www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

ก่อนสอนผู้อื่น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2011-03-28 09:49:12

จากหนังสือ ทางแห่งความดี ๓
โดย ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ


บัณฑิต ตั้งตนไว้ในคุณอันสมควร (คืออันเหมาะสม) ก่อน
แล้วสอนคนอื่นภายหลัง จะไม่เศร้าหมอง


อธิบายความ

โดยธรรมดา การสอนให้คนอื่นทำนั้น เป็นเรื่องง่าย แต่การทำเองเป็นเรื่องยาก
การสร้างบ้านสร้างเมืองด้วย น้ำลายนั้น จะสร้างวันละสักกี่เมืองก็ได้
แต่การทำให้ได้จริงตามที่ว่าไว้นั้น ยากเหลือเกิน
ท่านจึงว่า ง่ายที่คิด ติดที่ทำ


บุคคลบางพวกสอน คนอื่นได้ แต่ตัวทำไม่ได้
บางพวกสอนคนอื่นไม่ได้ แต่ทำด้วยตนเองได้
บางพวก สอนก็ไม่ได้ ทำก็ไม่ได้
บางพวกทั้งสอนได้และทำได้


พวกสุดท้าย ย่อมได้รับการสรรเสริญโดยประการทั้งปวง
การสอนคนนั้น มี 3 อย่างคือ
สอนด้วย วาจา ๑ สอนด้วยการทำตัวอย่างให้ดู ๑
สอนด้วยวาจาและทำตัวอย่างให้ ดู ๑ ประการสุดท้ายดีที่สุด
เป็นการแน่นอนว่า ตัวอย่างที่ได้เห็นย่อม เด่นกว่าคำสอนเสมอ


การกระทำนั้นแหละเป็นการสอนไปในตัว
ข้าพเจ้า เคยพูดไว้หลายครั้ง หลายแห่งแล้วว่า
ทางที่ดีที่สุดในการสอนให้คนเสียสละ คือ จงเสียสละให้ดู
ในการสอนให้คนสงบ คือ จงสงบให้ดู


คำสอนแม้จะถูกต้อง แต่ถ้าตัวคนสอนทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนสอน
คนทั้งหลายก็ จะไม่ซึ้งในคำสอนเช่นนั้น มันเหมือนเอามะลิไปโรยไว้หน้าศพ
ใครเล่าจะยินดีดม มะลินั้น คำสอนของผู้เช่นนั้นมีแต่จะถูกหัวเราะเยาะ


บุคคลที่ เสียสละได้ สงบได้ ขยันหมั่นเพียรได้
แม้จะไม่เคยเอ่ยปากสอนใครให้ทำเช่นนั้น
คนทั้งหลายก็มองดูด้วยความนิยมชมชอบ
และมักจะเอ่ยปากเมื่อมีโอกาส ว่า “ทำอย่างไรจึงเป็นอย่างนั้น ๆ ” เป็นต้น


พระที่สำรวมอยู่ในสิกขา วินัยอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีสมาธิ
จิตสูง แม้จะไม่สอน ใครเพื่อความเป็นเช่นนั้น
คนทั้งหลายก็นิยมเลื่อมใสและอยากทำตาม


แต่ พระที่ดีแต่พูด เป็นธรรมกถึก ปฏิบัติอะไรไม่ได้
อาจได้รับคำชมเหมือนกัน ว่า พูดดี พูดเก่ง แต่จะไม่มีใครเลื่อมใสจริงจังเลย
พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ก็ เหมือนกัน


เพื่อมิให้เศร้าหมองด้วยการถูกหัวเราะเยาะ และถูกตำหนิ ติเตียน
บัณฑิตจึงควรตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรเสียก่อน
แล้วสั่งสอนคนอื่นให้ ตั้งอยู่ในคุณอันนั้นภายหลัง
ไม่เป็นภัยแก่ตน และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้อื่น


การสอนผู้อื่นในคุณที่ตนมี แม้จะสอนซ้ำ ๆ ซาก ๆ
แต่คนทั้ง หลายฟังแล้วก็ซาบซึ้งดี
เพราะรู้สึกว่ามันออกมาจากใจของผู้สอน
ส่วนคำสอนอัน วิจิตรพิสดาร แพรวพราวด้วยเหตุผล
แต่ผู้สอนมิได้มีคุณเช่นนั้น
ผู้ฟังย่อม ไม่เชื่อถือและไม่มีกำลังใจในการปฏิบัติตาม


ลองคิดดูเถิด ถ้าคนเป็น โรคเรื้อนคนหนึ่ง
ยืนพรรณนาถึงคุณภาพของยา และวิธีรักษาโรคเรื้อนให้หายขาดได้
ท่านผู้ฟังจะรู้สึกอย่างไรถ้ามันดีจริง
ไฉนผู้นั้นจึงไม่จัดการรักษาโรคเรื้อนของตนให้หายขาดเสียก่อน
หรือเป็นแต่เพียงผู้โฆษณาขายยา แต่ไม่เคยลอง ใช้ด้วยตนเองเลย
ทั้ง ๆ ที่ตนก็เป็นโรคนั้นอยู่ น่าสลดใจหรือไม่?


บางคนสอนให้คนอื่นเลิกโลภ เลิกโกรธ เลิกหลง
แต่ตนเองยังเต็มอยู่ด้วยความ โลภ ความโกรธ ความหลง
จนล้นออกมาให้เห็นกันชัด ๆ อยู่ข้างนอก น่าสลดใจ เพียงใด
ถึงกระนั้นก็ยังดีกว่าคนบางพวกที่เพียบแปร้ไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ
คือ โลภ โกรธ หลง แล้วยังชักชวนผู้อื่นเพื่อเป็นอย่างนั้นด้วย
เหมือนสุนัขหางด้วนแล้วชวนเพื่อน ๆ ให้ไปตัดหางเสียด้วย
อย่างนี้มีโทษ สองซ้ำสามซ้อน


พ่อบางคนเป็นโจร แต่พรรณนาโทษแห่งความโจรให้ลูกฟัง
ก็ยังดีกว่าชักชวนลูกให้เป็นโจรเสียด้วย
ทางที่ดีกว่านั้น คือเลิกความเป็นโจร ด้วยตนเองเสียด้วย
และพรรณนาโทษแห่งความเป็นโจรให้ลูกฟังด้วย