ธรรมะกับชีวิตประจำวัน - เรื่อง บุญที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้เงิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2011-05-16 12:18:14
ธรรมะกับชีวิตประจำวัน - เรื่อง บุญที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้เงิน
เรามักได้ยินใครๆพูดกันว่า ไปทำบุญ ซึ่งส่วนใหญ่ จะหมายถึงการทำบุญตักบาตร การไปวัด การให้ทานสิ่งของเครื่องใช้ หรือเงินทอง
การปล่อยนกปล่อยปลา การบริจาคเงินสร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างโรงเรียนหรือการบริจาคเงินให้มูลนิธิและอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เงินในการทำบุญทั้งนั้น
เราต้องใช้เงินซื้อหาอาหารมาทำบุญ หรือซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้ หรือใช้เงินบริจาคให้ไป ถ้าการทำบุญต้องใช้เงินเสมอ คนจนที่แทบไม่มีเงินพอซื้ออาหารและเสื้อผ้า ก็จะไม่มีโอกาสทำบุญเลยใช่ไหม
อันที่จริงแล้ว หลักแห่งการทำบุญนั้นมีถึง 10 วิธี ดังนี้:
บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ คือ หนทางแห่งการทำบุญหรือทำความดี 10 วิธี
(bases of meritorious action)
1. ทานมัย (merit acquired by giving)
เป็นการทำบุญด้วยการให้สิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค หนังสือ หรือแม้แต่เงินบริจาค จัดเข้าเป็นการให้ทานทั้งสิ้น (การให้บุหรี่ เหล้า ยาพิษ สินบน ค่าจ้าง อาวุธ ไม่ถือเป็นการทำบุญ เพราะสิ่งเหล่านี้ ไม่นำซึ่งความสุขความเจริญ ไม่เป็นการทำความดี) ซึ่งมีเพียงวิธีนี้วิธีเดียว ที่การทำบุญต้องใช้เงิน
2. สีลมัย (by observing the precepts or moral behavior)
เป็นการทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี
วิธีการทำบุญนี้ ไม่ต้องใช้เงินเลย เพียงเราประพฤติปฏิบัติตนด้วยการรักษาศึล 5 ให้ได้ ก็เป็นการทำบุญแล้ว
3. ภาวนามัย (by mental development)
เป็นทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ เช่น ฝึกให้เป็นคนโกรธให้ช้า และอภัยให้เร็ว หรือ เป็นคนที่ไม่ถือโทษโกรธใครเลย มีจิตเมตตา มองผู้อื่นด้วยความปรารถนาดีเสมอ
ฝึกตนเองให้พึงพอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่โลภ ไม่อยากได้ของของคนอื่น ไม่คิดชิงดีชิงเด่นกับใครๆ เป็นต้น วิธีการทำบุญนี้ ก็ไม่ต้องใช้เงินเลย เพียงเราเฝ้าดูจิตใจของเรา อย่าให้เกิดโทสะ อย่าให้เกิดความละโมบโลภมาก ก็เป็นการได้ทำบุญแล้ว
4. อปจายนมัย (by humility or reverence)
ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม เช่น การเคารพผู้อื่น ไม่คิดว่าตนเองมีดี วิเศษกว่าคนอื่น เราต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน มีความสุภาพอ่อนโยนต่อผู้อื่นเสมอ รู้จักรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ไม่ดูถูกดูแคลนภูมิปัญญาของคนอื่น รู้จักยกย่องให้เกียรติผู้อ่ืน ด้วยการเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน วิธีการทำบุญนี้ ก็ไม่ต้องใช้เงินเลย
5. เวยยาวัจจมัย (by rendering services)
ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ เช่น การเป็นอาสาสมัครทำงานในองค์กรการกุศลต่างๆ เช่นมูลนิธิ วัด หรือการอาสาสมัครทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม โดยไม่หวังค่าตอบแทนใดๆ หรือแม้แต่การดูแลรับใช้พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือผู้มีพระคุณ อย่างเต็มอกเต็มใจ รวมไปถึงการแสดงน้ำใจต่อบุคคลอื่นด้วยการกระตือรือร้น แม้แต่เพียงสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่น การบอกทางอย่างเต็มอกเต็มใจแก่ผู้หลงทางมา การช่วยเก็บเศษขยะตามพื้นในโรงเรียนไปทิ้งถังขยะ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ เป็นน้ำใจที่เราสามารถแสดงออกได้ทุกวัน และ ทุกสถานที่ วิธีการทำบุญแบบนี้ก็ไม่ต้องใช้เงินเลย
