่อยอด ต่อไปได้อย่างมั่นคง มิให้ยอดเจดีย์ถล่มครืนลงมาได้โดยง่าย เพราะสติคือธรรมที่มีอุปการะมาก