www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

ทำดีได้ดีมีที่ไหน? ทำชั่วได้ดีมีถมไป
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2011-05-16 12:30:30

                                                        ทำดีได้ดีมีที่ไหน? ทำชั่วได้ดีมีถมไป

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ปัจจุบันคงไม่ค่อยได้ยินกันแล้ว เดี๋ยวนี้คงเป็น "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป"คำพูดนี้อาจจะออกมาจากความท้อแท้หรือน้อยเนื้อต่ำใจ ของคนที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี เห็นแต่คนที่ทำไม่ดีกลับได้ดี

1.ทำดี แล้วจะเอาอะไรมาวัดการทำความดี ในความคิดเราน่าจะเป็น "ความสมควร ความเหมาะสม ที่สังคมยอมรับ"

(คนส่วนใหญ่)ที่ทำแล้วเกิดผลดีต่อคนอื่น ทำให้แยกได้ว่า

-คนดี คือคนที่ทำให้เกิดผลดีต่อส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัว ทำให้เกิดคุณค่าต่อคนอื่น

-คนไม่ดี คือคนที่ทำให้เกิดผลไม่ดีต่อส่วนรวม เห็นแก่ตัว ทำความเสียหายให้คนอื่น

2.ได้ดี เป็นอย่างไร เป็นการทำอะไรสักอย่างแล้วได้ผลตอบกลับมาที่ตนเอง แล้วทำให้ตนเองรู้สึกดี

-คนที่ได้ดี คือคนที่ได้รับผลดีต่อตนเอง ให้ตนเองมีคุณค่ามากขึ้น

-คนที่ไม่ได้ดี คือคนที่ได้รับผลที่ไม่ดีต่อตนเอง หรือ ไม่ได้ตามที่ตนเองคาดหวัง

ทำให้ได้ข้อสังเกตุว่า การทำดีได้ดี เป็น "การกระทำให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดีๆและเราจะได้รับความรู้สึกดีๆ"
แต่เราจะพยายามมองในด้านตัวเราเองมากเกินไป คาดหวังเกินไป เราทำให้คนอื่นดีแต่สิ่งที่เราได้รับกลับมาไม่เป็นดั่งที่เราหวังไว้ เราลืมไปหรือเปล่าว่าเราได้อะไร สิ่งนั้นคือความรู้สึกดีๆ ความสุขที่เราได้ทำให้ผู้อื่นสิ่งๆนี้เป็นสิ่งที่วิเศษที่คนอื่นจะมองไม่ เห็น เราจะรับรู้ที่ตัวเราเองเท่านั้น เปลี่ยนความคิดบ้างอย่าไปหวังที่วัตถุมากเกินไป "เราลองทำอะไรโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนสิ" อาจจะพูดแบบนี้ไม่ถูกเพราะทุกอย่างมีเหตุและผลแล้วอะไรล่ะ?ที่เป็นผล ผลนั้นก็คือ ความรู้สึกดีๆที่เราได้รับนั้นเอง

อย่าท้อถอยกับการทำความดี อย่างน้อยเราก็ได้ทำ อย่างน้อยเราก็รู้สึกดี ถึงผลที่เราคาดหวังไว้จะไม่เป็นไปตามนั้นแต่บางทีเราก็คิดนะ เช่น เราขยันตั้งใจทำงาน ต้องการให้งานออกมาดี แต่กลับมีปัญหาต่างๆ มองเพื่อนที่ขี้เกียจไม่ค่อยทำงาน กลับได้รับการเอาใจใส่อย่างดี งานราบรื่น แต่เราต้องดึงจิตใจของเรากลับมาให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่หลุดจากความรู้สึกไม่ดีแบบนั้น ด้วยการคิดว่า"อย่างน้อยเราก็ได้ทำ อย่างน้อยเราก็รู้สึกดี "จะยังไงเราก็จะพยายามทำดีต่อไป ต้องใช้คำว่าพยายามให้มาก เพราะความพยายามเป็นการบ่งบอกถึง

ความพร้อม ความตั้งใจ ที่จะทำ บางคนจะบอกว่าเริ่มทำดีอย่างไร หลักง่ายๆ

1.เราตั้งเป้าหมายไว้คือ "ทำความดี"

2.จะไปถึงได้ไง เราก็ต้อง"พยายาม"ก่อน

3.เมื่อเรารู้ว่าเราต้องพยายามทำ เราก็จะเริ่มเอง


ของแถม คำว่า "อุตส่าห์" มาจาก อุตสาหะ หรือพยายาม เดี๋ยวนี้คนจะแปลความหมายของคนพูดไปผิดๆ ไปเป็นการทวงบุญคุณ เช่น ผมอุตสาห์มารอคุณเลิกงาน อีกฝ่ายจะคิดว่าลำบากนักก็ไม่ต้องมาสิ แต่ไม่ยอมมองถึงว่าคนพูดต้องการสื่อถึงอะไร เขาต้องการจะบอกว่า "เขาทนความลำบากนี้เพื่อคุณได้นะ" ความหมายแตกต่างกันเลย ลองมองคนอื่นในแง่ดีบ้าง จะทำให้อะไรๆดีขึ้น แล้วจะทำให้คำที่ว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" ลดน้อยลงไป