6. ปัตติทานมัย (by sharing or giving out merit)
ทำบุญด้วยการยกความดีให้แก่ผู้อื่น หรือ ทำบุญด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่น ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการทำใจให้สงบ น้อมรำลึกถึงคุณงามความดีที่เราได้กระทำไป และตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้บุญกุศลที่เราทำไปแล้วนั้น หรือที่กำลังจะทำต่อไป ขออุทิศกุศลผลบุญนั้น ให้กับทุกคนที่เราต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ ทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือแม้แต่ในการทำการงานใดๆ ในความสำเร็จของงานที่เราทำนั้น ย่อมมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และให้ความร่วมมือ เพื่อให้งานสำเร็จขึ้นมา เราควรยกความดีนั้น ให้แก่เพื่อนร่วมงานของเราหรือทุกคนที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนช่วยให้งานสำเร็จ ไม่ควรคิดว่า เราเก่งอยู่คนเดียวงานจึงสำเร็จออกมาได้ เป็นต้น ในการทำบุญด้วยวิธีนี้ ก็ไม่ต้องใช้เงินเลย
7. ปัตตานุโมทนามัย (by rejoicing in others’ merit)
ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น หรือเรียกว่า การอนุโมทนา นั่นเอง เมื่อเราเห็นใครทำความดี เราควรมีจิตยินดีด้วยในสิ่งดีๆที่เขาได้กระทำไป กล่าวคำอนุโมทนาบุญกับเขาด้วย เพื่อเป็นกำลังใจให้เขาทำดีต่อไป ในการทำบุญวิธีนี้ก็ไม่ต้องใช้เงินเลย
8. ธัมมัสสวนมัย (by listening to the Doctrine or right teaching)
ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือธรรมะ การท่องเว็บธรรมะ การฟังเทศน์ฟังธรรม หรือรับฟังคำสั่งสอนจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ฯลฯ รวมไปถึงข้อคิดดีๆต่างๆ เพื่อการประเทืองปัญญา ทำให้เราฉลาดขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น และรู้วิธีแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง มีผลดีตามมาจากการแก้ปัญหานั้น ไม่ใช่แก้ปัญหาอย่างหนึ่ง แต่ไปเพิ่มปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ฯลฯ การทำบุญอย่างนี้ก็ไม่ต้องใช้เงินเลย
9. ธัมมเทสนามัย (by teaching the Doctrine or showing truth)
ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ การรับฟังปัญหาชีวิตของผู้อื่น และให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่เขา ชี้แนะทางออกที่มีผลดีแก่ชีวิตเขา การพิมพ์หนังสือธรรมะแจกจ่ายให้แก่บุคคลทั่วไป การบรรยายธรรม การเขียนบทความธรรม และ การเขียนข้อคิดที่ดี เพื่อความรู้ความเข้าใจในเรื่องของชีวิต เพื่อรับมือและจัดการกับปัญหาในชีวิตประจำวันได้ดี การทำบุญอย่างนี้ก็ไม่ต้องใช้เงินเลย(ยกเว้นการออกเงินเพื่อพิมพ์หนังสือธรรมะ)
10. ทิฏฐุชุกัมม์ (by straightening one’s views or forming correct views)
ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง ทำความเห็นให้ถูกต้อง หรือ สัมมาทิฏฐิ เช่น มีความเห็นว่า ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้ว มีอยู่จริง โลกนี้มีจริง โลกหน้ามีจริง บิดามารดามีบุญคุณต่อเรา ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เป็นต้น การทำบุญด้วยวิธีนี้ก็ไม่ต้องใช้เงินเลยเพียงแต่เราทำความเห็นของเราให้ถูกต้อง
ที่กล่าวมาทั้งหมด เพียงจะชี้ให้เห็นว่า ในการทำบุญ 9 ประการหลังนั้น เราไม่ต้องใช้เงินเป็นปัจจัยเลยแม้เราไม่มีเงิน เราก็ยังทำบุญได้ทุกวัน แต่ถ้าเราสามารถสละทรัพย์ของเราแม้เพียงเล็กน้อยเราก็สามารถทำบุญให้ครบทั้ง 10 ประการ ได้
ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน เจริญในธรรมนะครับ และสามารถนำธรรมะไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน